February 25,2022
โควิดเตรียมเป็นโรคประจำถิ่น ผู้ติดเชื้อไม่หนักรักษาตัวที่บ้าน
‘ผอ.มหาราชฯ’ เผยโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนัก คาดกำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น เตรียมเน้นตรวจหาเชื้อด้วย ATK ให้ผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่บ้าน ยืนยันทีมแพทย์มีประสิทธิภาพ สงวนเตียงในโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยหนัก และเร่งจัดหาเตียงเพิ่ม “ผู้ว่าฯ วิเชียร” ย้ำทุกอำเภอ ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting
เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จังหวัดนครราชสีมาพบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ รายใหม่ ๕๖๒ ราย โดยเวลา ๑๔.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร และ พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายนิสัย สุขระ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “วันนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพุ่งขึ้น ทุกภาคส่วนในโคราชจึงต้องมาพูดคุยกันว่า จะมีแนวทางในการดำเนินงานอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ พบผู้ติดเชื้อมากถึง ๗๑๘ ราย ทำให้ประชาชนตกใจ แต่วันนี้พบ ๕๘๖ ราย ถือว่าขึ้นบ้าง วันนี้จะต้องพูดคุยกันให้ครอบคลุม โดยนำนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวตั้งว่า การติดเชื้อครั้งนี้จะมีโจทย์อย่างไร เพราะสายพันธุ์ล่าสุด เราสามารถอยู่กับมันได้ อาจจะต้องเพิ่มจำนวนเตียงใน CI ให้มากขึ้น และกิจกรรมหรือกิจการจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน”
ป่วยไม่หนักรักษาตัวที่บ้าน
นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำเสนอนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ว่า “จำนวนผู้ป่วยในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อเข้าสู่ช่วง Endemic โดยนโยบายขณะนี้ต้องการให้ทำการตรวจด้วย ATK เป็นอันดับแรก คือ เน้นการตรวจด้วย ATK ไม่เน้นการตรวจ RT-PCR ซึ่งหลังจากตรวจแล้วก็จะให้รักษาตัวใน HI (Home Isolution) เป็นหลัก แต่ถ้าผู้ป่วยจะเข้าสู่ CI (Community Isolution) จะต้องทำการแอดมิและตรวจ RT-PCR แต่ขณะนี้ต้องเข้าใจว่า สปสช.กำลังลดจำนวนการตรวจด้วย RT-PCR ลงเรื่อยๆ ดังนั้น โรงพยาบาลมหาราชจึงทำเป็น Professional ATK คือ สามารถตรวจยืนยันผลได้รวดเร็วและมีความแม่นยำสูงมากกว่าร้อยละ ๙๐ ขึ้นไป ซึ่งผลจะห่างกับการตรวจ RT-PCR เล็กน้อย จึงสรุปได้ว่า ต้องการให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK มากกว่า และจัดทำ HI เพิ่ม แต่ด้วยข้อจำกัดของ HI เช่น คนไข้ไม่เข้าใจ มีโรคประจำตัว และที่พักอาศัยไม่อำนวย จึงทำให้ที่โรงพยาบาลมหาราชฯ มียอดผู้ป่วยตกค้างจำนวนมาก เพราะที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ขณะนี้ควรจะเก็บเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยเหลืองและแดงจากทั้งจังหวัด จะย้ายมาที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ทั้งหมด หากที่ใดทำ HI ได้ก็จะเป็นเรื่องดี และขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ มั่นใจว่า การทำ HI ของโรงพยาบาลมหาราชฯ มีประสิทธิภาพสูงสุด มีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างทั่วถึง มีการส่งมอบยาและเวชภัณฑ์เป็นประจำ และมีการรายงานผลทุกเช้าเย็น จึงต้องการให้ทุกที่ทำ HI เป็นหลัก ในระยะต่อไปเมื่อเคสผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจะรับไม่ไหว แต่ถ้ามีข้อจำกัดเรื่อง HI ก็จะค่อยปรับมาทำ CI เช่น คนไข้ไม่สมัครใจ หรือไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ซึ่ง CI จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผมได้หารือกับนายแพทย์ สสจ. ว่า อาจจะต้องมีการจัดตั้ง CI ที่เป็นภาพรวมของจังหวัด ซึ่งเราจะต้องพัฒนาจุดนี้ และอาจจะต้องลดเวลาการแอดมิตลง จากเดิม ๑๐ วัน เหลือ ๕ วัน ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว แอดมิตครบ ๕ วันอาจจะต้องให้กลับไปรักษาตัวต่อ ข้อเสนอของโรงพยาบาลมหาราชฯ จึงสรุปได้ว่า จะเน้นให้ตรวจ ATK และเน้นการจัดทำ HI ให้มากขึ้น”
นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
เน้นหาเชื้อด้วย ATK
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “ต่อจากนี้ไปทุกอำเภอต้องรับทราบว่า จะเน้นการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และจัดทำ HI เป็นหลัก ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชฯ สามารถดูแล HI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนกรณีที่ไม่สามารถทำ HI ได้ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อในบ้านมีจำนวนมาก อาจจะต้องย้ายมาอยู่ที่ CI สำหรับแนวโน้มการระบาดทั่วโลก จะเห็นว่า ในโซนยุโรป ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อยๆ ลดลง นับเป็นช่วงขาลงของโซนยุโรปแล้ว ซึ่งเป็นธรรมชาติของไวรัส เมื่อมีคนติดเชื้อจำนวนมากแล้วรักษาหาย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะลดลง แต่ที่ประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หากโชคดีก็อาจจะเป็นในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น อนุมานได้ว่า อีกไม่ช้าประเทศไทยก็น่าจะลดลง”
นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศโซนยุโรปมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมแล้ว มีภูมิคุ้มกันหมู่เรียบร้อยแล้ว และก็ปลดล็อกมาตรการต่างๆ ทั้งหมด เพราะเชื้อโควิด เป็นไวรัสที่มีการติดเชื้อเป็นวงกว้าง จึงต้องปล่อยให้มีการติดเชื้อ แต่จะนำมาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เนื่องจากเรายังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ ยังจะต้องมีมาตรการป้องกันโควิด เช่น ตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นหลัก เมื่อมีการติดเชื้อก็จะต้องมีการส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล”
สสจ.เร่งหาเตียงเพิ่ม
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวว่า “สำหรับจำนวนเตียงเหลือในโรงพยาบาลมหาราชฯ ๓๔ เตียง เนื่องจากโรงพยาบาลมหาราชฯ เป็นโรงพยาบาลหลัก จึงต้องมีจุดที่รับผู้ติดเชื้ออาการรุนแรง ประกอบกับโรงพยาบาลจะต้องรับผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ ด้วย ดังนั้น อาจจะมีโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาผู้ป่วย ซึ่งในช่วงที่มีสายพันธุ์เดลต้าระบาด ปัญหาเตียงเต็มมีมากกว่านี้ แต่เราก็สามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้ ทั้ง ๔ โรงพยาบาลอาจจะต้องมาคุยกันว่า จะสามารถเพิ่มจำนวนเตียงได้เท่าไหร่ สำหรับจำนวนเตียงผู้ป่วยสีเหลือง เหลือเพียง ๔๘๗ เตียง ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะโอกาสมีผู้ป่วยเหลืองในระลอกนี้มีจำนวนมาก ที่ผ่านมาโคราชเคยเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลมหาราชฯ ดังนั้น รอบนี้อาจจะต้องทำอีกครั้ง ในส่วนของจำนวนเตียงใน CI ขณะนี้มีคำสั่งถึงทุกอำเภอและทุก อปท. ให้นำ CI เดิมที่เคยจัดทำไว้ กลับมาทำใหม่อีกครั้ง โดยที่น่าเป็นห่วง คือ อำเภอเมือง เพราะมีประชากรหนาแน่น หาสถานที่จัดตั้ง CI ยาก ซึ่งขณะนี้สภาอุตสาหกรรมให้พื้นที่มา ๒๐๐ เตียง และที่หอประชุมอำเภอเมือง ๒๐๐ เตียง ซึ่ง CI นี้จะดูแลโดย สสจ.นครราชสีมา โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ และ สสอ.เมือง นอกจากนี้ทราบมาว่า เทศบาลนครนครราชสีมา จะจัดทำ CI ที่วัดป่าสาลวัน อาจจะมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้น และวันนี้ผมได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล มทส. ซึ่งยินดีที่จะหาพื้นที่ใน มทส.จัดทำ CI เช่นกัน ดังนั้น เมื่อโคราชมี CI และ HI จำนวนมาก ก็จะช่วยลดจำนวนความต้องการเตียงในโรงพยาบาลหลักลงได้”
