November 27,2021
เร่งรัฐศึกษา‘ท่าเรือบกโคราช’ เชื่อมต่อเอเชียอาคเนย์ พัฒนาความเจริญภาคอีสาน
กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ดันท่าเรือบกโคราชเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางราง “ผู้ว่าฯ วิเชียร” เผยคนอีสานต้องการท่าเรือบก เร่งรัฐบาลจัดสรรงบศึกษาและออกแบบรายละเอียด หวั่นก่อสร้างปี ๒๕๗๐ ล่าช้าเกินไป ด้านหอการค้าบุรีรัมย์ ยืนยันสนับสนุนท่าเรือบกโคราช ชี้เป็นจุดเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ช่วยพัฒนาภาคอีสานและประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๓๐ น. ที่โรงแรมเซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล ๒๑ โคราช นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ เป็นประธานการประชุมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลุ่มจังหวัดอีสานล่าง ๑ และ ๒ โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัด โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอนุพงศ์ สุชสมนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นางทรงลักษณ์ วรภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ ประธานหอการค้าจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย ๘ จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร และหัวหน้าส่วนราชการในกลุ่มจังหวัดฯ รวมทั้งประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือ-กรุงเทพฯ ผู้แทนสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และผู้แทนสำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมประชุม
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการประชุมว่า “รัฐบาลมี นโยบายที่จะเร่งการพัฒนาความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด รวมทั้งรัฐบาลได้คำนึงถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ทั้งการพัฒนากลุ่มจังหวัดและจังหวัด รวมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ดังนั้นในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน รวมทั้งความร่วมมือระหว่างกลุ่มจังหวัด”
“กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย ๘ จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และยโสธร มีบริบททางด้านสังคม วัฒนธรรม และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่คล้ายคลึงกัน กลุ่มจังหวัดได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือบก ที่ผ่านมามีการผลักดันผ่านที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า กระทั่งได้มีมติเห็นชอบการก่อสร้างท่าเรือบก ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ขอนแก่น และนครราชสีมา ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาจะทำการศึกษาเพื่อพัฒนาให้เกิดท่าเรือบกต่อไป และแน่นอนว่าโครงการท่าเรือบกดังกล่าว จะก่อให้เกิดผลต่อการค้า การลงทุน ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง การจัดประชุมสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ และตอนล่าง ๒ ผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกกันว่า กรอ.กลุ่มจังหวัด อันเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยใช้โอกาสจากนโยบายรัฐบาลให้เกิดประโยชน์ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด ระดับภาค และพัฒนา ระดับประเทศต่อไป” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
ที่มาท่าเรือบกโคราช
นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา นำเสนอเรื่องท่าเรือบก ว่า “ตามที่รัฐบาลอนุมัติพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เช่น โครงการรถไฟความเร็วมสูง รถไฟทางคู่ ถนนวงแหวนรอบเมือง และมอเตอร์เวย์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงเสนอให้โคราชเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือบกต่อรัฐบาล เพราะเมื่อโครงการรถไฟทางคู่เสร็จจะช่วยให้โคราชกลายเป็นทางผ่านของโลจิสติกส์ทั้งหมดในภาคอีสาน ดังนั้น กรอ.จังหวัด และ กรอ.กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ๑ จึงมีมติสนับสนุนให้มีการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่โคราช เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๑ จากนั้นในการประชุม ครม.สัญจรที่โคราช เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับเรื่องไปศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการท่าเรือบกโคราช ซึ่งในภายหลัง สนข.ได้แจ้งผลการศึกษาว่า จังหวัดที่เหมาสมสำหรับการพัฒนาเป็นท่าเรือบกในประเทศ มี ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น และนครสวรรค์”
“ต่อมาวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) จัดประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างท่าเรือบกทั้ง ๔ แห่ง และในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ มีมติเห็นชอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของโครงการพัฒนาท่าเรือบกในประเทศ โดยกำหนดให้ดำเนินการโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรก ส่วนเฟสที่ ๒ คือ จังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น และจังหวัดนครสวรรค์อยู่เฟสสุดท้าย ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาได้จัดตั้งสถาบันเครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่งขึ้น โดยมี มทร.อีสานเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำข้อมูลต่างๆ พร้อมกับประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชน และจัดทำกรอบระยะเวลาละขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) เพื่อเสนอผลการศึกษาต่อกระทรวงมหาดไทย และให้ ครม.พิจารณา โดยได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำจากนายกรัฐมนตรี จำนวน ๓๘ ล้านบาท”
เชื่อมโยงทุกภูมิภาค
ดร.จารุพงษ์ บรรเทา อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ มทร.อีสาน กล่าวว่า “ท่าเรือบกไม่ใช่โครงการที่จะจัดตั้งขึ้นมาเฉยๆ แต่มีความเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ NEDC ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระบบการขนส่งกับทุกภูมิภาค ทิศเหนือเชื่อมโยงประเทศจีนตอนใต้ ทิศใต้เชื่อมโยงกับ EEC ทิศตะวันออกเชื่อมโยงลาวและเวียดนาม และทิศตะวันตกเชื่อมโยงเมียนมา ภาคอีสานมีจุดเด่นด้านการเกษตรและการแปรรูปอาหาร ในอนาคตภาคอีสานจะมีความก้าวหน้าของระบบคมนาคม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงข่ายหลักของภูมิภาค จะเห็นว่าในอนาคตโคราชมีโครงสร้างพื้นฐานเข้ามามากมาย เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง โดยการศึกษาของ สนข.มีความต้องการที่จะเชื่อมโยงกับระบบรางมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มจังหวัด ๘ จังหวัด มีโคราชเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงระบบราง ส่วนสาเหตุที่กระทรวงคมนาคมต้องการให้ระบบรางเข้ามาแทนการขนส่งด้วยรถยนต์ จะเห็นว่าการขนส่งด้วยรถยนต์หรือรถบรรทุกมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ค่าใช้จ่ายการขนส่งทางรางน้อยกว่าครึ่ง รวมไปถึงต้นทุนการขนส่ง หากขนส่งจากพื้นที่ที่ไกลมากเท่าไหร่ ก็จะมีต้นทุนการขนส่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าขนส่งทางรางโดยกำหนดจุดหนึ่งใกล้ๆ จากนั้นใช้รถยนต์ขนส่งต่อ ต้นทุนการขนส่งก็จะลดลง ดังนั้น หากมีท่าเรือบกที่โคราช ก็จะตอบโจทย์เรื่องการลดต้นทุนการขนส่งได้”
