August 27,2021
อบจ.โฉมใหม่รายจ่ายลดลง งบปี’๖๕ เหลือ ๒,๖๒๒ ล้าน สร้างบ้านพักคนชรา ๑๕ ล.
ยกมือผ่านงบรายจ่ายปี ๒๕๖๕ กว่า ๒,๖๒๒ ล้านบาท ลดลง ๗๕๐ ล้าน ส.จ.ห่วงงบโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ เพราะโคราชเป็นเมืองใหญ่ ด้านฝ่ายบริหารรับข้อห่วงใย ประชุมครั้งหน้าเตรียมเสนอขอใช้เงินสะสมกว่า ๔,๒๒๕ ล้านบาท เพื่อพัฒนาโคราชและฟื้นเศรษฐกิจ มั่นใจใช้เงินภาษีคุ้มค่า
วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่เทอร์มินอล ฮอลล์ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จัดการประชุมสภา อบจ.นครราชสีมา สมัยสามัญ สมัยที่ ๒ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ซึ่งมีระเบียบการประชุม ๕ เรื่อง โดยมีนายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ทำหน้าที่ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา พร้อมรองประธานสภา ๒ คน เลขานุการสภา ๑ คน และสมาชิกสภา ๔๕ เขต โดยฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยรองนายกฯ ทั้ง ๔ คน ได้แก่ นายสมเกียรติ ตันดิลกระกูล นายวีรชาติ ทุ่งไผ่แหลม นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล และนายกมลศักดิ์ เกษเมธีการุณ ร่วมประชุม
ขอสร้างบ้านพักคนชราแห่งใหม่
ระเบียบวาระที่ ๑ เรื่อง ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ มีทั้งสิ้น ๘ เรื่องเกี่ยวกับการประกาศใช้แผนการดำเนินงาน ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น และสรุปการใช้จ่ายงบประมาณการดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ระเบียบวาระที่ ๒ เป็นเรื่องรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา ระเบียบวาระที่ ๓ ญัตติขอความเห็นชอบการยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าฯ เพื่อก่อสร้างสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์วัดม่วงและสถานสงเคราะห์คนชราบ้านธรรมปกรณ์โพธิ์กลาง ฝ่ายบริหาร โดยนายกมลศักดิ์ เกษเมธีการุณ รองนายก อบจ. กำกับดูแลกองสวัสดิการสังคม แถลงถึงการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม พร้อมขอมติที่ประชุมเห็นชอบให้การยื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่า ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อก่อสร้างสถานสงเคราะห์แห่งใหม่ บนเนื้อที่ ๓๕ ไร่ งบประมาณ ๑๕ ล้านบาท มติที่ประชุมเห็นชอบ ๔๑ คน งดออกเสียง ๓ คน ไม่อยู่ในที่ประชุมขณะออกเสียง ๑ คน
ระเบียบวาระที่ ๔ ญัตติเรื่องขอความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ อบจ.นครราชสีมา เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ชี้แจงสถานะการคลัง ตลอดจนหลักการและแนวนโยบายการดําเนินการ ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ ดังนี้ ๑.สถานะการคลัง (๑) งบประมาณรายจ่ายทั่วไป ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ข้อมูล ณ วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ อบจ.มีสถานะการเงิน ประกอบด้วย เงินฝากธนาคาร ๔,๓๒๖,๓๗๕,๖๗๑ บาท เงินสะสม ๔,๒๒๕,๗๔๖,๗๓๔ บาท ทุนสำรองเงินสะสม ๘๑๙,๖๓๕,๖๓๓ บาท รายการกันเงินไว้แบบก่อหนี้ผูกพันและยังไม่ได้เบิกจ่าย จำนวน ๑๓๓ โครงการ เป็นเงิน ๗๖,๔๙๗,๐๘๖ บาท และรายการที่ได้กันเงินไว้โดยยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน จำนวน ๗๗๕ โครงการ เป็นเงิน ๕๔๒,๙๔๓,๗๑๕ บาท และ (๒) เงินกู้คงค้าง ๔๑,๓๔๓,๐๐๐ บาท
