July 02,2021
เนรมิต‘ลำตะคอง’ ขาดงบอีก ๑๖๐ ล้าน ‘ธรรมนัส’รับปากหาเงินให้
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง หวังเปลี่ยนโฉมเป็นแลนด์มาร์คโคราช รวม ๒๘๐ ล้านบาท เปลี่ยนคลอง หลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ระยะแรกใช้งบประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท เริ่มต้นหน้า รร. อัสสัมชัญ ถึงอ่างอัษฎางค์ ยาว ๑ กิโลเมตร แต่กำลังจัดซื้อจัดจ้าง ‘ธรรมนัส’ พร้อมรับหน้าที่หางบประมาณอีก ๑๖๐ ล้านบาท เพื่อก่อสร้างระยะที่ ๒
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจสภาพลำน้ำลำตะคองและรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ซึ่งหลังจากที่นั่งเรือตรวจสภาพลำน้ำแล้วพบว่า ระบบนิเวศเกิดความเสียหายผลกระทบจากปริมาณน้ำที่ลดลง ส่งผลให้น้ำในคลองเน่าเสีย จึงมีการบูรณาการจากหน่วยงาน อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมราชทัณฑ์ ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมหาแนวทางปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งลำตะคอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ ที่วัดสุสาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง (คลองชองเกชอนโคราช) โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.เขต ๑ นครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ นครราชสีมา นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง เขต ๑๓ นายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลนครฯ และประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ
นายประเสริฐ บุญชัยสุข กล่าวว่า “ในนามผู้ดูแลลำตะคองในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา รู้สึกยินดีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผลักดันงบประมาณ จำนวน ๑๒๐ ล้านบาท มาปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง ซึ่งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีระยะทางยาวประมาณเกือบ ๓ กิโลเมตร และหวังว่าจะได้รับการผลักดันงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพราะคนโคราชถือว่า ลำตะคองเป็นสายเลือดแห่งชีวิต จะปรับเปลี่ยนจากแม่น้ำแห่งชีวิตเป็นแม่น้ำแห่งเศรษฐกิจ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งคนโคราชฝันและรอคอยกันมานาน”
ปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง
นายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ กล่าวรายงานว่า “สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาตรวจราชการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและพบปะประชาชนที่วัดท่าตะโก โดยลงเรือล่องลำตะคอง ที่ท่าน้ำวัดท่าตะโก ระยะทาง ๓ กิโลเมตร ถึงท่าน้ำวัดสุสาน เมื่อนั่งชมสภาพลำตะคองแล้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงมีดำริให้ออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโคราช ซึ่งเป็นการปรับปรุงพัฒนาลำตะคองให้เกิดประโยชน์ แก้ปัญหาน้ำท่วม และเปลี่ยนพื้นที่สองฝั่ง ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย วิถีชีวิตกิจกรรม และประเพณี ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ในการนี้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการศึกษาออกแบบ เพื่อเป็นแบบก่อสร้างโครงการเรียบร้อยแล้ว ๑๓ กิโลเมตร โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างในช่วงระยะที่ ๑ ระยะทาง ๑,๐๐๐ เมตร ด้วยงบประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ ๓ ปี คือ ปี ๒๕๖๔–๒๕๖๖ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและลงนามในสัญญา แต่ยังเหลือส่วนที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในช่วงที่ ๑ คือ ระยะที่ ๒ บริเวณรอบอ่างอัษฎางค์ อีก ๕๐๐ เมตร ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณอีก ๑๖๐ ล้านบาท ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะขอรับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลต่อไป”
รูปแบบการปรับปรุง
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวถึงการออกแบบว่า “การปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมือง และเพิ่มอัตราการไหลของลำตะคอง ทำให้ลำตะคองสามารถรับน้ำมากขึ้น ปัจจุบันจุดที่แคบที่สุด อัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ ๒๒ ลูกบาศก์เมตร/วินาที หลังจากที่โครงการเสร็จแล้ว อัตราการไหลจะอยู่ที่ ๕๕ ลูกบาศก์เมตร/วินาที วางท่อระบายน้ำเสียทั้งหมดทั้งสองฝั่งเป็นการป้องกันน้ำเสียไหลลงสู่ลำตะคอง และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่นันทนาการ พื้นที่ออกกำลังกายให้กับคนโคราช ในเฟสแรกแบ่งเป็น ๒ ระยะ โดยระยะทางทั้งหมดจะอยู่ที่ ๒.๕ กิโลเมตร อีกส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มวิถีชุมชนให้กับคนริมน้ำเมืองนครราชสีมา โดยการเปลี่ยนหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน เพิ่มวิสาหกิจให้กับชุมชน เพื่อรองรับให้ผู้ที่จะมาออกกำลังกายหรือมาพักผ่อนหย่อนใจริมลำตะคอง ซึ่งลำตะคองเป็นลำน้ำไหลผ่านเมืองนครราชสีมา ยังไม่มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบมาก่อน โครงการนี้จะเป็นโครงการแรกที่จะพัฒนาให้เป็นระบบ”
