June 18,2021
ผู้ว่าฯย้ำ ‘๔ เดือนไม่อยู่ไปวันๆ’ โรงงานยอมจ่าย ๑๐ ล้าน ซื้อวัคซีนฉีดให้พนักงาน
ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ นำคณะเข้าหารือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ ย้ำ “เหลือ ๔ เดือนไม่อยู่ไปวันๆ พร้อมร่วมผลักดันทุกเรื่องเต็มที่” เผยมีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเยอะ ผู้ประกอบการไม่ต้องการปิดโรงงานจากโควิด-๑๙ ตัดใจจ่ายเงิน ๑๐ ล้าน ซื้อวัคซีนฉีดให้พนักงาน เพื่อให้สามารถเดินหน้าการผลิตได้เต็มที่ไม่ให้เสียโอกาสในการส่งออก
ตามที่นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นำคณะกรรมการสภาฯ เข้าพบนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อแสดงความยินดีในวาระที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมผลักดันให้โคราชเป็นศูนย์กลางในการจัดตั้ง เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดต่อไปในอนาคต เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ นั้น
เขตเศรษฐกิจพิเศษโคราช
โดยเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เปิดเผยรายละเอียดกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ในวันนั้นมีการหารือร่วมกับท่านผู้ว่าฯ หลายประเด็น และท่านก็ได้ถามว่ามีเรื่องใดที่ค้างอยู่บ้าง ซึ่งมีค้างอยู่หลายเรื่อง เช่น เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคมที่ผ่านมา วันที่ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก็กำลังประชุมเรื่องการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนครราชสีมา ความคืบหน้าเมื่อวันนั้นเราประชุมร่วมกับสภาพัฒน์ และ EEC (เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก - สกพอ.) มีนางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการ EEC และ ดร.เติมทรัพย์ เตละกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) มาพูดคุยกรณีที่ทางจังหวัดนครราชสีมาเสนอขอเปลี่ยนแปลงและเพิ่ม กรณีที่สภาพัฒน์ชงเรื่องอุตสาหกรรมชีวภาพ เราก็จะขอเป็นอุตสาหกรรม BCG (B = เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) C = เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) G = เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ) โดยขอเพิ่มจากชีวภาพมาเป็นอุตสาหกรรม BCG ในขณะที่ข้อ ๒ ที่เขาให้เรามาคือ อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์ชั้นสูง ก็จะขอเพิ่มเป็นแปรรูปพืชและเนื้อสัตว์ชั้นสูง เพราะโคราชมีพืชจำนวนมาก ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และข้าว ฉะนั้น จึงต้องการนำพืชผลทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่เช่นนั้นการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ก็จะแคบไป
“อีกเรื่องที่เป็นประเด็นคือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งในขณะนั้นทางสภาพัฒน์วงเล็บไว้ว่า ให้โคราชทำเป็นระบบราง แต่จริงๆ เราเห็นว่าโคราชมีศักยภาพมากกว่านั้น ซึ่งระบบรางก็เป็นหนึ่งในการส่งเสริม โดยขอเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ New S-Curve ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะในส่วนของ EEC จะได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี แต่เราไม่ได้ขอให้เท่า EEC ขอเป็นแค่น้องๆ ก็พอ ส่วนประเด็นอื่นก็เหมือนเดิม เช่น เรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ การเชื่อมโยงกับงานวิจัย การขนส่งสินค้า ที่จะเชื่อมกับ EEC ก็เป็นไปตามที่สภาพัฒน์กำหนดไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นการหารือในที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางสภาพัฒน์ก็รับไปพิจารณาอีกครั้งว่า ถ้าโคราชจะขอเพิ่ม scope ของเขตเศรษฐกิจพิเศษจะได้หรือไม่” นายหัสดิน กล่าว
นิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราช สีมา เปิดเผยอีกว่า “กรณีของ EEC นั้น ได้ขอไปดูงานของ EEC เพื่อมาวางแผนและกำหนดการทำงานของโคราช ซึ่งรองทัศนีย์ก็ยินดีและถ้าเป็นคณะดูงานชุดเล็กก็ไปได้เลย แต่หากเป็นคณะชุดใหญ่ก็ขอให้โควิดซาลงก่อน เพื่อที่จะสามารถรองรับจำนวนคนได้มากขึ้น และในการประชุมวันนั้นมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะล้อกับเรื่องที่ได้พูดคุยกับท่านผู้ว่าฯ กอบชัย เพราะวันนั้นมีมติที่ประชุมอีกเรื่องหนึ่ง เพราะทราบว่าทางกระทรวงเกษตรฯ มีโครงการ ๑ กลุ่มจังหวัด ๑ นิคมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร คือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นอาหาร จึงต้องการขอสนับสนุนจากทางจังหวัดให้ทำหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯ ว่า จังหวัดนครราชสีมามีความประสงค์จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งหลังจากมีมติที่ประชุม ผมจึงโทรศัพท์ไปคุยกับอนุกรรมการของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งก็เห็นด้วย เพราะโคราชมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนี้”
“ในประเด็นการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ท่านผู้ว่าฯ แจ้งว่า เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ สนับสนุนเต็มที่ ส่วนกรณีนิคมอุตสาหกรรมฯ ขอไปพูดคุยกับทีมยุทธศาสตร์ของจังหวัดก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อคุยกับท่านผู้ว่าฯ เสร็จ ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ ว่า เรื่องที่ทางจังหวัดขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในโครงการของกระทรวงเกษตรฯ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ผมก็บอกว่า ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ฯ จะต้องเป็นตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ ในเรื่องแผนงานและนโยบาย โดยประมง ปศุสัตว์ และเกษตรจังหวัดฯ จะเป็นมือไม้ในการทำงาน ส่วนผู้ที่รับนโยบายมาคือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฯ ซึ่งจะต้องมานั่งร่างแผนว่า จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ แบบไหนที่จะทำให้เกษตรกรและคนโคราชได้ประโยชน์จากการทำโครงการเหล่านี้ ซึ่งอาจจะต้องมีการประชุมต่อไป” นายหัสดิน กล่าว
๔ เดือนจะทำงานเต็มที่
“โคราชคนอีสาน” ถามว่า เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามีเวลาบริหารเพียง ๔ เดือน ได้เน้นย้ำเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายหัสดิน เปิดเผยว่า “ท่านบอกว่า ๔ เดือนนี้ท่านจะทำเต็มที่ จะไม่มาอยู่ไปวันๆ หากทางสภาอุตสาหกรรมฯ มีเรื่องใดที่จะให้ท่านช่วยผลักดันพร้อมจะช่วยเต็มที่ในทุกเรื่อง หากไม่สำเร็จก็ให้รอผู้ว่าฯ คนใหม่ แต่ท่านกอบชัยจะไม่ดึงเรื่องอะไรไว้ในช่วงที่อยู่ ๔ เดือนนี้ พร้อมจะสนับสนุนทุกเรื่องที่ทางสภาฯ นำเสนอมา”
“ทั้งนี้ วันที่ ๑๙ มิถุนายนนี้ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะมาโคราช โดยจะประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าฯ และสมาคมมันสำปะหลังฯ ซึ่งผมได้แจ้งกับพาณิชย์จังหวัดฯ ว่า จะพูดคุยกับท่านจุรินทร์ ๔ เรื่อง ได้แก่ ๑.เรื่องคอนเทนเนอร์ขาดแคลน ส่งผลให้ข้าวและมันสำปะหลังส่งออกยาก ราคาตู้คอนเทนเนอร์ก็แพง ความจริงราคามันฯ ควรจะสูงมากกว่านี้ แต่เมื่อตู้คอนเทนเนอร์แพงก็ทำให้ราคามันฯ ขึ้นได้ไม่มากนัก ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ท่านจุรินทร์เจรจากับสายเรือให้นำตู้คอนเทนเนอร์เข้ามา แต่ก็แก้ปัญหาได้แค่ช่วงหนึ่ง มาช่วงนี้ก็ขาดแคลนและราคาแพง ถ้าช่วยทำให้ตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาได้อีก ก็จะทำให้การส่งออกคึกคัก ผลผลิตทางการเกษตรราคาก็สูงขึ้น ๒.กระทรวงพาณิชย์มีโครงการเซลล์แมนจังหวัด ทางโคราชจะมีใครเป็นเซลล์แมนจังหวัดบ้าง นอกจากพาณิชย์จังหวัดฯ ที่เป็นอยู่แล้ว เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ซึ่งต้องมาระดมสมองว่าจะทำอย่างไรในช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ และขายของไม่ได้ ในส่วนของผู้ซื้อในต่างประเทศก็เข้ามาไม่ได้ ผมจึงเสนอว่า ให้ทำ Business Matching Online ทำเป็น Virtual กับต่างประเทศ ตั้งโต๊ะคุยกับลูกค้าต่างประเทศมีการเจรจาซื้อขายกันทางออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
แปรรูปผลผลิตก่อนจำหน่าย
