20thApril

20thApril

20thApril

 

October 08,2021

‘ตลาดสุรนารี’ปิดถึงมีนา ๖๕ แม่ค้าบุกร้องผู้ว่าฯถึงร้านก๋วยเตี๋ยว

คลัสเตอร์ใหญ่ใน “ตลาดสุรนารี” มีผู้ติดเชื้อ ๕๓๐ คน และเชื่อมโยง ๑๙ อำเภอ สั่งปิดพื้นที่ไม่มีกำหนด ที่สำคัญยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นตลาดถูกกฎหมาย เพราะไม่ถูกสุขลักษณะ แม่ค้าบุกพบ “วิเชียร” ถึงร้านก๋วยเตี๋ยว อ้างเดือดร้อนไม่มีจะกิน เทศบาลฯ และพาณิชย์จังหวัดหาพื้นที่ขายของให้ชั่วคราว คลายความเดือดร้อน

ตามที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโควิด-๑๙ ในตลาดสุรนารี (ตลาดสุรนครเดิม) โดยเริ่มต้นประมาณวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๖๔ และเชื่อมโยงไปยังตลาดสดพิมายเมืองใหม่ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ เป็นวงกว้าง รวมแล้วมีผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ตลาดสุรนารี ๑๙ อำเภอในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีการปิดตลาดอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากตลาดสุรนารียังไม่ได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ในขณะที่การระบาดของโควิด-๑๙ จากการรายงานของทีมสอบสวนโรค สสจ.นครราชสีมา และนักระบาดวิทยา ยังพบว่าในคลัสเตอร์ตลาดสุรนารียังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เป็นประธานในการประชุม นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยาและทีมสอบสวนโรค รายงานว่า “จากการสอบสวนโรคนั้นผู้ป่วยแจ้งว่า เป็นแม่ค้าในตลาดสุรนารี โดยวันนี้ (๑ ตุลาคม) พบผู้ป่วยในเขตอำเภอเมือง ๑๐ ราย ซึ่งวงที่ ๑ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในตลาด มีผู้ป่วยสะสม ๓๕๘ ราย วงที่ ๒ กลุ่มผู้ที่เดินทางเข้าไปในตลาด มีผู้ป่วยสะสม ๑๒๒ ราย กระจายในพื้นที่ ๑๙ อำเภอ และวงที่ ๓ กลุ่มญาติผู้ป่วย มีผู้ป่วยสะสม ๔๘ ราย รวมคลัสเตอร์นี้มีผู้ป่วย ๕๒๘ ราย และมีรายงานว่า ผู้ป่วยรายที่ ๑๗๗ ของคลัสเตอร์นี้เสียชีวิต ซึ่งเป็นแม่ค้าที่ขายของอยู่ในตลาด แต่จากการตรวจสอบรายชื่อที่ได้รับจากทางตลาด กลับไม่พบชื่อในทะเบียนของตลาด ที่เทศบาลฯ เป็นคนรวบรวมให้ สสจ.ประมาณ ๒,๐๐๐ คน”

ตลาดให้ระบุระยะเวลาปิด

จากนั้น ในที่ประชุมมีการนำเสนอเพื่อขอมติที่ประชุมในประเด็นที่ทางตลาดขอให้ทบทวนคำสั่งจังหวัด เรื่องการปิดตลาดสุรนารี และขอให้ระบุช่วงระยะเวลาการปิดตลาด ซึ่งนายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า “ตลาดสุรนารีเป็นผู้ส่งหนังสือมาว่า ขอให้ทบทวนคำสั่งจังหวัด กรณีที่มีคำสั่งว่า ให้ปิดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ตลาดจึงทักท้วงมาว่า ทำไมไม่ปิด ๑๔ วัน ตามหลักเกณฑ์ จึงขอมอบหมายให้ทีมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลนครฯ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ต้องพิจารณาคำสั่งที่ว่า ให้ปิดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ดีแล้วหรือไม่ หรือจะปิดโดยให้มีการกำหนดระยะเวลา เนื่องจากว่า กรณีตลาดสุรนารี ปิดโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ยังคงมีในเรื่องของ พ.ร.บ.สาธารณสุข ในกรณีไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการตลาดด้วย จึงต้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนว่า การเปิดตลาดจะสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีข้อกำหนดทางกฎหมายมาเกี่ยวข้อง ๒ ฉบับ”

เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข เทศบาลนครฯ กล่าวว่า คำสั่งปิดตลาดนั้น เป็นมติร่วมกันในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือทบทวนคำสั่ง ต้องการให้จังหวัดและเทศบาลฯ ออกไปตรวจสอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมบูรณาการ ทีมควบคุมโรค และทีมสาธารณสุขของเทศบาลฯ จะได้นำมาเป็นมติร่วมกันในที่ประชุม

