September 04,2021
‘เปิดร้านอาหาร’ยอมรับได้ ไม่ขอเปลืองน้ำลายให้รัฐช่วย
ผู้ประกอบการร้านอาหาร ชี้มาตรการคลายล็อกครั้งนี้ไม่แย่ ยังพอช่วยประคับประคองร้านให้เดินต่อได้ แนะร้านอาหารเปลี่ยนวิธีขาย เพื่อให้อยู่รอดในช่วงวิกฤตโรคระบาด เผยร้านอาหารเข้าถึงการเยียวยาและแหล่งเงินทุนได้ยาก ลั่นไม่ต้องการให้รัฐช่วยแล้ว เพราะพูดไปก็เปลืองน้ำลาย
สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร จังหวัดนครราชสีมา และรองประธานหอการค้าฯ ออกตรวจเยี่ยมสถานประกอบการร้านนวดที่ให้บริการนวดเท้า และร้านอาหาร เพื่อตรวจดูการจัดร้าน และการจัดระบบให้บริการที่มีมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งให้คำแนะนำต่างๆ ถึงมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ตามมาตรการการผ่อนคลายของจังหวัดนครราชสีมา ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๑๕ น. นายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าของร้านด๊ะดาดสเต๊กจิ้มก๊ะแง่ว ให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีการเปิดร้านอาหารภายใต้มาตรการจัดจำนวนคนภายในร้าน ว่า วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มคลายล็อก ซึ่งร้านอาหารสามารถเปิดให้บริการได้ โดยจะต้องจำกัดจำนวนคนเข้าใช้บริการ หากเป็นร้านติดแอร์ ห้ามเกินร้อยละ ๕๐ ของจำนวนที่นั่ง ส่วนร้านทั่วไป ห้ามเกินร้อยละ ๗๕ ของจำนวนที่นั่ง ซึ่งมาตรการนี้ร้านใดที่มีกำลังทรัพย์มาก ก็จะสามารถประคับประคองร้านต่อไปได้ แต่ร้านที่ไม่มีทุนอาจจะทำยาก ต้องค่อยเป็นค่อยไป เข้าใจว่า ทุกมาตรการที่ออกมา ทำเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่ทุกคนได้รับ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างทดลองว่า ทุกคนจะปฏิบัติได้หรือไม่
“โดยเมื่อวานนี้ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมกับหอการค้า ได้ลงพื้นที่จตรวจเยี่ยมสถานประกอบการต่างๆ พร้อมกับให้คำแนะนำว่า จะปฏิบัติตามมาตรการอย่างไร ซึ่งบางร้านมีความพร้อมสามารถทำตามมาตรการได้ เช่น ร้านเจ๊น้อยกระโทก สามารถจัดร้าน ซีลช้อนส้อม และจำนวนที่นั่ง ตามที่ ศบค.กำหนด แต่ร้านอาหารข้างทาง ร้านข้าวราดแกงหรืออาหารตามสั่ง เขาก็อาจจะมีแนวทางอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทุกร้านคงไม่มีปัญหา เพราะทุกร้านมีประสบการณ์จากการระบาดในระลอกที่ผ่านมาหมดแล้ว เมื่อถามเจ้าของร้านพบว่า หลายร้านยินดีทำตามกับมาตรการนี้ เพราะยังพอที่จะช่วยต่อลมหายใจไปได้อีกช่วง แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้ ผลกระทบต่างๆ ก็อาจจะลดน้อยลง และการค้าขายอาจจะกลับมาดีขึ้น แต่วันนี้เปิดได้ก็ดีแล้ว ทุกร้านคงมีประสบการณ์แล้ว ก็ทำได้แค่ช่วยแนะนำกันไป”
“ในช่วงที่โควิดกำลังระบาด หลายร้านได้เปลี่ยนวิธีการขาย เพื่อให้อยู่รอด เช่น บางร้านใช้วิธีสั่งออนไลน์ บางร้านเข้าร่วมเดลิเวอรี่ ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้อยู่รอดต่อไป เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าจะขายแบบเดิมได้แล้ว ทุกคนต้องคิดหาวิธีใหม่ๆ เพื่อให้ร้านอยู่รอด และมีความปลอดภัยทั้งคนกินและคนขาย เพราะหลังจากนี้ เป็นยุคใหม่ เป็นยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-๑๙”
เมื่อถามว่า “ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับการเยียวยาอย่างไร และต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง” นายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา ประธานชมรมร้านอาหารฯ ตอบว่า “ร้านอาหารเป็นสิ่งแรกที่ถูกสั่งปิด แต่มาตรการช่วยเหลือจากโครงการต่างๆ ร้านอาหารเข้าถึงยาก จะไปกู้เงินธนาคาร ก็มีข้อกำหนดมากมาย ต้องมีคนค้ำประกัน มีรายได้เท่านั้นเท่านี้ ทำให้เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่จึงต้องช่วยเหลือตัวเอง หากจะช่วยเหลือ ขอให้ช่วยลดภาษีบ้างก็ยังดี ซึ่งร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เคยชินกับสภาวะวิกฤตต่างๆ จึงมีการปรับตัวอยู่ตลอด เพื่อประคับประคองให้ร้านอยู่รอด ผู้ประกอบการบางคนที่มีทุนอยู่แล้ว เขาก็ใช้วิธีปิดร้าน เพื่อลดต้นทุนพนักงาน แต่ผู้ประกอบการที่เขาต้องหาเลี้ยงชีวิตไปวันๆ อาจจะต้องเหนื่อยบ้าง อย่างไรชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป ส่วนจะให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไร พูดไปก็เปลืองน้ำลาย เขาคงช่วยอะไรเราไม่ได้ พูดไม่รู้กี่ร้อยรอบแล้ว สุดท้ายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่อยากจะขอแล้ว สุดท้ายฝากถึงพวกจัดม็อบ เลิกม็อบได้แล้ว ชาวบ้านเขาเดือดร้อน พวกคาร์ม็อบทั้งหลาย ชาวบ้านเขาเดือดร้อน เอาแต่บีบแตรปิดถนน หยุดได้แล้ว”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๔ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
87 1,662