21stDecember

21stDecember

21stDecember

 

August 13,2021

‘ปากช่อง’ติดเชื้อทะลุ ๒ พัน เร่งเอาผิดโรงงานจากสระบุรี

ปากช่องยืนอันดับหนึ่ง พบผู้ติดเชื้อสะสม ๒,๔๒๕ ราย หลังคลัสเตอร์ใหญ่ระบาดรุนแรง ซ้ำร้ายโรงงานแปรรูปไก่ที่สระบุรี ยังนำพนักงาน ๖๔๕ คน เข้าพักที่ค่ายลูกเสือ โดยไม่ได้แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ และยังไม่ได้รับอนุญาตจากจังหวัด ด้าน ผอ.รพ.ปากช่องนานา เผยสถานการณ์เริ่มดีขึ้น พบผู้ป่วยน้อยลง

ตามที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ระลอกที่ ๓ พื้นที่อำเภอปากช่อง มีการระบาดหนักมากที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพบผู้ติดเชื้อสะสม ๒,๔๒๕ ราย (ตัวเลขจากอำเภอปากช่อง) ณ วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการระบาดของคลัสเตอร์ใหญ่ เช่น คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลเมืองปากช่อง แคมป์คนงานก่อสร้าง และยังมีการนำพนักงานจากโรงงานในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เข้ามาพักในระบบ Bubble & Seal ด้วย

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นางสาวกาญจนา ประดับลาย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา กล่าวรายงานกรณีโรงงานแปรรูปไก่ ที่จังหวัดสระบุรี ขอนำพนักงานเข้าพักที่ค่ายลูกเสือแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง ว่า “โรงงานนี้ ได้ขออนุญาตนำพนักงานเข้าพักที่ค่ายลูกเสือแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง โดยจะขออนุมัติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก่อนการอนุมัติ สสจ.จะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่ และแนะนำการปฏิบัติตัวระหว่างอยู่ในพื้นที่ แต่ผลจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานนำพนักงานเข้าพักโดยไม่แจ้งส่วนราชการในพื้นที่ทราบ และนำพนักงานเข้าพักก่อนการลงพื้นที่ตรวจสอบของ สสจ. นอกจากนี้ โรงงานยังส่งเอกสารรายชื่อพนักงานที่เข้าพักในค่ายลูกเสือ แบ่งเป็น ที่พัก ๑ มี ๑๘๙ คน ที่พัก ๒ มี ๒๑๑ คน ที่พัก ๓ มี ๑๐๑ คน และที่พัก ๔ มี ๑๔๔ คน รวม ๖๔๕ คน แต่ในเอกสารมีระบุเพียงชื่อและนามสกุล แต่ไม่มีการระบุผลตรวจหาเชื้อและการฉีดวัคซีน ตามที่เจ้าหน้าที่ขอไป”

นางสาวอัจฉราพร เจ้าหน้าที่ รพ.สต.รับผิดชอบการตรวจสถานที่ค่ายลูกเสือ รายงานเพิ่มเติมว่า “เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ได้ลงพื้นที่ค่ายลูกเสือ เนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนว่า พบพนักงานจำนวนมากเดินทางมาในพื้นที่ และซื้อสินค้าที่บริเวณหน้าค่าย ซึ่งพบว่า มีคนเข้ามาจริง และไม่ทราบจำนวนผู้เข้าพัก จึงสอบถามไปยังปลัดตำบลว่า จะทำอย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบว่า ให้เข้าพักเพียง ๓ วัน เสมือนการเข้าพักโรงแรม เพราะแม้ว่าโรงงานแปรรูปไก่จะทำหนังสือขออนุญาตแล้ว แต่คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ยังไม่ได้อนุมัติ ดังนั้น ต้องฉะลอการเข้าพักไว้ก่อน”

โรงงานยอมรับผิด

นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐสัมพันธ์ โรงงานแปรรูปไก่ดังกล่าว กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องขออภัยในสิ่งที่ทางบริษัทดำเนินการไป ขณะนี้ได้รับฟังข้อมูลและยินดีน้อมรับในส่วนที่ผิดพลาด การกระทำที่ทำไป เพราะต้องการลดการติดเชื้อของพนักงาน ไม่ให้เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นมา เราจึงดำเนินการไปโดยพละการ ไม่มีการประสานอย่างใกล้ชิด ขอน้อมรับข้อเสนอแนะและคำตักเตือน เพื่อนำไปปรับปรุง”

