August 12,2021
ธปท.สรุปเศรษฐกิจอีสานไตรมาส ๒ ชะลอตัวจากพิษโควิดระบาดรุนแรง ส่งออกขยายตัวจากส่ง‘ทุเรียน’ไปจีน
สรุปภาวะเศรษฐกิจภาคอีสาน ไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๔ ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกสาม ที่มีความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงในทุกหมวดการใช้จ่าย การส่งออกขยายตัวในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ Cloud Storage รวมถึงการส่งออกทุเรียน ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ ๒ ปี ๒๕๖๔ ซึ่งด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามหมวดพลังงาน จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงาน ยังคงเปราะบาง โดยการจ้างงานยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับ ภาคการเงิน (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔) เงินฝากชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ ในขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ในทุกหมวดการใช้จ่าย จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกสาม ประกอบกับ กำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม มาตรการรัฐบางส่วนยังช่วยพยุงการบริโภคได้บ้าง สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน อัตราการเข้าพักแรม และรายได้ภาคบริการสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่ลดลงจากไตรมาสก่อน ส่วนรายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่อง ตามผลผลิตข้าวนาปรังและมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหดตัว ตามราคาข้าวที่ลดลงต่อเนื่อง จากความต้องการของต่ำงประเทศที่ชะลอลง และส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ราคายางพาราและมันสำปะหลังยังขยายตัวต่อเนื่อง
นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การใช้จ่ายภาครัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการเร่งเบิกจ่ายของหน่วยงานต่ำงๆ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ ด้านรายจ่ายลงทุนขยายตัวในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจที่ผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ อุปกรณ์โทรคมนาคม อุปกรณ์สำนักงานอัตโนมัติ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่การลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ
ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง จากการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเยื่อกระดาษ ประกอบกับการผลิตแปรรูปสินค้าเกษตรขยายตัวตามผลผลิตเกษตรที่เพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวะปกติ
มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกและนำเข้าจากจีนเป็นสำคัญ โดยการส่งออกขยายตัวในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ประเภท Cloud Storage รวมถึงการส่งออกทุเรียน ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นด้านการนำเข้าขยายตัวในหมวดโทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ ๑.๙๗ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามหมวดพลังงาน จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดอาหารสดหดตัวมากขึ้น จากราคาผักสดแปรรูปและอื่นๆ ด้านตลาดแรงงาน ยังคงเปราะบาง โดยการจ้างงานยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับภาคการเงิน (ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔) เงินฝากคงค้างชะลอตัว ตามเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ลดลง จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ทยอยสิ้นสุด อย่างไรก็ตาม เงินฝากคงค้างยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ตามความต้องการรักษาสภาพคล่องของภาคธุรกิจและประชาชน ด้านสินเชื่อคงค้างขยายตัวต่อเนื่อง จากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนของธุรกิจ และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ขณะที่สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจชะลอตัว ตามมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการของภาครัฐที่ทยอยลดลง
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๙๑ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
83 1,626