29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 13,2021

ตามหา รมต.สว.สส. โควิดระบาด หายตัว ปชช.นอนรอความตาย

๕ องค์กรเอกชนเรียกหา ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี ในจังหวัด ออกมาช่วยเหลือประชาชนช่วงโควิดระบาด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เชื่อมีศักยภาพมากกว่านี้ ‘ส.ส.เกษม’ เผยลงพื้นที่ทุกวัน ‘ส.ส.วัชรพล’ จี้รัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะวัคซีนคือคำตอบ การแก้ปัญหาโควิด-๑๙ เผยพร้อมสู้เพื่อคนโคราชเสมอ


เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. องค์กรภาคเอกชน ๕ สถาบันด้านเศรษฐกิจ ในจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา น.ส.สุรีวัลย์ จันทร์ประทักษ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดนครราชสีมา นางสาวสมลักษณ์ ศรีสุวรรณ ประธานเครือข่าย Biz Club นครราชสีมา และนายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้นักการเมืองโคราช ทั้ง ส.ส. และส.ว.ออกมาร่วมเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน

๕ องค์กรประกาศตัวหาผู้แทน

นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ กล่าวว่า “หลังจากเกิดการแพร่ระบาดร้ายแรงของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในประเทศไทย และจังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศให้เป็นจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีมาตรการควบคุมเข้มงวดสูงสุด ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นในจังหวัด คือ ทั้งด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจผู้ประกอบการหลายรายและในหลายธุรกิจประสบความยากลำบากในการประกอบกิจการ รวมทั้งแรงงานก็ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือลดชั่วโมงการทำงาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดอย่างมาก”

“เบื้องต้นหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครราชสีมาได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา การเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของภาครัฐ โดยติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข ๐๘๖-๔๖๑๗๗๒๙ และหอการค้าฯ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคเอกชนแห่งแรกของประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชนในเขตจังหวัดนครราชสีมา วันนี้หอการค้าฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน อีก ๔ แห่ง ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดนครราชสีมา, เครือข่าย Biz Club นครราชสีมา และชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดนครราชสีมา นำข้อเสนอต่างๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติครั้งนี้ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ พร้อมเร่งดำเนินการโดยด่วน และพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชน”

๒ รมต. ๒ ส.ว. ๑๔ ส.ส.

“ในวันนี้ เราอยากจะเรียกร้องไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ในโคราช ได้แก่ ๒ รัฐมนตรี, ๒ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), ๑๔ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เป็นตัวแทนของพวกเราชาวโคราช ได้ออกมารวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ออกมาช่วยคิด ช่วยทำ ร่วมกับจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการที่จะบรรเทาวิกฤตครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นไปให้เร็วที่สุด โดยขอเรียกร้องให้ รัฐมนตรี, ส.ว., ส.ส. ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังนี้ ๑.ขอให้เร่งจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนของภาครัฐ และวัคซีนทางเลือก นำมาฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดให้ได้มากกว่า ๗๐% และเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจสังคมของโคราช กลับมาเหมือนเดิมโดยเร็วที่สุด ๒.ขอให้ใช้ศักยภาพในทุกทางจัดหาชุดตรวจโควิด Antigen Test Kits (ATK) เพื่อทำการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม ให้ทั่วถึงและเร็วที่สุด ๓.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ Micro SME และ SME ให้สะดวก และรวดเร็ว โดยเน้นไปที่สถาบันการเงินของรัฐ เพื่อช่วยเหลือเงินหมุนเวียนในช่วงโควิด และ ๔.ขอขยายระยะเวลาการลงทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา ๔๐ ของประกันสังคม ออกไปอีกไม่น้อยกว่า ๑ เดือน และเพิ่มวงเงินเยียวยา เพื่อให้กลุ่มอาชีพอิสระที่มีอายุ ๑๕-๖๕ ปี เข้าถึงเงินเยียวยาจากประกันสังคม” นายศักดิ์ชาย กล่าว

