29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 03,2021

โคราชพบผู้ติดเชื้อลดลง แต่จับตา‘โรงเชือดไก่’ อนุมัติ‘เจ้าสัว’เปิดได้

โคราชสถานการณ์โควิด-๑๙ ดีขึ้น พบผู้ป่วยรายใหม่เหลือเลขตัวเดียว สสจ.หยุดการระบาดในคลัสเตอร์ใหญ่ได้แล้ว ด้านโรงงานกุนเชียงกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง แต่พนักงานจะต้องมีผลตรวจยืนยันไม่พบเชื้อ ๓ ครั้ง ด้านนักระบาดวิทยาเผย ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรงงานไก่ที่แก่งคอย หลังพบผู้ติดเชื้อเกี่ยวข้องต่อเนื่อง

การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ทุกวัน ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนั้น

ความคืบหน้าในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๓๐ ราย รักษาหายแล้ว ๗๕๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๖๕ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุม ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

สำหรับความคืบหน้ากรณีคลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ในฐานะนักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า “คลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ยังพบอย่างต่อเนื่อง รายล่าสุดที่พบเป็นพนักงานในโรงงานที่ ๓ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้านเจ้าสัว เป็นผู้ป่วยรายที่ ๙๓๐ มีความเกี่ยวข้องกับแผนกอนามัยในโรงงานที่ ๒ ซึ่งพนักงานอนามัยพบว่า ติดเชื้อ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และทั้งคู่เป็นเครือญาติกัน ซึ่งคนอื่นๆ ที่สัมผัสใกล้ชิด ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม โดยมีการติดเชื้อในอำเภอเมือง ๓๘ ราย ขามทะเลสอ ๒ ราย สูงเนิน ๑ ราย ด่านขุนทด ๑ ราย พิมาย ๑ ราย โนนไทย ๕ ราย และชุมพวง ๑๙ ราย โดยรายแรกของคลัสเตอร์นี้ ทำงานอยู่ที่โรงงานข้าวตัง มีอาการเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม และผลตรวจออกมาวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จากนั้นวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ป่วยในแผนกบรรจุภัณฑ์กุนเชียง จำนวน ๓ ราย ซึ่งหลังจากนั้นมา ก็พบการระบาดอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยวันนี้โรงงานเจ้าสัวจะครบกำหนดปิด เวลา ๑๘.๐๐ น.”

“ในส่วนของร่างพิจารณาอนุมัติคืนพื้นที่ เมื่อครบกําหนดประกาศปิดสถานที่ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. ให้เข้าดําเนินการทําความสะอาดในพื้นที่โรงงานเจ้าสัว โดยให้ทางโรงงาน จัดหาเจ้าหน้าที่ในการทําความสะอาดตามมาตรการโควิด-๑๙ และให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขด้านสิ่งแวดล้อม และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เข้าควบคุมกํากับการดําเนินการ และการดําเนินการการรวมตัวคนทําความสะอาดฆ่าเชื้อโรคไม่เกิน ๕๐ คน ตามประกาศจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป”

“ส่วนร่างพิจารณาอนุญาตให้ดําเนินกิจการ ให้ดําเนินการปรับปรุงตามข้อเสนอของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ได้ให้ข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ หากแก้ไขเรียบร้อย ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเข้าตรวจสถานที่ตามที่เสนอแนะ เพื่อพิจารณาเปิดดําเนินการ มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อในสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด เน้นการปฏิบัติตาม DMHTT พนักงานทุกคนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงานเจ้าสัว ต้องแสดงผลการตรวจ RT-PCR ครบ ๓ ครั้ง ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าปฏิบัติงาน โดยส่งเอกสารล่วงหน้า ๓ วัน เน้นการสื่อสารกับพนักงานให้กักตัว ๑๔ วันก่อนมาปฏิบัติงาน เฝ้าระวังวันที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายต่อจนครบ ๑๔ วัน” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

มาตรการในโรงงาน

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “หากตั้งหลักว่า จะขออนุมัติคืนพื้นที่ ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติ เพราะพื้นที่จะถูกคืนตามผลของคำสั่ง ในเวลา ๑๘.๐๑ น. แต่สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ทำอย่างไรเมื่อกลับไปใช้พื้นที่แล้ว จะไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้ง หรือมีมาตรการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้โรงงานกลายเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคอีกครั้ง”