ให้ทำตามประกาศจังหวัด

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “จังหวัดสระบุรีและโคราช เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การเข้าในพื้นที่ต้องปฏิบัติตามประกาศจังหวัดนครราชสีมา มีผลตรวจ RT-PCR หากไม่มีต้องใช้ผลตรวจ Antigen test kit (ATK) ภายใน ๗๒ ชม. นำผลวัคซีนมายื่นยัน และรายงานผลตรวจสุขภาพ การทำ Bubble & Seal ที่ดีและปลอดภัย จะต้องทำให้จังหวัดทั้งของโรงงาน หากไปทำในพื้นที่อื่น จะต้องกักตัว ออกไปไหนไม่ได้ ซึ่งการขออนุญาตเข้าพื้นที่ต้องใช้เวลา โดยการทำ Bubble & Seal สามารถทำก่อนเกิดการระบาดได้ ทำล่วงหน้าเพื่อเผื่อเวลาในการเตรียมสถานที่และตรวจสอบ แต่เนื่องจากโรงงานแห่งนี้กระทำก่อนได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำผิดตามประกาศจังหวัด ซึ่งจะให้ทางนิติกรดำเนินการเรื่องกฏหมายต่อไป ในส่วนนี้ต้องไม่ว่ากัน อยากให้ปรับทัศนคติใหม่ โรงงานที่จะทำ Bubble & Seal ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก สสจ.พร้อมให้คำปรึกษาหรือส่งคนไปตรวจสอบ แต่โรงงานก็ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เพราะ สสจ.ต้องการช่วยไม่ใช่ไปจับผิด ดังนั้น การให้ข้อมูลที่เปิดเผย เป็นหน้าที่ของโรงงานหรือผู้ประกอบการ และรวมทั้งค่ายลูกเสือดังกล่าว”

เตรียมดำเนินคดี

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวอีกว่า “โคราชไม่รู้สถานการณ์ของโรงงานแปรรูปไก่สระบุรี เนื่องจากคนละจังหวัด จึงให้ สสจ.ประสานงานระหว่างจังหวัดว่า สถานการณ์จังหวัดสระบุรีเป็นอย่างไร เพื่อที่จะประเมินคนที่จะเข้ามา หากทำ Bubble & Seal แล้วนำคนที่ติดเชื้อมาอยู่ ต้องนำไปรักษาที่จังหวัดสระบุรีอย่างเดียว จะไม่นำมาที่โรงพยาบาลอำเภอปากช่อง เพราะขณะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากอันดับหนึ่งในโคราช ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนไขระหว่างจังหวัด ซึ่งการนำคนเข้ามาโดยไม่มีผลตรวจหาเชื้อและที่ประชุมยังไม่พิจารณาว่า อนุญาตให้เข้ามาหรือไม่ ซึ่งเข้าใจว่ามีความกังวลต่อพนักงาน โคราชก็พยายามช่วย แต่การเคลื่อนย้ายต่างๆ ต้องอยู่ในระบบ มีการตรวจสอบที่แน่นอน ส่วนเรื่องเอกสารสามารถทำตามหลังได้”