ท่องเที่ยวชะงัก

ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ กล่าวว่า “เห็นด้วยอย่างยิ่งกับประธานหอการค้า ในประเด็นที่พวกเราออกมาเรียกร้องทั้ง ๔ ประเด็นหลักในวันนี้ ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโคราช ซึ่งมีทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ร้านขายของฝากของที่ระลึก บริษัทออแกไนซ์ ผู้รับจัดงาน บริษัทนำเที่ยว รวมไปถึงห่วงโซ่การท่องเที่ยว เช่น การเดินทาง ขนส่ง มัคคุเทศก์ ศิลปิน คนเบื้องหลัง ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่มีงานแล้ว ล้วนแต่ตกอยู่ในสภาวะชะงักงัน ผลกระทบ จากสถานการณ์ครั้งนี้ ๑.เศรษฐกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่องอย่าง รุนแรงตั้งแต่ปี ๖๓ - ๖๔ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศมาสู่จังหวัดนครราชสีมา ลดลงกว่า ๒,๘๘๕,๗๘๗ คน หรือ - ๕๐.๗๒% ๒.จากการลดลงของนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของสถานประกอบการที่เกิดจากการท่องเที่ยวและสันทนาการ คือ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ ภาคเกษตร และกิจกรรมสืบเนื่อง หายไปประมาณ ๖,๕๖๖ ล้านบาท หรือ -๕๑.๘๔% ๓.จากการขาดรายได้ ทำให้เกิดการว่างงานเกินกว่า ๕๐% ของการจ้างในระบบ โดยสถานประกอบการต้องลดจำนวนพนักงาน เลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ๔.จากการล็อกดาวน์ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในไตรมาสที่ ๓-๔ ปี ๒๕๖๔ คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจะหายไปกว่า ๘๐% ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะสุญญากาศ ซึ่งมิอาจคาดเดาความเสียหายที่จะตามมาในอนาคตและยากต่อการฟื้นฟูในอนาคต”

“เชื่อว่าทุกคน ทุกภาคส่วนมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยภาพรวม สิ่งที่คนโคราชต้องการด่วนที่สุดในเวลานี้คือ วัคซีน จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ตัวแทนของคนโคราช ออกมาผลักดันตามบทบาทหน้าที่ของท่าน คือเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในจังหวัด และหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน ภายในเดือนกันยายนนี้คนโคราชควรได้รับวัคซีน ๗๐% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดความสูญเสียชีวิต ลดลูกกำพร้าพ่อแม่ สร้างความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าตามสถานการณ์ที่รุนแรงนี้ มิอาจจะคาดหวังให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้เหมือนเดิม แต่หวังว่าผู้แทนราษฎร ตัวแทนของประชาชน จะลุกขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อให้โคราชของเรากลับมาลุกขึ้นเดินได้อีกครั้ง” ดร.วัชรี กล่าว

รอความตายไปวันๆ

นางสาวสุรีวัลย์ จันทร์ประทักษ์ กล่าวว่า “เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในข้อเรียกร้องทั้ง ๔ ข้อ ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ SME ที่กำลังแย่ โดยเฉพาะ SME รายย่อยหรือ Micro SME ที่กำลังจะตาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะตายเพราะติดโควิด จะตายเพราะอดตายหรือจะตายเพราะต้องฆ่าตัวตายจากปัญหาทุกอย่างที่รุมเร้าแล้วไม่มีทางออก ซึ่ง ๓ ความตายนี้อันไหนจะมาถึงก่อนกัน เป็นความเดือดร้อนที่แสนสาหัสที่หวังให้รัฐมนตรี ส.ว. และ ส.ส. โคราชทุกคนช่วยเหลือในข้อเรียกร้องทั้ง ๔ ข้อโดยด่วนที่สุด เพื่อให้ทุกคนรอดจากความตายโดยเร่งด่วน”

