April 08,2021
นิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ คืบ ๗๕% คาดแล้วเสร็จกันยายนปีนี้ ศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางราง
ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ พร้อมคณะ ติดตามความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๗๕% ตามแผนการจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๖๔ รองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ นายธีรยุทธ วินิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนา นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พร้อมด้วย นายสมพล โนดไธสง ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี โดยมีผู้บริหารของนิคมฯ ให้การต้อนรับ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายธีรยุทธ วินิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม
สำหรับการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ภายใต้แนวคิดการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการความยั่งยืน เน้นหลักการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญเติบโตและรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในขณะนี้การพัฒนาโครงการฯ กำลังเร่งดำเนินการในเฟสแรก ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค บนพื้นที่กว่า ๑,๓๐๐ ไร่ เช่น การพัฒนาถนนและองค์ประกอบถนน งานระบบระบายน้ำฝน งานระบบน้ำเสียงานระบบประปา ของถนนสายต่างๆ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี รวมระยะทางทั้งสิ้น ๕.๖๗ กิโลเมตร ที่ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ ๗๕% ซึ่งตามแผนการกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๖๔
ทั้งนี้ จุดเด่นของโครงการฯ คือทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง และแนวเส้นทาง One Belt One Road ที่เชื่อมโยงและเป็นประตูระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ แผนพัฒนาโครงการในเฟส ๒ จำนวน ๘๔๕ ไร่ ที่มีแผนจะพัฒนาในช่วงปี ๒๕๖๕ – ๒๕๖๗ โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายตามผังแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินของนิคมฯ อาทิ อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลายอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย และอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตในพื้นที่ เป็นต้น
นอกจากนี้ นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ชุมชนบ้านเชียง พร้อมด้วยนายสมพล โนดไธสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมนายติณ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๔ ณ ชุมชนบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
สำหรับหมู่บ้าน CIV ชมชุนบ้านเชียง เป็นการต่อยอดจากวัฒนธรรมบ้านเชียง ที่มีอารยธรรมครอบคลุมแหล่งโบราณคดีในภาคอีสาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนสำคัญของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมและสังคม รวมถึงหลักฐานทางการเกษตร การผลิตโลหะในภูมิภาค รวมทั้งวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการหลายด้าน โดยเฉพาะภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา สู่การพัฒนาเป็นหมู่บ้าน CIV กลุ่มพัฒนาเซรามิก โดยได้เข้าร่วมเป็นหมู่บ้าน CIV เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๙ และได้รับการคักเลือกให้เป็น ๑ ใน ๙ ชุมชนต้นแบบของหมู่บ้าน CIV จากทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หมู่บ้าน CIV ชุมชนบ้านเชียง ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ การจัดทำแผนธุรกิจการท่องเที่ยวและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และตราสินค้า การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์/ตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดเป้าหมายแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานทางทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ตลอดจนการฝึกอบรมการทำเครื่องปั้นดินเผา และการก่อเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงาน ศูนย์เรียนรู้ กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี ซึ่งเป็นศูนย์อนุรักษ์ภูมิปัญญาเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง โดยมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่คงลวดลายไว้แบบโบราณ
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๓ วัวันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
72 1,733