26thDecember

26thDecember

26thDecember

 

October 01,2021

ขรก.ย้ายไปไหนก็ทำงานได้ นพ.เกรียงศักดิ์ไม่อุทธรณ์ วางฐานสร้างวิทยาลัยแพทย์

หลังปลัด สธ.เซ็นคำสั่งย้ายผอ.รพ.มหาราชฯ ไปรพ.ขอนแก่น ทั้งที่มาอยู่โคราชไม่ถึงปี ‘นพ.เกรียงศักดิ์’ ยอมรับงง และไม่รู้ตัวล่วงหน้า แต่ไม่อุทธรณ์ ลั่นอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เผยผลงาน ๑ ปี พัฒนารพ.มหาราชฯ หลายอย่าง รวมทั้ง วางรากฐานสร้าง “วิทยาลัยแพทยศาสตร์” งบ ๑๐,๐๐๐ ล้าน

จากกรณีเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป โดยมีชื่อของนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ (หมอฉิก) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ถูกสั่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น และให้นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ย้ายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ส่วน พญ.นาตยา มิลล์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ให้ย้ายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา แล้วให้ นพ.ชุมนุม วิทยานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสกลนคร ย้ายดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไปนั้น สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในกรณีที่ นพ.เกรียงศักดิ์ถูกสั่งย้ายในครั้งนี้ว่า อาจจะเกี่ยวเนื่องจากการที่ท้วงติงเรื่องการจัดซื้อ ATK ยี่ห้อหนึ่ง

ไม่ทราบสาเหตุถูกย้าย

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๔ “โคราชคนอีสาน” ได้สัมภาษณ์ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ถึงสาเหตุการถูกย้ายในครั้งนี้ ซึ่งเปิดเผยว่า “ความจริงก็ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งในจำนวน ๓-๔ คนที่ถูกย้ายนี้ ก็ไม่มีใครทราบ ทั้งคนที่ผมจะไปแทนที่ขอนแก่น และที่สุรินทร์ที่จะมาแทนผม ไม่มีใครทราบมาก่อน และทุกคนก็ไม่มีใครเขียนขอย้าย จึงไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วเกิดจากอะไรกันแน่ ผมไม่กล้าระบุว่า เกิดจากอะไร รู้สึกงงๆ แม้ความจริงจะเป็นการย้ายในฤดูกาลโยกย้าย เพราะตามธรรมเนียมถ้ายังไม่ครบ ๔ ปี และไม่ได้แสดงความจำนงในการขอย้าย ก็ไม่มีการย้าย แต่หากจะให้ไปก่อน ๔ ปีส่วนใหญ่จะแจ้งให้ทราบก่อน แต่ครั้งนี้ต่างกัน เพราะไม่มีใครทราบ ถ้าคิดในแง่ดีก็คือได้กลับบ้าน แต่ก็ยังไม่ได้ร้องขอ

สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่รพ.มหาราชฯ

นพ.เกรียงศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ตลอดเวลา ๑ ปีที่อยู่โคราช ทำเท่าที่ทำได้ แม้จะมีสถานการณ์โควิดก็พยายามปรับเปลี่ยนเรื่อยมา โดยช่วงที่ย้ายมาถึงใหม่ๆ ก็แก้ปัญหาน้ำท่วม จากนั้นมาพบปัญหาโควิด แก้จนคงที่แล้ว เพราะเราแก้ตั้งแต่ระบบแล็บในการตรวจ RT-PCR วันหนึ่งเคยเป็นคอขวด วันละ ๓๐๐ คน ทำให้ตรวจไม่ทัน แต่ทุกวันนี้สามารถตรวจได้วันละเป็นหมื่น ทุกวันนี้ตรวจเฉลี่ยวันละ ๒,๕๐๐ คน ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ทำได้เพียงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ คนเหมือนเดิม ทำให้การค้นหาผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างแม่นยำและชัดเจนมากขึ้น เมื่อตรวจพบผู้ป่วยจะต้องรักษาพยาบาล เราก็พยายามปรับระบบ จากเดิมที่โรงพยาบาลไม่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลมหาราชฯ สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดได้วันละ ๓๐๐-๔๐๐ เตียง จึงทำให้เราไม่มีสภาพทุลักทุเล หรือมีภาพผู้ป่วยต้องนอนรอเตียง นอนอยู่ข้างทาง และนอนรอเวลาตายที่บ้าน เพราะสามารถรับมารักษาพยาบาลได้ทั้งหมด ช่วงแรกก็ช่วยแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลชุมชน เมื่อโรงพยาบาลชุมชนเริ่มทำเป็นก็เกิดการระบาดครั้งใหญ่ ช่วงที่โคราชมีผู้ติดเชื้อ ๖๐๐-๑,๐๐๐ คน จึงมีโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ เข้ามาช่วยด้วย ทำให้ไม่กระทบกับคนไข้เตียงสีแดงที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งในอำเภอเมืองมีโรงพยาบาลสนาม ๓ แห่ง ทั้งฮอลล์ ๑-๒ ในสนามกีฬา ๘๐ พรรษา และหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลมหาราชฯ ล่าสุดหยุดพักได้วันเดียว โรงพยาบาลสนามก็ต้องกลับมาเปิดใหม่ เนื่องจากมีคลัสเตอร์ตลาดและคลัสเตอร์โรงงาน ทำให้โคราชสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิดได้เป็นอย่างดี

“นอกจากนี้ ก็พยายามปรับหอพักผู้ป่วยตลอด จากเดิมไม่มี กระทั่งวันนี้มีประมาณ ๑๕ หอ รวมถึงกรณีหอพักผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เราก็มีเพียงพอ ทั้งหมดนี้คือ ส่วนหนึ่งของงานที่ผมทำ รวมทั้งอาคารสมเด็จพระเทพรัตนฯ ที่หลวงพ่อกัณหาท่านหางบมาให้กระทั่งก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมกับหาครุภัณฑ์มาติดตั้งเกือบเสร็จทั้งหมด เป็นที่เชิดหน้าชูตาของโรงพยาบาลมหาราชฯ แม้หลวงพ่อจะหามาให้มากแล้ว แต่ก็ยังต้องหามาเพิ่ม เพื่อให้เปิดบริการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลวงพ่อส่งมอบให้ไม่กี่วันโรงพยาบาลก็เปิดบริการได้เลย มีทั้งห้องผ่าตัด นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราทำ ในช่วงโควิด สามารถทำเป็นหอพักผู้ป่วยได้ ซึ่งมีศักยภาพมากในการรองรับ ดังนั้น คนไข้โควิดในค่าเฉลี่ยของประเทศมีผู้เสียชีวิตร้อยละ ๑ แต่เรามีประสิทธิภาพในการรักษาเป็นอย่างมาก ทำให้มีค่าเฉลี่ยของโคราชอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๐.๖๙” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ต้นแบบการฉีดวัคซีน

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน เราก็เป็นต้นแบบของการจัดทำระบบ เป็นโคราชโมเดล โดยใช้สถานที่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช และทำเป็นที่แรกๆ ในช่วงที่มีแต่คนกลัววัคซีน กระทั่งสามารถจูงใจให้คนกลับมาฉีดได้ ซึ่งฉีดตั้งแต่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ถึงวันนี้แทบจะไม่ได้หยุด หยุดน่าจะไม่ถึง ๗-๑๐ วัน หยุดแค่ทำความสะอาดและช่วงที่วัคซีนยังไม่เข้ามา ปัจจุบันฉีดไปแล้วน่าจะไม่น้อยกว่า ๓ แสนโดส และศักยภาพในการฉีดแต่ละวันก็เทียบเท่ากับที่อื่นๆ เช่น วันก่อนฉีดประมาณ ๑๒,๐๐๐ โดส ซึ่งถือว่าเราสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ดีมาก

“ในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชฯ ขณะนี้ก็กำลังจะเปิดอาคารขนาด ๕๙๖ เตียง เป็นอาคารอายุรศาสตร์ และกำลังจะปรับระบบในการให้บริการใหม่ทั้งหมด เช่น ห้องแล็บจะปรับให้มี ๒ อาคาร แต่เสียดายที่ยังไม่ได้ทำก็ต้องย้ายก่อน และห้องฉุกเฉินต่างๆ สามารถรองรับได้อย่างดีเยี่ยม อุปกรณ์ก็เตรียมรองรับไว้แล้ว ซึ่งในช่วงโควิดระบาด เราก็ได้รับงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถพยาบาล ไว้สำหรับทำเป็นศูนย์ส่งต่อ จำนวน ๑๐ คัน เวลาโรงพยาบาลอำเภอส่งตัวผู้ป่วย มารักษา เมื่อรักษาเสร็จก็จะต้องส่งกลับ ซึ่งบางครั้งโรงพยาบาลอำเภอาจจะมีรถพยาบาลไม่เพียงพอ สามารถดำเนินการนำไปส่งให้ได้ทันที จะได้รวดเร็วมากขึ้น หรือใช้สำหรับคนไข้ที่จะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือไปโรงพยาบาลชุมชน จะได้มีอย่างเพียงพอ ขณะนี้ปรับระบบไปค่อนข้างมาก และเตรียมจะปรับระบบให้เข้าที่ เช่น จัดแผนกให้ชัดเจน หรือโครงการเครื่องเอกซเรย์ เราก็ทำการเช่ามาเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง ๒ เครื่อง ปัจจุบันมี ๔ เครื่อง ซึ่งแต่ละตึกก็จะมีพร้อมสมบูรณ์ และขณะนี้กำลังจะจัดทำอาคาร OPD ๕๙๖ เตียง ส่วนอาคารสมเด็จพระเทพรัตนฯ ก็จะมีเครื่อง TC SCAN รองรับด้วย ทั้งหมดก็อยู่ระหว่าง Process ที่จะต้องทำ” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

วิทยาลัยแพทยศาสตร์

นพ.เกรียงศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า “นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่มองไว้ว่าจะทำ คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขณะนี้ได้คุยกับโครงการเงินกู้ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งผมเข้าใจว่า ขณะนี้น่าจะสำเร็จแล้ว น่าจะได้งบประมาณ ๘,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีเตียงไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ เตียง และจะมีศักยภาพพร้อมเครื่องไม้เครื่องมือ ขณะนี้ก็กำลังทำเรื่องประชุมให้อยู่ ล่าสุดวันจันทร์ก็ประชุมร่วมกับโครงการเงินกู้ วันพฤหัสนี้จะนัดยืนยันกันอีกรอบหนึ่ง สำนักบริหารหนี้บอกว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องแห่งแรก ซึ่งน่าจะทำสำเร็จ และเป็นโครงการแรกของกระทรวงสาธารณสุข หากผ่านโครงการนี้เขาก็จะเน้นหนักไป ทำเรื่อง Excellent Center (ศูนย์ความเป็นเลิศ) ซึ่งแห่งอื่นยังไม่มีใครทำโครงการอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่ของเราที่ทำสมบูรณ์แบบที่จะรองรับต่างๆ ซึ่งเราก็พูดคุยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผมคิดเป็นโครงการต่อเนื่องที่จะต้องมี เป็นความตั้งใจที่จะทำ ซึ่งผมจะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้โครงการหลุดไป และทราบว่าขณะนี้ผ่านการพูดคุยอธิบายจนเข้าใจแล้ว และยินดีสนับสนุนเราเต็มที่ โดยจะทำวิทยาลัยแพทยศาสตร์เหมือนที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ และจะมีความเชี่ยวชาญของแต่ละด้าน มองระบบไว้เหมือนเป็นอวัยวะ เช่น ในกรุงเทพฯ มีศูนย์มะเร็งหรือสถาบันมะเร็ง ซึ่งเราจะรวบรวมทุกสถาบันที่มีความชำนาญมาอยู่ในโรงพยาบาลมหาราชฯ เพียงแห่งเดียว ดังนั้น ที่อื่นอาจจะมีอย่างเดียว แต่เราจะมีครบทั้งหมด เป็นที่พึ่งของคนโคราช และผมมองไปไกลกว่านั้น ในระยะยาวน่าจะเป็นที่พึ่งของคนทั้งภาคอีสาน หากได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ เช่น จังหวัดอุดรฯ หรืออุบลฯ อะไรที่เกินศักยภาพของเขา เขาก็อาจจะนำมารักษาที่มหาราชฯ โดยที่จะไม่ต้องผ่านโคราชไปถึงกรุงเทพฯ  ทำให้การบริการสามารถเข้าถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมคิดว่าน่าจะผ่าน”