คลัสเตอร์โควิด
สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า วันนี้มี ๑๖ คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ๑.บริษัท แหลมทองโพลทริ จำกัด อำเภอสูงเนิน มีผู้ติดเชื้อ ๖๖ ราย ๒.งานบุญฉลองอัฐิบ้านหนองข่า ตำบลโนนรัง อำเภอชุมพวง มีผู้ติดเชื้อ ๓๐ ราย ๓.พนักงานร้านผลบุญการยาง อำเภอบัวใหญ่ มีผู้ติดเชื้อ ๑๓ ราย ๔.งานศพบ้านโนนเสี้ยว ตำบลโนนจาน อำเภอบัวลาย มีผู้ติดเชื้อ ๓๔ ราย ๕.พนักงานร้านสยามชัยการไฟฟ้า อำเภอบัวใหญ่ มีผู้ติดเชื้อ ๑๔ ราย ๖.เครือญาติ หมู่ที่ ๔ บ้านพุปลาไหล ตำบลสุขเกษม และหมู่ที่ ๙ บ้านขอนขว้าง ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย มีผู้ติดเชื้อ ๑๔ ราย ๗.รับจ้างขุดมันและงานแต่งงาน ตำบลหนองน้ำใส อำเภอสีคิ้ว มีผู้ติดเชื้อ ๔๔ ราย ๘.งานศพบ้านกุดน้อย อำเภอสีคิ้ว มีผู้ติดเชื้อ ๒๘ ราย ๙.งานบวชบ้านเกรา หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอโนนสูง มีผู้ติดเชื้อ ๒๒ ราย ๑๐.หมู่ที่ ๑๒ บ้านโนนรังน้อย ตำบลหนองขาม อำเภอจักราช มีผู้ติดเชื้อ ๒๔ ราย ๑๑.สถานีตำรวจภูธรวังน้ำเขียว มีผู้ติดเชื้อ ๑๗ ราย ๑๒.บริษัท จินตนา อินเตอร์เทรด จำกัด อำเภอเมือง ๑๒๘ ราย ๑๓.บ้านโนนสะอาด หมู่ที่ ๑๙ ตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด มีผู้ติดเชื้อ ๒๔ ราย ๑๔.ตลาดสดเทศบาลตำบลขามทะเลสอ มีผู้ติดเชื้อ ๑๓๔ ราย ๑๕.โรงเรียนบ้านคลองทุเรียน อำเภอวังน้ำเขียว มีผู้ติดเชื้อ ๒๙ ราย และ ๑๖.โรงเรียนบ้านหนองหิน ตำบลสระตะเคียน อำเภอเสิงสาง มีผู้ติดเชื้อ ๔๑ ราย
มาตรการ VUCA
นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “ผมต้องการแนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ซึ่งประกอบไปด้วยคำว่า ๑.Vaccine แม้จะมีผู้ติดเชื้อมากเพียงใด แต่ถ้าประชาชนได้รับวัคซีนเพียงพอแล้ว จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ จึงขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ๒.Universal Prevention หมายถึงมาตรการแบบรอบด้าน สมัยก่อนอาจจะต้องกินร้อน ช้อนกลาง และเว้นระยะห่าง แต่ขณะนี้จะต้องมีการตรวจเช็กสุขภาพตัวเองก่อนเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมทุกวัน ๓.Covid Free Setting ทุกกิจกรรมหรือกิจการจะต้องมีการรายงานสุขภาพย้อนหลัง ๑๔ วัน ก่อนร่วมกิจกรรมทุกครั้ง และให้ตรวจ ATK ภายใน ๗๒ ชั่วโมง และ ๔.การตรวจ ATK ทุกหน่วยงานจะต้องมีความพร้อมในการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ถ้าพบเชื้อแต่มีอาการไม่รุนแรง อาจจะให้อยู่ที่ HI และรับยาจากโรงพยาบาล แต่ถ้าทำ HI ไม่ได้ก็จะต้องทำ CI ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชุมชนด้วย อย่างน้อยทุกอำเภอจะต้องมี CI กลาง”
เน้นมาตรการ Covid Free Setting
นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “จากการรายงานคลัสเตอร์ต่างๆ เราควรจะดูแนวโน้มและสถานการณ์ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ในโรงงาน ผู้ว่าฯ ได้สั่งให้มีการทำงานอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสั่งการให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ ตรวจสอบมาตรการป้องกัน เนื่องจากหลายโรงงานมีรายชื่อพนักงานที่ไม่เป็นปัจจุบัน หลายครั้งเจอคลัสเตอร์โรงงาน แล้วไม่ได้ความร่วมมือในการขอรายชื่อพนักงาน