June 10,2021
๗ นโยบายเร่งด่วน พลิกโฉม‘นครโคราช’ ถนนสวยใน ๓ เดือน
เปิดสภาแถลงนโยบายบริหารเทศบาลนครโคราช “ประเสริฐ บุญชัยสุข” ชู ๗ นโยบายเร่งด่วน กับอีก ๕ นโยบายหลัก พร้อมพลิกโฉมโคราชให้น่าอยู่ ร่วมกำจัดโควิด ปูถนนให้เรียบ น้ำไม่ท่วมขัง ประปาสะอาดและเพียงพอ จราจรลื่นไหลไม่ติดขัด ด้านคณะผู้บริหารยืนยันคัดมาอย่างดี ผสมผสานรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ และยืนยันมีงบประมาณเพียงพอจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด
เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ที่สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมผู้บริหารเทศบาลฯ และสมาชิกสภาเทศบาลฯ (ส.ท.) ร่วมสักการะพระพรหมหน้าสำนักงานเทศบาล เพื่อความเป็นสิริมงคล ในวาระที่เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ หลังจาก กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกลุ่มโคราชชาติพัฒนา ส.อบจ.ในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา ในสังกัดกลุ่มโคราชชาติพัฒนา เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ภายหลังเสร็จพิธี นายทวีศักดิ์ พันธ์วิเศษศักดิ์ ปลัดเทศบาลนครฯ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมมอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดีกับนายกเทศมนตรี รวมทั้ง ยังมีผู้นำชุมชนในเขตเทศบาล อสม. และองค์กรต่างๆ มาร่วมแสดงความยินดีจำนวนมาก
เปิดสภาแถลงนโยบาย
ต่อมาในเวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุม กาญจนาภิเษก ชั้น ๕ อาคารฉลองสิริราชสมบัติ ๕๐ ปีฯ มีการประชุมสภาเทศบาลฯ โดยมีวาระสำคัญคือการแถลงนโยบายของนายประเสริญ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี ซึ่งนายอุทัย มิ่งขวัญ ทำหน้าที่ประธานสภาฯ พร้อมด้วยนายศุภรัศมิ์ ตัณฑเศรณีวัฒน์ รองประธานสภาฯ และนายกัมปนาท บุตรโต รองปลัดเทศบาลฯ ในฐานะเลขานุการสภาฯ ทำหน้าที่ในการประชุม โดย มีส.ท.เข้าประชุมครบทั้ง ๒๔ คนจาก ๔ เขต
๗ นโยบายเร่งด่วน
นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี ลุกขึ้นอ่านนโยบายเร่งด่วน ๗ ข้อ และนโยบายหลัก ๕ ข้อในการบริหารเทศบาลนครฯ สำหรับนโยบายเร่งด่วน ๗ ข้อ ประกอบด้วย ๑.ควบคุมป้องกันโรคโควิด-๑๙ อย่างเข้มข้น ๒.ปรับปรุงซ่อมแซมผิวจราจรในเขตเมือง ๓.ปรับปรุงซ่อมแซมทางเท้าและติดตั้งระบบไฟฟ้าสาธารณะและระบบไฟสัญญาณจราจร ๔. บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ๕.ควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ๖.แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างถาวร และ ๗.ฟื้นฟูเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากวิกฤตด้านโควิด-๑๙
๕ นโยบายหลัก
สำหรับนโยบายหลัก ๕ ด้านที่มีการประกาศไว้ในช่วงหาเสียง ประกอบด้วย ๑.เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน (Sustainable Livability City) ซึ่งจะมีการพัฒนาสองฝั่งลําตะคอง อนุรักษ์และปรับปรุงคูเมืองให้สวยงาม เพิ่มปอดของเมืองให้มากขึ้น แก้ปัญหาการจราจรติดขัด ขยายความครอบคลุมการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิแก่ประชาชนในเขตเมืองเพิ่มขึ้น ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครราชสีมาให้สูงขึ้น เพิ่มศักยภาพการจัดหาน้ำดิบและการบริหารจัดการน้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร เร่งรัดก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transportation) และปฏิรูปการบริหารงานเทศบาลผ่านระบบดิจิทัล (e-municipality)