๒.การบริหารงบประมาณในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ (๑) รายรับจริง ๓,๖๖๖,๑๔๗,๓๓๕ บาท ประกอบด้วย หมวดภาษีอากร ๑๔๐,๕๗๑,๙๒๙ บาท หมวดค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต ๑๐,๓๕๐,๐๒๘ บาท หมวดรายได้จากทรัพย์สิน ๔๓,๕๔๗,๐๑๓ บาท หมวดรายได้เบ็ดเตล็ด ๓,๙๕๘,๕๗๕ บาท หมวดภาษีจัดสรร ๑,๔๐๑,๕๙๙,๐๘๘ บาท และหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป ๒,๐๖๖,๑๒๐,๗๐๐ บาท (๒) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้โดยระบุวัตถุประสงค์ ๑๖๕,๓๕๗,๔๔๘ บาท (๓) รายจ่ายจริง ๒,๕๒๒,๕๑๓,๙๒๗ บาท ประกอบด้วย งบกลาง ๑๑๒,๙๓๖,๐๘๖ บาท งบบุคลากร ๑,๒๐๒,๐๖๐,๗๕๐ บาท งบด้านดำเนินงาน ๑,๑๔๘,๖๓๕,๕๘๖ บาท งบลงทุน ๔๓,๓๐๖,๕๐๔ บาท งบเงินอุดหนุน ๑๕,๕๗๕,๐๐๐ บาท (๔) รายจ่ายที่จ่ายจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้โดยระบุวัตถุประสงค์ ๒๐๓,๑๓๔,๓๐๕ บาท และ (๕) รายจ่ายที่จ่ายจากเงินสะสม ๑๔๐,๓๗๖,๓๔๘ บาท ๓.งบเฉพาะการ ประเภทกิจการสถานีขนส่ง สถานีขนส่งโชคชัย ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ รายรับจริง ๑,๓๒๗,๒๐๖ บาท รายจ่ายจริง ๙๔๐,๗๙๑ บาท เงินสะสม ๒,๙๗๐,๒๗๘ บาท ทุนสำรองสะสม ๙๙๒,๗๘๖ บาท เงินฝากธนาคาร ๓,๙๘๒,๐๗๒ บาท
งบประมาณปี ๒๕๖๕
๔.การบริหารงบประมาณในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ (๑) ปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อบจ.นครราชสีมา ได้ตั้งงบประมาณการรายรับไว้ทั้งสิ้น ๒,๖๒๒,๔๔๔,๔๐๐ บาท ประกอบด้วย หมวดภาษีอากร ๑๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท หมวดค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท หมวดรายได้จากทรัพย์สิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หมวดรายได้เบ็ดเตล็ด ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท หมวดรายได้จากทุน ๖๐,๐๐๐ บาท หมวดภาษีจัดสรร ๑,๑๕๑,๕๔๐,๐๐๐ บาท หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป ๑,๓๒๒,๔๔๔,๔๐๐ บาท (๒) ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อบจ.นครราชสีมา ได้ตั้งงบประมาณการรายจ่ายไว้ทั้งสิ้น ๒,๖๒๒,๔๔๔,๔๐๐ บาท ประกอบด้วย เงินกลาง ๑๔๓,๙๙๔,๖๔๐ บาท งบบุคลากร (เงินเดือน ค่าจ้างประจำ และค่าจ้างชั่วคราว) ๑,๓๗๖,๑๒๕,๕๐๐ บาท งบดำเนินงาน (ค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ และค่าสาธารณูปโภค) ๖๙๓,๐๗๓,๓๐๐ บาท งบลงทุน (ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง) ๔๐๙,๒๕๐,๙๖๐ บาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายนายก อบจ. และแผนพัฒนาท้องถิ่น อบจ.นครราชสีมา จึงเสนอร่างข้อญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ เพื่อให้สภา อบจ.นครราชสีมา พิจารณา
รายจ่ายลดกว่า ๗๕๐ ล้าน
จากนั้น ส.อบจ.ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เพื่ออภิปรายให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร ในการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.ชี้แจงเรื่องต่างๆ ว่า “งบประมาณปี ๒๕๖๕ จำนวน ๒,๖๒๒ ล้านบาท ตั้งต่างจากปี ๒๕๖๔ ประมาณ ๗๕๐ ล้านบาท จากข้อห่วงใยของสมาชิกสภา ที่บอกว่า ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-๑๙ หากรัฐบาลอุดหนุนมาแล้ว เงินจะเข้าไม่ครบตามที่ประมาณการไว้ จึงขอให้ฝ่ายบริหารคิดวิธีการที่จะใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งเราได้ดำเนินการครอบคลุมทุกอย่างแล้ว คาดว่า เงินอุดหนุนเงินรายได้ที่รัฐจัดส่งมาให้จะครบตามที่ประมาณการไว้ ส่วนงบกลางที่ตั้งไว้ ๑๔๐ ล้านบาท ก็ตั้งตามกรอบงบประมาณ แต่ในปีที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่า เราใช้งบกลางในการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น ศบค.จังหวัด มากถึง ๒๐๐ ล้านบาท”
