27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

June 18,2021

ศรีสะเกษเปิดตัวทุเรียนพันธุ์ ๒๓๘ จับมือไปรษณีย์ส่งตรงถึงบ้าน การันตีคุณภาพด้วยมาตรฐาน GI

ฤดูกาล “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เปิดให้สั่งซื้อออนไลน์ จับมือไปรษณีย์ไทย ส่งไปทั่วประเทศ พร้อมเปิดตัวทุเรียนพันธุ์ “ศรีสะเกษ ๒๓๘” รสชาติดี หวานมัน พูสวย เนื้อสุกขนาดพอกิน ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป เกษตรจังหวัดฯ ย้ำเดือนนี้ผลผลิตออกมากที่สุด ทั้งปีสร้างรายได้กว่า ๗๑๓ ล้านบาท

เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๓๐ น. นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมแถลงข่าวเชื่อมโยงการตลาดทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ในห้วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ณ สวนแสงสว่าง บ้านหนองเก่า หมู่ที่ ๑๐ ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีการลงนามความร่วมมือระหว่างไปรษณีย์ไทยกับจังหวัดศรีสะเกษเพื่อส่งตรงทุเรียนภูเขาไฟสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวครั้งแรกสุดยอดทุเรียนภูเขาไฟพันธุ์ศรีสะเกษ ๒๓๘ โดยมี นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เกษตรจังหวัด และผู้อำนวยการฝ่ายไปรษณีย์ เขต ๑๐ พร้อมด้วยหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมด้วย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ซึ่งสวนแสงสว่าง เป็นต้นแบบสวนทุเรียนที่จัดท่องเที่ยววิถีใหม่ตามมาตรการฯ อย่างเต็มรูปแบบ 

สำหรับทุเรียนภูเขาไฟพันธุ์ศรีสะเกษ ๒๓๘ ปี ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษได้พัฒนาพันธุ์ทุเรียนภูเขาไฟที่มีความโดดเด่น กระทั่งได้ทุเรียนพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติแปลกใหม่ คือ เปอร์เซ็นต์เนื้อทุเรียนสูงกว่าหมอนทอง เนื้อสัมผัสแตกต่างจากพันธุ์เดิม คือ มีความมันวาว กรอบกว่า เนื้อแน่นกว่า เก็บได้นาน ไม่เละ สีสม่ำเสมอ รสชาติโดดเด่นแตกต่างจากทุเรียนภูเขาไฟทั่วไป สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ ไม่เจาะจงเฉพาะพื้นที่ที่เป็นดินภูเขาไฟเท่านั้น

นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เกี่ยวกับเอกลักษณ์เฉพาะและความโดดเด่นของทุเรียนภูเขาไฟ รวมทั้งการจำหน่ายทุเรียนในช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นทางเลือกให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าในช่วงวิกฤต สร้างความมั่นใจ ในคุณภาพของสินค้าให้กับผู้บริโภค

สำหรับการผลิตทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูก ๘,๕๕๒ ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว ๓,๕๒๗ ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต ๕,๐๒๕ ไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟในปี ๒๕๖๔ ไว้ที่ ๔,๑๙๕.๕ ตัน โดยมีผลผลิตเฉลี่ย ๑,๑๙๐ กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งคาดการณ์ราคาจำหน่ายปลีกหน้าสวน กิโลกรัมละ ๑๖๐-๑๘๐ บาท และราคาในตลาดอำเภอเมืองฯ ที่กิโลกรัมละ ๑๘๐-๒๐๐ บาท โดยคาดว่าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจะสร้างรายได้ คิดเป็นมูลค่า ๗๑๓.๒๓ ล้านบาท (ราคาเฉลี่ย ๑๗๐ บาทต่อกิโลกรัม)

จากการคาดการณ์ผลผลิตทุเรียนศรีสะเกษ ปีการผลิต ๒๕๖๔ ไว้ที่ ๔,๑๙๕.๕ โดยจะเพิ่มขึ้น ๔๕๐.๕ ตัน จากปี ๒๕๖๓  คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๐๒ เนื่องจากตัน มีพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ด้วยในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ จังหวัดศรีสะเกษมีสภาพอากาศหนาวเย็น โดยมีอุณหภูมิลดต่ำ ประมาณ ๑๕-๑๘ องศาเซลเซียส ส่งผลให้ดอกทุเรียนแห้งและไม่ติดลูก อีกทั้งยังเกิดวาตภัยจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์ ทำให้ผลเสียหาย จำนวนกว่า ๘๐ ตัน โดยในปีการผลิต ๒๕๖๔ คาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดแบ่งเป็นหลายรุ่น เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปถึงปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โดยผลผลิตจะออกมากที่สุด ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔

เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยอีกว่า ในทุกๆ ปี จังหวัดศรีสะเกษจะจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ ในช่วงเวลาที่มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด คือในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการ และเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้ง ยังมีมาตรการทางสาธารณสุข ที่รัฐบาลแนะนำให้ประชาชนลดระยะเวลาการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้าน ดังนั้น การจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมด้านการตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวคือ การจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟฯ อาจจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีความเสี่ยง และกระทบต่อมาตรการในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ของจังหวัด คณะกรรมการจัดงานฯ จึงได้มีการนัดประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ในการจัดงาน เมื่อวันพุธที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ ณ ห้องประชุมสำนักงานคลังจังหวัดศรีสะเกษ โดยที่ประชุมมีมติ เห็นควรให้ยกเลิกการจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ประจำปี ๒๕๖๔ เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นชาวศรีสะเกษ ได้มอบทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นของขวัญและของฝากจากชาวศรีสะเกษ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ชิมทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ พร้อมชมว่ารสชาติดี หวานมัน พูสวย เนื้อสุกขนาดพอกิน ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ปีนี้จังหวัดศรีสะเกษ ได้งดจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โดยจังหวัดศรีสะเกษมีการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับระบบการจำหน่ายทุเรียนภูเขาไฟผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.lavadurian.com เป็นดังประตูบานแรกที่ผู้บริโภคสามารถเข้าไปเลือกซื้อทุเรียนภูเขาไฟจากชาวสวนตัวจริงที่จังหวัดให้การรับรองคุณภาพ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นทางเลือกให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าในช่วงวิกฤต ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าให้กับผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้ จังหวัดศรีสะเกษ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ที่มีช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ได้จัดส่งทุเรียนให้กับผู้สั่งซื้อด้วยความรวดเร็ว รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการส่งมอบทุเรียนภูเขาไฟจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ไปยังผู้บริโภคที่เป็นภาคีเครือข่ายของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ร่วมกัน โดยเริ่มส่งมอบครั้งแรก จำนวน ๑๐ ตัน เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายนที่ผ่านมา

อนึ่ง ทุเรียนภูเขาไฟจังหวัดศรีสะเกษ ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งเป็นเครื่องมือการันตีคุณภาพ และความมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ไม่เหมือนใคร จึงเชื่อว่าด้วยคุณภาพและความอร่อย จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่เกษตรกร ตลอดทั้งผู้ที่อยู่ในวงจรการจัดจำหน่ายได้เป็นอย่างดี

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๓ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

 


127 1,726