ไม่เหลือความหวังแล้ว

นางสาวสมลักษณ์ ศรีสุวรรณ กล่าวว่า “กลุ่มผู้ประกอบการมีความเห็นเหมือนกัน คือ เมื่อไหร่ที่สถานการณ์โควิด-๑๙ จะจบ เนื่องจากระยะเวลาผ่านมานาน สร้างความเสียหายให้ธุรกิจมหาศาล ทุกวันนี้ไม่เหลือความหวังอะไร นอกจากทำอย่างไรให้มีชีวิตรอดปลอดภัย ซึ่งถ้าหากปิดกิจการ และเปิดใหม่เมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น ก็คงไม่ยากเท่ากับการพยุงธุรกิจให้อยู่รอดไปในช่วงระยะเวลานี้ และในสถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้ พวกเราต้องการกำลังใจจากตัวแทนที่เราเรียกว่า “ผู้แทนราษฎร” อยากให้พวกท่านบอกพวกเราว่าวันนี้พวกเราควรทำเช่นไรในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งพวกเราต้องการแยกปลาออกจากน้ำ ต้องการแยกผู้ป่วยออกจากผู้ที่ไม่ป่วย พวกเราต้องการชุดตรวจโควิด และพวกเราเชื่อว่าผู้แทนราษฎรทุกท่านจะช่วยดำเนินการส่งให้ประชาชนทุกบ้านเหมือนตอนส่งเอกสารมาเชิญชวนให้ประชาชนมาเลือกตั้งท่านด้วย”

ขอสถาบันการเงิน ต่อลมหายใจ

นายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา กล่าวว่า การที่องค์กรต่างๆ ออกมาพูดวันนี้ เพราะเราได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ขอให้นักการเมืองโคราชทั้ง ๑๘ คนออกมาช่วยกันบ้าง ลองสู้ ลองคิด ช่วยชาวโคราช ปัญหามีมาก จะเห็นได้จากหลังประกาศมาตรการล็อกดาวน์ห้ามนั่งทานอาหารในร้าน ทำให้รายได้ส่วนหนึ่งหายไป เราต้องสู้ ต้องต่อลมหายใจ ทั้งลูกน้อง พนักงาน ทุกอย่างในวงการร้านอาหารหายไป เมื่อหายไปไม่มีรายได้ หากมีเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการก็จะเป็นการต่อลมหายใจได้ ที่ผ่านมาสถาบันการเงินมีปัญหา ไม่ได้เงินมาให้กู้จริงๆ ขอให้ออกมาช่วยผู้ประกอบการต่อลมหายใจ ก่อนที่จะไม่มีลมหายใจตายกันหมด”

ต้องโดดลงมาช่วย

นายศักดิ์ชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกวินาทีที่ท่านล่าช้า ละเลย คือการทำงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ คือความตายที่คืบคลานเข้ามา คือเวลาที่ล่าช้าออกไปในการฟื้นฟู รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ที่เป็นคนโคราช ช่วงนี้เป็นโอกาสอันดีของท่าน ที่จะได้แสดงให้เห็นถึงผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด ให้คนโคราชได้เห็นว่าทุกท่าน ได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยชาวโคราช ออกมาเถอะ ออกมาร่วมกับจังหวัด อบจ. อปท. และภาคเอกชน มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และช่วยกันสร้างให้ชาวโคราชบ้านเราได้กลับคืนสู่การใช้ชีวิตที่เป็นปกติ มีการค้าที่ดี มีเศรษฐกิจหมุนเวียน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เสียงของพวกเราทั้ง ๕ องค์กร คงจะได้ยินถึง รัฐมนตรี ส.ส. สว. คนโคราช และลงมาช่วยประชาชนและผู้ประกอบการในโคราชโดยเร็ว ขณะนี้การเยียวยาอาหารไม่ตอบโจทย์ ท่านต้องกระโดดเข้ามาช่วยกัน”

