28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

November 27,2021

๓๒ อำเภอต้องฉีดวัคซีน ๗๐% นายอำเภอเสนอจ่าย ๑๐๐ บาทจูงใจ

เร่งติดตาม ๕ อำเภอยอดฉีดวัคซีนรั้งท้าย ตั้งเป้าทุกอำเภอต้องมีผลฉีดอย่างน้อย ๗๐% สสจ.เผยหลายพื้นที่เปิดรับ Walk In แนะนำสูตรไขว้ AZ+PZ ย้ำหากภาพรวมโคราชดี ส่งผลต่อการผ่อนคลายกิจกรรมและมาตรการ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว “แก้งสนามนาง” ยอมจ่ายค่าเดินทาง ๑๐๐ บาท ให้ประชาชนที่จะมาฉีดวัคซีน


เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีวาระสำคัญ ความคืบหน้าผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา

นพ.สมบัติ วัฒนะ รายงานว่า “ภาพรวมผลการดำเนินงานให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด ๒,๖๓๓,๒๐๗ คน ผลการฉีดวัคซีนรายใหม่ ๗,๔๘๙ ราย (๐.๓๑%) รวมผลการฉีดวัคซีนเข็มที่ ๑ จำนวน ๑,๕๘๔,๐๓๔ ราย (๖๐.๑๖%) เข็มที่ ๒ จำนวน ๑,๓๕๑,๖๔๑ ราย (๕๑.๓๓%) และเข็มกระตุ้นหรือเข็มที่ ๓ จำนวน ๑๒๔,๐๙๒ ราย (๔.๗๓%) ขณะนี้ประมาณ ๑๗ อำเภอ ที่มีผลการฉีดวัคซีนมากกว่า ๕๐% ซึ่งเป้าหมายของจังหวัดคือทุกอำเภอควรจะมีผลการฉีดวัคซีนอย่างน้อย ๗๐% โดยจะเน้นไปที่กลุ่ม ๕+๑ อำเภอ (อำเภอเมืองฯ, ปากช่อง, พิมาย, เฉลิมพระเกียรติ, สีคิ้ว และวังน้ำเขียว) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ ๑ ธันวาคมนี้ จะต้องได้รับวัคซีน ๘๐-๙๐% ขึ้นไป”

นายอรุณ เมฆฉาย นายอำเภอแก้งสนามนาง รายงานผลการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ว่า “สืบเนื่องจากวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ที่ประชุมฯ ได้ดูในรายละเอียดของการฉีดวัคซีนรายอำเภอ พบว่า อ.แก้งสนามนาง อยู่ในลำดับที่ ๒๘ ของจังหวัด โดยผลการฉีดวัคซีนอยู่ที่ ๔๐.๑% ซึ่งทาง อ.แก้งสนามนางก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งประชุม อสม.ทุกคนในพื้นที่ เพื่อรณรงค์การฉีดวัคซีน ทำให้ผลการฉีดวัคซีนของ อ.แก้งสนามนาง ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ ๒๔ ของจังหวัด และอำเภอมีแผนจูงใจประชาชนให้มาฉีดวัคซีน คือ ผู้ที่จะมาฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ ๒๔-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ จะมีค่าเดินทางให้คนละ ๑๐๐ บาท เป็นคำมั่นจากนายอำเภอ โดยเป้าหมายจะต้องอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าลำดับที่ ๒๐ ของจังหวัด ส่วนจะทำได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอสม. ต้องเปลี่ยนทัศนคติ และชักชวนคนที่อยู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ และมีผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่บางคนอาจจะฉีดไม่ได้ เนื่องจากอาจจะมีโรคบางอย่างเป็นอุปสรรค โดยต้องดูเป็นเคส”

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวว่า “เรื่องลำดับที่ดีขึ้นขอชื่นชม ทางจังหวัดต้องการจะให้ถึง ๗๐% เป้าหมายของจังหวัดจริงๆ คือเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีน ต้องการให้ยึดจุดนี้ด้วย เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ผู้ว่าฯ ได้หารือกับอำเภอทื่อยู่ ๕ อันดับสุดท้ายของเปอร์เซ็นต์ในการฉีดวัคซีนว่า มีแผนขยับลำดับอย่างไร เพราะภาพรวมของแต่ละอำเภอ จะมาเป็นภาพรวมของจังหวัด หากภาพรวมของจังหวัดดีจะสามารถจัดกิจกรรมผ่อนคลายมาตรการ และเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัด สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มี ๗ โรคเรื้อรังเป็นกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีน ให้อำเภอประสานกับโรงพยาบาลทำความเข้าใจกับผู้ที่ยังไม่ฉีดในกลุ่มนี้ ตามรายงานในกลุ่มที่เสียชีวิตของทั้งประเทศส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้ที่มี ๗ โรคเรื้อรัง”