จากนั้น นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด นำเสนอมาตรการต่างๆ โดยสรุปได้ว่า “ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เราจะขอความอนุเคราะห์ในการส่งหรือจัดหาเจ้าพนักงานควบคุมโรค มากำกับการทำความสะอาดหลังจากที่ปิดทำการไป ๑๔ วัน เพื่อให้การฆ่าเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงเวลา ๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น. เป็นขั้นตอนการอธิบายการฉีดพ่นทำความสะอาด โดยมีพนักงาน เจ้าสัว ๗ คน ซึ่งทั้งหมดผ่านการตรวจคัดกรองครบ ๓ ครั้ง เวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๐๐ น. ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ โดนมีเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคและพนักงานของเจ้าสัว ๗ คน และเวลา ๑๓.๐๐-๑๗.๐๐ น. จะมีพนักงาน ๔๐ คน เข้าพื้นที่ทำความสะอาดเช็ดถู หลังจากที่ฉีดพ่นฆ่าเชื้อแล้ว”

“สำหรับการปรับปรุงสถานที่ จะเข้าไปในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยจะปรับปรุงอุปกรณ์ให้ลดการสัมผัส เช่น เดิมทีจะใช้เครื่องสแกนนิ้วในการเข้างาน แต่จะเปลี่ยนเป็นการสแกนหน้า หรือมีน้ำยาล้างมือให้สำหรับเข้าห้องน้ำ เป็นต้น สำหรับห้องแต่งตัว จะปรับปรุงโดยการขยายพื้นที่ห้อง และจะติดตั้งระบบแสงยูวี เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดตามเสื้อของพนักงานที่แขวงทิ้งไว้ โดยการปรับปรุงด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ จะสามารถทำได้ประมาณ ๒ วัน ในวันที่ ๒๙-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ส่วนมาตรการดูแลและป้องกัน หลังจากลับมาปฏิบัติงานตามปกติ ในเรื่องของการดูแลคน สถานที่ และการวิธีการปฏิบัติต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้ออีกครั้ง โดยผู้ที่จะเข้ามาในพื้นที่บริษัททั้งคนนอกและพนักงาน จะต้องผ่านจุดคัดกรองตั้งแต่ทางเข้า ด้วยการวัดอุณหภูมิ หากเป็นบุคคลภายนอกจะต้องคัดกรองว่า ได้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งบังคับทุกคนให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา”

นางสาวณภัทร กล่าวอีกว่า “ในการจัดการบุคลากร มีมาตรการดูแลพื้นที่ส่วนรวมที่จะต้องใช้ร่วมกัน เช่น พื้นที่โรงอาหาร มีฉากกั้นในการรับประทานอาหาร โดยจะแบ่งพนักงานออกเป็น ๓ ช่วง ในการพักกลางวัน เพื่อลดความแออัดในการใช้สถานที่ ซึ่งในแต่ละจุดจะมีแม่บ้านคอยเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากใช้งาน รวมทั้งสถานที่อื่นๆ ก็จะทำตามมาตรการเดียวกัน โดยมีการเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน และจัดให้มีอุปกรณ์เหยียบเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลดการสัมผัสโดยใช้มือ นอกจากนี้ในส่วนของพนักงาน ก่อนจะกลับมาทำงานก็จะมีการจัดอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข”

“ทั้งนี้ แผนกำหนดการต่างๆ หลังจากประกาศปิดพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ ๑ ๕-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะขอให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเข้ามาช่วยกำกับดูแล การทำความสะอาดพื้นที่อย่างถูกต้อง วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะมี Big Cleaning พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ตามที่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคแนะนำ และวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะทดสอบความพร้อมของระบบและเครื่องจักรต่างๆ และบริษัทพร้อมที่จะทำตามมาตรการ ของเจ้าพนักงานควบคุมโรค จากที่ผ่านมาได้รับคำแนะนำ ก็นำมาเขียนเตรียมแผนไว้ตลอด ในช่วงที่ปิดโรงงานก็มีการประชุมหารือตลอด มีการสั่งอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้ามา ขณะนี้อุปกรณ์เหล่านั้นมีความพร้อมแล้ว หากมีการเปิดพื้นที่ก็พร้อมเข้าไปติดตั้งทันที ส่วนเรื่องของคน ทราบดีว่าเจ้าหน้าที่เป็นห่วงในการกลับมาปฏิบัติงาน ซึ่งบริษัทได้ให้พนักงานไปตรวจคัดกรองให้ครบ ๓ ครั้ง และมีการโทรติดตามตลอดว่า พนักงานตรวจหรือยัง โดยบริษัทจะรวบรวมข้อมูลผลการตรวจจากพนักงานที่ส่งผลยืนยันมาให้ ผ่านช่องทางต่างๆ จึงเป็นความผิดพลาดจริงจากการเร่งทำข้อมูลเพียง ๑ คืน แต่ล่าสุดส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับ พญ.อารีย์  เชื้อเดช รอง นพ.สสจ. แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลผลการตรวจครั้งแรกของพนักงานทั้ง ๗๒๗ คน ส่วนพนักงานที่ตรวจครบแล้ว ๓ ครั้ง มีข้อมูลประมาณ ๕๐๐ คน” นางสาวณภัทร กล่าว