เพราะตามจริงขอแล้วจะต้องได้ทันที เช่น คลัสเตอร์บริษัท จินตนา อินเตอร์เทรด กว่าจะได้เกือบ ๑ สัปดาห์ เป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก ผู้บริหารสังกัดกระทรวงแรงงานจะต้องไปตรวจสอบเรื่องนี้ สำหรับคลัสเตอร์งานบุญ งานบวช งานศพ และกิจกรรมทางสังคม สสจ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องช่วยกันคิดว่า จะมีมาตรการป้องกันอย่างไร ปัจจุบันมีกำหนดว่า อำเภอนำร่องการท่องเที่ยว สามารถรวมกลุ่มได้ไม่เกิน ๑,๐๐๐ คน ส่วนอำเภออื่นๆ ไม่เกิน ๕๐๐ คน ซึ่งถ้าไม่เกินจำนวนนี้ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้ สปก.อำเภอทราบ แต่ในความเป็นจริง เมื่อที่ใดจะมีงานบุญ ผู้เข้าร่วมไม่เกิน ๕๐๐ คน ก็ไม่แจ้ง สปก.อำเภอ เพราะแบบนี้อาจจะทำให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้น ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ก่อนจะร่วมงานจะต้องมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ไม่เช่นนั้นโคราชจะเจอคลัสเตอร์เหล่านี้มากขึ้น ซึ่งโคราชจะไม่ปรับมาตรการลดจำนวนคนเข้าร่วมอยู่แล้ว เนื่องจากต่อไปโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ทำอย่างไรที่กิจกรรมต่างๆ จะมีมาตรการที่รัดกุมมากขึ้น”
นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “โคราชมี ๗ อำเภอนำร่องการท่องเที่ยว สามารถจัดงานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ถ้ามีผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน ๑,๐๐๐ คน แปลว่า ผู้จัดจะต้องมีความรับผิดชอบนำเสนอมาตรการ Covid Free Setting ทำอย่างจึงจะปลอดภัยจากโควิด แล้ว สปก.อำเภอจะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ใช่แจ้งเฉยๆ แล้วไม่มีมาตรการ สปก.อำเภอจะต้องเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งผู้มาร่วมงานจะต้องเช็กสุขภาพตัวเอง และตรวจ ATK ภายใน ๗๒ ชั่วโมงก่อนร่วมงาน”
นายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ต้องการให้กำหนดมาตรการเป็นแนวทางปฏิบัติเหมือนกันทุกอำเภอ เพราะถ้าไม่เหมือนกันจะมีคนโต้แย้งได้ เมื่อครั้งที่ผมเป็นนายอำเภอครบุรี ผมเข้มงวดกว่าจังหวัด คือ ไม่ว่าจะเดินทางมาจากที่ใดจะต้องตรวจ RT-PCR เขาก็โต้แย้งประกาศจังหวัดได้ ผมจึงต้องการให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ กำหนดเป็นแนวทางให้เหมือนกัน เพื่อป้องกันปัญหาคนโต้แย้ง”
เตียงรองรับเพียงพอ
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๖๔๔ ราย เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา นายนิสัย สุขระ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ นายอำเภอเมืองนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
นายวิเชียร กล่าวว่า “สถานการณ์เตียงในจังหวัดนครราชสีมาขณะนี้ มีโรงพยาบาลมหาราชฯ โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ โรงพยาบาลปากช่องนานา และโรงพยาบาลค่ายสุรนารี ที่รองรับผู้ป่วยสีแดง ทำให้โคราชมีเตียงรับผู้ป่วยสีแดง ๒๘๒ เตียง ขอให้ประชาชนสบายใจได้”
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ กล่าวเสริมว่า “บริบทของโรงพยาบาลต่างๆ เราพยายามวางแผนล่วงหน้าในการจัดการจำนวนเตียง เช่น เมื่อมีแนวโน้มการระบาดมากขึ้น ทุกโรงพยาบาลจะพยายามทำโคฮอทวอร์ด (Cohot ward) เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยสีเหลือง ส่วนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง ก็มีการวางแผนล่วงหน้าไว้เสมอ วันนี้ทั้งจังหวัดรองรับผู้ป่วยสีแดงได้ ๒๘๒ เตียง แต่ในสัปดาห์หน้าจะมีการเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นอีก เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ผู้ป่วยที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ จะให้รักษาตัวที่ HI หรือ CI ซึ่งต้องว่ากันไปตามบริบท และทุกอย่างพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา”