คาดก่อสร้างปี ๒๕๗๐
“ขณะนี้บทบาทท่าเรือบกโคราชเปลี่ยนไปมาก เนื่องจากในยุคนิวนอร์มอลการขนส่งเปลี่ยนไป ห่วงโซ่มูลค่าโลกมีแนวโน้มสั้นลง แต่กระจายตัวมากขึ้นและมีความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งในการรวบรวมข้อมูล ผมใช้ข้อมูลของ ICD ลาดกระบังเป็นต้นแบบ โดยปี ๒๕๖๔ พบว่า การขนส่งผ่าน ICD มีแนวโน้มมากขึ้นจากปี ๒๕๖๓ ดังนั้น โคราชควรจะเริ่มออกแบบท่าเรือบกในปีนี้ แต่รัฐบาลได้มอบหมายให้การท่าเรือฯ เป็นเจ้าของโครงการท่าเรือบก ซึ่งขณะนี้การท่าเรือฯ ยังไม่ได้ตั้งงบศึกษา PPP ท่าเรือบกโคราช ยิ่งจะทำให้การมีท่าเรือบกโคราชถูกเลื่อนออกไปอีก คาดว่า ถ้าโคราชได้รับงบปี ๒๕๖๖ เพื่อศึกษา PPP ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาประมาณปีครึ่ง เมื่อถึงปี ๒๕๖๘ ผลการศึกษาจึงจะเสร็จ และกว่าจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอีก ๒ ปี ดังนั้น กว่าจะได้เริ่มก่อสร้างประมาณปี ๒๕๗๐ ซึ่งในปี ๒๕๗๐ คาดว่า การนำเข้าหรือส่งออกในท่าเรือบกโคราชน่าจะประมาณ ๓ แสนตู้ และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงปี ๒๖๐๐ คาดว่าจะประมาณ ๗ แสนตู้ โดยสาเหตุที่คาดการณ์ถึงปี ๒๖๐๐ เนื่องจากสัญญา PPP มีอายุประมาณ ๓๐ ปี”
“สำหรับสถานที่ตั้งของท่าเรือบกโคราช จากการศึกษาความเหมาะสมของ สนข.พบว่า พื้นที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน มีคะแนนสูงสุด แต่ปัญหา คือ พื้นที่ตำบลกุดจิก อาจจะมีผลกระทบด้านน้ำท่วม จึงศึกษาไว้อีก ๒ ที่ ได้แก่ ที่ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว และตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง หากสถานที่ตั้งของท่าเรือบก คือ ที่ตำบลกุดจิก ระยะทางจากท่าเรือบกถึงท่าเรือแหลมฉบังประมาณ ๓๑๕ กิโลเมตร ซึ่งระยะเวลาขนส่งด้วยรถยนต์จากเดิมประมาณ ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ระบบรางอาจจะลดลงเหลือไม่เกิน ๘ ชั่วโมง” ดร.จารุพงษ์ กล่าว
ต้องปรับท่าเรือบกโคราช
นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ กล่าวเสนอแนะว่า “การจะรองรับตู้คอนเทนเนอร์จำนวน ๓ แสนตู้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของท่าเรือบกโคราช ผมมองว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ ยกตัวอย่างที่ ICD ลาดกระบัง เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว มีการเปิดประมูลขึ้น มีคนซื้อซองประมูลมากกว่า ๒๐ เจ้า แต่มีคนยื่นประมูลแค่เจ้าเดียว เพราะธุรกิจที่ทำงานด้านโลจิสติกส์ดูแล้วยังไงก็เจ๊ง เพราะเงื่อนไขของโมเดล ICD ถูกต้องเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ในช่วงที่ระบบสาธารณูปโภคในประเทศไม่เพียงพอ ขณะนี้ ICD หมดยุคไปแล้ว ICD ทุกวันนี้มีเพียงไม่กี่แห่งบนโลก ซึ่งที่ลาดกระบังก็เป็นเพียงสถานที่ไว้โฆษณา แต่จริงๆ ไม่ยั่งยืน ที่ทุกวันนี้ยังรอดอยู่เพราะเงื่อนไขของประเทศไทยเท่านั้น ที่ย้ายสถานที่จากคลองเตยไปลาดกระบัง ถามว่า สายเรือแต่ละสาย อยากออกจากลาดกระบังหรือไม่ บอกเลยว่า อยากออก เพราะมีต้นทุนหนัก และในช่วงโควิด-๑๙ ระบาด โมเดลการค้าเปลี่ยนไปแล้ว ท่านจะต้องถามผู้ประกอบการว่า บทบาทจริงๆ ของท่าเรือบกต้องทำอะไรบ้าง สัดส่วนระหว่างวิ่งย้อนลงมาแหลมฉบังกับขนส่งโดยรถยนต์ไปยังประเทศจีนอะไรมากกว่ากันใน ๕ ปีข้างหน้า เพราะใน ๒ ปีข้างหน้า ตู้คอนเทนเนอร์จะยังขาดแคลน ทำให้ยังเป็นตลาดขนส่งทางเรือ เรือจึงไม่ง้อลูกค้า ขณะนี้การขนส่งทางรางยังลำบาก เพราะ Free Time สั้น รถไฟยังกะเวลาไม่ได้ กว่าจะยกขึ้นยกลง