คืนพื้นที่โรงงานเจ้าสัว

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “การคืนพื้นที่ไม่ต้องขอมติที่ประชุมตามที่รองผู้ว่าฯ เสนอนั้น ถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องทำต่อไปนี้ คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำ จึงกลายเป็นเงื่อนไขของการเปิดโรงงาน เพื่อปฏิบัติการ แต่ก่อนจะปฏิบัติการได้นั้น จะต้องทำตามคำแนะนำและผ่านเงื่อนไขเสียก่อน โดยสรุปเงื่อนไขได้ว่า จะต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปทำกิจกรรม จะต้องผ่านการตรวจเชื้อและผลตรวจเป็นลบครบ ๓ ครั้ง และจะต้องส่งรายชื่อพนักงานให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้ทราบว่า มีพนักงานคนไหนที่มีผลตรวจครบ ๓ ครั้งจริง สิ่งที่ต้องทำอีก คือ การสุ่มตรวจ บูรณาการจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคหรือเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือส่วนปกครองอื่นๆ ทางโรงงานอาจจะต้องอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบสิ่งที่นำเสนอวันนี้ เพื่อตรวจสอบว่า ทำได้จริง เราต้องการให้กิจการกลับมาเปิดโดยเร็วที่สุด แต่ต้องมีความปลอดภัยต่อพนักงานที่ทำงาน และเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของโคราชให้แข็งแรงมากขึ้น”

ทั้งนี้ นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มอบหมายให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ติดตามและกำกับดูแล ตามร่างมาตรการที่กำหนด โดยให้ทำเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค เพื่อติดตามว่า มีการทำตามคำสั่งหรือไม่ จากนั้นให้นำมารายงานผลในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ทุกวัน หากไม่ได้รับความร่วมมือก็สามารถเสนอมาตรการเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม

แจ้งความผู้ป่วยโควิด

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๔ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๓๔ ราย รักษาหายแล้ว ๗๖๗ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๕๗ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ ร่วมประชุม

นพ.ชาญชัย บุญอยู่ เปิดเผยว่า “วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ ๔ ราย ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง โดยมี ๓ ราย อยู่ในตำบลในเมือง ติดเชื้อจากการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ส่วนอีก ๑ ราย อยู่ตำบลหนองกระทุ่ม เป็นผู้ป่วยจากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยรายอื่น สำหรับสถานการณ์ในในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีผู้ป่วยแอดมิดอยู่ ๕๔ ราย เป็นผู้ป่วยอาการเล็กน้อย ๓๒ ราย อาการปานกลาง ๑๖ ราย และมีอาการหนัก ๖ ราย เหลือเตียงว่างทั้งหมด ๙๐ เตียง”

ในวันเดียวกัน เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่สถานีตำรวจอำเภอประทาย นายเลิศพันธุ์ สินบรรเลงเสนาะ นายอำเภอประทายพร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรงโควิด-๑๙ ลำดับที่ ๙๒๙ ชายอายุ ๓๗ ปี ชาวตำบลหนองพลวง อำเภอประทาย มีไทม์ไลน์วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เดินทางมาจากแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่ไม่รายงานตัวกับผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่พักอาศัยภายใน ๑๒ ชั่วโมง ต่อมามีอาการป่วยเป็นไข้ ไอเจ็บคอ จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลประทาย ทราบผลยืนยันพบเชื้อ

เสียชีวิตสะสม ๑๑ ราย

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๓๗ ราย รักษาหาย ๗๗๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๕๖ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

