December 25,2021
ขยะตกค้างเกือบ ๘ แสนตัน นายกเทศมนตรีเร่งแก้ปัญหา แต่สภาเทศบาลฯ ไม่อนุมัติ
ขยะขอนแก่น ตกค้างเกือบ ๘ แสนตัน และรับขยะใหม่วันละกว่า ๕๐๐ ตัน นายกเทศมนตรีเร่งแก้ปัญหา แต่สภาเทศบาลฯ ไม่อนุมัติ หลังจังหวัดเสนอแผนตั้งโรงกำจัดขยะไฟฟ้าแห่งที่ ๒ วอนทุกฝ่ายคุยกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและคืนความสุขประชาชน เพราะทุกอย่างทำตามขั้นตอนของกฎหมายและนโยบายรัฐบาล
เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่โรงกำจัดขยะเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านคำบอน ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น นางสุธาวัลย์ ริมผดี นายกเทศมนตรีตำบลโนนท่อน พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ เดชอักษร รองนายกเทศมนตรี และนายโกวิทย์ อ่อนฮุย ปลัดเทศบาล พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณขยะที่ทำการจัดเก็บและกำจัดในความรับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น ที่ยังคงค้างอยู่ภายในบ่อยกำจัดขยะแห่งนี้รวมกว่า ๗๘๐,๐๐๐ ตัน ในขณะที่การกำจัดขยะด้วยระบบเผาและแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าสามารถดำเนินการได้ ๔๐๐-๔๕๐ ตันต่อวันเท่านั้น โดยมีขยะใหม่จากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาที่บ่อกำจัดขยะแห่งนี้วันละประมาณ ๕๐๐ ตัน หลังจากมติที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลโนนท่อน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีมติไม่อนุมัติจัดทำโครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ตามที่จังหวัดกำหนดไว้
นางสุธาวัลย์ ริมผดี นายกเทศมนตรีตำบลโนนท่อน กล่าวว่า มติที่ประชุมจังหวัดขอนแก่นกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาขยะคงค้างที่บ่อกำจัดขยะของเทศบาลนครขอนแก่น ที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลโนนท่อน โดยกำหนดให้เทศบาลนครขอนแก่น ดำเนินการกำจัดขยะคงค้างที่มีอยู่กว่า ๗๘๐,๐๐๐ ตัน ด้วยระบบโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าแห่งที่ ๑ ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าบ่อกำจัดขยะ ซึ่งสามารถกำจัดขยะได้ที่ประมาณวันละ ๔๐๐-๔๕๐ ตัน ในขณะที่ปริมาณขยะใหม่ที่เข้ามาที่บ่อกำจัดขยะแห่งนี้อยู่ที่วันละ ๕๐๐ ตัน ดังนั้นที่ประชุมร่วมระดับจังหวัดได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะคงค้างและแก้ไขปัญหาพื้นที่ ต.โนนท่อน ในการกำจัดขยะ ทั้งคงค้างเก่าและขยะใหม่ที่ต้องรับรายวัน ในการกำหนดแนวทางการจัดตั้งโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าแห่งที่ ๒ ขึ้น ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลโนนท่อน ซึ่งเมื่อมติที่ประชุมดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นแผนงานที่เป็นไปตามนโยบายรัฐ เทศบาลฯ จึงได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย ด้วยการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ อปท.ในกลุ่มที่ ๑ รวม อปท.ทั้งหมดกว่า ๔๐ แห่ง ในการเห็นชอบและมอบหมายให้เทศบาลตำบลโนนท่อน ดำเนินการตามนโยบายของจังหวัดและนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนแผนงาน โดยจะต้องนำเสนอต่อที่ปะชุมสภาฯ ได้รับทราบ และผ่านความเห็นชอบ แต่ในการประชุมสภาฯ พบว่ามติสภาไม่ผ่านด้วยคะแนน ๖ ต่อ ๕