สร้างอาคารเพิ่ม

“เราจะนำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไปขึ้นกับสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และวิทยาลัยพยาบาลก็อยู่ใน สบช. แล้ว เท่ากับจะเป็นพี่น้องกัน ดังนั้น เฟสแรกที่ผมจะทำคือ สร้างอาคารขนาด ๒,๕๐๐ ล้านบาท ด้านหน้าโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะต้องทุบหอพักของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะก่อสร้างใหญ่มาก ทำเป็น ๓ อาคารต่อกัน โดยชั้น ๑-๒ เป็นศูนย์อุบัติเหตุ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารสมเด็จพระเทพรัตนฯ ๓-๔ เท่า และอีก ๒ ชั้น จะทำเป็นศูนย์หัวใจ ซึ่งจะมีครบถ้วนหมด ทั้งห้องผ่าตัดหัวใจ และอื่นๆ ชั้น ๕-๘ เป็นห้องผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งจะมีห้องผ่าตัดประมาณ ๕๐ ห้อง รวมทั้งหมดจะมี ๑๘ ชั้น รองรับคนไข้ ICU และคนไข้ต่างๆ ได้จำนวนมาก และขณะเดียวกันก็จะสร้างวิทยาลัยพยาบาล โดยตั้งอยู่พื้นที่ด้านหลังโรงพยาบาล แต่จากการแลกเปลี่ยนพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้อยลง จาก ๑๘ ไร่เหลือเพียง ๑๐ ไร่เศษ แต่เราจะสร้างทั้งหมด ๕ อาคาร โดยจะใช้งบประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งหลักที่ผมมองไว้ ซึ่งทุกฝ่ายไม่น่าจะปฏิเสธในการทำเรื่องเหล่านี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จ ๓-๕ ปี บริเวณอาคารของวิทยาลัยพยาบาลเดิม จะเปลี่ยนมารองรับผู้ป่วยและจะเติมเครื่องมือและอุปกรณ์เข้าไปด้วย ซึ่งโครงการเงินกู้ก็เห็นภาพจริงว่าจะเป็นไปตามความเหมาะสมเรื่องพื้นที่และศักยภาพ ทั้งหมดนี้วิทยาลัยพยาบาลช่วยเต็มที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าน่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ซึ่งทางนั้นจะขอคุยกับกระทรวงฯ อีกครั้ง โดยโครงการนี้กว่าจะสำเร็จก็ต้องใช้เวลาประมาณ ๘-๑๐ ปี ผมว่าจะทำขนานไปกับการพัฒนาบุคลากรพร้อมกัน และประมาณ ๒๐ ปีข้างหน้า จะเจริญรุ่งเรือง ซึ่งปัจจุบันเรามีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมาก แต่ที่คนไม่มามหาราชฯ อาจจะเพราะคิดว่าคนแน่น แต่จริงๆ คนจะแน่นกว่านี้ เช่น ผู้ป่วยอายุรศาสตร์ขณะนี้มีอัตราครองเตียงประมาณ ๒๐๐% ของเตียงที่มีอยู่ ดังนั้นจะต้องนำเตียงที่มีอยู่คูณ ๔ ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลมีเตียง ๑,๕๐๐ เตียง เท่ากับความจริงจะต้องมี ๕-๖ พันเตียง ในอีก ๒๐-๕๐ ปีข้างหน้า ผมเชื่อว่าโรงพยาบาลมหาราชฯ จะสามารถรองรับคนโคราชและคนทั้งภาคอีสานได้ เป็นการแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย และสถานะสุขภาพของคนโคราชก็จะดีขึ้น การขยายโรงพยาบาลมหาราชฯ มีความเป็นไปได้อย่างมาก สามารถเทียบเท่ากับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ขอนแก่น) ได้สบาย ไม่แน่ถึงตอนนั้นเราอาจจะแข่งกันได้สบาย และไม่น่าจะแพ้ เพราะเราอยู่ใกล้กว่าเข้ากรุงเทพฯ ส่วนวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผมอยากให้อยู๋ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคนในกระทรวงสาธารณสุขจะได้ช่วยเหลือกันได้ ไม่ขาดความเป็นพี่เป็นน้องกัน” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