๒.เมืองศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง เร่งรัดดําเนินการประสานงานและผลักดันโครงการพัฒนาความพร้อมด้านโครงสร้างต่างๆ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อรองรับระบบโครงสร้างพื้นฐานจากส่วนกลางที่ผ่านเข้าสู่เมืองโคราช ทั้งทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับการลงทุน การท่องเที่ยว และธุรกิจการค้า ที่จะมีการขยายตัวต่อไปในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อให้โคราชเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และเปิดประตูสู่อินโดจีน
๓.เมืองท่องเที่ยว แปรกิจกรรมประเพณีของโคราชและอีสาน เป็นตลาดเฉพาะสําหรับการท่องเที่ยว ผลักดันโคราชสู่การเป็นเมืองเพื่อการจัดประชุมและแสดงสินค้า (MICE City) ร่วมขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก สร้างเศรษฐกิจชุมชนในเมือง ๔.เมืองกีฬา ส่งเสริมการพัฒนากีฬาทุกมิติ ส่งเสริมทีมสโมสรกีฬา ฟื้นฟูศิลปะมวยไทยโคราช เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา พัฒนากิจกรรมถนนกีฬา และ ๕.เมืองอัจฉริยะ (Smart City) มุ่งเน้นขับเคลื่อนพัฒนาเมืองนครราชสีมาให้ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อสร้างการเติบโตของเมืองนครราชสีมาอย่างยั่งยืน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนเมือง ด้วยการนําเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการด้านต่างๆ โดยดําเนินการในลักษณะเป็นขั้นตอนตามความพร้อมและความเหมาะสม (รายละเอียดนโยบายทั้งหมดพลิกไปอ่านที่หน้า ๘)
สุจริต มีประสิทธิภาพ
โดยท้ายสุด นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี กล่าวว่า “ขอยืนยันกับสภาเทศบาลนครนครราชสีมาว่า การกําหนดนโยบายดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และที่พึงจะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นนโยบายที่สามารถนําไปปฏิบัติให้บังเกิดผลสําเร็จได้ ตามภารกิจของเทศบาลนครนครราชสีมา ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นของเราให้เจริญเติบโตก้าวหน้า ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกรณีที่มีความจําเป็นจะต้องแก้ไขปรับปรุงนโยบาย อันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบจากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ จะรายงานให้สภาเทศบาลนครนครราชสีมาทราบต่อไป และขอให้ความเชื่อมั่นต่อสภาเทศบาลนครนครราชสีมาว่า จะบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ภายใต้หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนเมืองทุกคนดีขึ้น”
พัฒนาเมืองให้น่าอยู่
จากนั้น นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรี ได้บันทึกภาพร่วมกับส.ท.ทั้ง ๒๔ คน และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “จากที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากประชาชน เรื่องแรกคือ ปัญหาโควิด-๑๙ จะต้องร่วมกันป้องกัน และประชาชนก็ต้องการวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด ขณะนี้เทศบาลฯ มีความพร้อม แต่ยังรอความชัดเจนจากกระทรวงมหาดไทย และ ศบค.ว่า ท้องถิ่นจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนเรื่องถนนหนทางนเขตเมือง จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เรื่องน้ำประปาบางจุดไหลค่อย บางจุดไม่ไหล มีฝุ่นละออง ซึ่งจะหารือร่วมกับคณะผู้บริหารประจำของเทศบาลฯ ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เนื่องจากโคราชเป็นเมืองใหญ่ มีประชาชนอาศัยหนาแน่น ทุกวันนี้เราต้องแข่งขันในระดับเอเชียแล้ว ต้องมีการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ต้องสะอาดเรียบร้อย ไม่มีขยะ ไม่มีน้ำเน่าน้ำเสีย การจราจรไม่ติดขัด และสภาพสังคมต้องน่าอยู่ อยู่แล้วมีแต่ความสุข นอกจากนี้ยังจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ประชาชนประสบปัญหาโรคระบาด ทำให้การค้าขายหยุดชะงัก คนเดือดร้อนกันหมด ไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ เมื่อสถานการณ์เบาบางลง หรือประชาชนได้ฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ที่มั่นใจ ก็จะเปิดเมืองอีกครั้ง มีการจัดงานกระตุ้นเศรษฐกิจ จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และพัฒนารายได้ให้กับคนในชุมชน