นายปรัชญา มันตาทร ปลัดอำเภออาวุโส อ.ลำทะเมนชัย รายงานว่า “เหตุที่ อ.ลำทะเมนชัย มีผลการฉีดวัคซีนต่ำ โดยอยู่ที่ประมาณ ๓๙.๘๕% เนื่องจากมีประชาชนออกไปรับวัคซีนนอกพื้นที่ คือ จ.บุรีรัมย์ โดยไปฉีดที่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ หรือจุดฉีดวัคซีนที่เปิดให้ประชาชน WalK In ทำให้ยอดการฉีดวัคซีนเพิ่มตามจุดที่ได้รับการฉีดวัคซีน และประชาชนที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดเข้ารับวัคซีนตามที่หน่วยงานจัดให้ ซึ่งตามการสำรวจของสาธารณสุขอำเภอ โดยคิดตามความเป็นจริง เฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ประมาณ ๖๒.๖๒% แต่หากนับตามกลุ่มเป้าหมายจากฐานข้อมูลตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเป็นปัญหาทุกอำเภอ ส่วนมาตรการในการแก้ไขปัญหาของ อ.ลำทะเมนชัย คือ ๑.สำรวจข้อมูลเป็นรายหมู่บ้านของผู้ที่ฉีดวัคซีน และผู้ที่ยังไม่ฉีด ๒.นายอำเภอได้สั่งการชุดปฏิบัติการตำบล เช่น ปลัดตำบล สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ลงพื้นที่เชิญชวนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน สร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติ ๓.กำหนดวันและเพิ่มจุดฉีดวัคซีนให้ใกล้บ้านผู้ที่จะฉีด ๔.สรุป ทบทวนแผนงานใหม่อีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลมาปรับและพัฒนาต่อไปในครั้งหน้า”

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวว่า “มีหลายอำเภอที่มีประชาชนเดินทางไปฉีดวัคซีนที่ต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ทั้งกลุ่มที่ไปทำงานต่างพื้นที่ด้วยก็จะมีข้อมูลค้างอยู่ ในแนวทางที่กล่าวมาข้อที่ ๑ เห็นด้วยว่าควรไปจัดการข้อมูลในแต่ละพื้นที่ว่ามีจำนวนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไปแล้วอยู่จำนวนเท่าไหร่ ให้โรงพยาบาลลำทะเมนชัยประสานงานกับ สสจ.อีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลตรงนี้ว่าทำอย่างไรได้บ้าง ส่วนในข้อที่ ๒, ๓ และ ๔ ให้ไปดำเนินการ เพราะในหลายๆ พื้นที่ก็มีการให้ Walk In เข้าไปฉีดตาม รพ.สต. และขณะนี้วัคซีนมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทั้ง Sinovac, Sinopharm, Astra Zeneca และ Pfizer สูตรการฉีดวัคซีน Astra Zeneca + Astra Zeneca หรือ Astra Zeneca + Pfizer สามารถเลือกได้ นำไปชี้แจงในแต่ละพื้นที่เผื่อประชาชนจะสนใจในการฉีดวัคซีนสูตรนี้”