นพ.วิญญู จันทร์เนตร เปิดเผยว่า “วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย เป็นผู้ป่วยลำดับที่ ๖๘๗ อยู่ที่ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมือง เพศหญิง อายุ ๖๑ ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายอื่น โดยวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ตรวจพบเชื้อ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต่อมาวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีอาการรุนแรงขึ้นจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเสียชีวิตในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ไม่มีโรคประจำตัว”

เริ่มตรวจคัดกรองเชิงรุก

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๓๙ ราย รักษาหายแล้ว ๗๗๕ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๕๓ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม 

เจ้าหน้าที่เรือนจำสีคิ้ว รายงานสถานการณ์การตรวจคัดกรองเชิงรุก ว่า “กลุ่มเจ้าหน้าที่ทำการตรวจคัดกรองครั้งที่ ๒ แล้ว ผลเป็นลบทั้งหมด ในส่วนของผู้ต้องขัง ๑,๔๖๖ ราย พบผลเป็นลบทุกราย และหลังจากนี้ ๑๔ วัน จะตรวจคัดกรองในกลุ่มเจ้าหน้าที่อีกครั้ง และสุ่มตรวจผู้ต้องขังร้อยละ ๑๐ อีกครั้ง”

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า “การค้นหาเชิงรุกจะดำเนินการในวันที่ ๑-๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยเริ่มที่อำเภอโนนสูงเป็นพื้นที่แรก จำนวน ๑,๑๐๐ คน จากนั้นจะค้นหาตามลำดับดังนี้ วันที่ ๓ มิถุนายน ที่โรงงานแหลมทองโพลทริ อำเภอสูงเนิน ๕๐๐ คน, วันที่ ๔ มิถุนายน ที่ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง ๕๐๐ คน, วันที่ ๕ มิถุนายน ที่ตำบลโนนรัง และตำบลหนองสาหร่าย อำเภอชุมพวง ๑,๐๐๐ คน ในส่วนของอำเภอเมืองจะเริ่มขึ้นวันที่ ๖ มิถุนายน ตำบลสุรนารี ๓๒๕ คน วันที่ ๗ มิถุนายน ตำบลโพธิ์กลาง ๓๒๕ คน วันที่ ๘ มิถุนายน ตำบลตลาด และตำบลหนองระเวียง ๓๕๐ คน วันที่ ๙ มิถุนายน ที่บขส.เก่า และ บขส.ใหม่ ๓๐๐ คน วันที่ ๑๐ มิถุนายน ที่ตลาดสุรนารี (สุรนคร) ๕๐๐ คน และวันที่ ๑๑ มิถุนายน ที่ตลาดเซฟวัน ๒๐๐ คน รวมทุกพื้นที่ที่จะตรวจคัดกรองทั้งหมด ๕,๐๐๐ คน เมื่อผลการตรวจแต่ละพื้นที่ออกแล้ว จะนำเรียนที่ประชุมทราบต่อไป”

พบผู้ป่วยจากโรงงานเชือดไก่

วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๔๑ ราย รักษาหายแล้ว ๗๘๐ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๕๐ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดย นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชิ้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และคณะ ร่วมประชุม 

พญ.อารีย์ เชิ้อเดช เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่พบล่าสุด ๒ ราย อยู่ที่อำเภอปากช่องทั้งหมด ซึ่งทั้งคู่ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ตามที่มีข่าวว่า โรงงานเชือดไก่ของ CPF ที่แก่งคอย (สระบุรี) มีการติดเชื้อในโรงงานประมาณ ๒๐๐ ราย โดยมีประชาชนจากโคราชส่วนหนึ่ง ไปทำงานอยู่ด้วย เมื่อกลับมาก็เป็นเคสในโคราช ครั้งนี้เป็นสถานการณ์การระบาดของคลัสเตอร์นอกพื้นที่จังหวัดฯ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังต่อไป

