19thApril

19thApril

19thApril

 

December 31,2021

“ผู้ว่าวิเชียรช่วยได้” วางนโยบาย ๘ + ๑๓ พร้อมลุยปีสุดท้าย

“ผู้ว่าวิเชียร” ออกนโยบาย ๘+๑๓ ฝันโคราชเป็นเมืองโดดเด่นทุกด้าน พร้อมวางรากฐานให้ผู้ว่าฯ คนต่อไป ลั่น ‘คนใกล้เกษียณก็ทำงานได้’ ตั้งเป้าปี ๒๕๖๕ ทำงานหนักทุกวันไม่มีหยุด เตรียมตั้งทีม ‘ผู้ว่าวิเชียรช่วยได้’ หากพบประชาชนเดือดร้อนใน ๑ ชั่วโมง ผู้ว่าฯ ต้องรับรู้ และลงพื้นที่ทันที 

 

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่ห้องประชุมชั้น ๔ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย นายชรินทร์ ทองสุข นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ และนายสมเกียรติ วิริยกุลนันท์ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมาและหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา ประจำเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ 

ในระเบียบวาระ ข้อสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาไม่ได้ห้ามการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่อาจจะมีผลกระทบหรือแรงเสียดสีจำนวนมาก จึงขอให้ผู้จัดงานระมัดระวังเรื่องต่างๆ ผมได้ให้คำแนะนำกับอำเภอไปว่า หากมีการจัดงานขอให้จัดอย่างมิดชิด ถ้าเป็นไปได้อย่าให้มีการดื่มสุราในงาน อาจจะช่วยลดแรงเสียดทานได้ ไม่ถึงขั้นงด แต่ขอให้จัดงานอยู่ภายใต้มาตรการที่ควบคุมได้ ในปี ๒๕๖๕ ผมมีนโยบายที่จะทำ คือ นโยบาย ๘+๑๓ ซึ่งมี ๘ นโยบายเร่งด่วนที่จะทำ โดยจะขอความร่วมมือหัวหน้าส่วนทุกคนช่วยพูดถึงเวลาร่วมการประชุมต่างๆ ด้วย พูดให้ชาวบ้านจำได้ โดย ๘ นโยบาย ประกอบด้วย ๑.การแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-๑๙ ๒.โคราชเมืองสะอาดและสวยงาม ๓.โคราชไม่จน ๔.โคราชสังคมไร้เงินสด ๕.โคราชไม่ท่วมไม่แล้ง ๖.โคราชถนนเรียบ ๗.โคราชเมืองแห่งความปลอดภัย ๘.โคราชเมืองกีฬา และยังมีอีก ๑๓ ข้อที่จะวางรากฐานไว้ให้คนรุ่นต่อไปทำ คือ ๑.โคราชเมืองประวัติศาสตร์ ๒.โคราชเมืองศิลปะ ๓.โคราชเมืองอัจฉริยะ ๔.โคราชเมืองแห่งการศึกษา ๕.โคราชเมืองแห่งการช้อปปิ้ง ๖.โคราชเมืองแห่งเศรษฐกิจ นวัตกรรม และอุตสาหกรรมรายใหม่ ๗.คนโคราชเที่ยวโคราช ๘.โคราชจีโอพาร์ค ๙.โคราชท่าเรือบก ๑๐.โคราชเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ๑๑.โคราชระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๒.แลนด์มาร์คโคราช และ ๑๓.โคราชเมืองปศุสัตว์ ทั้งหมดนี้บางเรื่องอาจจะทำสำเร็จภายในปี ๒๕๖๕ วอนทุกคนช่วยกันวางรากฐานไว้ เวลาก็ล่วงเลยไป อายุราชการก็น้อยลง แต่ผมจะทำอย่างเต็มที่ ผมพูดกับนายอำเภอทุกคนว่า ปี ๒๕๖๕ จะเป็นปีที่ทำงานหนักมาก เพราะจะเป็นการพิสูจน์ว่า คนที่กำลังจะเกษียณก็พร้อมทำงานให้ประชาชน ทุกอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการอาจจะต้องทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนผมจะไม่มีวันหยุดทำงาน และจะไม่ไปราชการที่กรุงเทพฯ โดยไม่จำเป็น ผมจะลงพื้นที่ให้มากขึ้น มีงานอะไรในพื้นที่ขอให้บอก ผมยินดีจะลงพื้นที่ช่วยเหลือ แต่อย่านำผู้ว่าฯ ไปทำอะไรแปลกๆ เช่น พาไปเจอเณรแอร์ นำผ้ามาผูกหัว ขอให้เจ้าของงานดูสักนิด”