ถนนต้องเรียบร้อย
เมื่อสื่อมวลชนถามว่า มีแผนหรือไม่ว่า จะทำเรื่องใดให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน หรือ ๖ เดือนก่อน นายประเสริฐ ตอบว่า “๓ เดือนนี้จะต้องทำเรื่องถนนให้เรียบร้อย ถนนจะต้องสะอาดสวยงาม ทั้งในเมืองและชุมชน วันนี้ได้ทำความเข้าใจกับสมาชิกสภาเทศบาลฯ ทั้ง ๔ เขต และข้าราชการประจำว่า ประชาชนกำลังมีความทุกข์ มีความเครียดจากโควิด-๑๙ หากเราทำให้บ้านเมืองสวยงามเรียบร้อย การจราจรไม่ติดขัด ผมว่า จะช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของประชาชนได้”
“ถนนในเมืองที่ประชาชนเห็น เราจะรีบเร่ง ตรงไหนที่ภารกิจใต้ดินเสร็จแล้ว ทั้งสายไฟฟ้าลงดิน สายสื่อสาร และท่อประปาของเทศบาลฯ ถ้าทำจบแล้วก็จะรีบปูถนนแอสฟัลท์ติกให้เร็วที่สุด รวมทั้งทาสีตีเส้นจราจรให้สวยงาม จะทำให้เร็วที่สุด โดยงบประมาณจะเป็นของเทศบาลส่วนหนึ่ง ซึ่งได้หารือกันนอกรอบไปบ้างแล้ว และการไฟฟ้าฯ จะมาพบผมอีกครั้ง จะจับมือกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยด่วน ผมบอกไปว่า ประชาชนบ่นมามาก เดือดร้อนมาก ซึ่งการไฟฟ้าฯ ก็ยินดีร่วมแก้ไข โดยเฉพาะตู้ขนาดใหญ่ ที่กีดขวางทางเท้า ตรงไหนจะขยับได้หรือเปลี่ยนแปลงได้ ก็พร้อมที่จะรับฟังปัญหา และพร้อมร่วมกันแก้ไข” นายประเสริฐ กล่าว
วางระบบป้องกันน้ำท่วมขัง
สำหรับในประเด็นน้ำท่วมนั้น นายประเสริฐ บุญชัยสุข กล่าวว่า วันที่ ๔-๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ จะมีฝนตก ซึ่งได้พูดคุยกับกองช่างและกองสุขาภิบาลแล้ว ให้ไปดูเส้นทางปัจจุบันให้ครบ ติดขัดอะไรหรือไม่ มีอะไรขวางทางหรือไม่ หากมีดินมีโคลนขวางก็จะต้องรีบไปดูดออกให้หมด อย่างน้อยการระบายน้ำก็จะเร็วขึ้น จะทำให้น้ำท่วมขังไม่นาน และขณะนี้เราโชคดี เพราะกรมโยธาธิการและผังเมือง มีงบประมาณมาให้โคราช ๓๐๐ ล้านบาท เพื่อสร้างทางระบายน้ำ วางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่หลายจุดในเขตเมือง ผมได้คุยกับผู้บริหารกรมโยธาฯ ไปบางส่วนแล้ว และทราบเป็นการภายในว่า มีการเซ็นสัญญาแล้ว แต่เป็นงานของกรมโยธาฯ ซึ่งเรามีหน้าที่อำนวยความสะดวก ประสานให้เกิดโครงการขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งโครงการนี้เขาบอกว่า หากทำได้จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังในโคราชได้อย่างมาก
ขยายโรงกรองน้ำ
“เรื่องการแก้ไขน้ำประปา อย่างที่ทราบกันดีว่า ท่อประปามีมาตั้งแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ คือประมาณ ๓๗ ปีแล้ว ท่อจึงมีทั้งแตกและรั่วเป็นระยะ ทำให้เสียงบประมาณซ่อมมาตลอด และยังสูญเสียน้ำอีก ดังนั้น เราจึงมีโครงการว่า จะเปลี่ยนท่อใหม่ขนาดใหญ่ และขณะเดียวกันจะขอสร้างโรงกรองน้ำใหม่ เพราะโรงกรองน้ำเก่าล้าสมัย หากเรามีโรงกรองน้ำแห่งใหม่ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย กรองน้ำได้เร็วขึ้น น้ำประปาจะปราศจากกลิ่นและสี โดยจะขยายที่โรงกรองน้ำมะขามเฒ่า” นายประเสริฐ กล่าว
จากนั้นเมื่อถามถึงการแต่งตั้งคณะผู้บริหารว่ามีบุคคลใดบ้าง นายประเสริฐชี้แจงว่า “ได้คัดเลือกทั้งที่ปรึกษา และรองนายกฯ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ และที่สำคัญ คือ คนรุ่นใหม่ เราจะผสมผสานแนวคิดของคนต่างวัย วันนี้จะต้องยอมรับคนรุ่นใหม่ นำความคิดมารวมกัน ก็คิดว่า ที่คัดเลือกมานั้นดีที่สุด ที่จะมาทำงานในภาวะบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ โดยจะมีรองนายกฯ ๔ คน ที่ปรึกษานายกฯ ๔ คน และเลขานุการนายกฯ ๑ คน รวมทั้งหมด ๙ คน”
