May 21,2021
‘มาสด้า’เปิดแผนยุทธศาสตร์สู้โควิด ดึงดีลเลอร์-พนง.-ลูกค้าเป็นหนึ่งเดียว เดินหน้าท้าโควิดตั้งเป้า ๕๒,๐๐๐ คัน
‘มาสด้า’เปิดแผนยุทธศาสตร์การบริหาร เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จท่ามกลางวิกฤตโควิด-๑๙ เน้นทำงานร่วมกันเป็นทีมภายใต้แนวคิด “One Mazda” ผลักดันประสิทธิภาพทุกหน่วยงาน และดูแลลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายให้ครบ ๑๕๐ แห่งภายในปีงบประมาณนี้ พร้อมประกาศเดินหน้าท้าโควิดด้วยการตั้งเป้ายอดขายสูงถึง ๕๒,๐๐๐ คัน ชิงส่วนแบ่งการตลาด ๖.๒% หรือเติบโตเพิ่มขึ้นถึง ๓๐%
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จของมาสด้าในปีงบประมาณ ๒๐๒๐ (ระหว่างเดือนเมษายน ๒๕๖๓–มีนาคม ๒๕๖๔) ว่า แม้ตลาดรถยนต์ในช่วงปีที่ผ่านมาจะมีการแข่งขันสูงมาก อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกรอบทิศทาง แต่มาสด้าก็ยังสามารถทำยอดขายรวมทะลุ ๔ หมื่นคัน ขยายตัวลดลง ๒๓% ครองส่วนแบ่งการตลาด ๕.๑% ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ลดลง ๑๗% ด้วยตัวเลขยอดขายรวมทั้งสิ้น ๗๘๖,๘๗๗ คัน ซึ่งแม้ว่าจำนวนยอดขายรวมรถยนต์มาสด้าจะลดลง แต่มาสด้า ประเทศไทย ก็ยังคงเป็น ๑ ใน ๑๐ ของประเทศที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดของมาสด้าทั่วโลก
สรุปยอดขายรถยนต์มาสด้าประจำปีงบประมาณ ๒๐๒๐ อยู่ที่ ๔๐,๐๐๔ คัน แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลด้วยจำนวนที่สูงถึง ๒๓,๕๔๘ คัน โดยเฉพาะ New Mazda2 ยังคงร้อนแรงต่อเนื่องด้วยยอดขายเกินกว่าครึ่ง มีจำนวนสูงถึง ๒๐,๗๔๑ คัน ตามมาด้วยรถเก๋ง All-New Mazda3 อีกจำนวน ๒,๘๐๐ คัน ในขณะที่รถปิกอัพ All-New Mazda BT-50 ก็กำลังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ด้วยยอดขายกว่า ๒,๔๗๑ คัน ส่วนรถยนต์อเนกประสงค์ตระกูล CX-Series จำนวน ๑๓,๙๘๕ คัน เติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง ๑๓๔% ได้แก่ รถอเนกประสงค์ครอสโอเวอร์เอสยูวี All-New Mazda CX-30 มียอดขายสูงสุดถึง ๗,๕๘๒ ตามมาด้วย New Mazda CX-3 จำนวน ๓,๑๐๐ คัน All-New Mazda CX-8 จำนวน ๑,๙๑๗ และ New Mazda CX-5 จำนวน ๑,๓๘๖ คัน และสุดท้ายรถยนต์ New Mazda MX-5 รถสปอร์ตเปิดประทุน แบรนด์ไอคอนระดับตำนานของมาสด้ามียอดขายรวมอีก ๗ คัน
นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๔ แม้จะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม โดยเฉพาะจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวลง แต่รถยนต์มาสด้ายังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า อันเนื่องมาจากแผนกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด การนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และการยกระดับมาตรฐานการให้บริการหลังการขาย ที่ล้วนทำให้ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ จึงทำให้มาสด้าสามารถปิดยอดขายในไตรมาสแรกได้สูงถึง ๑๐,๘๙๐ คัน เพิ่มขึ้น ๗% จากไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๓ ซึ่งมียอดขายรวมที่ ๑๐,๑๕๒ คัน
โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ซึ่ง New Mazda2 ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด ด้วยจำนวน ๕,๖๘๖ คัน, All-New Mazda3 จำนวน ๗๐๔ คัน ตามมาด้วยรถปิกอัพ All-New Mazda BT-50 มียอดขายรวม ๔๒๙ คัน ส่วนรถอเนกประสงค์ตระกูล CX-Series มียอดรวมทั้งสิ้น ๔,๐๗๑ เพิ่มขึ้นสูงถึง ๑๒๖% นำโด่งโดย All-New Mazda CX-30 ครอสโอเวอร์ที่ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี และมียอดขายรวมมาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน ๒,๒๙๘ คัน ตามติดด้วย New Mazda CX-3 จำนวน ๑,๑๘๙ คัน All-New Mazda CX-8 มียอดขายสูงถึง ๓๕๔ คัน และ New Mazda CX-5 จำนวน ๒๓๐ คัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารองค์กรระหว่างประเทศท่ามกลางวิกฤตโควิด-๑๙ เพิ่มเติมว่า “มาสด้าเชื่อว่าการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง อยู่เสมอ จะสามารถนำพาให้องค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายได้” ซึ่งนโยบายการบริหารองค์กรของมาสด้า วางอยู่บนพื้นฐานดังต่อไปนี้
๑.การบริหารองค์กรระหว่างประเทศด้วยการจัดการทรัพยากรบุคคล โดยองค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยบุคลากรเป็นหลัก จึงเน้นการทำงานที่ผสานระหว่างความแตกต่างของปัจเจกบุคคล และให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ เพื่อให้พนักงานในทุกระดับสามารถนำมาใช้ประกอบกับการทำงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เน้นความสำคัญของการสื่อสารแบบครบวงจร ที่ตอบรับกับสังคมในยุคดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงเป้าหมายของบริษัท และสามารถทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายเดียวกันนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงให้การดูแลผู้จำหน่ายอย่างทั่วถึง เพราะผู้จำหน่ายคือกำลังสำคัญที่จะส่งเสริมให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง และส่งมอบบริการที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าได้