“คุณภาพของออกาไนเซอร์ บางคนก็ดี มีความเรียบร้อย แต่หลายที่เซ่อจริงๆ เช่น บางงานเชิญผู้ว่าฯ ขึ้นเวที เมื่อทำพิธีเสร็จก็ไม่รู้จะต้องไปไหนต่อ พอผมจะลงข้างล่างก็บอกอย่าเพิ่งลงให้อยู่ข้างบนก่อน ขอให้เจ้าของงานดูความเรียบร้อย ผมเคยเจอออกาไนเซอร์จัดงานของกระทรวงพาณิชย์ พูดชื่ออธิบดีหรือคนว่าจ้างยังไม่ถูกเลย ผมไม่ใช่คนยาก แต่อย่าให้งานสะดุด งานต่างๆ จะต้องจัดให้ลื่นไหล ส่วนเรื่องไมโครโฟนไม่ดังเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่คนอยู่บนเวทีเดี๋ยวจะให้ขึ้นให้ลง คนแก่แล้วเข่าไม่ดี ส่วนงานระดับอำเภอจะพยายามไปร่วมให้มาก ไม่ว่าจะเป็นงานจังหวัดเคลื่อนที่ ทุกอำเภอจะต้องจัดงานให้ผู้ว่าฯ ไป แต่อย่าจัดกิจกรรมเดิม เช่น จัดอยู่แต่ที่เดิมๆ คนมาร่วมงานก็คนเดิมๆ ส่วนพื้นที่อื่นๆ เขาไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ ยอมรับว่า ๖ ปีที่ผ่านมาไม่เคยเห็นหลายหมู่บ้าน หัวหน้าส่วนก็จัดงานในหมู่บ้านที่ไม่เคยไปบ้าง เพราะบางหมู่บ้านเงียบ ผมพอจะมีเวลาในการช่วยเหลือประชาชน งานไปกรุงเทพฯ ตัดออก ประชุมในจังหวัดตัดออก ร่วมเพียงประชุมประจำเดือนเท่านั้น”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “เรื่องที่จะต้องรีบทำอีกเรื่อง ผมวางระบบไว้แล้ว เกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวบ้าน เมื่อรับรู้ปัญหาชาวบ้าน ผมก็จะต้องลงพื้นที่ทันที จะต้องไปโดยเร็ว ซึ่งผมเตี๊ยมกันแล้วกับตำรวจ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานพระพุทธศาสนา เมื่อรับเรื่องแปลกๆ มา ให้โทรมาที่ ๑๓๐๐ จะต้องโทรหาผู้ว่าฯ ภายใน ๑ ชั่วโมงให้ได้ ถ้าใครมีเรื่องด่วนให้โทรหา พม. จากนั้น พม.จะโทรแจ้งผม ภายใน ๑ ชั่วโมงผมจะต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย หากผมมีเวลาก็จะลงพื้นที่ด้วยตนเอง ผมจะไปพร้อมกับทีมฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานต่างๆ โดยจะทำเสื้อทีมให้ เขียนว่า ‘ผู้ว่าช่วยได้’ ซึ่งจะคอยให้การช่วยเหลือตลอด ๒๔ ชั่วโมง นโยบายผู้ว่าวิเชียรช่วยได้ ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ หากมีเรื่องผมจะลงพื้นที่จริงๆ” 

“เรื่องของ ITA เป็นหน้าตาหรือตัวชี้วัดหน่วยงาน ผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยว ผมแนะนำให้รองชรินทร์ (นายชรินทร์ ทองสุข รองผวจ.นครราชสีมา) แต่งตั้งคนรับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรื่องวัดพระนารายณ์ เนื่องจากพระนารายณ์มีตำนานว่า พระองค์เป็นคนสร้างโคราช ดังนั้น จังหวัดจะสร้างองคืพระนารายณ์ขึ้นที่วัดพระนารายณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับเงินบริจาค โดยรับบริจาคในนามของวัดพระนารายณ์ เมื่อบริจาคแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ หากบริจาค ๑๐๐,๐๐๐ บาท อาจจะได้รับพระนารายณ์องค์เล็ก มีการจารึกชื้อไว้ให้ด้วย ผมก็ต้องการมีชื่ออยู่ใต้ฐานพระนารายณ์เช่นกัน เงินทั้งหมดจะเข้าวัดพระนารายณ์ ส่วนคนที่บริจาค ๕๐,๐๐๐ บาท ก็จะจารึกชื่อไว้ด้วย ตัวหนังสือจะเล็กหน่อย จะเท่ากับ ๑๐๐,๐๐๐ บาทไม่ได้” นายวิเชียร กล่าว

นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า “เรื่องงานพืชสวนโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ จากนั้นจะนำเรื่องเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง เรื่องของแผน เพราะจังหวัดนครราชสีมาจะดำเนินการตามแผน ผมต้องการเห็นแผน ขณะนี้แผนด้านกีฬาเราประชุมไปแล้ว โดยมีแผนในรอบปีว่าโคราชจะจัดงานแข่งขัดกีฬาอะไรบ้าง เช่น แข่งวอลเลย์บอลเมื่อไหร่ แข่งยิงปืนเมื่อไหร่ มีทั้งกีฬาระดับจังหวัดและระดับประเทศ ส่วนเรื่องที่จะต้องทำ คือ แผนจัดการน้ำ วันนี้โคราชต้องการแหล่งน้ำเพิ่ม แต่เรื่องน้ำท่วมก็ยังแก้ไม่ได้ ดังนั้นจังหวัดจะต้องแก้ปัญหาน้ำท่วม เรื่องนี้จะต้องช่วยกัน เรื่องแผนการท่องเที่ยวก็จะต้องทำ เช่น แผนฝนนี้ที่โคราช มีกิจกรรมท่องเที่ยวอะไรบ้างในช่วงหน้าฝน เรื่องเครือข่ายต่างๆ เช่น ระบบโลจิสติกส์ ไมซ์ซิตี้ และสมาร์ทซิตี้ เรื่องเหล่านี้ก็จะต้องจัดทำแผนเช่นกัน”