นายสิทธิกร จันทร์วิเศษ ผู้แทนปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า กรณีตลาดที่ถูกสั่งปิดในขณะนี้ เหตุที่สั่งปิดเนื่องจากมีคนติดเชื้อเกิดขึ้น แต่ถ้าจะอนุญาตให้เปิด ก็จะอนุญาตได้แค่เรื่องคน แต่ตัวสถานที่จะยังคงถูกสั่งปิดต่อไป เพราะตลาดยังไม่ได้รับการอนุญาตโดยชอบตามกฎหมาย

ตลาดเกี่ยวข้องกฎหมาย ๒ ฉบับ

นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีตลาดสุรนารี ขณะนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ๒ ฉบับ ได้แก่ คำสั่งปิดที่ออกตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งจะไม่ได้ไปพิจารณาว่า สถานที่ถูกสั่งปิดนั้นได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่จะพิจารณาว่า สถานที่นั้นมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่ แต่ตลาดสุรนารีมีปัญหากับกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากการดำเนินกิจการตลาด จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือเทศบาลนครฯ ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกเรื่อง คือ เมื่อมีคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น สิ่งที่ทำได้ คือ ต้องไปอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุทุเลาในเรื่องของการมีคำสั่งไม่อนุญาต หมายความว่า หากจะอุทธรณ์ก็ทำได้ แต่ระหว่างอุทธรณ์นั้น กฎหมายยังไม่สามารถให้เปิดดำเนินการได้เช่นเดิม ดังนั้น การออกคำสั่งโดยไม่ระบุวันสิ้นสุดของคำสั่ง เนื่องจากมีเงื่อนไขในอนาคต ซึ่งยังไม่มีความแน่นอน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินสถานการณ์เป็นครั้งๆ ไป

นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.กล่าวว่า “สาเหตุของการปิดตลาด เพราะมีความไม่ครบถ้วนของสถานประกอบกิจการ จึงไม่สามารถบอกว่า เมื่อปิดครบ ๑๔ วัน จะอนุญาตให้เปิด เนื่องจากยังมีส่วนหนึ่งที่เทศบาลนครฯ ชี้แจงว่า การอนุญาตใบประกอบกิจการ เกณฑ์การประเมินยังไม่ครบตามเกณฑ์ของ พ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งแยกกันกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ดังนั้น เงื่อนไขการปิด ๑๔ วัน ไม่ใช่เหตุผลว่า ปิดครบแล้วจะต้องเปิด แต่จะต้องตรวจสอบก่อนว่า สิ่งต่างๆ นั้นตลาดดำเนินการครบถ้วนแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ การบริหารจัดการ จากนั้นจึงจะพิจารณาดำเนินการอีกครั้ง”

พบติดเชื้อเพิ่ม

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ซึ่งมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ตลาดสุรนารีว่า พบผลบวกเพิ่มอีก ๒ ราย ซึ่งแจ้งว่าขายของอยู่ในตลาดนี้ รวมติดเชื้อสะสม ๕๓๐ ราย
ตลาดต้องปลอดเชื้อและถูกกฎหมาย

ส่วนกรณีที่มีข้อซักถามจากประชาชนว่าตลาดสุรนารีถือเป็นรังโรคหรือไม่ และกรณีปิดตลาดอย่างไม่มีกำหนด แม่ค้าจะขอคืนเงินจากทางตลาดได้หรือไม่ เพราะพ่อค้าแม่ค้าจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้วนั้น นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ตอบว่า “ตลาดสุรนารีเป็นรังโรคแน่นอน แต่ต้องทำให้หายจากการเป็นรังโรค สถานที่ต้องไม่เป็นรังโรค และคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ส่วนการปิดตลาด ปิดเพราะมีคำสั่งจากพนักงานโรคติดต่อ ปิดจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ปิดโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เนื่องจากสถานที่นี้ เป็นสถานที่แพร่ระบาดของโรค คณะกรรมการฯ จึงมีมติสั่งปิดสถานที่แห่งนี้ เพื่อให้ปลอดจากโรค ขณะนี้ยังไม่เวลากำหนดว่า ปิดกี่วัน เพราะต้องดูปัจจัยต่างๆ เช่น ผู้ป่วย และความปลอดภัยของสถานที่ แต่ตลาดแห่งนี้ยังมีกฎหมายอีกข้อหนึ่ง คือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข และเทศบัญญติเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานในการอนุญาตเปิดกิจการตลาด โดยก่อนที่ตลาดจะถูกปิดจากคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตลาดแห่งนี้เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข หากคณะกรรมการโรคติดต่อฯ คืนสถานภาพการไม่เป็นรังโรค หรือสถานที่ปลอดภัยแล้ว และยกเลิกคำสั่งปิด แต่ตลาดก็จะเข้าสู่โหมดของการเปิดโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของเทศบาลนครฯ แม้เราจะคืนสถานการณ์ไม่เป็นรังโรคให้ แต่ตลาดก็ยังมีสถานะยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เรื่องนี้ต้องไปดูเงื่อนไขกฎหมายที่เทศบาลฯ ว่า การขออนุญาตเปิดกิจการตลาดต้องทำอย่างไรบ้าง ดังนั้น หากตลาดแห่งนี้จะเปิดกิจการ จะต้องทำตัวเองให้ปลอดโรค และต้องไปดำเนินการตามเงื่อนไขของเทศบัญญติ ในการทำให้ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการตลาด สำหรับกรณีพ่อค้าแม่ค้าจ่ายเงินค่าเช่าล่วงหน้า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสัญญาทางแพ่ง ถ้าคุยกันได้ก็ให้คุยกันก่อน หากคุยแล้วไม่ลงตัวต้องอาศัยกฎหมายในการฟ้องร้อง หรือเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด รวมทั้งขอให้เทศบาลนครฯ นำข้อมูลของตลาดสุรนารีมาชี้แจงในที่ประชุมครั้งต่อไป”