๒.การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น หนึ่งเดียว “One Mazda” การประสบความสำเร็จอาจต้องใช้ทักษะส่วนบุคคล แต่การจะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยทีมที่แข็งแกร่ง ดังนั้น การสร้าง “แบรนด์” ให้เกิดความแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นต้องสร้างทีม มาสด้าจึงนำยุทธ์ศาสตร์การทำงานเป็นทีม หรือ “One Mazda” ด้วยการหลอมรวมทุกหน่วยงาน เข้าสู่รูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างมืออาชีพ และไร้รอยต่อในทุกภาคส่วน ทั้งการขาย การบริการหลังการขาย และการผลิต ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทั้ง บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รวมถึงผู้จำหน่าย เพื่อจะได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า เป็น “One Mazda One Team” ที่ทุกคนล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
๓.การบริหารงาน โดยมีมาสด้า ประเทศไทย เป็นศูนย์กลาง บริหารองค์กรในลักษณะ Distribution Business ที่มีบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นศูนย์กลาง และผู้จำหน่ายเป็นด่านแรกในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ และบริการที่ดีไปยังลูกค้ารวมถึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เรายึดหลักว่า ต้องให้การดูแลผู้จำหน่ายอย่างดีที่สุด ประเมินว่าสิ่งใดที่ทำแล้วเกิดผลดี ต่อทั้งบริษัท และผู้จำหน่าย เน้นการทำงานให้เกิดประสิทธิผล เพราะถ้าหากผู้จำหน่ายอยู่ไม่ได้ มาสด้าก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน ก็ยังทำงานควบคู่ไปกับมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น การผลักดันให้ผู้บริหารคนไทย และพนักงานทุกคนที่มีความเข้าใจในตลาด และเข้าใจความต้องการของลูกค้าคนไทย ได้มีโอกาสบริการจัดการอย่างเต็มที่ในทุกๆ ฟังก์ชั่น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดต่อลูกค้า ตามแนวคิด “Optimize Global and Local Initiatives, Empower Local Thai Management Team”
๔.การบริหารความแตกต่างด้านวัฒนธรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เราได้นำข้อดีจากความต่างของสองวัฒนธรรมมาใช้ในการบริหารงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ในองค์กรของเรามีทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นที่ทำงานร่วมกัน ดังนั้น เราจึงเน้นการขจัดอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงาน เช่น อุปสรรคด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อลดความไม่เข้าใจ และเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ส่งเสริมความเข้าใจของแต่ละวัฒนธรรมการทำงาน และนำข้อดีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สื่อสารกับ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ถึงความต้องการและเสียงสะท้อนของลูกค้าในประเทศไทยในด้านต่างๆ เพื่อวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด
นอกจากนี้ ประธานบริหารยังได้แสดงวิสัยทัศน์เพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่า “แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นทิศทางที่สดใส อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศและทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะชะลอตัวลงและต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น และมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่เรายังมีความหวังว่า ด้วยแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน และจากความร่วมแรงร่วมใจกันจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งมาสด้าเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ด้วยกลยุทธ์หลักทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่