โคราชต้องรวมพลัง

ต่อมา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการแถลงข่าว กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “การแถลงข่าวนั้นเกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ ส.ส. ส.ว. และรัฐมนตรี ที่เป็นคนโคราช ออกมารวมตัวกันทำงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ คือ ทุกคนเข้าใจว่า ทุกท่านทำงานอยู่ แต่การทำงานของแต่ละคนไม่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ต่างคนต่างทำในท้องถิ่นตัวเอง หลายคนก็แจกข้าวแจกอาหาร แต่เอาตรงๆ การแจกข้าวแจกอาหาร ภาคเอกชนก็ทำกันอยู่ทุกวัน แต่ผมเชื่อว่า ส.ส. ส.ว. มีศักยภาพมากกว่านี้ รวมตัวกันเป็นกระบอกเสียงแทนคนโคราช โดยผลักดันในสิ่งที่ทำได้ เช่น การจัดหาวัคซีนมาให้โคราชมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มแล้ว ดังนั้นควรหามาเพิ่มให้ประชาชน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องการให้การคัดกรองในโคราชมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อคัดแยกคนที่ติดเชื้อออกจากคนปกติ และจัดทำระบบดูแลผู้ติดเชื้อ ซึ่งวันนี้ภาคเอกชนทุกองค์กร ต้องการให้ ส.ส. และ ส.ว. ออกมารวมตัวกัน และช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะผลักดันข้อเสนอที่เรียกร้องไปให้ออกมาเป็นรูปธรรม การทำอะไรคนเดียวพลังน้อย แต่ถ้าทุกคนมาร่วมกัน ทั้ง ๑๔ ส.ส. ๒ รัฐมนตรี และ ๒ ส.ว. ก็จะทำให้มีพลังในการผลักดันสำเร็จ”

วัคซีนจะตอบโจทย์

“ในสถานการณ์โควิด-๑๙ ระบาดหนัก ทำให้เศรษฐกิจในโคราชซบเซามาก การค้าการขายก็ลดลงไปมาก ร้านอาหารต้องปรับตัวเป็นเดลิเวอรี่อย่างเดียว และโรงแรมถึงจะเปิดให้บริการแต่ก็ไม่มีคนเข้าพัก คำตอบของปัญหาเหล่านี้ คือ วัคซีน ถ้าโคราชมีวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน ครบ ๗๐% ของประชากรในจังหวัด จะทำให้โคราชเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ในเบื้องต้นขณะนี้ อาจจะใช้การคัดกรองแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนปกติก่อน ในเรื่องของสถานที่กักตัว HI และ CI ทุกฝ่ายก็ต้องให้ความสำคัญด้วย แต่ในภาพรวมของเศรษฐกิจ ทุกคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แย่ ผมหวังว่า สิ้นปีจะพอลืมตาอ้าปากได้บ้าง ได้วัคซีนมาฉีดร้อยละ ๕๐ ก็ยังดี เพื่อปลายปีนี้เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นฟูหรือดีขึ้นบ้าง”

“สถานการณ์ขณะนี้ หอการค้าจังหวัดฯ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานขึ้น ๒ เรื่อง ได้แก่ ศูนย์ประสานงานการเยียวยาจากภาครัฐในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างในระบบประกันสังคม หากมีข้อสงสัยอะไร ให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดที่หอการค้าจังหวัดฯ ได้ทันที เราได้รับข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดจากสำนักงานประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว หากติดต่อสำนักงานประกันสังคมแล้วคนแน่น ก็สามารถติดต่อมาที่หอการค้าได้เลย และหอการค้าจังหวัดฯ ยังได้รับอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนขึ้นศาล ซึ่งในช่วงนี้อาจจะมีผิดนัดชำระหนี้ ทำให้เกิดการฟ้องร้อง แต่ถ้ามีปัญหานี้ หอการค้าฯ ก็ยินดีที่จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งจากสำนักงานยุติธรรมจังหวัด เพื่อจะได้ลดขั้นตอนในชั้นศาล ลดค่าใช้จ่าย หากไกล่เกลี่ยกันได้ก็จบแค่ตรงนี้ ไม่ต้องขึ้นศาล แต่หากไกล่เกลี่ยไม่ได้ก็ให้เป็นเรื่องของศาลต่อไป” นายศักดิ์ชาย กล่าว

