19thMarch

19thMarch

19thMarch

 

December 05,2021

เปิดโลกดึกดำบรรพ์ มหกรรมฟอสซิลเฟสติวัล 100 ปีแห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทย


เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา บ้านโกรกเดือนห้า หมู่ที่ 7 ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชูศักดิ์  ชุนเกาะ รอง ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายสมเกียรติ  ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร  เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (สสปน.) องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมาและภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดมหกรรม “ฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ 6” ครบรอบ 100 ปี แห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยสมัยรัชกาลที่ 6 และโคราช มหานครแห่งบรรพชีวินของโลก (Fossil Festival VI : 100 Years of Petrified Wood and Elephant Conservation  from the Reign of King Rama VI Khorat : World Paleontopolis) โดยมีกิจกรรมเสวนาวิชาการบรรพชีวิน “100 ปี อนุรักษ์วิจัยฟอสซิลไทยในโคราช” “ฟอสซิลแห่งสยามกับการอนุรักษ์” “โคราชมหานครแห่งบรรพชีวินโลก” ชมนิทรรศการ “โคราช มหานครแห่งบรรพชีวินโลก” “ไม้กลายเป็นหินแปลก” การนำเสนอผลงานวิชาการ “ร่วมเรียนรู้สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์กับนักวิจัย” “พิพิธภัณฑ์ฟอสซิลเพื่อการนันทนาการและการเรียนรู้” การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ รวมทั้งกิจกรรมผ่านระบบ Hybrids “ทัวร์เที่ยวทิพย์ท่องเที่ยวมหานครแห่งบรรพชีวิน พบเรื่องราวตื่นตาตื่นใจ เช่นตอนไดโนเสาร์สิรินธรน่าโคราชเอนซิสและสยามแรปเตอร์สุวัจนติ “เติมสีสันให้ช้าง” กิจกรรมท่องเที่ยวไปในพิพิธภัณฑ์ กิจกรรม DIY By Khorat fossil Museum เปิดพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และการแสดงสินค้าชุมชนและชม ซ็อป ชิม ผลผลิตทางการเกษตร “ไม้หินกรีนมาร์เก็ต” ผลงานทางศิลปะ Thailand Art Biennale 2021

 
 

ผศ.ดร.อดิศร อธิการบดี มร.นม. เปิดเผยว่า งานฟอสซิลเฟสติวัล ได้จัดเป็นประจำทุก 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักในคุณค่ารวมทั้งร่วมกันอนุรักษ์มรดกฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์ของ จ.นครราชสีมา ให้คงอยู่และเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยจัดงานภายใต้แนวคิด “100 ปี แห่งการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินและช้างไทยสมัยรัชกาลที่ 6” โดยเฉพาะฟอสซิลไม้กลายเป็นหินมีปรากฏเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อรัชกาลที่ 6 หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จมาตรวจงานก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา–อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2464 บริเวณสะพานดำ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำมูล บ้านตะกุดขอน ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ พระยารำไพพงศ์บริพัตร วิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟพร้อมชาวบ้านได้นำฟอสซิลไม้กลายเป็นหินจากร่องแม่น้ำมูลน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ ร.6 แต่พระองค์ท่านกลับแนะนำให้เก็บรักษาไว้ในท้องที่ พระยารำไพพงศ์บริพัตร จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานการเสด็จมาตรวจการก่อสร้างทางรถไฟของ ร.6 ในบริเวณหัวสะพานแล้วนำไม้กลายเป็นหินท่อนดังกล่าวฝังตรึงไว้บนยอดอนุสรณ์สถานยังคงปรากฏให้เห็นเป็นสภาพเดิมตราบกระทั่งปัจจุบัน อนุสรณ์สถานไม้กลายเป็นหิน ร.6 จึงเป็นการอนุรักษ์ฟอสซิลหรือไม้กลายเป็นหินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และชุมชนชาวท่าช้างครบ 100 ปี และอาจเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

ทั้งนี้โคราชถือเป็นมหานครแห่งบรรพชีวินของโลก บริเวณชานเมืองรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตร มีแหล่งฟอสซิลสำคัญ 3 ยุค (ครีเทเชียส นีโอจีนและควอเทอร์นารี) ทั้ง 4 ทิศหรือ 4 มุมเมือง ทิศตะวันออก ต.ท่าช้าง พบฟอสซิล อายุ 16-0.01 ล้านปีก่อน จำพวกช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสายพันธุ์ที่สุดในโลกถึง 10 สกุลจาก 55 สกุลที่พบทั่วโลก รวมทั้งสัตว์พันธุ์ใหม่ของโลก จำพวกอุรังอุตัง (โคราชพิเธคัส) ฮิปโปโบราณ (เมอริโคโปเตมัส) แรดไร้นอ (อาเซราธีเรียม) และฟอสซิลสัตว์อื่น ๆ รวมไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด ปัจจุบันมีอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ในเขตเทศบาลและมีโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ในแหล่งพบซากพื้นที่ 18 ไร่ของ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ทิศเหนือ ต.โคกสูง อ.เมือง พบฟอสซิล อายุ 200,000 ปี จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่อแหล่งมีความหนาแน่นที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 15 ชนิด เช่น ไฮยีน่า ช้างสเตโกดอน แรดอินเดีย กูปรี กวางดาว ฯลฯ และปัจจุบันมีโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์เดิมของตำบลให้มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์มากขึ้น ทิศตะวันตก ต.โคกกรวด อ.เมือง พบฟอสซิลอายุ 115 ล้านปีก่อน จำพวกไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกถึง 4 ชนิดในจำนวน 12 ชนิด ที่พบในประเทศไทย เช่น ไดโนเสาร์สิรินธรน่า บางชนิดเป็นพันธุ์กินเนื้อใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาดตัวยาวไม่ต่ำกว่า 8 เมตร คือ ไดโนเสาร์สยามแรปเตอร์ รวมทั้งยังพบจระเข้และเต่าชนิดใหม่ของโลก อีกทั้งสัตว์อื่น ๆ เช่น เทอโรซอร์ ปลา หอยต่าง ๆ รวมไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด และปัจจุบันกำลังมีโครงการจัดตั้ง Dino Park ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 300 ไร่ ทิศใต้ ต.สุรนารี อ.เมือง พบฟอสซิลไม้กลายเป็นหิน อายุไม่ต่ำกว่า 800,000 ปีก่อน ทั้งไม้พวกพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลปาล์ม และพืชใบเลี้ยงคู่ ไม่ต่ำกว่า 8 วงศ์ 11 สกุล 18 ชนิด เช่น ไม้ในสกุลกระบก รกฟ้า กระโดน มะม่วง ฯลฯ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ 80 ไร่ ที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่ 1 ใน 7 แห่งของโลก


"อย่างไรก็ตาม การพบฟอสซิลหรือซากดึกดำบรรพ์หลากหลาย นับเป็นก้าวสำคัญของโคราช มร.นม. จึงได้พัฒนาพื้นที่ในส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทั้ง 32 อำเภอ พื้นที่โคราชจีโอพาร์ค ประกอบด้วยอำเภอสีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ กำลังรอการประเมินเป็นจีโอพาร์คโลกโดยองค์การยูเนสโก เพื่อให้โคราชเป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎยูเนสโก หรือ The UNESCO Triple Crown แห่งที่ 4 ของโลก หมายถึง จ.นครราชสีมา มีโปรแกรมอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรม ก่อนหน้านี้มีมรดกโลก (World Heritage) พื้นที่สงวนชีวมณฑล ต.สะแกราช อ.วังน้ำเขียว และผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าว


975 1548