หากทำให้เกิด Free Time ๑๔-๑๕ วันสำหรับรถไฟ จะเป็นโอกาสที่ดีมาก ดังนั้นการที่จะนำตู้ขึ้นมาแล้วมาพักรอไว้ผมจึงไม่เห็นโอกาสอีก ๒ ปีอย่างต่ำ ในอนาคตการขนส่งทางรางและรถยนต์ไปจีน ผ่านไซบีเรียไปทวีปยุโรปจะมีมากขึ้น จึงขอแนะนำผู้ประกอบการในห้องประชุมว่า ควรให้ความสำคัญสินค้าในกลุ่มอาหารบางตัว และต้องลงทุนตู้คอนเทนเนอร์เอง โดยเฉพาะตู้เย็น เพราะเป็นการลงทุนที่คุ่มค้า อนาคตสินค้าที่วิ่งระหว่างไทยกับจีนมีข้อจำกัดเยอะมาก หากไทยสนใจการขนส่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะเราเชื่อว่า สินค้าเกษตรที่ส่งไปจีน ส่วนมากส่งผ่านทางรถยนต์ และมีแต่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ”
นายพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ
เริ่มต้นใหม่ให้ชัดเจน
“แป้งมันบ้านเรามักส่งออกในไตรมาส ๑ กับไตรมาส ๔ ส่วนไตรมาส ๒ การส่งออกจะเงียบไป หากก่อสร้างท่าเรือบกที่โคราช ผมถามสั้นๆ ว่า ถ้าปีนั้นน้ำตาลส่งออกไม่ได้ ช่วงไตรมาส ๒ ของที่นี่จะมีสินค้าหรือไม่ เมื่อสินค้าเหลือน้อย คนที่เข้ามาลงทุนท่าเรือบกก็เหนื่อย ดังนั้นโมเดลที่จะทำควรโฟกัสที่การขนส่งทางรถยนต์ขึ้นไปจีนในสัดส่วนเท่าไหร่ ขนส่งทางเรือผ่านแหลมฉบังเท่าไหร่ ซึ่งอีก ๒ ปีนี้ตู้คอนเทนเนอร์จะขาดแคลน ผู้ประกอบมีเงินแต่ไม่มีตู้ ดังนั้น ใน ๒ ปีข้างหน้านี้ความนิยมจะเปลี่ยน เมื่อการวางแผนอนาคตชัดเจน ตอนนั้นค่อยมานั่งคุยกันว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีหน่วยงานใดเข้ามากำหนดกฎกติกา หรือต้องการเพียงความร่วมของเอกชนร่วมกันเอง เพราะคลังสินค้าบ้านเราไม่มีกฎหมายควบคุม ถ้าจะให้ฟันธงอีกเรื่อง คือ ทุกวันนี้เวลาค้าขาย ยังอยู่ภายใต้การขนส่งของแหลมฉบัง หากมีท่าเรือบกโคราชขึ้นมา คำถาม คือ คนซื้อจะมาค้าขายภายใต้การขนส่งของท่าเรือบกโคราชหรือไม่ ถ้าเขาไม่เปลี่ยน ท่าเรือบกโคราชก็ตายเหมือนเดิม ดังนั้นถ้าจะอิงกรอบเดิม สินค้าหลักน่าจะเป็นแป้งมัน แต่ถ้าไม่อิงกรอบเดิม ซึ่งผมแนะนำว่าอย่าอิงกรอบเดิม เริ่มต้นใหม่ให้ชัดเจน ผมขอแนะนำว่า ให้ขนส่งขึ้นไปประเทศจีน ศักยภาพมีมหาศาล แต่ทำอย่างไรให้การขนส่งง่าย ไม่ต้องไปทำเอกสารที่กรุงเทพฯ ภาครัฐจะต้องช่วยให้เกิดการขนส่งในภูมิภาคนี้ ซึ่งสินค้าส่งออกไม่ควรเข้ามาควบคุม จะต้องทำให้ง่าย หากการส่งออกลายเป็นเรื่องยาก ก็ค่อนข้างจะย้อนแย้งกับการพัฒนา”
เร่งรัฐบาลดำเนินการ
ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “สืบเนื่องจากมีการประชุมหอการค้าร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกปี ซึ่งในที่ประชุมจะพูดคุยกันระหว่างภาครัฐและเอกชน และจากการที่พูดคุยกับหอการค้าโคราช ที่ต้องการนำข้อสรุปในการหารือกันของกลุ่มจังหวัด เข้าสู่ที่ประชุมหอการค้ากับผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง แต่ถ้าประชุมร่วมกับทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด อาจจะทำไม่ทันในปีนี้ จึงจัดประชุมกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ๑ และ ๒ จำนวน ๘ จังหวัด ส่วน ๑๒ จังหวัดที่เหลือจะได้พูดคุยกันในโอกาสต่อไป ซึ่งการประชุมในวันนี้ เพื่อให้ทันกับการประชุมหอการค้ากับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๒๐-๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ วันนี้จะหาข้อสรุปร่วมกันว่า ในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างมีข้อเสนออะไรที่เห็นร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ที่ประชุมหอการค้าไทยกับผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ซึ่งในการประชุมนั้นก็จะมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายคนเข้าร่วมด้วย”