“เรื่องสังคมไร้เงินสด ต้องดำเนินการต่อไป ผมย้ำกับรองผู้ว่าฯ เสมอว่า หนังสือที่ส่งไปให้แต่ละอำเภอ อย่าให้อำเภอคิด แต่ให้ลงมือทำทันที อำเภอเป็นผู้ปฏิบัติขอให้สั่งการได้เลย เพราะคนคิดว่าจะทำอะไรคือเรา เมื่อคิดอะไรได้ก็สั่งให้อำเภอทำให้สำเร็จ ส่วนเรื่องมหกรรมศิลปะนานาชาติ ผมคิดว่า ขณะนี้เงียบไปหน่อย ขอให้ไปช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรให้งานคึกคัก เช่น ทำกิจกรรมเดินพาเหรด โดยนำวงโยธวาทิตของโรงเรียนสุรนารีวิทยาหรือโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย รวมถึงวงดนตรีโรงเรียนต่างๆ ในโคราช มาเดินโชว์ในเมือง นำมาวงละ ๑๐๐ คน ประชาชนก็ให้ความสนใจ คนเขาจะได้รู้ว่ามีงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ผมคิดให้หมดแล้ว ต่อไปไม่คิดแล้ว ขอให้ช่วยกันทำช่วยกันคิดออกมา และช่วยกันประชาสัมพันธ์ด้วย”

นายวิเชียร กล่าวอีกว่า “เรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดฯ หรือ ททท. ไปหาจุดท่องเที่ยวชุมชนมา ซึ่ง อบจ.ก็พร้อมจะสนับสนุน รายการท่องเที่ยวชุมชนของช่อง ๓ ผมไปเชิญมาโคราช เขาไม่มา ดังนั้นเราต้องทำให้เขามา สถานที่ท่องเที่ยวในโคราชแตกต่างจากที่อื่น หลายแห่งสามารถนำมาโชว์ได้ แม้โคราชจะสู้ภาคเหนือไม่ได้ แต่อัตลักษณ์เราดีกว่า ลองปลุกปั้นแหล่งท่องเที่ยวมาสัก ๕ หมู่บ้าน ปีหน้าทำให้ได้”

“เรื่องอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ ให้ทุกอำเภอสำรวจว่า ในพื้นที่มีกิจกรรมเคาท์ดาวน์หรือไม่ วันนี้มีเสียงมาว่า ทำไมยังจัดงาน แต่เขาไม่ได้ฟังเสียงของผู้ประกอบการที่กำลังจะตาย งานเคาท์ดาวน์หน้าศาลากลางกำหนดผู้เข้าร่วมงาน ๒,๐๐๐ คน ก็จะต้องทำให้คนมาถึง ๒,๐๐๐ ให้ได้ เมื่อคืนมีคนมา ๒๓๘ คน แต่หวังว่า คืนวันที่ ๓๐-๓๑ ธันวาคม จะมีคนมามากขึ้น หัวหน้าส่วนราชการถ้าช่วงเย็นว่างช่วยไปเดินให้กำลังใจกันหน่อย แต่คนมาน้อยก็ช่วยให้ปลอดภัยเรื่องโควิด-๑๙ แต่ก็จะมีผลกระทบกับการประเมิน เพราะเดิมทีจะจัดที่เขาใหญ่ แต่ก็คุยกันทั้งวันเพื่อขอให้มาจัดในเมือง เพราะทุกวันนี้ในเมืองเงียบเหงา เดี๋ยวเขาจะหาว่า เห็นไหมละพอมาจัดในเมืองไม่มีคนเลย ส่วนเรื่องอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ นับคนเจ็บและคนตายตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ วันนี้มีคนเสียชีวิตแล้ว ๑ ราย ปีที่แล้วโคราชมีผู้เสียชีวิต ๑๖ ราย ดังนั้นปีนี้ควรจะไม่เกิน ๑๕ ราย รวมถึงเรื่องต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น เหตุไฟไหม้ ขอให้ อปท.ทุกที่จัดเตรียมรถดับเพลิงให้พร้อม ช่วงวันหยุดปีใหม่ ทุกอำเภอและส่วนราชการจะต้องมีคนอยู่ ไม่ใช่ชาวบ้านโทรหาแล้วไม่มีคนรับ หากไม่มีคนอยู่จะต้องตอบให้ได้ว่า” นายวิเชียร กล่าว

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ - วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ 


1055 1396