สถานการณ์คลัสเตอร์เจ้าสัว

ส่วนความคืบหน้าคลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว พญ.อารีย์ เชื้อเดช เปิดเผยว่า “ผลการตรวจประเมินมาตรการก่อนการเปิดให้ดำเนินกิจการของโรงงานเจ้าสัว โดยคลัสเตอร์นี้พบผู้ป่วยครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีการระบาดกระจาย ๓ วง มีผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด ๖๗ ราย กระจายในพื้นที่อำเภอเมือง ๓๘ ราย อำเภอสูงเนิน ๑ ราย อำเภอขามทะเลสอ ๒ ราย อำเภอด่านขุนทด ๑ ราย อำเภอพิมาย ๑ ราย อำเภอโนนไทย ๕ ราย อำเภอชุมพวง ๑๙ ราย และล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบเพิ่ม ๑ ราย เป็นเคสของจังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับโรงงานเจ้าสัว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มีมติให้ปิดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๘ พฤษภคม ๒๕๖๔ ซึ่งในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้คืนพื้นที่ให้ทำความสะอาดพื้นที่ตามคำแนะนำไปแล้ว โดยเงื่อนไขในการเปิดดำเนินกิจการอีกครั้ง คือ เมื่อคืนพื้นที่ให้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. ด้านผู้ประกอบการได้เข้าไปทำความสะอาดพื้นที่ ภายใต้การกำกับดูแลจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ส่วนพนักงานที่จะกลับมาเข้าพื้นที่ จะต้องมีผลการตรวจ RT-PCR ครบ ๓ ครั้ง และมีหลักฐานยืนยันว่าตรวจครบแล้ว โดยการสรุปผลตรวจสอบเอกสารการตรวจ RT-PCR พบข้อมูลพนักงาน ๔๗๘ คน มีผลตรวจครบ ๓ ครั้ง”

ให้เปิดกิจการแบบมีเงื่อนไข

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “ข้อมูลล่าสุดของผู้ที่ผ่านการตรวจหาเชื้อและไม่พบเชื้อ ครบ ๓ ครั้ง จำนวน ๔๗๘ คน ตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ สั่งไว้ว่า คนที่จะกลับเข้ามาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อครบ ๓ ครั้ง แต่จากจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่า ๗๐๐ คน ก็ไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ทั้งหมด แต่คนที่จะกลับมาทำงานจะต้องตรวจหาเชื้อครบ ๓ ครั้งแล้วเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่ไม่พบผลการตรวจจากโรงพยาบาล แต่มีเอกสาร จำนวน ๑๑๐ คน จะต้องแยกเอกสารออกมา แล้วให้ผู้ประกอบการเป็นคนรับรองเอกสาร หากเขาใช้เอกสารปลอม ก็จะมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ทางโรงงานจะต้องรับรองเอกสาร ซึ่งหลังจบการประชุม ทีมงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด จะเข้าไปตรวจสอบเอกสารอีกครั้ง เพราะอาจจะมีวิธีค้นหาที่แตกต่างกัน เนื่องจากไม่พบเอกสารในฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมหาราชฯ และโรงพยาบาลเทพรัตน์ ดังนั้น การขอมติจะระบุว่า เรื่องตรวจครบหรือไม่ครบ ๓ ครั้ง แต่ไม่ระบุจำนวน หากใน ๑๑๐ คนที่ยังไม่พบหลักฐานเอกสาร คนที่ใช้เอกสารปลอมก็จะไม่สามารถเข้าทำงานได้ เพราะมีผลตรวจ                      ยังไม่ครบ ๓ ครั้ง และจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมด้วย”

ยืนยันไม่มีข้อมูลเท็จ

นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด กล่าวชี้แจงว่า “ในการหาข้อมูลผลตรวจ ใช้วิธีหาจากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลมหาราชฯ โรงพยาบาลเทพรัตน์ และโรงพยาบาล มทส. ส่วนพนักงานที่เป็น MOU จะใช้เลขพาสปอร์ต ๑๓ หลัก ซึ่งทำให้ค้นหาข้อมูลไม่พบ และมีส่วนหนึ่งไปตรวจที่ศูนย์แพทย์หรืออนามัยใกล้บ้าน พนักงานจึงใช้วิธีส่งเป็นเอกสารถ่ายรูปมาให้ ทางบริษัทก็จะเก็บภาพหน้าจอไว้ทั้งหมดและส่งให้ สสจ. ซึ่งเรายินดีชี้แจงกรณี ๑๑๐ คน ที่ค้นหาข้อมูลไม่พบ ส่วนข้อมูลเท็จนั้น เรายืนยันได้เลยว่า ไม่มีการจัดทำข้อมูลเท็จ”

