June 25,2021
เดินหน้าผลักดัน‘ทุเรียนน้ำแร่บุรีรัมย์’ ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ช่วงนี้มีผลไม้ออกมาอย่างหลากหลาย แต่ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ปรารถนาของหลายคนที่ชื่นชอบและหลงใหลในกลิ่นและรสชาติก็คือ “ทุเรียน” จากที่เมื่อก่อน ปลูกกัน อย่างกว้างขวางทางภาคใต้ ที่เรียกกันว่า “ทุเรียนใต้” หรือ ที่ปลูกแถวจันทบุรี-ระยอง ก็เรียกว่า “ทุเรียนตะวันออก” ซึ่งก็มีให้เลือกหลากหลายพันธุ์ แต่ที่นิยมทานกันก็คือ “หมอนทอง”
มาถึงในช่วงระยะ ๑๐-๑๕ ปีที่ผ่านมานี้ มีการปลูกทุเรียนในหลายพื้นที่ รวมถึงภาคอีสานก็มีเกษตรกรในหลายจังหวัดที่ปลูกได้สำเร็จ และให้ผลผลิตที่ดีด้วย รวมถึง “จังหวัดบุรีรัมย์” ก็มีทั้งที่อำเภอปะคำ และที่อำเภอโนนสุวรรณ ก็ใช่ว่าจะมีแค่สวนยางพารา แต่กลับเป็นแหล่งผลิต “ทุเรียนน้ำแร่” ด้วย
โดยเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายนที่ผ่านมา นายธัชกร หัตถาธยากูร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนางธัญลักษณ์ หัตถาธยากูร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบุรีรัมย์ นายไตรเทพ งามกมล นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนน้ำแร่ธรรมชาติของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนน้ำแร่ที่อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ สวนของนายอำนวยพาลัง หรือสวนป๋าเบิ้ม อายุ ๕๓ ปี เกษตรกรบ้านม่วงงาม ต.ดงอีสาน ที่ปลูกทุเรียนมากว่า ๑๐ ปี บางต้นให้ผลผลิตสูงสุดถึง ๑๓๐ ลูก ซึ่งทุเรียนน้ำแร่เป็นทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ด้านธรณีวิทยา เนื่องจากใช้น้ำแร่ธรรมชาติที่มาจากน้ำใต้ดินพื้นที่ภูเขาไฟในการรดเพื่อหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน ทำให้เจริญเติบโตดี ผลผลิตมีคุณภาพ เนื้อนุ่ม หวานมัน หอมอร่อยเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น และหลายภาคส่วนกำลังผลักดันให้ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้วย
นายอำนวยพาลัง หรือสวนป๋าเบิ้ม
โดยการเดินทางมาเยือนทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่โนนสุวรรณในครั้งนี้ ยังมีการตัดทุเรียนจากสวนของเกษตรกรไปประมูล เริ่มต้นที่กิโลกรัมละ ๑๕๐ บาท ซึ่งรายได้จากการประมูลจะจ่ายให้กับเกษตรกรตามราคาจริง ในขณะที่เงินส่วนต่างที่เหลือจะนำเข้ากองทุน “ทุเรียนปันน้ำใจ” เพื่อนำไปช่วยเหลือ ผู้ป่วยติดเตียงผู้ยากไร้ในพื้นที่อำเภอโนนสุวรรณ ซึ่งมีผู้สนใจประมูลคึกคัก ทั้ง ส.ส., ส.อบจ., สมาชิกเหล่ากาชาด, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชมสวนในครั้งนี้ด้วย โดยมีการประมูลตั้งแต่ลูกละ ๓,๐๐๐–๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่ประมูลทุเรียนน้ำแร่ครั้งนี้กว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท
นายธัชกร หัตถาธยากูร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า วันนี้มาเยี่ยมให้กำลังใจเกษตรกรผู้ปลุกทุเรียนน้ำแร่ในพื้นที่อำเภอโนนสุวรรณ ซึ่งเป็นทุเรียนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น คุณภาพดี ซึ่งทางจังหวัดจะร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ อำเภอโนนสุวรรณ ร่วมเดินหน้าผลักดันทุเรียนน้ำแร่บุรีรัมย์ ให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สนับสนุนส่งเสริมทุเรียนน้ำแร่ ซึ่งถือเป็นของดีของอำเภอโนนสุวรรณ และของดีประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น
“ทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่อำเภอโนนสุวรรณ จะมีเอกลักษณ์พิเศษ กลิ่นไม่แรงหอมหวานละมุน เนื้อนุ่ม รสชาติหวาน มัน ซึ่งใช้น้ำแร่ธรรมชาติมาหล่อเลี้ยง ลำต้นตั้งแต่เริ่มปลูก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นแหล่งผลิตทุเรียนชั้นดีอีกแห่งหนึ่งของไทย โดยจะส่งเสริมช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ การจัดหาต้นพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ จัดหาแหล่งน้ำ และเรื่องการตลาด ให้สามารถจำหน่ายได้ราคาที่ดี เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ ยึดเป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน” ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ กล่าว
นางธัญลักษณ์ หัตถาธยากูร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งปีนขึ้นไปตัดผลทุเรียนบนต้นอย่างอาจหาญ เปิดเผยว่า นอกจากจะพาคณะเหล่ากาชาดฯ มาเยี่ยมชมสวนทุเรียนน้ำแร่แล้ว ยังได้ร่วมประมูลทุเรียนน้ำแร่เป็นครั้งแรกของอำเภอโนนสุวรรณ โดยจะประมูลตามน้ำหนักทุเรียนในราคากิโลกรัมละ ๑๕๐ บาท แต่ละลูกน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๓ กิโลกรัม ซึ่งเงินที่ประมูลได้ก็จะจ่ายให้กับเจ้าของสวนตามน้ำหนักและราคาจริงของทุเรียนแต่ละลูก ในขณะที่เงินส่วนต่างก็จะมอบให้กองทุนช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่อำเภอโนนสุวรรณ ซึ่งตามแนวคิดของเหล่ากาชาด คือ “ทานทุเรียนภูเขาไฟ ได้ดูแลผู้ยากไร้ ทุเรียนปันน้ำใจ มอบให้ชาวโนนสุวรรณ” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ได้พาคณะมาท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้รับประทานของดีมีคุณภาพสดๆ จากสวนของเกษตรกร ทั้งยังได้ร่วมทำบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้อีกด้วย
นางธัญลักษณ์ หัตถาธยากูร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดบุรีรัมย์
ใครอยากลองชิม “ทุเรียนน้ำแร่” ของดีอำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ลองขับรถไปชิมที่สวนกันได้ เพราะอยู่ไม่ไกลมากนัก
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๔ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
67 2,042