“ในการจัดการขยะของขอนแก่นได้แบ่งกลุ่มการบริหารจัดการขยะทั้งหมด ๕ กลุ่ม โดยตำบลโนนท่อน อยู่ในกลุ่มที่ ๑ ที่มีเทศบาลนครขอนแก่น เป็นผู้รับดำเนินการ โดยใช้เนื้อที่ ในเขตตำบลโนนท่อน รวม ๙๐ ไร่ ในการกำจัดขยะให้กับ อปท. ทั้งหมด ๔๐ แห่งในเขต อ.เมือง, บ้านฝาง, พระยืน และอำเภออุบลรัตน์ ซึ่งขณะนี้มีขยะคงค้างที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการไถกลบ รวมกว่า ๗๘๐,๐๐๐ ตัน โดยการกำจัดขยะด้วยโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าแห่งที่ ๑ ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น สามารถดำเนินการได้วันละประมาณ ๔๐๐-๔๕๐ ตัน ในขณะที่ขยะใหม่ที่เข้ามาที่บ่กำจัดขยะแห่งนี้วันละประมาณ ๕๐๐ ตัน
ดังนั้น ที่ประชุมระดับจังหวัดจึงเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ โดยให้ความสำคัญกับคนโนนท่อน ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาขยะให้หมดไปจากพื้นที่กำจัดขยะเดิม ให้กลายกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ของชุมชนอีกครั้ง รวมทั้งการรองรับขยะใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน จึงเสนอแนวทางในการตั้งโรงงานแห่งที่ ๒ ขึ้นและให้อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลโนนท่อน และขณะนี้เข้าสู่การดำเนินการก้าวแรก คือการนำเสนอต่อที่ประชุมสภาเทศบาลฯ โดยในการประชุมผู้แทนระดับจังหวัดได้มานำเสนอต่อที่ประชุม ในระยะที่ ๑ แต่ที่ประชุมไม่เห็นชอบ ด้วยคะแนน ๖ ต่อ ๕ ทำให้ขณะนี้เทศบาลฯ ต้องรอรายงานเอกสารวาระการประชุมฉบับสมบูรณ์เพื่อสรุปผลการประชุมให้กับจังหวัดได้รับทราบและดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป” นางสุธาวัลย์ กล่าว
นายกเทศมนตรีตำบลโนนท่อน กล่าวต่ออีกว่า เทศบาลฯ คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่และการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนให้กับชุมชน ที่เป็นหัวใจหลักของการบริหารงานของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อก้าวแรกไม่ผ่าน จากมติที่ประชุมสภาฯ ก็จะต้องรายงานให้กับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานในด้านต่างๆ ต่อไป ซึ่งขณะนี้เทศบาลฯ ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพราะก้าวแรกยังไม่ผ่าน และหากผ่านก้าวแรกเมื่อที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบและมีมติผ่านตามแผนงานที่เทศบาลฯ กำหนด ตามนโยบายของรัฐที่กำหนดไว้ ก็จะต้องดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ อีก ๑๐ ขั้นตอนหลัก และยังคงมีรายละเอียดปลีกย่อยในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเปิดเวทีประชาคม การสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA รวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น โรงงานแปรรูปขยะแห่งที่ ๑ ที่ตั้งขึ้นนั้นใช้เวลาดำเนินงานนานกว่า ๕ ปี จึงสามารถเปิดระบบกำจัดขยะได้ แต่แห่งที่ ๒ นี้ เทศบาลฯ ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน และเป็นไปตามระเบียบและกรอบกฎหมาย โดยยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ไปตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ดังนั้นเมื่อการสรุปรายงานจากที่ประชุมสภาฯ เสนอต่อจังหวัดให้ทราบแล้ว จังหวัดจะมีแผนดำเนินการใดๆ ต่อไป เทศบาลฯ ก็พร้อมจะดำเนินงานตามระเบียบและข้อบังคับ และหารือร่วมกันกับทุกฝ่าย ทั้งชุมชน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสภาฯ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ประจำวันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
94 1,659