ตลาดมีการเปลี่ยนมือ

วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครฯ รายงานเรื่องตลาดสุรนารีต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากตลาดสุรนารีดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๒ กว่า ๓๐ ปี แต่เนื่องจากตลาดมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ โดยมีการขอคืนใบอนุญาตเมื่อปลายปี ๒๕๖๓ ช่วงนั้นจึงเป็นสุญญากาศ จากนั้นมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตคือบริษัท ตลาดสุรนารี จำกัด ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ ในระหว่างนั้นก็อยู่ในระยะเวลาการตรวจสอบการออกใบอนุญาต และถามไปที่กรมอนามัยเรื่องสิทธิในการขอใบอนุญาต เนื่องจากตลาดสุรนารีมีการประกอบกิจการมาต่อเนื่องจึงมีพ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ทางเทศบาลนครฯ ก็อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสิทธิในการยื่นขออนุญาตและอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเกี่ยวเนื่องต่างๆ ในการขออนุญาต ระหว่างนั้นเทศบาลนครฯ ก็มีการทำหนังสือตอบโต้ไปยังตลาดโดยตลอด”

ไม่สามารถอนุญาตได้

“เมื่อผู้บริหารเทศบาลนครฯ ชุดนี้ (ชุดนายประเสริฐ บุญชัยสุข เป็นนายกเทศมนตรี) เข้ามาบริหารเทศบาลนครฯ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้รับข้อร้องเรียนและลงไปตรวจสอบทันที หลังจากนั้นประมาณวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ทางกรมอนามัยตอบมาเรื่องสิทธิในการยื่นขออนุญาตว่า ผู้ยื่นขออนุญาตมีสิทธิในการยื่นขอใบอนุญาต ซึ่งเทศบาลนครฯ ก็พิจารณาทันที และพบว่า องค์ประกอบที่ตลาดสุรนารียื่นขอใบอนุญาตนั้นไม่สามารถอนุญาตให้ดำเนินการได้ จึงออกหนังสือแจ้งไปทางตลาดว่า ไม่สามารถอนุญาตให้ประกอบการตลาดได้ ประกอบกับช่วงนั้นมีเรื่องโรคระบาดเข้ามาด้วย จึงมีคำสั่งคณะกรรมการจังหวัดฯ ให้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้ปิดตลาด”

ลานโพธิ์’ขออนุญาตถูกต้อง

นายไกรสีห์ กล่าวอีกว่า “ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าตลาดสุรนารีขออนุญาตเปิดเป็นตลาดประเภท ๒ นั้นไม่ใช่ แต่เป็นในส่วนของตลาดลานโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ ตลาดสุรนารี มีพื้นที่แยกกันชัดเจน ประมาณ ๔ ไร่ อยู่ในที่ดินเอกชน ผู้มายื่นขอเป็นตลาดประเภท ๒ ขออนุญาตเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๔ และเทศบาลนครฯ ไปตรวจสอบก็ถูกต้องและออกใบอนุญาตให้อย่างถูกต้องเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ส่วนที่ดินนั้นเป็นของเอกชนที่ผู้ขอใบอนุญาตได้ขอเช่า ไม่เกี่ยวข้องกับตลาดสุรนารีอย่างชัดเจน”

