May 08,2021
กะโรงแดง/ คำรอก/ จันนกกด/ จับนกกรด/ ช้างน้าว
“พืช” มีหลายชนิดทั้งประเภทพืชผักที่ใช้เป็นอาหาร เป็นสมุนไพร และใช้สอยประโยชน์ต่างๆ บางชนิด นักพฤกษศาสตร์พบมากที่จังหวัดนครราชสีมา และตั้งชื่อตามภาษาถิ่นโคราช ซึ่งเรียกชื่อ แตกต่างไปจากภาษากรุงเทพและภาษาถิ่นภาคอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะทราบถึงคุณประโยชน์แล้ว ยังจะได้ทราบคำภาษาถิ่นโคราชอีกด้วย
________________________________________
กะโรงแดง/คำรอก/ จันนกกด [จัน-น่ก-ก๊ด]/ จับนกกรด [จั๊บ-น่ก-ก๊ด]/ ช้างน้าว [ช่าง-น่าว] เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ชนิด Ellipanthus tomentosus Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ellipanthus cinereus Pierre, Ellipanthus subrufus Pierre) ในวงศ์ CONNARACEAE ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ชายป่าดิบ และป่าพรุ สูงประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มไข่ หรือแผ่เป็นพุ่มแคบ เปลือกต้นสีน้ำตาลแดงหรือสีเทาแตกเป็นร่องลึกตามลำต้น ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปรีถึงรูปใบหอก ค่อนข้างยาว โคนใบสอบถึงกลมปลายใบมนถึงเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ดอกเป็นช่อสีขาวหรือสีครีมแยกแขนงออกตามซอกใบ ดอกออกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผลค่อนข้างกลมปลายแหลม ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล มี ๑ เมล็ดสีดำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
กะโรงแดงเป็นพืชสมุนไพร เนื้อไม้รสฝาดต้มน้ำร้อนใช้ดื่ม แก้กษัย ปวดเมื่อย โรคทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต
นักพฤกษศาสตร์เรียก กะโรงแดง/คำรอก/ช้างน้าว จันนกกด/จับนกกรด ว่า คำรอก ตานนกกด
ข้อมูล : Phargarden.com สืบค้นจาก คำรอก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=169.
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๗ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
726 1,456