“๓.สินค้าทางการเกษตรซึ่งกระทรวงพาณิชย์ดูแลก็มีปัญหาเรื่องตลาด เช่น ข้าวโพดหวานที่มีผลผลิตออกมา ก็ไม่มีโรงงานรับซื้อ ทำให้ราคาร่วงลง เกษตรกรหาที่จำหน่ายไม่ได้ จึงต้องการให้สนับสนุนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าวโพดหวาน ขนุน มะม่วง และผลผลิตอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ จะได้ไม่มีปัญหา อาจจะมีการสำรวจว่าข้าวโพดที่ผลิตออกมามีจำนวนเท่าไหร่ จึงเป็นที่มาของนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร เพราะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์เหมือนกัน หากมาร่วมมือกันในการแปรรูปสินค้าเกษตรแล้วให้กระทรวงพาณิชย์นำไปขายต่อ ก็จะทำให้การแก้ปัญหาได้ ซึ่งมีนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ขาย” อยู่แล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม ต้องมีการแปรรูปก่อนแล้วจึงนำไปขาย ซึ่งในทุกวันนี้ยังขาดข้อกลางในการเชื่อมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจริงๆ ก็คือกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อขาดข้อกลางในการเชื่อมโยงกันก็เสนอว่า ควรทำโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรขึ้นมาเพื่อให้พาณิชย์นำไปขาย จะทำให้ครบวงจร และ ๔.ขอให้มีการโปรโมตหรือขยายสินค้าออนไลน์ออกไปยังต่างประเทศ โดยการจัดทำโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการโคราชสามารถส่งออกสินค้าทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปส่งไปขายยังต่างประเทศได้ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้แปรรูปแล้ว ต้องส่งเสริมให้คนโคราชส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้ด้วย เมื่อทำออกมาแล้วก็ต้องขายได้จริงๆ ซึ่งต้องช่วยพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถขายได้”
รง.โคราชต้องการวัคซีนเยอะ
สำหรับในประเด็นการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นนโยบายของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสำรวจสมาชิกที่มีความประสงค์จะจัดซื้อวัคซีนไปฉีดให้พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมของตนเองนั้น ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมานั้น นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เปิดเผยว่า “เราสั่งซื้อวัคซีนเยอะมาก เฉพาะของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ก็หลายหมื่นคน แต่ตัวเลขยังอยู่ระหว่างรวบรวมทั้งหมด เฉพาะโรงงานที่อำเภอโชคชัยก็ประมาณ ๕ พันกว่าคน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโรงงานที่สั่งประมาณ ๔๐๐-๗๐๐ คน รวมเบ็ดเสร็จแล้วคาดว่าหลายหมื่นคน ไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ โดสแล้ว ที่เราสั่งจองไป ซึ่งในโควตาของสภาอุตสาหกรรมที่ได้มาคือ ๓ แสนโดส ขณะนี้ปรากฏว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรวบรวมตัวเลขที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ สั่งจองไปเกิน ๓ แสนโดสแล้ว เฉพาะของโคราชก็มากกว่า ๒๕,๐๐๐ โดส ซึ่งในบางโรงงานบอกว่า ถ้าเขาปิดโรงงานก็จะไม่คุ้ม เฉพาะโรงงานคาร์กิลล์ประมาณ ๕,๐๐๐ โดส เป็นเงินเกือบ ๑๐ ล้านบาทที่จ่ายไปแล้ว ให้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์พิจารณาว่าจะให้มากี่โดส”
โรงงานยอมจ่าย ๑๐ ล.ซื้อวัคซีน
นายหัสดิน เปิดเผยว่า “หากได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จะสามารถทำให้การผลิตดำเนินต่อไปได้ ทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นในโคราช คนกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย โรงงานอุตสาหกรรมก็จะสามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เพราะทุกวันนี้มีออเดอร์ (คำสั่งซืื้อ) จากต่างประเทศเข้ามามาก การส่งออกของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น ๑๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เฉพาะเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นมา ๒๐% เศษ ภาคอุตสาหกรรมมีออเดอร์ที่จะส่งออกจำนวนมาก ฉะนั้น เราห่วงว่า ถ้าไม่มีวัคซีนแล้วหากมีพนักงานในโรงงานติดโควิด-๑๙ จะทำให้ผลิตไม่ได้ อาจจะต้องปิดโรงงาน ทำให้เกิดความเดือดร้อน และเสียดายโอกาสของประเทศในการที่จะส่งออก ส่งผลให้ลูกจ้างมีรายได้ลดลง เพราะต้องปิดโรงงาน แม้จะได้เงินจากประกันสังคมครึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย เราจึงไม่ต้องการให้มีการปิดโรงงาน ดังนั้น บางโรงงานจึงยอมจ่ายเงินเกือบ ๑๐ ล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนมาฉีดให้พนักงาน”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๓ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
94 1,621