ต้องศึกษาเพื่อพัฒนา

เมื่อถามว่า มีความตั้งใจที่จะพัฒนางานที่ขอนแก่นอย่างไรบ้าง นพ.เกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่า แม้จะเคยไปอยู่ขอนแก่น ๒ รอบแล้ว แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ จึงยังไม่ได้สำรวจว่าจะดำเนินการเรื่องใดบ้าง ไม่เหมือนตอนมาอยู่มหาราชฯ ผมใช้เวลาเดินดูจนทั่ว กระทั่งตกผลึกทางความคิด และนำไอเดียขายต่อน้องๆ ซึ่งเขาก็อยากจะทำกันอยู่แล้ว เราก็พยายามอธิบายแนวคิดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ขายฝันไปวันๆ เราจึงขับเคลื่อนเรื่อยมาก กระทั่งเป็นอย่างในทุกวันนี้ โครงการขอเงินกู้อะไรต่างๆ ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ขณะนี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว ผมเชื่อว่า ถ้าผมอยู่ต่ออีก ๓-๖ เดือน โครงการนี้น่าจะต้องคลอด แต่อาจจะต้องใช้เวลา อย่างน้อยก็สามารถนับหนึ่งได้ในการบริหารโรงพยาบาลก็มีระเบียบเดียวกัน เพียงแต่ว่า ต่างกันที่ขนาดของโรงพยาบาล ซึ่งที่ขอนแก่นก็อาจจะต้องเข้าไปปรับเล็กน้อย เพราะที่ขอนแก่นมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ด้วย ดังนั้น อาจจะไม่สามารถคิดแบบภาพรวมเหมือนกับมหาราชฯ ได้ ไปถึงก็อาจจะต้องไปดูเรื่องอาคารสถานที่ จะพัฒนาได้มากน้อยเพียงใด จะต้องศึกษาก่อนว่า แต่ละพื้นที่มีบริบทอย่างไร ทรัพยากรเดิมเป็นอย่างไรบ้าง

อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้

ท้ายสุด นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ กล่าวว่า “เป็นข้าราชการ โดนสั่งให้ไปที่ไหนก็ต้องไป คงไม่อุทธรณ์เพราะไม่รู้จะหาเหตุผลใดในการอุทธรณ์ เดี๋ยวคนขอนแก่นจะว่า ขอนแก่นน่ารังเกียจตรงไหน ทำไมไม่ไป เหมือนครั้งที่แล้วขอให้ผมย้ายไปโรงพยาบาลพระปกเกล้า ผมก็ไม่ได้อุทธรณ์อะไร ผมเป็นข้าราชการ งานอยู่ที่ไหนก็ต้องทำ และต้องขอขอบคุณคนโคราชที่ให้กำลังใจ ผมคิดว่าคนโคราชเป็นมิตรมาก ให้ความร่วมมือในการทำงานสูงมาก ทั้งภาครัฐและประชาชน ถึงแม้จะอยู่ระยะเวลาสั้นๆ ๑ ปี ยังรู้สึกประทับใจมาก”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง http://www.koratdaily.com/blog.php?id=12811


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๘ วันพุธที่ ๒๙ กันยายน - วันอังคารที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


109 1,711