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า “ส่วนข้อห่วงใยของนายชุณห์ ศิริชัยคีรีโกศล ส.อบจ.อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งถามถึงรายการจ่ายในข้อบัญญัตินี้ กรณีรายการกันเงินไว้แบบก่อหนี้ผูกพันและยังไม่ได้เบิกจ่าย จำนวน ๑๓๓ โครงการ และรายการที่ได้กันเงินไว้โดยยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน จำนวน ๗๗๕ โครงการ โดยตัวเลขนี้เริ่มต้นเมื่อฝ่ายบริหารเข้ามาบริหารช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ขณะนี้ประมาณ ๕ เดือนที่ดำเนินการไป คาดว่าโครงการเหล่านี้จะเหลือเพียงโครงการที่ไม่ได้ก่อหนี้ผูกพัน จะไม่ถึง ๑ ใน ๓ ของจำนวนทั้งหมด โครงการที่กันเงินไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนโครงการที่กันเงินงบประมาณปี ๒๕๖๓ จะให้มีการก่อหนี้ผูกพันทุกรายการ ซึ่งจะเหลือเพียงโครงการในปี ๒๕๖๔ เท่านั้น ที่จะกันเงินโดยไม่ก่อหนี้ผูกพัน ส่วนเงินกู้คงค้าง ๔๑ ล้านบาท เป็นเงินที่ต้องชำระให้กับแหล่งเงินกู้ จากการกู้เงินมาเพื่อก่อสร้างบ้านพักครูโรงเรียนในสังกัดของ อบจ. ขณะนี้ชำระไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง จากยอดทั้งหมดประมาณ ๘๐ ล้านบาท จึงเหลือหนี้ชำระประมาณ ๔๑ ล้านบาท”
ใช้เงินสะสมพัฒนาโคราช
“สำหรับการกล่าวถึงงบลงทุน ๔๐๙ ล้านบาท ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ด้วยข้อจำกัดเรื่องบประมาณ จึงมีงบลงทุนน้อย ในงบลงทุนส่วนนี้นอกจากจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่งบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด วันนี้ได้รับข้อแนะนำและข้อเสนอแนะจากสมาชิกสภาหลายคน ว่า โคราชเป็นจังหวัดใหญ่ แต่งบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรืองบลงทุนน้อยมาก เพียง ๔๐๙ ล้านบาท แต่ อบจ.มีเงินสะสมที่สามารถนำมาพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาได้ ฝ่ายบริหารมีความตั้งใจ โดยนายก อบจ. ได้พูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นว่า ในครั้งต่อไปฝ่ายบริหารจะนำเสนอแผนงานพัฒนาจังหวัด รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะขออำนาจสภาในการใช้เงินสะสม เพื่อบริหารจังหวัดนครราชสีมาต่อไป” นายสมเกียรติ กล่าว
อบจ.ตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำ
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า “นอกจากนี้นายก อบจ. ยังมีความห่วงใยเรื่องน้ำ โดยในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานที่เคยดำเนินการมาในหลายพื้นที่ ยังขาดการบริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปีนี้ อบจ.ได้รับการประสานงานจากคณะกรรมการบริหารน้ำแห่งชาติ โดยจะให้ อบจ.นครราชสีมา ตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลน้ำประจำจังหวัดนครราชสีมา จะช่วยให้ อบจ.มีข้อมูลน้ำอย่างครบถ้วนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกับกองทัพภาคที่ ๒ เพื่อตั้งศูนย์ควบคุมน้ำในสำนักการช่าง อบจ. จากนั้นจะให้ อปท.ทุกแห่ง เช่น อบต. และเทศบาลต่างๆ ที่ต้องการรับการสนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำ โดยขอมาที่ อบจ. และ อบจ.จะเป็นศูนย์ข้อมูลเดียวที่จะเสนอเรื่องแหล่งน้ำไปยังรัฐบาล”
มั่นใจใช้เงินภาษีคุ้มค่า