“ลำตะคองที่ไหลผ่านเมืองนครราชสีมา เริ่มต้นที่ประตูระบายน้ำคนชุม ถึงประตูระบายน้ำข่อยงาม ระยะทางรวม ๑๓ กิโลเมตร ในเฟสแรกเราเลือกจุดศูนย์กลาง คือ เริ่มต้นที่บริเวณหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญฯ ไปถึงอ่างอัษฎางค์ ลำตะคองเป็นลำน้ำตามธรรมชาติ มีความคดเคี้ยวไปมา จึงต้องออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพของธรรมชาติ โดยมีแนวคิดในการออกแบบ คือ ให้มีเขื่อนป้องกันตลิ่งทั้งสองด้าน และมีลานสำหรับคนออกกำลังกาย เลียบไปกับลำน้ำทั้งสองฝั่ง เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ก็ย่อมทำให้น้ำท่วมจนถึงขอบบนของเขื่อน ฉะนั้นการรองรับน้ำจะสูงกว่าปัจจุบันค่อนข้างมาก และจะมีท่อระบายน้ำทั้งสองฝั่ง มีการจัดภูมิทัศน์ตลอดแนวที่ดำเนินการ จุดหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญปัจจุบัน หากปรับปรุงพัฒนาแล้ว จะก่อสร้างเป็นสะพานข้าง ๑ สะพาน เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของคนที่มาออกกำลังกาย ไปถึงอ่างอัษฎางค์ ระยะทาง ๑ กิโลเมตร วิ่งรอบอ่างอัษฎางค์ระยะทาง ๕๐๐ เมตร แล้ววิ่งกลับมายังสะพานอัสสัมชัญด้วยระยะทางรวมทั้งหมด ๒.๕ กิโลเมตร” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า “ในส่วนของบริเวณริมตลิ่ง หากพื้นที่เหลือก็จะปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ ให้ประชาชนได้มาพักผ่อน บริเวณใต้สะพาน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่หลังจากที่ออกแบบแล้ว ประชาชนสามารถวิ่งผ่านใต้สะพาน โดยมีประติมากรรมนูนต่ำด่านเกวียนให้ชม มีความเป็นเอกลักษณ์ของโคราช ถ้าน้ำท่วมก็ยอมให้ท่วม หลังจากที่น้ำลดจึงทำความสะอาด แล้วเปิดให้ประชาชนมาใช้งาน ส่วนบริเวณหน้าวัดสุสาน เป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุด เป็นจุดสร้างแลนด์มาร์ค คนที่ผ่านไปผ่านมาถนนมิตรภาพสามารถมองเห็นได้ ซึ่งจะออกแบบเป็นเครื่องปั้นดินเผา เป็นพื้นที่คล้ายพลาซ่า สำหรับอ่างอัษฎางค์ เมื่อปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว จะมีความสวยงามมาก สามารถวิ่งออกกำลังกายรอบๆ ได้”
‘ลำตะคอง’สายน้ำเศรษฐกิจ
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า “ขอขอบคุณอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ซึ่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดชัยภูมิ เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ นายวิเชียร จันทรโณทัย พร้อมคณะ ได้แนะนำให้ผมมาลงพื้นที่บริเวณลำตะคอง ซึ่งเป็นสายน้ำแห่งชีวิต จากสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองโคราชและอีกหลายพื้นที่ ในการดำรงชีพไม่ว่าจะเป็นอุปโภค บริโภค และภาคการเกษตร เมื่อเวลาผ่านไปจากสายน้ำแห่งชีวิตก็เปลี่ยนมาเป็นสายน้ำแห่งเศรษฐกิจของโคราช ตลอดเวลาที่ผ่านมานายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง เขต ๑๓ นายวิเชียร จันทรโณทัย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายเกษม ศุภรานนท์ ได้หารือกับผมอยู่หลายครั้ง เพื่อหางบประมาณมาศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคอง ตั้งแต่หน้าโรงเรียนอัสสัมชัญ ไปจนถึงอ่างอัษฎางค์ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล”
“ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม หากสายน้ำผ่านกลางเมือง และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เข้ากับบริบทของความเป็นเมือง พื้นที่นั้นจะกลายเป็นทำเลทอง เปลี่ยนหลังบ้านให้เป็นหน้าบ้าน หลายคนคงมีโอกาสไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบยุโรป คลองบ้านเขาไม่ได้มีความสวยเหมือนของเรา แต่ทำไมเขาถึงใช้คลองเป็นจุดสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น ที่ประเทศอิตาลี มีจุดขาย คือ คลอง เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จุดขายอยู่ที่คลอง ทำมาหากินด้วยการล่องเรือ หลังบ้านสมัยก่อนมีแต่ความทรุดโทรม มีกลิ่นเหม็น โสโครก แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนใหม่ กลายเป็นคลองเศรษฐกิจของเมือง สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าว
หางบประมาณอีก ๑๖๐ ล.