ส.ส.พร้อมช่วยประชาชน

ล่าสุด วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๓๐ น. ‘โคราชคนอีสาน’ ติดต่อสัมภาษณ์นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.เขต ๑ จ.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเปิดเผยว่า “ขณะนี้ได้พูดคุยหารือแนวทางช่วยเหลือประชาชนกับภาคเอกชนแล้ว โดยเฉพาะกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดผมบริจาคเตียง ๑๐๐ เตียง พร้อมกับชุดป้องกันประมาณ ๖๐ ชุด นอกจากนี้ ผมยังจะเชิญชวนเพื่อน ส.ส. ให้ออกมาช่วยเหลือประชาชน จะช่วยอย่างไรก็ค่อยคุยกัน ในช่วงที่โควิด-๑๙ ระบาด ผมลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างสม่ำเสมอ นำถุงยังชีพ สเปรย์แอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชนเดชอุดมพัฒนา ชุมชนหนองแก้ช้าง ชุมชนราชนิกูล ๒ ชุมชนเบญจรงค์ และยังช่วยสนับสนุนชุด PEE ให้ อปพร.เทศบาลนครฯ ทุกวันนี้ลงพื้นที่ไม่ได้หยุด ต้องเข้าไปดูแลสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชนตลอด”

วัคซีนช่วยแก้วิกฤต

นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ พรรคชาติพัฒนา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ผมมีความรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชน วัคซีนเป็นคำตอบเดียวที่จะแก้ไขวิกฤตนี้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่การบริหารจัดการวัคซีนกลับไม่เป็นธรรม คนที่ควรได้ก็ไม่ได้ ส่วนวัคซีนที่ได้รับมาก็กระจายไม่ทั่วถึง สำหรับพรรคชาติพัฒนา ซึ่งมี ส.ส.เขต ๑ คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๒ คน  ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ในรัฐสภาในการอนุมัติเงินใช้จ่ายเรื่องโควิด-๑๙ แต่ในส่วนนี้ก็ขอท้วงติงว่า รัฐบาลประกาศจะมีวัคซีนครบเท่านั้นเท่านี้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่เป็นไปอย่างที่พูด จึงทำให้เกิดการเรียกร้องขึ้นมาของทุกองค์กร ซึ่งการเรียกร้องเหล่านี้ผมเห็นด้วย มีความรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชน เคยพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล สะท้อนปัญหาต่อกัน แต่ในส่วนระดับพื้นที่ผมก็พยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ออกไปช่วยเหลือ ดูแล และมอบสิ่งต่างๆ ให้ประชาชน จากข้อเรียกร้องของเอกชน ขณะนี้รัฐสภาไม่มีการเปิดประชุม จึงทำอะไรได้ไม่มาก แต่ผมก็พยายามพูดคุยกับ ส.ส.ในพรรคชาติพัฒนา ถ้ามีการดำเนินงานสิ่งใดที่จะสามารถสะท้อนปัญหาไปสู่รัฐบาล ก็พร้อมที่จะทำและไม่หยุดนิ่ง”

พร้อมร่วมกับ ส.ส.ทุกคน

นายวัชรพล เปิดเผยอีกว่า “สำหรับข้อเรียกร้องให้ ส.ส.ในโคราชรวมพลังกัน ผมพร้อมตลอด ไม่ว่าจะเรื่องอะไร โดยเฉพาะการพัฒนาด้านต่างๆ ในโคราช แต่เนื่องจากพรรคชาติพัฒนาเป็นพรรคเล็ก ไม่เหมือนสมัยก่อน ทำให้ไม่สามารถไปแสดงอะไรได้มาก จึงทำเฉพาะในส่วนที่ยังพอทำได้ ช่วงแรกเราเชื่อมั่นในรัฐบาล มีทั้ง ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ในรัฐบาล เข้าไปวางแผนดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ก็เชื่อมั่นมาตลอดว่า จะทำได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็กลายเป็นประเด็นปัญหา ทุกคนมีข้อสงสัยเหมืออนกันว่า การวางแผนจัดการวัคซีนเป็นอย่างไร ทำไมวัคซีนทางเลือกไม่มี ทำไมไม่ให้เอกชนสั่งเข้ามา”