คลัสเตอร์ยังระบาดหนัก
สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า วันนี้มี ๑๓ คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ๑.ร้านริมทางและงานขบวนแห่ศาลเจ้าพ่อพญาสี่เขี้ยว อ.สีคิ้ว มีผู้ติดเชื้อ ๔๑ ราย ๒.โรงเรียนหนองหมาก ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง มีผู้ติดเชื้อ ๔๙ ราย ๓.ตลาดเทศบาลบัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ มีผู้ติดเชื้อ ๑๙ ราย ๔.บ้านหนองผือ หมู่ที่ ๒ ต.หนองหว้า อ.บัวลาย มีผู้ติดเชื้อ ๑๕ ราย ๕.บ้านท่าลาด หมู่ที่ ๑ ต.ท่าลาด อ.ชุมพวง มีผู้ติดเชื้อ ๑๘ ราย ๖.สำนักศิลปากรที่ ๑๐ อ.พิมาย มีผู้ติดเชื้อ ๒๐ ราย ๗.โรงเรียนชุณหะวัณวิทยาคาร อ.ปักธงชัย มีผู้ติดเชื้อ ๑๗ ราย ๘.โรงงานแปรรูปไก่ อ.ขามทะเลสอ มีผู้ติดเชื้อ ๑๗ ราย ๙.ตลาดสดเทศบาลตำบลขามทะเลสอ มีผู้ติดเชื้อ ๑๙๐ ราย ๑๐.พนักงาน บริษัทแหลมทองโพลทริ อ.สูงเนิน มีผู้ติดเชื้อ ๑๑๖ ราย ๑๑.บริษัทจินตนา อินเตอร์เทรด อ.เมือง มีผู้ติดเชื้อ ๑๔๖ ราย ๑๒.รับจ้างขุดมันและงานแต่ง ต.หนองน้ำใส อ.สีคิ้ว มีผู้ติดเชื้อ ๕๕ ราย และ ๑๓.โรงเรียนบ้านหนองหิน ต.สระตะเคียน อ.เสิงสาง มีผู้ติดเชื้อ ๗๐ ราย
เจ้าหน้าที่ สสอ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า “วันนี้ที่อำเภอพบคลัสเตอร์ใหม่ ๑ คลัสเตอร์ เป็นร้านค้าที่ตำบลโคกกรวด มีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ตลาดประปา ซึ่งติดเชื้อจากการไปรับสินค้าที่ตลาดมาเปิดร้านส้มตำ โดยเมื่อวันที่ ๑๘-๑๙ กุมภาพันธ์ คนในครอบครัวมีอาการป่วย จึงไปซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจหาเชื้อ ปรากฏว่า พบผลบวก จึงตรวจในครอบครัวและร้านค้าทั้งหมด พบผลบวก ๙ ราย และวันนี้พบลูกจ้างติดเชื้อเพิ่มอีก รวมเป็น ๑๑ ราย นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าหรือร้านอาหารที่ติดเชื้อจากการไปรับสินค้าจากตลาดประปาอีก ๓ แห่ง อยู่ตำบลโคกกรวด หนองไข่น้ำ และสุรนารี สำหรับคลัสเตอร์ตลาดประปา ยังพบการติดเชื้อเพิ่ม โดยวันนี้พบเพิ่ม ๑๖ ราย อยู่ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่รับสินค้ามาจำหน่าย ในส่วนของผู้ติดเชื้อในอำเภอเมืองวันนี้ มาจากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ติดจากเพื่อนร่วมงาน ติดในครอบครัว งานเลี้ยงสังสรรค์ และติดในห้างสรรพสินค้า ซึ่งหลายคนอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เพราะขณะนี้พบปัญหาผู้ป่วยให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน”
นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “ขณะนี้การแพร่ระบาดเป็นในลักษณะอยู่ตามบ้าน ตามครอบครัว ประชาชนจึงต้องให้ความร่วมมือกับจังหวัด ขอฝากถึงทุกอำเภอ ต้องมีชุดบูรณาการร่วมทุกอำเภอ เพื่อออกตรวจร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ และการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากในพื้นที่ ขอให้เข้าไปดูแลหรือตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยการตรวจขอให้เน้นเรื่องการดำเนินการตามมาตรการ Covid Free Setting”
ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เสนอให้ปรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชีสาม จากเดิมทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เป็นทุกวันอังคารและวันศุกร์
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๖ ประจำวันพุธที่ ๒๓ เดือนกุมภาพันธ์ - วันอังคารที่ ๑ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
75 1,597