“จากข้อห่วงใยของสมาชิกสภา อบจ. เรื่อง เครื่องมือหรือเครื่องจักรของสำนักช่างและส่วนอื่นๆ มีสภาพเก่า ไม่เพียงพอ และชำรุดเสียหาย ขอชี้แจงว่า ขณะนี้ฝ่ายบริหารได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรใหม่จากกระทรวงมหาดไทยโดยตรง ทั้งหมด ๔ ชุด โดยเป็นเครื่องจักรในการพัฒนาถนนหนทาง และเครื่องจักรด้านเกษตร เช่น รถเกี่ยวข้าว รถตัดอ้อย มูลค่าประมาณ ๑๔๐ ล้าน โดยหลังจากนี้จะติดตามและนำมารายงานอีกครั้ง ส่วนกรณีเรื่องที่ดิน ในการก่อสร้างสำนักงาน อบจ. บริเวณถนน ๓๐๔ ขณะนี้เรื่องที่ส่งผ่านกองทัพภาคที่ ๒ ไปอยู่ที่กองทัพบกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายก อบจ. ได้สั่งการให้ที่ปรึกษาติดตามเรื่องนี้ตลอด ถ้ามีความคืบหน้าจะนำมาเสนอให้ทราบ สำหรับคำแนะนำ และข้อห่วงใยต่างๆ ที่สมาชิกสภา อบจ.กล่าวมาทั้งหมด ฝ่ายบริหารจะนำไปประมวลผล และการประชุมครั้งหน้า ฝ่ายบริหารจะนำเสนอเรื่องการพัฒนาโคราช เพื่อขอใช้เงินสะสมพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งจะได้มาพูดคุยหารือกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่า งบประมาณภาษีของราษฎร อบจ.จะใช้อย่างคุ้มค่า และให้มีประสิทธิภาพที่สุด สิ่งใดทำได้ก็จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น และจะทำงานให้มีประสิทธิภาพ” นายสมเกียรติ กล่าวย้ำ
ยกมือผ่านฉลุย
จากนั้น สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ที่เข้าประชุม จำนวน ๔๑ คน ยกมืออนุมัติหรือเห็นชอบ ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอญัตติ เรื่องขอความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติ อบจ.นครราชสีมา เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ วาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการ โดยงดออกเสียง ๓ คน และไม่เข้าประชุม ๑ คน
เน้นแก้ไขโควิด-๑๙
ทั้งนี้ หลังปิดการประชุม นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า “งบประมาณประจำปี ๒๕๖๕ ที่มีการพิจารณาในวันนี้ จะเน้นไปที่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และการดูแลประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอน การสร้างถนน และระบบสาธารณสุข สำหรับเรื่องโควิด-๑๙ อบจ.พยายามอย่างเต็มที่ที่จะดูแลประชาชน โดยได้ตั้งงบประมาณในการจัดหาวัคซีนมาให้คนโคราช จัดหาอุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และการรับส่งผู้ป่วยกลับบ้าน ส่วนข้อห่วงใยจากสมาชิกสภา อบจ. เรื่องวัคซีนไม่เพียงพอ เนื่องจาก อบจ.มีงบประมาณจำกัด จึงทำให้จัดหามาได้น้อย แต่เราก็พยายามจัดหามาเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเหลือประชาชน และจะเห็นว่า ในปี ๒๕๖๕ อบจ.จะลดงบประมาณเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องโรงเรียน และเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาโควิด-๑๙”
นายสมเกียรติ ตันดิลกระกูล รองนายก อบจ.กล่าวเสริมว่า “ตามที่สมาชิกสภา อบจ.มีข้อห่วงใยเรื่องสาธารณสุข ซึ่งนายก อบจ.ได้มีบัญชาชัดเจนว่า ให้ดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก จากนั้นให้เน้นเรื่องส่งเสริมอาชีพ หลังสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลายแล้ว ซึ่งฝ่ายบริหารได้เตรียมโครงการและการสนับสนุนเหล่านี้ไว้แล้ว ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเป็นแผนดำเนินงานต่อไปในปีหน้า”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๓ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
72 1,658