20thSeptember

20thSeptember

20thSeptember

 

February 20,2022

โพลชี้‘รถไฟความเร็วสูงลาว–จีน’ เชื่อส่งผลดีกับเศรษฐกิจภาคอีสาน

‘อีสานโพล’เผยผลสำรวจหากโควิดคลี่คลายอยากลองไปใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีนภายในปีนี้ เกินครึ่งเชื่อว่ามีประโยชน์มากกว่าผลเสียต่อเศรษฐกิจอีสาน จะให้ประโยชน์สูงสุดกว่าช่วงเส้นทางอื่นๆ และคนอีสานคิดว่าควรใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นมากที่สุด

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน” ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ๑,๐๘๐ รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ว่าจะส่งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคอีสานด้านใดบ้างและมากน้อยเพียงใด ซึ่งเมื่อสอบถามว่า “ภายในปีนี้ท่านจะไปใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนหรือไม่” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๒.๐  ตอบว่ายังไม่ไป รองลงมาร้อยละ ๓๙.๓ ตอบว่าอาจจะไป ขณะที่ร้อยละ ๑๘.๗ ตอบว่าไปแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเนื่องจากจำนวนประชากรอีสานที่มีอายุระหว่าง ๑๘–๔๐ ปี (กลุ่มที่มีสัดส่วนความต้องการไปลองใช้บริการสูง) มีจำนวนประมาณ ๗.๑ ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าจะมีคนอีสานประมาณ ๑.๓ ล้านคน ที่อยากไปลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีนภายในปีนี้ ซึ่งหากภาวะการระบาดของโรคโควิดคลี่คลาย เราอาจจะได้เห็นการแห่ไปลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว–จีนของคนอีสานอย่างคึกคัก

เมื่อสอบถามถึง “ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากรถไฟความเร็วสูงลาว–จีน” พบว่า กลุ่มตัวอย่างระบุถึงผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้ เศรษฐกิจภาคอีสานดีขึ้น การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น เกิดการจ้างงานและอาชีพใหม่ๆ ลดต้นทุนการนำเข้าสินค้า ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีน เพิ่มการลงทุนในภาคอีสาน ธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวลาวและจีนขยายตัว ช่วยเร่งการพัฒนาการขนส่งทางรางในภาคอีสาน ธุรกิจการขนส่งขยายตัว การนำเข้าและส่งออกเติบโต สินค้าเกษตรของไทยส่งออกได้มากขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคอีสาน

ประเด็น “ผลกระทบด้านลบที่คาดว่าจะมาจากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน” กลุ่มตัวอย่างระบุถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้ เกิดการระบาดของโรคติดต่อง่ายขึ้น เศรษฐกิจเติบโตกระจุกเฉพาะพื้นที่ การเข้ามาของทุนจีน ค่าครองชีพในบางจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น คู่แข่งทางธุรกิจและการค้าจะเพิ่มขึ้น มีอาชญากรรมและมิจฉาชีพข้ามชาติมากขึ้น เกิดการแย่งอาชีพและการค้าขายจากชาวต่างชาติ อาจสูญเสียการเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค เงินไหลออกจากการออกไปเที่ยวของคนไทย เงินไหลออกจากการออกไปเที่ยวของคนไทย ความวุ่นวายจากนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นที่มากขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลง และสินค้าเกษตรไทยถูกคุกคามจากสินค้าเกษตรของจีน

เมื่อสอบถามว่า “เศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน” พบว่า ร้อยละ ๕๕.๐ ระบุว่าเศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมจะได้ประโยชน์ โดยแบ่งเป็น ได้ประโยชน์มาก ร้อยละ  ๒๐.๖ และได้ประโยชน์เล็กน้อย ร้อยละ ๓๔.๔ ขณะที่มีเพียงร้อยละ ๑๙.๐ ที่ตอบว่า เศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมจะเสียประโยชน์ โดยแบ่งเป็น เสียประโยชน์เล็กน้อย ร้อยละ ๑๓.๙ และเสียประโยชน์มาก ร้อยละ ๕.๑ ทั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ ๒๖.๐ ที่ระบุว่า ไม่ได้และไม่เสีย (ได้และเสียเท่าๆ กัน)

เมื่อสอบถามว่า “ด้วยงบประมาณที่จำกัดและประโยชน์สูงสุด ท่านอยากให้มีการสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นใดให้เสร็จก่อน” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๖.๓ เห็นว่าควรสร้าง เส้นกรุงเทพฯ–ขอนแก่น ให้เสร็จก่อน รองลงมา ร้อยละ ๓๒.๕ เห็นว่า เส้นเวียงจันทน์–หนองคาย และเส้นกรุงเทพฯ–นครราชสีมา และร้อยละ ๒๑.๒ เห็นว่าเป็นเส้นเวียงจันทน์–ขอนแก่น

ท้ายสุด เมื่อสอบถามว่า “ประเทศไทยควรใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงจากประเทศใดมากที่สุด” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๑.๔ เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีประเทศญี่ปุ่น รองลงมา ร้อยละ ๑๘.๐ เห็นว่า เทคโนโลยีของจีน ร้อยละ ๑๔.๕ เกาหลีใต้ ร้อยละ ๑๓.๖ เยอรมัน และร้อยละ ๑๒.๕ ฝรั่งเศส

   
สำหรับข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ ๕๒.๓ และเพศชายร้อยละ ๔๗.๗ อายุ ๑๘-๒๔ ปี ร้อยละ ๗.๗ อายุ ๒๕-๓๐ ปี ร้อยละ ๑๔.๒ อายุ ๓๑-๔๐ ปี ร้อยละ ๒๒.๙ อายุ ๔๑-๕๐ ปี ร้อยละ ๒๕.๕ อายุ ๕๑- ๖๐ ปี ร้อยละ ๑๙.๖ และอายุ ๖๑ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๑๐.๐ โดยมีระดับการศึกษา ประถมศึกษา/ต่ำกว่าร้อยละ ๑๔.๒ มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๑๔.๖ มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ ๒๒.๒ อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๒๓.๔ ปริญญาตรี ร้อยละ ๒๔.๐ และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ ๑.๖ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ ๓๓.๐ รองลงมาผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างสถานประกอบการ ร้อยละ ๑๗.๕ ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ ๑๓.๓ พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๑๑.๗ รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๐.๒ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ ๖.๙ นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๕.๙ และ อื่นๆ ร้อยละ ๑.๔ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน รายได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาทร้อยละ ๗.๕ รายได้ระหว่าง ๕,๐๐๑-๑๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๖.๒ รายได้ระหว่าง ๑๐,๐๐๑-๑๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๓.๗ รายได้ ๑๕,๐๐๑-๒๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๑.๔ รายได้ ๒๐,๐๐๑-๔๐,๐๐๐ ร้อยละ ๑๙.๗ และรายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไป ร้อยละ ๑.๔

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๕ ประจำวันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่  ๒๒  เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช  ๒๕๖๕


111 1,770