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ กล่าวอีกว่า ลานโพธิ์เป็นการขออนุญาตเป็นตลาดประเภท ๒ และมีการยื่นขอตามหลังเพื่อก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นอาคารที่สามารถอนุญาตได้ในตลาดประเภท ๒ เป็นอาคารเปิดโล่ง ไม่มีผนังทั้ง ๔ ด้าน ยื่นขออนุญาตถูกต้องและมีการขออนุญาตก่อสร้างห้องน้ำ ถูกต้องตามพ.ร.บ.ก่อสร้างเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ตลาดลานโพธิ์ได้แจ้งมาตรการทางสาธารณสุขว่า จะต้องตรวจ ATK ก่อนเข้าไป และมีการตรวจทุก ๗ วัน โดยให้หน่วยพยาบาลมาช่วยตรวจ และตลาดนี้อนุญาตให้มีการค้าขายแค่ ๑๒๐ แผงเท่านั้น

แม่ค้าบุกร้องถึงร้านก๋วยเตี๋ยว

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า ในช่วงที่ไม่สามารถให้ตลาดสุรนารีประกอบกิจการได้นั้น ทำให้ผู้ค้าเดือดร้อน ทางเทศบาลนครฯ ลองดูว่ามีพื้นที่ไหนที่จะให้ผู้ค้าไปจำหน่ายได้ เพื่อเป็นการลดความเดือดร้อนของผู้ไม่มีที่ค้าขาย เพราะมีการพูดคุยกับพาณิชย์จังหวัดฯ อยู่แล้ว ลองไปสำรวจอีกครั้ง เมื่อวานก่อน (๔ ตุลาคม) ผมไปทานก๋วยเตี๋ยว ผู้ค้าขายก็ทราบว่าผมไปทานก๋วยเตี๋ยวก็ยกขบวนกันไป อยากหาที่ขาย จึงขอให้เทศบาลนครฯ ไปดูเรื่องนี้ด้วย เพื่อช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน

ให้หาสถานที่ขายของให้

ภายหลังการประชุม นายวิเชียร จันทรโณทัย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีพ่อค้าแม่ค้าตลาดสุรนารี ที่มาเข้าพบและพูดคุย ว่า “อย่างที่ทราบกันว่า ตลาดสุรนารี เป็นตลาดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นตลาด แต่ที่ผ่านมาพ่อค้าแม่ค้าเข้าไปขายด้วยการละเมิดกฎหมาย ซึ่งเทศบาลฯ มีการปรับและแจ้งเตือนตลอด เมื่อมีโรคระบาดขึ้นในพื้นที่ จังหวัดจึงมีคำสั่งให้ปิด การละเมิดกฎหมายหรือการตั้งตลาดเถื่อนจึงยุติลง พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในตลาดก็มาหาผม บอกว่า ไม่มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า แต่เทศบาลฯ ก็ชี้แจงแล้วว่า ไม่สามารถอนุญาตได้ เพราะสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่เป็นไปตามมาตรการในการเปิดตลาด จึงมอบหมายให้เทศบาลฯ ช่วยพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ โดยหาสถานที่ให้จำหน่ายสินค้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จ ซึ่งเขาบอกว่า ประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ จากนั้นจึงจะยื่นขออนุญาตให้ถูกต้อง ตามกฎหมายแล้ว ระหว่างนี้จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ตลาดได้ ซึ่งการเปิดตลาดจะต้องดูข้อกฎหมาย ๒ กรณี สำหรับการปิดพื้นที่เพราะการระบาดของโควิด เมื่อสถานที่ปลอดโรคแล้ว อาจจะสามารถคลายพื้นที่ให้คนเข้าไปปรับปรุงหรือก่อสร้างได้ แต่เรื่องของการเข้าไปจำหน่ายสินค้า จะต้องให้เทศบาลฯ เป็นคนควบคุม ห้ามให้คนเข้าไปรวมกันขายของอีกจนกว่าตลาดจะได้รับอนุญาตถูกต้อง”

ตลาดจดทะเบียน ๒ บริษัท

อนึ่ง จากการตรวจสอบของ “โคราชคนอีสาน” พบว่า ตลาดสุรนารีมีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็น ๒ บริษัท ได้แก่ บริษัท ตลาดสุรนารี จำกัด และบริษัท ตลาดสุรนารี ๒ จำกัด ซึ่งบริษัท ตลาดสุรนารี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๔ ทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนระบุว่า “การเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรตลาดเพื่อการจำหน่ายสินค้าเกษตร มีกรรมการ ๒ คนได้แก่ นายบรรหาร สุวรรณชาติ และนายเอกพงษ์ สุวรรณชาติ

ส่วนบริษัท ตลาดสุรนารี ๒ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ทุนจดทะเบียน ๑ ล้านบาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนระบุว่า “การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” โดยมีวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนว่า เพื่อประกอบกิจการตลาด ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่า ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท มีกรรมการ ๒ คน ได้แก่ นางสาวรัศมี สุวรรณชาติ และนายวสันต์ สุวรรณชาติ


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๙วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1012 1391