“หลังจากการลงพื้นที่ครั้งนั้น ผมมีโอกาสนั่งคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผมเล่าให้ฟังว่า ผมลงพื้นที่กับคนโคราช ทุกภาคส่วนมานั่งคุยมาวางแผนร่วมกัน ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นคนโคราช จึงบอกให้เดินหน้าต่อ ผมก็ดีใจ โดยจะทำคลองเศรษฐกิจแห่งนี้ให้สำเร็จ และแล้วเวลาผ่านมากำลังจะครบ ๒ ปี ทราบว่า โคราชได้รับงบประมาณ เพื่อใช้ทำการศึกษาแล้ว ขณะนี้งบประมาณจำนวน ๑๒๐ ล้านบาท กำลังจัดจ้างและลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้าง ระยะที่ ๑ ตั้งแต่หน้าโรงเรียนอัสสัมชัญถึงอ่างอัษฎางค์ ระยะประมาณ ๑ กิโลเมตร (๑,๐๐๐ เมตร) ส่วนในระยะที่ ๒ จะต้องทำต่อเนื่อง ใช้งบประมาณ ๑๖๐ ล้านบาท เป็นหน้าที่ของผม ที่ต้องผลักดันให้ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป”
เป็นห่วงคนโคราช
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวท้ายสุดว่า “ในขณะนี้ประชาชนต้องพบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งกลายพันธุ์ไปหลายรูปแบบ จึงต้องขอชื่นชมพี่น้อง อสม.ที่มีมาตรการเข้มงวด ถ้ายังมัวเกรงใจกันอยู่จะทำให้เกิดปัญหา วิกฤตนี้ก็จะผ่านพ้นไปไม่ได้ เชื่อมั่นว่า นายกอบชัย บุณอรณะ พ่อเมืองคนใหม่ จะบริหารราชการในการควบคุมโรคติดต่อได้ และประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย มีประชาชนหลากหลายอาฃีพได้รับความเดือดร้อนจากผล กระทบของโควิด–๑๙ ช่วงเช้าก็มีประชาชนที่ค้าขายอยู่บริเวณเขื่อนลำตะคอง เล่าให้ฟังว่า ไม่สามารถค้าขายได้ เนื่องจากเขื่อนปิด จึงมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ช่วยลงพื้นที่หามาตรการในการช่วยเหลือ การป้องกันโควิด-๑๙ เป็นสิ่งสำคัญ แต่ขณะเดียวกันปากท้องก็ต้องกินต้องเดินต่อ ในนามของรัฐบาลก็ขอเป็นกำลังใจให้คนโคราช ทั้ง ๓๒ อำเภอ ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพตัวเอง ช่วยดูแลตัวเองก่อน ก่อนที่จะให้คนอื่นมาดูแล ทุกคนต้องไปรอดด้วยกัน ผมเชื่อมั่นว่า ในระยะเวลาไม่นาน เชื้อนี้ก็จะสามารถรักษาและป้องกันได้ สมัยก่อนมีเชื้อโรคหลากหลายชนิด แต่คนไทยยังสามารถร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยดี”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๕ วันพุธที่ ๓๐ มิถุนายน - วันอังคารที่ ๖ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
106 1,809