May 28,2021
อนุทิน’ชื่นชมเดอะมอลล์-เซ็นทรัล ยกเป็นต้นแบบบริการฉีดวัคซีน ‘วิเชียร-ยลดา’ฉีดซิโนแวคเข็มแรก
“อุนทิน ชาญวีรกูล” นำคณะผู้บริหาร สธ.ลงพื้นที่มอบวัคซีนเพื่อชาวนครชัยบุรินทร์ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจทีมแพทย์ ยกรูปแบบจุดบริการ ๒ ห้างดังเมืองโคราช เป็นโมเดลปรับใช้กับจังหวัดอื่น ด้านทีมแพทย์ตั้งเป้าฉีดประชาชน ๔ จังหวัด ๔.๗ ล้านคน “บุรีรัมย์” ขอวัคซีนเพิ่ม หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อจัดแข่ง “โมโตจีพี” ด้านพ่อเมืองโคราชและนายก อบจ.ฉีดซิโนแวคเข็มแรกแล้ว
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๐ น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อมอบวัคซีนโควิด-๑๙ พร้อมทั้งตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และจิตอาสา ที่จุดบริการวัคซีนโควิดให้กับประชาชน ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ ๙ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายสุริยา ตันเจริญ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา นายอมร อมรกุล ผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และนายชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ บริษัท เดอะมอลล์ราชสีมา จำกัด ให้การต้อนรับ ท่ามกลางประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนจำนวนมาก
ชื่นชม “เดอะมอลล์-เซ็นทรัล”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า “จากการตรวจเยี่ยมจุดบริการวัคซีนโควิดจังหวัดนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากศูนย์การค้าทั้ง ๒ แห่ง คือ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และเดอะมอลล์โคราช เป็นที่น่าพอใจมาก ซึ่งเป็นระบบบริการนอกสถานพยาบาลที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาได้วางไว้ โดยได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้ง โรงพยาบาลจากทุกสังกัดในจังหวัด ฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน อย่างเห็นได้ชัด วางระบบ One way เข้าออกทางเดียว ทำให้เกิดการหมุนเวียนของผู้เข้ารับบริการ ไม่แออัด มีความสามารถในการฉีดได้ ๖๐๐ คนต่อชั่วโมงต่อแห่ง ซึ่งจะให้ระบบนี้เป็นโมเดลหนึ่งที่จะนำมาปรับใช้ยังหน่วยบริการต่างๆ เมื่อวัคซีนมีมากขึ้น พร้อมผลักดันให้ประชาชนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด”
“ชาวโคราชให้ความร่วมมือพร้อมใจเข้ารับบริการฉีดวัคซีนกันถ้วนหน้า เช่น จุดบริการที่เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นผู้บริหารจัดการ เปิดบริการประชาชนตั้งแต่วันที่ ๑๙-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รวม ๓ วัน มีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว ๑๐,๐๐๒ คน ส่วนที่เดอะมอลล์ก็มีประชาชนหลั่งไหลเข้ารับบริการจำนวนมาก ภาพรวมของจังหวัดมีประชาชนที่ฉีดเข็มแรก แล้วจำนวน ๓๐,๖๕๑ คน เข็มที่ ๒ จำนวน ๑๙,๓๗๒ คน ซึ่งเป็นไปตามจำนวนของวัคซีนที่ได้จัดสรรมา และในช่วงที่วัคซีนมามากขึ้นได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องฉีดวัคซีนให้กับชาวโคราชให้ได้ร้อยละ ๗๐ ของประชากร หรือประมาณ ๑,๘๘๕,๐๒๓ คน โดยจะฉีดให้ได้วันละประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ในส่วนกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีอยู่ในระบบประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน จะมีทีมแพทย์ รวมถึงระบบ ๓ หมอ คอยดูแลให้เข้าถึงการฉีดวัคซีน หากเป็นไปตามแผน ๕๐ วันจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้อยู่ แต่จะไม่มีอาการที่รุนแรง และไม่เสียชีวิตจากโรคโควิด-๑๙ ขอให้ยังคงเข้มมาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างล้างมือบ่อยๆ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน” นายอนุทิน กล่าว
โคราชขอวัคซีนเพิ่ม
จากนั้น เวลา ๑๑.๐๐ น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมคณะ เดินทางไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการโควิด-๑๙ ในเขตสุขภาพที่ ๙ จาก นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์ สสจ.บุรีรัมย์ นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ รองนายแพทย์ สสจ.สุรินทร์ นพ.ศุภพล ชัยมงคล รองนายแพทย์ สสจ.ชัยภูมิ นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชฯ และ นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงานว่า จังหวัดนครราชสีมา มีประชากรประมาณ ๒,๖๒๐,๑๙๙ คน เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคอีสาน และเป็นศูนย์กลางโครงการสำคัญ เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ซึ่งสถานการณ์โควิด-๑๙ ระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ มีผู้ป่วยรายใหม่ ๘๖๕ ราย (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔) กำลังรักษาอยู่ ๒๒๗ ราย รักษาหายแล้ว ๖๕๒ ราย สาเหตุของการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากผู้ที่เดินทางจากจังหวัดอื่นมาจังหวัดนครราชสีมา จึงทำให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โคราชจัดให้มีการประชุมสถานณ์การโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ไม่เว้นวันหยุดราชการเป็นประจำทุกวัน โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลและออกมาตรการป้องกันทุกวัน และมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบต่างๆ ไปยังพื้นที่ทั้ง ๓๒ อำเภอ”
“สำหรับการฉีดวัคซีนนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆ ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน โดยคาดการณ์ว่า โคราชจะสามารถฉีดวัคซีนได้วันละ ๔๐,๐๐๐ คนต่อวัน แบ่งเป็นพื้นที่อำเภอเมือง ๑๐,๐๐๐ คน และพื้นที่รอบนอก ๓๐,๐๐๐ คน แต่เรามีปัญหาในเรื่องวัคซีน หากฉีดวัคซีนประมาณร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมดหรือ ๑,๘๐๐,๐๐๐ คน อาจจะใช้เวลาประมาณ ๕๐ วันในการฉีดให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยอาจจะมีวัคซีนไม่เพียงพอตามประสิทธิภาพที่จะฉีด เพราะยังมีหน่วยงานแฝงเข้ามา ซึ่งไม่อยู่ในจำนวนประชากรของจังหวัด เช่น สถาบันการศึกษา ประชากรจากมหาวิทยาลัย โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หน่วยงานเหล่านี้อาจจะมีประชากรที่ไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้านของโคราช ซึ่งได้ส่งรายชื่อมาให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อเบิกวัคซีนไปฉีด ทำให้วัคซีนที่จังหวัดได้รับในแต่ละงวดต้องถูกแบ่งไป จึงขอความอนุเคราะห์เสนอกลุ่มเหล่านี้ขอรับการจัดสรรวัคซีนต่างหาก เพราะถ้าจัดสรรตามจำนวนที่ได้มา อาจจะทำให้การฉีดวัคซีนในกลุ่มประชาชนเกิดความล่าช้ามากขึ้น” นายวิเชียร กล่าว
สถานการณ์วัคซีนนครชัยบุรินทร์
นพ.สุรัตน์ ส่งวิรุฬห์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชฯ กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในเขตสุขภาพที่ ๙ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ถึงปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อประมาณ ๑,๔๘๐ คน ซึ่งการแพร่ระบาดจะมีมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะนี้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น โดยพบผู้ป่วยรายวันในโรงงานและชุมชนขนาดเล็ก จำนวนเครื่องมือ PPE ในเขตสุขภาพที่ ๙ มีเพียงพอในระยะเวลา ๒ เดือน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์นั้น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา รับหน้าที่ในการบริหารให้กับเขตสุขภาพที่ ๙ โดยมีคงเหลือ ๖๐๐-๙๐๐ เม็ดในทุกจังหวัด และพร้อมที่จะเพิ่มให้หากมีสถานการณ์ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์การฉีดวัคซีน ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ โดส”
นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์ สสจ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีเป้าหมายในการเปิดจังหวัด เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา โดยต้องมีความพร้อมภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งประชากรของจังหวัดบุรีรัมย์มีประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน มีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนร้อยละ ๗๐ หรือประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐ คน ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนประมาณ ๕๖๐,๐๐๐ คน และในระบบหมอพร้อม ๒๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งมีการจัดกลุ่มความจำเป็นในการดำรงชีพในจังหวัด เช่น อาชีพค้าขาย วินมอเตอร์ไซค์ โดยมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะเริ่มต้นในพื้นที่ไข่แดงของจังหวัด จากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดการครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ โดยมีสนามช้างฯ สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้ วันละ ๔,๐๐๐ คน ในส่วนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่สามารถรองรับต่ออำเภอ วันละ ๑,๐๐๐-๑,๕๐๐ คน โรงพยาบาลขนาดเล็ก วันละ ๖๐๐-๑,๐๐๐ คน สรุปภาพรวมของจังหวัดบุรีรัมย์สามารถฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า ๒๔,๐๐๐ คนต่อวัน
โคราชฉีดทั้งในและนอกหน่วยบริการ
นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาจัดระบบฉีดวัคซีน ๒ แบบ ได้แก่ ๑.รับการฉีดวัคซีนที่นอกหน่วยบริการ โดยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จัดฉีดวัคซีนที่เซ็นทรัลพลาซา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่งในอำเภอเมือง จัดการฉีดที่เดอะมอลล์โคราช รวมทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในต่างอำเภอก็จะจัดฉีดนอกสถานที่เช่นกัน โดยระบบนี้จะบริการประชาชนได้วันละ ๑๗,๐๐๐ คน ๒.ฉีดที่โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ต่างอำเภอ ฉีดได้วันละ ๑๑,๐๐๐ คน และโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลค่ายสุรนารี โรงพยาบาล มทส. โรงพยาบาลกองบิน ๑ ได้วันละ ๑๓,๐๐๐ คน ดังนั้นการฉีดวัคซีนของโคราชจะได้วันละ ๓๐,๐๐๐ คน และยังสามารถขยายได้มากกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพิเศษที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน โดยจะดูแลกลุ่มนี้ด้วยนโยบาย ๓ หมอ แบ่งเป็นกลุ่มที่สามารถนำมาฉีดในโรงพยาบาลประมาณ ๘,๐๐๐ คน ส่วนอีก ๓,๐๐๐ คน จะใช้รถบริการ ๓ หมอลงพื้นที่ไปให้บริการ ขณะนี้ภาพรวมจังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียนทุกอำเภอมากกว่าร้อยละ ๘๐ แล้ว ยกเว้นอำเภอเมือง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเคาะประตูบ้าน เพื่อให้ข้อมูลการรับวัคซีนกับประชาชน โดยเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ จะต้องบรรลุเป้าหมายแน่นอน”
นพ.ศุภพล ชัยมงคล รองนายแพทย์ สสจ.ชัยภูมิ กล่าวว่า “จังหวัดชัยภูมิมีประชาชนประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐ คน เป้าหมายการฉีดวัคซีนตั้งไว้ร้อยละ ๗๐ หรือประชากร ๘๐๐,๐๐๐ คน ที่ผ่านมามีผู้รับวัคซีนไปแล้ว ๑๗,๐๐๐ คน ศักยภาพทั้งหมดของจังหวัด สามารถฉีดวัคซีนได้วันละ ๑๐,๐๐๐ คน โดยโรงพยาบาลชัยภูมิและโรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ ให้บริการได้วันละ ๓,๐๐๐ คน และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง วันละ ๗,๐๐๐ คน”
นพ.อภิสรรค์ บุญประดับ รองนายแพทย์ สสจ.สุรินทร์ กล่าวว่า “จังหวัดสุรินทร์มีประชากรทั้งหมด ๑,๓๐๐,๐๐๐ คน เป้าหมายการฉีดวัคซีนร้อยละ ๗๐ หรือประชากรประมาณ ๙๗๐,๐๐๐ คน โดยศักยภาพของโรงพยาบาลทั้งหมดภายในจังหวัด สามารถรรองรับการฉีกวัคซีนได้วันละ ๒๑,๐๐๐ คน จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการฉีดได้ภายในระยะเวลา ๙ สัปดาห์ ผลการจองวัคซีนขณะนี้ มีจำนวน ๒๐๑,๙๙๖ คน”
นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า “ในเขตสุขภาพที่ ๙ ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ มีประชากรโดยรวมประมาณ ๖,๘๐๐,๐๐๐ คน หากฉีดวัคซีนให้ครบร้อยละ ๗๐ คือ ประชากร ๔,๗๐๐,๐๐๐ คน โดยศักยภาพการฉีดวัคซีนในเขตสุขภาพที่ ๙ สามารถให้บริการได้วันละ ๘๔,๐๐๐ คน มีระยะเวลาการฉีดวัคซีน ๕๗ วัน ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ๒๕๖๔”
บุรีรัมย์ขอวัคซีนด่วนเพื่อจัดแข่งโมโตจีพี
ในช่วงท้าย นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอรับการสนับสนุนวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้รัฐบาลได้พิจารณา และให้การสนับสนุนวัคซีนเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะได้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ครอบคลุมตามกลุ่มเป้าหมาย ภายในเดือนกันยายน ๒๕๖๔ เนื่องจากจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ (โมโตจีพี) ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ และต่อเนื่อง ๖ ปี แต่ขณะนี้เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกใหม่ มีความรุนแรงทั่วโลก การฉีดวัคซีนคุ้มกันจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในระยะยาวให้กับประชาชน ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์มีผู้ลงทะเบียนขอรับการฉีดวัคซีน ผ่าน Buriram IC แล้วมากกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดจะต้องเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรวัคซีนโควิด-๑๙ ให้เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนที่จะจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบ (โมโตจีพี) ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ต่อไป
‘วิเชียร-ยลดา’ฉีดซิโนแวคเข็มแรก
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๐ น. ที่โคราชฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัยผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และผู้ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมกับประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และเข้ารับการฉีดวัคซีน (ซิโนแวค) เข็มแรก โดยมี นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจด้านอำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นผู้ฉีด ท่ามกลางกำลังใจจำนวนมาก นำโดยภริยา คือนางณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย พร้อมด้วย นพ. เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชฯ และนายสุริยา ตันเจริญ
เช่นเดียวกับนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ. และ พ.ต.อ.รัฐศักดิ์ สุขเจริญ ที่ปรึกษานายก อบจ.ฯ ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่จุดบริการฉีดวัคซีนเดอะมอลล์โคราช โดยมีนายชินาพัฒน์ พิมพ์ศรีแก้ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ เดอะมอลล์โคราช ร่วมให้กำลังใจด้วย
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๐ วันพุธที่ ๒๖ เดือนพฤษภาคม - วันอังคารที่ ๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
105 1,665