นายศิริโรจน์ สินประกอบ รักษาราชการแทนนายอำเภอโนนแดง กล่าวว่า “ประชากรโดยส่วนใหญ่ทำงานนอกพื้นที่ ตามทะเบียนราษฎร์ประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน แต่สำรวจโดยอ้างอิงเกณฑ์ จปฐ.ประมาณ ๑๓,๐๐๐ คน ตัวเลขต่างกันประมาณ ๘,๐๐๐ คน อำเภอโนนแดงไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามรณรงค์โดยมีมติกรรมการควบคุมโรค อ.โนนแดง ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. ประชุมหารือตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เนื่องจากว่า ผลของการฉีดวัคซีน อ.โนนแดง อยู่ลำดับสุดท้ายของจังหวัด โดยมติว่าเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเพิ่มจำนวนผู้ฉีดวัคซีนให้มากขึ้น มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสำรวจประชากรในหมู่บ้านว่าฉีดวัคซีนแล้วกี่คน ควบคู่กับการออกบริการฉีดวัคซีนกับ รพ.สต. โดยมีตารางทำแบบนี้ทุกสัปดาห์ ส่วนมาตรการเสริมหรือมาตรการจูงใจ ทาง รพ.โนนแดง จะออกบัตรรับรองการฉีดวัคซีนจากแอปฯ หมอพร้อมให้กับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคม ในขณะเดียวกันให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านจัดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยจะแบ่งกลุ่มผู้ที่มีบัตรรับรองการฉีดวัคซีนจะได้รับการต้อนรับในอีกกลุ่ม ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจัดให้อยู่อีกกลุ่ม จะทำให้ชาวบ้านเห็นว่าการฉีดและไม่ฉีดวัคซีนมีผลต่อการดำเนินชีวิตจริงๆ ไม่ใช่การบังคับแต่เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการจูงใจที่ทางอำเภอได้จัดเตรียมไว้ โดยทุกสัปดาห์ในวันจันทร์และวันศุกร์ประชาชนสามารถ Walk In ไปฉีดวัคซีนได้ที่ รพ.โนนแดง และวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี ทาง รพ.สต.มีบริการฉีดวัคซีนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นการเก็บตกผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งข้อเท็จจริงตามเป้าการฉีดวัคซีนใน อ.โนนแดง ประมาณ ๑๔,๐๐๐ คน ถ้าคำนวณเปอร์เซ็นต์จำนวนประชากรที่ฉีดวัคซีนที่อาศัยอยู่ในอำเภอโนนแดงจริงคิดเป็น ๙๐% แต่จำนวนประชากรที่อาศัยหรือทำงานอยู่นอกพื้นที่ปัญหาตรงนี้ ไม่ทราบว่าได้รับการฉีดวัคซีนหรือยัง ยกตัวอย่างในกรณีที่มีการฉีดวัคซีนพระราชทานที่ อ.ประทาย เมื่อคน อ.โนนแดงเดินทางไปฉีดก็ขึ้นเป็นจำนวนการฉีดวัคซีนของ อ.ประทาย และอีกกลุ่มที่มีพื้นที่เดินทางมาฉีดที่เซ็นทรัลฯ ยอดการฉีดวัคซีนก็จะมาขึ้นของจุดฉีดที่เซ็นทรัลฯ และที่ประชากรใน อ.โนนแดง ส่วนมากเดินทางไปฉีดวัคซีนที่อื่นเนื่องจากช่วงแรกในการจัดสรรวัคซีน อ.โนนแดงได้จำนวนวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวว่า “ให้ รพ.โนนแดงประสานงานกับ สสจ.จะมีทีมจัดสรรวัคซีนอย่างไรในแต่ละอำเภอ เนื่องจากการฉีดวัคซีนมีการกำหนดเรื่องอายุ หากทางอำเภอต้องการจำนวนวัคซีนที่เพิ่มขึ้นสามารถขอได้ ควรจะเร่งการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีอำเภออื่นต้องการวัคซีนเช่นเดียวกัน เพราะขณะนี้ในหลายๆ อำเภอมีการเร่งฉีดวัคซีนและมีการให้ Walk In เข้าไปฉ๊ดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น อยากให้ทุกอำเภอช่วยเร่งการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าที่กำหนดคือ ๗๐% ขึ้นไปของจำนวนประชากร เนื่องจากภาพรวมของอำเภอก็เป็นของจังหวัดด้วย”

นพ.นพพงษ์ พงษ์เลิศโกศล ผอ.รพ.เทพารักษ์ รายงานว่า “แผนของ อ.เทพารักษ์ สำรวจจำนวนประชากรอยู่ที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน ขณะมีการฉีดวัคซีนแล้วประมาณ ๑๐,๐๐๐ กว่าคน คิดเป็น ๔๐.๖% และจำนวนประชากรที่อยู่ในพื้นที่จริงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน จำนวนประชากรที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ๔,๓๐๐ คน ประสงค์ฉีดวัคซีน ๒,๐๐๐ คน ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีน ๒,๓๐๐ คน ในจำนวนประชากรที่ประสงค์ฉีดวัคซีนจะให้ Walk In เข้าไปฉีดวัคซีนที่ รพ.เทพารักษ์ ทุกวัน ส่วนของ รพ.สต.และ สสอ.จะให้ลงพื้นที่ฉีดตามหมู่บ้าน น่าจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ ๓๑ พฤศจิกายนนี้ และในช่วงต้นเดือนธันวาคมจะเริ่มรณรงค์กับจำนวนประชากรที่ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีน”

