29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 22,2021

รถไฟฟ้า LRT ยังไม่มานะเธอ ชาวโคราชต้องรอปี ๒๕๗๑

ครม.รับทราบผลดำเนินงานของ รฟม.  ด้านรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียวโคราช ระบุ การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และเตรียมเอกสารประกวดราคา เสร็จเรียบร้อย คาดเปิดใช้งานเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๗๑

ตามที่เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยเรื่องที่ ๑๓ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมทั้งโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๗๓ ที่บัญญัติให้ รฟม.ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการฯ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า

ทั้งนี้ มีการนำเสนอโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ๕ โครงการ ได้แก่ ๑.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ ๘.๖๐ (ตามแผน) งานขออนุมัติโครงการและศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แล้วเสร็จ งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ ๙ (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน ๒๕๗๐ ๒.โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต งานศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แล้วเสร็จ งานเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้าร้อยละ ๑๕ (ตามแผน) งานคัดเลือกที่ปรึกษามีความก้าวหน้าร้อยละ ๒๐ (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๙ ๓.โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ งานเสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนมีความก้าวหน้าร้อยละ ๓๐ (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๗๑ ๔.โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๓ ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดจังหวัดให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๓ ซึ่งให้อำนาจ รฟม.ในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม ๒๕๗๑ และ ๕.โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๗๑

อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมานั้น คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำการศึกษาและวิเคราะห์ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดระบบการจราจรจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แผนแม่บทการจัดระบบการจราจร และแผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ต่อเนื่องที่มีความต้องการเดินทาง การจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะหลักจังหวัดนครราชสีมา และดำเนินการศึกษารูปแบบระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม โดยเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งขนาดรอง รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ
    
เงินลงทุน ๓๒,๖๐๐ ล้านบาท ดำเนินการ ๓ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕ วงเงิน ๑๓,๖๐๐ ล้านบาท มีสายสีเขียว จากตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์ โดยใช้แนวถนนมิตรภาพ และเลี้ยวเข้าถนนสืบศิริ ระยะทาง ๑๑.๑๗ กม. สายสีส้ม แยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง ๙.๘๑ กม. ๑๙ สถานี, ระยะที่ ๒ ปี ๒๕๖๖-๒๕๖๘ สายสีม่วง ช่วงตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ๑๒.๑๖ กม. และระยะที่ ๓ ส่วนต่อขยายสายสีส้ม สีเขียว และสีม่วง หลังจากนั้นมอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการในรูปแบบของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP โดยเริ่มศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดทำรายงาน EIA ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ เรื่อยมา

จากนั้น รฟม.ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา NMGC ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๒ (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) ภายใต้งานศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองฯ บ้านนารีสวัสดิ์) เมื่อวันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ณ โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมืองนครราชสีมา เพื่อนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาแนวเส้นทาง สถานีรูปแบบการพัฒนาของโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการฯ รวมทั้งการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ และจัดการประชุมทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) ไปแล้ว

ต่อมามีกระแสข่าวว่า รฟม. กระทรวงคมนาคม สั่งการให้ทบทวนความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในต่างจังหวัดทั้งหมดใน ๔ จังหวัด อย่างละเอียดอีกครั้ง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา และพิษณุโลก ก่อนที่จะมีการดำเนินการเปิดประมูลจริง ซึ่ง รฟม.ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือสำรวจความเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดว่าเป็นอย่างไร แต่นายอภิชาติ จันทร์แสงกุล บริษัท เอ็นทิค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓ ว่า “กำลังดำเนินการตามแผนแม่บทที่ สนข.กำหนด และ รฟม.รับมาดำเนินการ พร้อมทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งให้ รฟม. และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขออนุญาตก่อสร้าง ไม่ได้ปรับเปลี่ยนแผนแต่อย่างใด ส่วนความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้กำลังรวบรวมเอกสารทั้งหมดจากการรายงาน การออกแบบ งบประมาณราคาการก่อสร้าง เพื่อส่งให้ สนข.พิจารณา ส่วนรูปแบบส่งให้ รฟม.ตามสัญญา และดำเนินการแก้ไขในรายละเอียด ส่วนรูปแบบสถานี ระยะทาง และพื้นที่จอดรถยังเป็นเช่นเดิม”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๕ วันพุธที่ ๒๑ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1026 1668