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ ข้อมูลต้องชัดเจน กลุ่มที่มาอยู่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงต่ำ หรือไม่มีเชื้อ และการนำคนเข้ามาจะต้องแจ้งจำนวน สถานที่ต่างๆ สามารถจุคนได้เท่าไหร่ สมมติว่า แจ้งมา ๒๐๐ คน แต่ที่พักมีให้เพียง ๑๐๐ เตียง ก็ไม่สามารถอนุมัติได้ หรือถ้าสถานที่รับคนได้ ๕๐ คน ก็จะอนุมัติให้นำเข้าเพียง ๕๐ คน ให้มากกว่านั้นไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเข้ามาแล้วไม่ปฏิบัติตามประกาศของทางจังหวัด คงต้องแจ้งความดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้ปล่อยไม่ได้เพราะพูดคุยตลอดเวลา ส่วนเรื่องของพนักงาน หลังจากนี้ขอให้แจ้งรายชื่อ แจ้งผลตรวจ ตามที่เจ้าหน้าที่ สสจ.ต้องการ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำต้องได้รับการรับรองจาก สสจ. ไม่ใช่โรงงานรับรองกันเอง ความห่วงใยของโรงงานที่มีต่อพนักงานต้องอยู่บนพื้นฐานมาตรการของสาธารณสุข โคราชเป็นจังหวัดเดียวในภาคอีสานที่เป็นสีแดงเข้ม ก่อนจะเข้าพื้นที่ต้องมีผลตรวจเชื้อที่ได้มาตรการ และเป็นการรับรองจาก สสจ. ผมมั่นใจและเชื่อในระบบของ สสจ. ส่วนเรื่องดำเนินคดีคงต้องแจ้งข้อหาเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ที่นำคนเข้ามา” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

โรงงานคือระเบิดลูกใหญ่

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวเสริมว่า “ตัวอย่างการการทำ Bubble & Seal ของโรงงานแปรรูปไก่ขนาดใหญ่ ที่อำเภอโชคชัยทั้ง ๒ แห่ง มีพนักงาน ๘,๐๐๐ คน และ ๖,๐๐๐ คน หากการบริหารจัดการไม่ดีพอ จะทำให้เกิดเป็นระเบิดลูกใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง โดยหลักการทำ Bubble & Seal ต้องรอบคอบ เช่น คนที่จะเข้าโครงการนี้ ต้องแยกคนเสี่ยง คนป่วย และคนปกติ ดังนั้น โรงงานแปรรูปไก่ ทั้ง ๒ แห่ง จึงทำ Bubble & Seal ให้พนักงานอยู่ใครอยู่มัน ไม่ข้องเกี่ยวไปมาหาสู่กัน และตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมด เลือกเฉพาะคนที่ไม่พบเชื้อเท่านั้นเข้าโครงการ และระยะเวลาที่จะทำ Bubble & Seal อย่างน้อย ๒๘ วัน ตรวจทุก ๗ วัน เพื่อให้ทราบผล อย่างน้อยผลกระทบต่อชุมชนก็ลดน้อยลง ไม่ปล่อยคนเหล่านี้กลับไปสร้างความตระหนก หากพบผลบวกให้เข้าระบบตรวจยืนยันติดเชื้อ RT-PCR เข้ารักษาโดยระบบสาธารณสุข หากผลลบก็ทำงานต่อไป ดังนั้น โรงงานทั้ง ๒ แห่ง ต้องหาที่กักกันให้พนักงาน หากอยู่นอกพื้นที่ต้องใช้รถในการขนย้ายพนักงานแทน และต้องแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ทราบ มีมาตรการที่เคร่งครัด หากพบผู้ติดเชื้อต้องรายงานโรงพยาบาล หรือ สสจ. ทราบ ขอให้เคร่งครัดในการทำ Bubble & Seal ให้ตรวจ ATK ทุก ๗ วัน เพื่อให้ความมั่นใจกับชุมชนมากขึ้น”

วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากช่องนานา เจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุม

คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลเมืองปากช่อง (ตลาดเช้า) พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง อำเภอปากช่องทำ ATK จำนวน ๔,๘๘๖ คน พบเชื้อ ๒๖๑ ราย จากนั้นทำ RT-PCR ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ๒๖๙ ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อ ๓๙๔ ราย ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม ๔๑ ราย ซึ่งเป็นแม่ค้า ต่อมาวงที่ ๒ พบผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด ๙๙ ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๖ ราย สัมผัสในครอบครัว ๗๐ ราย ลูกค้าที่มารับบริการติดเชื้อเพิ่ม ๓ ราย และวงที่ ๓ พบผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด ๓๓ ราย และพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๔ ราย

นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปากช่องนานา รายงานสถานการณ์ที่อำเภอปากช่อง ว่า “ขณะนี้มียอดติดเชื้อสะสม ๒,๒๖๐ ราย ติดเชื้อเพิ่ม ๘๙ ราย รักษาหาย ๔๖๙ ราย เสียชีวิต ๑๔ ราย โรงพยาบาลปากช่องนานา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด ๓๐๐ เตียง ขณะนี้คนไข้โควิดครองเตียงไป ๒๒๒ เตียง คงเหลือทั่วไป ๑๐๐ เตียง ซึ่งคนไข้ที่อยู่โรงพยาบาลปากช่องนานา เป็นผู้ป่วยสีเหลืองและแดง โรงพยาบาลจึงเปิด ICU เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลมหาราชฯ แอดมิทผู้ป่วยหนัก ๙ ราย และกระจายผู้ป่วยค่อนข้างหนักไปที่หอผู้ป่วยหนักอุรเวชช์ ๑๗ ราย คงเหลือเตียงไว้หมุน ๑๙ ราย ที่เหลือกระจายไปโรงพยาบาลสนาม และศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง ตำบลหนองสาหร่าย ขณะนี้รับผู้ป่วยสีเหลืองเกือบ ๑๐๐ ราย ดำเนินการมาแล้ว ๑ สัปดาห์ และมี Community Isolation (CI) ที่บ้านหนองกะจะ ๗๐ ราย ความจุไม่สามารถรับได้ ๑๐๐ ราย แต่ติดขัดเรื่องระบบสุขาภิบาล ซึ่งเทศบาลกำลังช่วยดำเนินการ สถานการณ์ผู้ป่วยที่คาดว่า จะเป็นผลบวกอยู่ ๑,๑๖๒ ราย ซึ่งจะนัดคนไข้มาตรวจ เสมือนเขาอยู่ในโรงพยาบาล ให้ตรวจเลือด ออกซิเจนในเลือด และเอกซเรย์ปอดทุกราย หากคนไหนปอดไม่ดี อาการไม่ดี มีความเสี่ยง จะนำเข้าโรงพยาบาลทันที หากคนใดที่สามารถอยู่บ้านได้ จะสร้างช่องทางติดต่อสื่อสาร เพื่อส่งยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation (HI) เกือบ ๓๐๐ ราย และที่อยู่ในการดูแลของ รพ.สต ๑๙ แห่ง ๗๐๐ ราย และผู้ป่วยในระบบ CI ๒๕๐ ราย”

ตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น

นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น กล่าวเพิ่มว่า “การควบคุมป้องกัน คลัสเตอร์ตลาดเทศบาลเมืองปากช่อง (ตลาดเช้า) จากการค้นหาเชิกรุก ๙ ครั้ง วันที่ ๕-๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ ได้ทำ ATK ๒,๒๐๐ กว่าราย โดยส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้ารถเร่ พนักงานรถส่งของต่าง พบผลบวก ๑.๓๕% ซึ่งลดลงจากการตรวจในช่วงแรกที่มีการระบาด ถือเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้น และการพบผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มที่ลดลง สำหรับสถานการณ์ที่โรงงานไม้กวาด ๒๗๔ คน พบติดเชื้อ ๒๘ ราย โรงงานทำ Bubble & Seal เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ จากการตรวจสอบพบว่า ทำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนผู้มีอายุ ๖๐ ปี หรือมีโรคประจำตัว และตั้งครรภ์ อำเภอปากช่องมีเป้าหมาย ๔๖,๐๐๐ ราย ขณะนี้ฉีดได้ ๑๖,๐๐๐ ราย คิดเป็น ๓๕% โดยหลังจากนี้จะขออนุญาตจัดสรรวัคซีนฉีดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วอำเภอปากช่อง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งอำเภอ” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ในช่วงท้ายการประชุมฯ นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงการดำเนินคดีกับโรงงานแปรูปไก่ จังหวัดสระบุรี ว่า “กรณีของโรงงานไก่แปรรูป จะต้องคุยกับทีมงานลงไปสอบสวนว่า พฤติการทั้งหมดเป็นอย่างไร อาจจะขอสรุปในเรื่องของลักษณะที่เป็นความผิดตามประกาศให้วันถัดไป ขออนุญาตไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๑ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


91 1,663