“เดิมทีอีสานไม่เคยประชุมกลุ่มจังหวัดแบบวันนี้ มีเพียงการประชุม กรอ.จังหวัด ต่างคนต่างมีข้อเสนอ ซึ่งบางครั้งข้อเสนก็ต้องแข่งขันกัน หรือบางครั้งข้อเสนอไม่เชื่อมโยงกัน แต่วันนี้จะทำเป็นตัวอย่างว่า กลุ่มจังหวัดมีการหารือกันแล้ว มีข้อเสนอที่ตรงกัน และในอนาคตจะก้าวไปสู่การประชุมกลุ่มจังหวัดทั้งภาคอีสาน เพื่อหาข้อสรุปหรือความคิดเห็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคอีสาน ส่วนการประชุมวันนี้ จะเสนอเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทั้งการก่อสร้างขยายถนนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ถนนเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมอีสานใต้ และเรื่องสำคัญที่สุด คือ การก่อสร้างท่าเรือบกในโคราช เพื่อจะขอเร่งรัดการจัดตั้งจากที่ประชุมหอการค้ากับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะประชาชนกลุ่มจังหวัดทั้ง ๘ จังหวัด ต้องการให้เกิดท่าเรือบกโคราชเป็นการเร่งด่วน”
อีสานต้องการท่าเรือบก
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “ในอนาคตท่าเรือบกโคราช จะไม่ใช่ของโคราช แต่เป็นท่าเรือบกของอีสาน ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ จากเดิมที่ขนส่งด้วยรถยนต์ไปแหลมฉบัง เปลี่ยนมาใช้ระบบการขนส่งทางรางแทน และแม้ว่ารัฐบาลจะลงทุนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ หากไม่มีท่าเรือบก บทบาทของรถไฟทางคู่ก็จะลดน้อยลง ไม่คุ้มค่า ผู้ประกอบการก็จะยังขนส่งด้วยรถยนต์ต่อไป นอกจากนี้ การมีท่าเรือบกยังจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาอุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนน รวมทั้งรถมลพิษด้วย โดยการก่อสร้างท่าเรือบก การท่าเรือฯ ได้กำหนดก่อสร้างที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแห่งแรก ส่วนเฟสที่ ๒ จะให้ก่อสร้างที่โคราชและขอนแก่น และเฟสสุดท้ายที่จังหวัดนครสวรรค์ การประชุมวันนี้จึงเป็นการรวมพลังกันของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการเร่งรัดออกแบบรายละเอียดท่าเรือบกโคราช ซึ่งโคราชมีความเหมาะสมอย่างมาก แต่เมื่อการท่าเรือฯ บอกว่า โคราชจะก่อสร้างในเฟสที่ ๒ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไป เมื่อนักลงทุนถามว่า จะลงทุนท่าเรือบกโคราชมีตัวเลขเท่าไหร่ เราก็ตอบไม่ได้ และเมื่อถามว่า ลงทุนแล้ว ส่วนราชการจะช่วยเหลืออะไรบ้าง เราก็ไม่มีข้อมูล เมื่อไม่มีการออกแบบรายละเอียดก็ทำให้ตอบนักลงทุนไม่ได้ ทั้งที่มีนักลงทุนและผู้ประกอบการสนใจเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเดิมที่จังหวัดเคยของบประมาณ ๓๘ ล้านบาทจากรัฐบาล แต่ด้วยมติ ครม.มอบหมายให้การท่าเรือฯ ดูแลโครงการ ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการเฟสที่ ๑ จึงทำให้ไม่มีงบประมาณให้โคราช และเมื่อจังหวัดจะตั้งงบประมาณเองก็ทำไม่ได้ เพราะจะขัดต่อมติ ครม. ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดให้รัฐบาลรีบจัดสรรงบประมาณ เพื่อศึกษาและออกแบบรายละเอียด”
ดร.ณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์
เชื่อมต่อเอเชียอาคเนย์
ล่าสุด วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ดร.ณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “หากพูดถึงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในเชิงภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์แล้ว พื้นที่ของอีสานตอนล่าง (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ) ทั้งหมด คือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจที่แท้จริง แต่รัฐกำหนดให้ระเบียงเศรษฐกิจอยู่ในพื้นที่ EEC และ NEEC ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลางเเละอีสานตอนบนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถเชื่อมการขนส่งสินค้าออกไปยังลาว เวียดนาม และจีน ผ่านเส้นทาง R3A ได้แต่หากพิจารณาดูตามระบบโลจิสติกส์ด้วยการขนส่งทางรางหรือทางรถก็จะมีจังหวัดนครราชสีมา เป็นจุดเชื่อมต่อที่อยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะไปทาง EEC หรือเชื่อมต่อขึ้นไปยังประเทศจีน ดังนั้น โคราชจึงเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญในการประสานเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์เศรษฐศาสตร์ระหว่างกันในทุกเส้นทา งเเละเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางหรือการขนถ่ายสินค้าในภาพรวม เราจึงต้องกลับมามองภาพของระเบียงเศรษฐกิจเชิงพื้นที่เสียใหม่ ซึ่งมีทั้งจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี รวมถึงจังหวัดในพื้นที่อีสานตอนล่างทั้งหมดว่า การทำโครงการท่าเรือบก มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าเป็นเพียงความสะดวกในการลำเลียงหรือส่งออกสินค้า เพราะพื้นที่จังหวัดดังกล่าว ล้วนแต่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ชายเเดนและมีด่านการค้าชายเเดนทั้งด่านถาวรและด่านผ่อนปรน ดังนั้น ระเบียงเศรษฐกิจจึงควรจะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน โดยมองศักยภาพเชิงพื้นที่ก่อนว่า พื้นที่เหล่านี้มีประโยชน์ในด้านการพัฒนาอย่างไร หากจะพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตแหล่งเพาะปลูก หรือพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ก็ต้องอยู่ใกล้กับจุดช่องทางการส่งออกหรือประตูส่งออกไปต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันหากมีท่าเรือบก จะช่วยให้ระบบโลจิสติกส์คล่องตัวมากขึ้น ประหยัดพลังงานมากขึ้น และที่สำคัญ คือ กระจายความเจริญของประเทศมายังภาคอีสาน หากมองแบบนี้โคราชจึงเหมาะเป็นพื้นที่รวมส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และอย่ามองเพียงว่า จุดนี้เชื่อมเฉพาะอีสานหรือประเทศไทย จุดนี้จะเชื่อมกับกัมพูชา ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น และจีนได้ด้วย”
ยกระดับพื้นที่อีสาน
“อีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เชิงพื้นที่ที่ดี แต่ปัญหา คือ การคุ้มทุน ต้องมองภาพให้ชัดเจนว่า ถ้ามีท่าเรือบกมา จะต้องพูดเรื่องระเบียงเศรษฐกิจด้วย เพราะถ้าไม่พูดเรื่องนี้ นักลงทุนก็จะไม่สนใจ เมื่อไม่มีการลงทุนในภาคอุสาหกรรม ท่าเรือบกก็เกิดไม่ได้ เมื่อคนจะมาลงทุนต้องมองต่อว่า อุตสาหกรรมใดเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรกรรม ซึ่งอีสานเป็นพื้นที่เหมาะสม เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ และอย่าลืมว่า สิ่งสำคัญของอีสาน คือ พื้นที่เพราะปลูกและคน เพราะคน คือ ทรัพยากรหลักของอีสาน โรงงานทุกแห่งล้วนมีคนทำงาน และคนที่ทำงานเกินร้อยละ ๕๐ เป็นคนอีสาน ถ้าสามารถทำให้คนอีสานอยู่ในอีสาน หรือนำโรงงานมาอยู่ในอีสาน ความเจริญก็จะมีมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรมองภาพเล็ก เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามองภาพใหญ่จะเห็นว่าเป็นไปได้ และน่าสนใจมากในการดำเนินการท่าเรือบก ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งหากมองเพียงภาพเดียว ก็จะรู้สึกว่า เป็นการลงทุนจำนวนมาก และอาจจะไม่คุ้มค่า แต่ถ้ามองใหม่ว่า จุดนี้จะทำให้เกิดการกระจายตัวของภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปด้านการเกษตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเพราะปลูกที่เหมาะ ไม่ใช่เพียงการทำนาอย่างเดียว