๑.การบริหารธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้การบริหารธุรกิจต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดคิด สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และส่งผลในทางลบต่อการดำเนินธุรกิจ และผู้บริโภคในวงกว้าง ปัจจัยสำคัญ คือ การสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารและการจัดการ เมื่อสถานการณ์ตลาดไม่เอื้ออำนวย และทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เราต้องเน้นให้เกิดทักษะการบริหารงาน จากความผิดพลาดเพื่อปรับเกม ปรับแทคติก ที่สอดรับกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งการบริหารงานลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะส่วนบุคคลของพนักงาน แบบ Meta Skill ที่ต้องมองปัจจัยรอบด้าน เข้าใจองค์ประกอบของปัญหา ปรับวิกฤตของสถานการณ์ให้เป็นโอกาส จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ใช้ประสบการณ์รอบด้านที่เก็บสะสมมา การทำงานร่วมกันเป็นทีม ที่ใช้จุดแข็งของตัวเองและคนในทีมเพื่อกำจัดจุดอ่อน และสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การให้อำนาจในการตัดสินใจและความคล่องตัวในการบริหาร ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ทันต่อเวลาและสถานการณ์ การเรียนรู้จากการผิดพลาดหรือ Resilience skill คือหัวใจของการบริหารงานภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับมือกับวิกฤต และนำไปสู่ความสามารถในการก้าวพ้นวิกฤตได้ดีกว่าคู่แข่ง
๒.กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ มาสด้าจะยังคงนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัย ภายใต้กลยุทธ์ “Product and Technology Value Enhancement” เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด และนำเสนอแต่สิ่งที่ดีให้แก่ลูกค้า โดยต้องเป็นผลิตภัณที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ด้วยการพัฒนาคุณค่าของแบรนด์ในทุกๆ ด้าน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อสร้างสรรค์ให้รถยนต์ของเราสามารถนำมาซึ่งความสนุกสนานในการขับขี่ และช่วยให้ทุกช่วงเวลาบนท้องถนนเต็มไปด้วยความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้มาสด้าได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (xEV) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง ๓ ประเภท HEV, PHEV และ BEV เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้เตรียมพร้อมเพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเป็นไปทีละขั้นตอน จากวิสัยทัศน์ Mazda Building Block Strategy ซึ่งมี ๓ องค์ประกอบ คือ ๑. กรอบเวลาของการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ๒. การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และ ๓. การเปลี่ยนถ่ายจากเทคโนโลยีปัจจุบันสู่เทคโนโลยีอนาคตในช่วงเวลาที่เหมาะสม
๓.กลยุทธ์ด้านการขายและยุทธศาสตร์การบริหารเครือข่ายผู้จำหน่าย สร้างความเชื่อมั่น และพัฒนาศักยภาพผู้จำหน่าย พร้อมนำ KPI มาเป็นดัชนีชี้วัด โดยผู้จำหน่ายจะต้องมีผลกำไรที่ดี และสามารถส่งมอบความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้ ควบคู่กับให้การสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทั้งในโชว์รูมและห้างสรรพสินค้า โดยจะจัดขึ้นเป็นประจำในทุกๆ เดือน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ภายใต้มาตรการการป้องกันโควิด-๑๙ พร้อมเตรียมขยายเครือข่ายผู้จำหน่าย จากปัจจุบัน ๑๓๘ เป็น ๑๕๐ แห่ง ภายในปีงบประมาณนี้
๔.กลยุทธ์ด้านบริการหลังการขายและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ยกระดับการบริการหลังการขาย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคใหม่ได้อย่างทันท่วงที ด้วยการเปิดตัวบริการ Mazda Fast Track ที่ให้บริการแบบเร่งด่วนแก่ลูกค้าที่มีเวลาจำกัดภายในระยะเวลา ๖๐ นาที รวมถึงแผนการเปิดให้บริการแบบ Fast Service (Satellite) ที่พัฒนาเป็นศูนย์บริการมาตรฐานขนาดย่อมเพิ่มเติมจากศูนย์บริการหลัก เพื่อยกระดับการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว พร้อมยังได้พัฒนาการส่งมอบอะไหล่และการขนส่ง โดยได้ปรับปรุงทั้งคุณภาพและราคาจนเป็นที่ยอมรับในตลาด หรือบางชิ้นส่วนมีราคาที่ต่ำกว่าตลาด ด้านการจัดส่งอะไหล่ไปยังศูนย์บริการ มีบริการจัดส่ง ๒ รอบต่อวัน สำหรับเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และต่างจังหวัด ๑ รอบต่อวัน
“นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ารับการบริการได้ทุกโชว์รูมทั่วประเทศ และเพื่อลบภาพจำเรื่องของค่าแรงในการให้บริการที่ไม่เท่ากัน มาสด้าขอประกาศอย่างเป็นทางการว่า ลูกค้าที่ซื้อรถยนต์มาสด้ารุ่นใหม่ทุกรุ่นจะได้รับแพ็คเกจพิเศษ คือ ฟรีค่าแรงเช็กระยะตลอด ๕ ปี หรือ ๑๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจที่จะร่วมเข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวมาสด้า และให้คำมั่นสัญญาว่า มาสด้าจะให้การดูแลรถของลูกค้าไปตลอดอายุการใช้งาน” นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติม
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลยุทธ์ของมาสด้ารถยนต์พรีเมี่ยมสัญชาติญี่ปุ่น ที่จะมาเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี ๒๕๖๔ และมาสด้าพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อจะให้รถยนต์มาสด้าเข้าไปครองใจลูกค้าชาวไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๙ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
723 1,400