ทำหน้าที่ตลอด

“พรรคชาติพัฒนากำลังทำในขณะนี้ คือเปิดศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน เริ่มมาตั้งแต่การระบาดระลอกที่ ๑ ศูนย์นี้เกิดขึ้นมาจากประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกัน ซึ่งช่วงแรกผมนำเงินเดือนตัวเอง ๓ เดือน มอบให้ศูนย์นำไปจัดการช่วยประชาชน ที่ผ่านมาผมทำงานทุกวัน เพียงแต่ว่าไม่ได้ออกสื่อ โดยในระลอกที่ ๓ มีการติดเชื้อรุนแรง ผมก็ออกไปดูแลผู้กักตัว ประชาชน และให้กำลังใจคนทำงานด่านหน้า เช่น ล่าสุดผมสนับสนุนชุด PPE และเงินสนับสนุนวัดคลองส่งน้ำ เนื่องจากในเขตเทศบาลนครฯ มี ๓ วัด ที่รับเผาศพผู้ติดเชื้อ การออกมาเรียกร้องของประชาชน ผมดีใจที่ทุกคนมองเห็นบทบาทหน้าที่ของผู้แทนราษฎร แต่บอกตรงๆ ว่า อำนาจในสภาผู้แทนราษฎรนั้น แยกกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ซึ่งผมขอวิงวอนรัฐบาลว่า ถ้าเป็นไปได้ ให้ทำทุกวิถีทางในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงอย่างเป็นธรรม” ส.ส.เขต ๒ กล่าว

ต่อสู้เพื่อประชาชน

นายวัชรพล กล่าวท้ายสุดว่า “ผมเป็นหนึ่งใน ส.ส.ที่เข้าใจความรู้สึกของประชาชน ที่ผ่านมาก็พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ถ้าถามว่า ส.ส.ในโคราชจะรวมพลังช่วยกันหรือไม่ ก็ต้องวิงวอนไปที่พรรคใหญ่ โดยเฉพาะ ส.ส.ของพรรครัฐบาล ให้ช่วยสะท้อนปัญหาเหล่านี้ไปถึงคนในรัฐบาล ถึงแม้พรรคชาติพัฒนาจะเป็นพรรคเล็ก แต่จะพยายามทำในส่วนที่ทำได้ เมื่อไหร่ที่สภาเปิดให้มีโอกาสนำเสนอ ผมพร้อมที่จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไปต่อสู้เพื่อประชาชน ผมไม่โกรธประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง แต่ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ว่า จะทำอะไรหรือไม่ ให้สมกับที่เป็นตัวแทนประชาชน”

สำหรับจังหวัดนครราชสีมามี ๑๔ เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ๑๔ คน ได้แก่ เขต ๑ นายเกษม ศุภรานนท์ พรรคพลังประชารัฐ, เขต ๒ นายวัชรพล โตมรศักดิ์ พรรคชาติพัฒนา, เขต ๓ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง พรรคเพื่อไทย, เขต ๔ นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ พรรคพลังประชารัฐ, เขต ๕ นายโกศล ปัทมะ พรรคเพื่อไทย, เขต ๖ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ พรรคพลัประชารัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, เขต ๗ นางทัศนียา รัตนเศรษฐ พรรคพลังประชารัฐ, เขต ๘ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ พรรคพลังประชารัฐ, เขต ๙ นายอภิชา เลิศพชรกมล พรรคภูมิใจไทย, เขต ๑๐ นายพรชัย อำนวยทรัพย์ พรรคภูมิใจไทย, เขต ๑๑ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม พรรคพลังประชารัฐ, เขต ๑๒ นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ พรรคเพื่อไทย, เขต ๑๓ นายวิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ พรรคภูมิใจไทย และเขต ๑๔ นายสุชาติ ภิญโญ พรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ๑ รายคือนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล พรรคภูมิใจไทย และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ส่วนสมาชิกวุฒิสภา ๒ คน ได้แก่ นาย ออน กาจกระโทก และนางทัศนา ยุวานนท์ มารดาของณัฏฐินีภรณ์ จันทรโณทัย (ภริยานายวิเชียร จันทรโณทัย)


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๑ วันพุธที่ ๑๑ - วันอังคารที่ ๑๗ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1048 1620