แต่อาจจะเพาะปลูกมันสำปะหลังหรือข้าวโพด เพื่อการแปรรูป หรือทางด้านปศุสัตว์ ภาคอีสานจึงเหมาะมากที่จะเป็นพื้นที่เกษตรด้านการปศุสัตว์ ดังนั้นจุดนี้จึงเป็น supply chain ที่น่าสนใจ เเละมีคำตอบที่จะบอกได้ว่า การมีท่าเรือบกในพื้นที่โคราช หรือการปรับเปลี่ยนให้พื้นที่อีสานตอนล่างเป็นระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลควรจะหยิบขึ้นมาพิจารณา และยกระดับในการมองภาพที่กว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมืองใหม่ ให้สอดคล้องกับระเบียงเศรษฐกิจและท่าเรือบก และมองให้ชัดเลยว่า พื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่พื้นที่เชื่อมโยงในประเทศไทย แต่สามารถเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์”
ส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ
ดร.ณัชอิสร์ กล่าวอีกว่า “สำหรับการรีบมีท่าเรือบก ยังไม่ใช่โจทย์หลัก แต่ควรจะรีบคิดและศึกษาอย่างรวดเร็ว เพราะการศึกษาพื้นที่ของประเทศไทย มักจะศึกษาแล้วปล่อยทิ้ง แต่การที่มองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ เป็นสิ่งที่ควรรีบทำ และควรมองให้รอบด้าน อย่างมองเพียงด้านเดียว เพราะการมีท่าเรือบกสอดคล้องกับมิติของการพัฒนาประเทศและทุกจังหวัดในภาคอีสาน อีกทั้งระบบโลจิสติกส์ไม่สามารถตอบโจทย์ระบบรางอย่างเดียว ต้องมองภาพรวมในทุกมิติ ทั้งราง ถนนทางบก และทางอากาศ รวมถึงเทรนด์โลกในด้านการลดโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจก อันเกิดจากการใช้รถที่ใช้พลังงานจากฟอสซิลด้วย จึงมีภาพของจิ๊กซอว์ที่ต่อเนื่องไปในภาพของการพัฒนาธุรกิจและประเทศ”
พร้อมสนับสนุนโคราช
“ท่าเรือบกเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจ หากพูดแค่ท่าเรือบก คนก็จะมองเพียงมุมเดียว แต่ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ทั้งประเทศ ท่าเรือบกจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ น่าลงทุน และควรสนับสนุน ดังนั้น จังหวัดบุรีรัมย์จึงพร้อมสนับสนุนแน่นอน เพราะเป็นโครงการที่พัฒนาภาคอีสาน เเละหอการค้ากลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างพร้อมเดินไปด้วยกัน ดังนั้น การมีโครงการสร้างท่าเรือบกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาจึงเป็นการพัฒนาพื้นที่อีสานตอนล่างอย่างเเท้จริง” ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าว
อีสานหนุนท่าเรือบก
ทั้งนี้ นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ความคืบหน้าขณะนี้หอการค้าจังหวัดในภาคอีสาน หลังจากที่ร่วมหารือและได้ข้อสรุป จึงทำหนังสือยื่นให้กับประธานหอการค้าไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า หอการค้าในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง ได้รวมตัวกันสนับสนุนแนวทางในการดำเนินโครงการท่าเรือบกที่โคราช เพื่อเร่งให้การท่าเรือฯ เกิดการสำรวจและวิจัย เพื่อเสนอให้ภาคเอกชนทำ PPP ก่อสร้างท่าเรือบก ซึ่งหอการค้าในกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง เห็นด้วยที่โคราชเสนอ ให้มีการก่อสร้างท่าเรือบก ซึ่งจริงๆ แล้ว คือ ท่าเรือบกอีสาน แต่โคราชเป็นเพียงสถานที่ตั้งของท่าเรือบก เป็นจุดเชื่อโยงการขนส่งสินค้าของกลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง เชื่อมต่อกับการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะขนส่งไปยังเพื่อนบ้าน หรือจะส่งลงที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งทุกจังหวัดเห็นด้วยที่จะให้มีท่าเรือกบกในโคราช”
นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๐๔ ประจำวันพุธที่ ๒๗ - วันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔
98 1,751