จ.อ.วิทมนต์ ไชยมงคล นายอำเภอเมืองยาง รายงานว่า “ อ.เมืองยางเป็นอำเภอชนบท ประชากรมีอาชีพชาวนา หลังจากหมดฤดูการทำนาก็จะย้ายไปทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้มีประชากรเหลืออยู่ในพื้นที่น้อย เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน มีการประชุมกับ รพ.เมืองยาง สสอ. และ ผอ.รพ.สต.ทุกแห่ง ซึ่ง อ.เมืองยางมีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้แค่ ๓๙% จึงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่สำรวจทุกหลังคาเรือนตามทะเบียนราษฎร์ว่าอยู่ในพื้นที่จริงๆ มีกี่คน และฉีดวัคซีนแล้วหรือยังไม่ได้ฉีด ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว ฉีดกี่เข็ม และฉีดจากที่ใด โดยสำรวจเป็นรายบุคคลอย่างละเอียด ตามที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมีประชากรที่อยู่ในพื้นที่จริง ๑๔,๓๗๑ คน และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ๘,๐๐๐ กว่าคน และประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้ว ๑๐,๑๖๑ คน ตามเป้าของสาธารณสุขประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน คิดเป็น ๗๐% เหลือคนที่อยู่ในพื้นที่จริงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประมาณ ๔,๓๐๐ คน และประชากรกลุ่มนี้มีโอกาสสูงที่จะไม่ฉีดวัคซีน เนื่องจาก สสอ.ได้ไปเคาะประตูถึงหน้าบ้านเป็นครั้งที่ ๒-๓ แล้วแต่ยังไม่ยอมฉีด อ.เมืองยาง ประชาสัมพันธ์โดยประกาศทางหอกระจายข่าวตามหมู่บ้าน การประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน และเชิญผู้มีรายชื่อที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาประชุมโดยให้ อสม. เจ้าหน้าที่ รพ.สต. รวมถึงผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมาชี้แจง ล่าสุดทำหนังสือเชิญให้ไปรับการฉีดวัคซีน ปัจจุบัน รพ.เมืองยางเปิด Walk In เข้าไปฉีดวัคซีนวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี ที่ รพ.สต. ส่วนคนที่เดินทางไม่สะดวก รพ.สต.ก็มีบริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน สำหรับเหตุผลของชาวบ้านที่ยังไม่อยากฉีดวัคซีน ไม่ค่อยมั่นใจในวัคซีน บางคนมาถึงจุดฉีดแล้วแต่เมื่อทราบว่าเป็นวัคซีน Sinovac ก็เดินทางกลับบ้านเลย อีกเหตุผลคือ ลูก บางที่มีการเจรจายอมฉีดแล้วแต่ถึงวันฉีดไม่มาเพราะลูกที่ทำงานอยู่ กทม. โทรมาบอกว่าไม่ให้ฉีดรอวัคซีนตัวอื่นก่อน และขู่พ่อแม่ว่าถ้าไม่ทำตามจะไม่ยอมส่งเงินให้ใช้ และอีกเหตุผลคือวันๆ ส่วนมากเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไม่ได้ไปไหน แทบจะไม่เจอใครจึงไม่อยากฉีด”

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวสรุปว่า “ขณะนี้วัคซีนมีความหลากหลายขึ้น จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เรื่องความมั่นใจและไม่มั่นใจในวัคซีน ผมก็ฉีด Sinovac ๒ เข็ม Astra Zeneca ๑ เข็ม ครอบครัวผมก็ฉีดแบบนี้ทุกคน บางทีอาจจะได้รับข่าวในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนมากไป ส่วนใหญ่ที่มีการนำเสนอของจำนวนคนที่ฉีดไปประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน มีเกณฑ์ที่อยู่ในความปลอดภัยดี จะต้องทำความเข้าใหม่ เรื่องของการรณรงค์การฉีดวัคซีน ทุกๆ อำเภอก็มีการทำกันอย่างตั้งใจและเต็มที่เพื่อจะได้ช่วยป้องกันภาวะการติดเชื้อโควิด-๑๙”
    

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๐๔ ประจำวันพุธที่ ๒๗ - วันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔


991 1580