เผยคุณสมบัติที่ปรึกษา-รองนายกฯ
ในขณะที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ประธานกลุ่มโคราชชาติพัฒนา เปิดเผยรายชื่อคณะผู้บริหารเทศบาลนครฯ กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า รองนายกเทศมนตรีนครนครราช สีมา ทั้ง ๔ คน ประกอบด้วย นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ อดีตส.ท.โคราชชาติพัฒนา (อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีกลุ่มเพื่อประชา และอดีตผู้สมัครส.ส.นครราชสีมา เขต ๑๑ พรรคชาติพัฒนา), นายสหพล กาญจนเวนิช อดีตรองนายกเทศมนตรี, นายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน ลูกชายอดีตรองนายกเทศมนตรี และนายนัฏฐชัยฐ์ ธนกนกนนทณ์ อดีต ส.อบจ.เมืองหลายสมัย และอดีตรองประธานสภา อบจ.นครราชสีมา
“ในส่วนของนายชาตรี วงษ์วิบูลย์สิน เป็นลูกชายของนายสถิตย์พงษ์ (หวาน) อดีตรองนายกเทศมนตรี (สมัย รศ.เชิดชัย โชครัตนชัย เป็นนายกเทศมนตรี) ปัจจุบันอายุ ๔๐ ปี จบปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ แล้วไปเรียนต่อที่ประเทศจีน อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีของโคราช (เจ้าของบริษัท วงษ์หิรัญ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจร้านฟุคุโระ ทุกอย่าง ๒๐ บาท มีหลายสาขาในโคราช) เป็นคนขยัน คนเก่ง” นพ.วรรณรัตน์ กล่าวยืนยัน
สำหรับรายชื่อที่ปรึกษานายกเทศมนตรีฯ ที่วางตัวไว้ ๔ คน ได้แก่ นายยุทธนา วิริยะกิตติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางสิรินทร์ พันธ์เกษม อดีตรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), นายสมบัติ กาญจนวัฒนา อดีตประธานสภา อบจ.นครราชสีมา และนายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม ส่วนเลขานุการนายกฯ คือ นางสาวจิรัฐพรรณษ์ วงศ์จร (ลูกหนัย) ลูกสาวของนายชัชวาล วงศ์จร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
“ในส่วนของนางสิรินทร์ พันธ์เกษม ที่จะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรี เป็นภริยานายสมศักดิ์ พันธ์เกษม อดีตส.ส.พรรคชาติพัฒนา (ปัจจุบันส.ส.นครราชสีมา เขต ๑๑ พรรคพลังประชารัฐ) โดยนางสิรินทร์ มีความรู้ด้านการเงินด้านการบัญชี จะมาช่วยดูเรื่องความถูกต้องตามระเบียบพัสดุต่างๆ ไม่ให้มีความผิดพลาด และต้องมีความโปร่งใส” นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
พร้อมซื้อวัคซีน
ล่าสุดวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๐ น. นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครฯ พร้อมผู้บริหารและสมาชิกสภา (ส.ท.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เชิงรุก ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา แห่งที่ ๒ โดยเปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาล และศบค. ปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถสนับสนุนงบจัดซื้อวัคซีนได้ตามแนวทางของ ศบค.ว่า “เทศบาลนครฯ ยึดถือปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และความชัดเจนกรณีวัคซีนที่จำหน่ายในท้องตลาดมีเพียงพอหรือไม่ และการพิจารณาคุณภาพวัคซีน ที่สำคัญต้องไม่ซ้ำซ้อนกับรัฐบาล เรามีเงินสะสมเตรียมไว้อย่างพอเพียง หากกระบวนการต่างๆ มีความพร้อม ก็สามารถสนับสนุนในส่วนที่ขาดแคลนได้ทันที และพอเพียงกับความต้องการอย่างแน่นอน”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๒ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
94 1,690