จากนั้น นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ ได้ขอมติ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีผู้ออกเสียจำนวน ๑๗ เสียง จาก ๒๑ เสียง ให้โรงงานเจ้าสัวเปิดกิจการในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขว่า พนักงานเก่าที่จะกลับเข้าทำงานจะต้องมีผลตรวจโรคโควิด-๑๙ ครบ ๓ ครั้ง และผลไม่พบเชื้อ ส่วนพนักงานเข้าใหม่ ให้มีผลตรวจ ๑ ครั้ง และไม่พบเชื้อ โดยมีผลตรวจล่วงหน้าอย่างน้อยไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมง

จับตาคลัสเตอร์โรงงานไก่

วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๔๓ ราย รักษาหายแล้ว ๗๙๙ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๓๓ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชิ้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม 

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ในฐานะนักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานคลัสเตอร์สำคัญ ว่า “กรณีผู้ป่วยรายใหม่ติดเชื้อจากโรงงานไก่ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ ๙๔๐ และ ๙๔๑ ของโคราช โดยในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผู้ป่วยทั้ง ๒ ราย ไปสมัครงานที่ CPF และเข้ารับฟังปฐมนิเทศ จากนั้นวันที่ ๒๑-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พักอยู่ที่บ้านรอฟังผลการตรวจสุขภาพ วันที่ ๒๔-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นั่งรถตู้ของบริษัท CPF ไปทำงานที่แก่งคอย ซึ่งทั้ง ๒ ราย พักอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกันที่อำเภอปากช่อง ตำบลจันทึก จากนั้นวันที่ ๒๖ ไม่ได้เดินทางไปไหนและได้รับแจ้งจากโรงงานว่า มีการระบาดของโควิด-๑๙ ภายในโรงงาน และให้ไปตรวจหาเชื้อ ผู้ป่วยจึงไปตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และพบเชื้อในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ จากนั้นทีมสอบสวนโรคจึงค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมด ๔ ราย ซึ่งจากการตรวจหาเชื้อพบ ๒ ราย ติดเชื้อ เป็นผู้ป่วยใหม่ในวันนี้ โดยเป็นเด็กทั้งคู่ อายุ ๗ ปี และ ๔ ปี โดยเป็นหลานที่อาศัยในบ้านร่วมกันส่วนพนักงานที่ทำงานในโรงงาน CPF เรามีรายชื่อส่งให้ทุกอำเภอที่มีรายชื่อ เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด เข้าไปให้คำแนะนำและกักตัวตามลำดับดังนั้นขอให้ทุกอำเภอเข้มข้นกับเรื่องนี้ เพราะผลตรวจจากจังหวัดสระบุรีกำลังออกมาเรื่อยๆ ซึ่งวันนี้ก็พบ ๑ ราย เป็นคนในโคราช จึงต้องการให้อำเภอที่มีรายชื่อกักตัวกลุ่มนี้ไว้ ๑๔ วัน โดยอย่าให้สัมผัสกับคนในครอบครัว เพราะจะทำให้เกิดการระบาดวงกว้างในครอบครัวอีก”

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๔๓ ราย กระจายในพื้นที่อำเภอเมือง ๔๑๔ ราย ปากช่อง ๑๕๘ ราย สีคิ้ว ๔๖ ราย ด่านขุนทด ๔๘ ราย สูงเนิน ๑๓ ราย ชุมพวง ๒๙ ราย บัวใหญ่ ๓๑ ราย พิมาย ๑๔ ราย โนนไทย ๑๑ ราย ประทาย ๔๙ ราย ปักธงชัย ๑๒ ราย ครบุรี ๑๖ ราย บัวลาย ๑ ราย เสิงสาง ๗ ราย โนนสูง ๒๓ ราย คง ๙ ราย โชคชัย ๙ ราย ห้วยแถลง ๙ ราย ขามทะเลสอ ๕ ราย เทพารักษ์ ๑ ราย หนองบุญมาก ๓ ราย จักราช ๔ ราย เฉลิมพระเกียรติ ๒ ราย ลำทะเมนชัย ๑ ราย สีดา ๓ ราย โนนแดง ๑ ราย บ้านเหลื่อม ๓ ราย วังน้ำเขียว ๑๒ ราย แก้งสนามนาง ๕ ราย และขามสะแกแสง ๔ ราย โดยมี ๒ อำเภอที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ คือ อำเภอพระทองคำ และเมืองยาง

อนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จึงเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนวันสำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา จากเดิมที่ประชุมทุกวัน เป็นเฉพาะวันอังคารและวันศุกร์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

 

 ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๑ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่ ๘ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


994 1608