27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

March 13,2022

สงกรานต์ต้องเข้ม อาจติดเชื้อ ๕ หมื่นต่อวัน

เผยแนวโน้มโควิดช่วงสงกรานต์ หากย่อหย่อนอาจมีผู้ติดเชื้อ ๕๐,๐๐๐ รายต่อวัน คาดระบาดสูงสุดต้นเดือนพฤษภาคม อาจมีเด็กมากขึ้น แต่อาการไม่รุนแรง หวั่นแพร่ให้ผู้สูงอายุ แนะพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีน ย้ำก่อนกลับภูมิลำเนาให้ตรวจหาเชื้อยืนยัน


เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายวิจิตร กิจวิรัตน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวว่า “วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๗๖๔ ราย แบ่งเป็น RT-PCR ๓๕๗ ราย และ ATK ๔๐๗ ราย แยกเป็นรายอำเภอได้ดังนี้ อำเภอเมือง ๑๑๐ ราย ปากช่อง ๔๔ ราย ครบุรี  ๓๗ ราย พิมาย  ๓๓ ราย สูงเนิน  ๒๖ ราย จักราช  ๒๓ ราย บัวใหญ่ ๒๐ ราย ชุมพวง  ๑๕ ราย วังน้ำเขียว ๑๓ ราย คง  ๑๐ ราย บัวลาย  ๗ ราย ประทาย ๖ ราย สีคิ้ว  ๕ ราย สีดา  ๓ ราย โชคชัย  ๒ ราย โนนแดง ๒ ราย ปักธงชัย ๑ ราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ จำนวน ๒๑,๕๙๔ ราย เป็น ATK สะสม ๓,๒๓๔ ราย เสียชีวิตสะสม ๔๘ ราย และหายแล้ว ๑๒,๘๕๗ ราย”

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “ปกติตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยืนยันผลโดย RT-PCR จะมีมากกว่า ATK มาตลอด เช่น วันที่ ๔ มีนาคม RT-PCR  ๗๒๒ ราย ATK ๒๒๓ ราย, วันที่ ๕ มีนาคม ตัวเลข RT-PCR  ๗๒๒ ราย ATK ๒๒๓ ราย จะเห็นว่า ผู้ติดเชื้อที่ยืนยันผลโดย RT-PCR จะมีมากกว่า ATK ถึง ๓ เท่า แต่วันนี้ตัวเลข ATK สูงกว่า RT-PCR เป็นครั้งแรก หมายความว่า การตรวจหาเชื้อเชิงรุกด้วย ATK สามารถตรวจเจอผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ นับเป็นข้อดีของการแพทย์”

นพ.สมบัติ วัฒนะ กล่าวเสริมว่า “เดิมทีระบบสาธารณสุขจะใช้วิธีนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แต่หลังจากวันที่ ๑ มีนาคม ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ประชาชนสามารถตรวจด้วยตนเอง หากพบติดเชื้อ ให้ประสานงานมาที่โรงพยาบาล หรือแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อรับการตรวจยืนยันจาก ATK Professional use หากยืนยันผลแล้วพบว่า เป็นผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ จะมีการประสานกับโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน ไม่ต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ส่วนผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีอาการ หรือมีโรคประจำตัว จึงจะให้เข้ารับการตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยันผล”

นพ.สุชาติ เจนเกรียงไกร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า “หากผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจหาเชื้อด้วย ATK Professional use เมื่อยืนยันผลว่า ติดเชื้อ แพทย์จะให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน โดยกลุ่มที่รักษาตัวที่บ้าน จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ไม่มีความเสี่ยงแพร่โรคหรือความเสี่ยงอาการรุนแรง บางคนอาจจะได้รับเพียงยาบรรเทาอาการ บางคนอาจจะได้รับยาฟ้าทะลายโจร และบางคนอาจจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ผู้ป่วยจะได้รับยาตัวใดก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคน แต่ทุกคนจะได้รับการรักษาแน่ๆ”

สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า วันนี้มี ๑๐ คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ๑.โรงงานปริ้นเตอร์ (แคนนอน) อำเภอสูงเนิน พบผู้ป่วยทั้งหมด ๑๐๘ ราย ๒.บริษัท คาร์กิลมีท (ไทยแลนด์) จำกัด ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย พบผู้ป่วยทั้งหมด ๕๖ ราย ๓.โรงเรียนวานิชวิทยา อำเภอบัวใหญ่ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๑ ราย ๔.ค่ายลูกเสือโรงเรียนหนองหว้าตาดำ อำเภอชุมพวง พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๔๐ ราย ๕.งานบุญฉลองอัฐิ ตำบลกระทุ่มราย อำเภอประทาย พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๙๒ ราย ๖.งานมงคลสมรส หมู่ที่ ๓ ตำบลตาจั่น อำเภอคง พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๘ ราย ๗.งานศพบ้านหนองบง หมู่ที่ ๘ ตำบลโนนแดง อำเภอโนนแดง พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๐ ราย ๘.พนักงานร้านอะไหล่ยนต์ อำเภอบัวใหญ่ พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๓ ราย ๙.คลัสเตอร์บ้านขนายดี หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบิง อำเภอโนนสูง พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๑๒๕ ราย และ ๑๐.การฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ พบ ผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๔๓ ราย

สาเหตุการติดเชื้อ

จากนั้น เจ้าหน้าที่สสอ.เมืองนครราชสีมา รายงานกรณีพบผู้ป่วยมากกว่า ๑๐ ราย ว่า “เคสในพื้นที่อำเภอเมือง ยืนยันผลด้วย RT-PCR ๑๑๐ ราย และ ATK ๑๐ ราย อยู่ ย ส่วนหนึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อยู่ในระบบกักตัว มาเป็นผู้ติดเชื้อ ๒๐ ราย มีการรับเชื้อจากข้างนอกมาแพร่ระบาดในครอบครัว ประมาณ ๖-๗ ครอบครัว ติดเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งเพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก ๑๙ ราย และส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการสอบสวนโรคหาสาเหตุ”

เจ้าหน้าที่สำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา ว่า เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม มีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครบทุกคน ทั้งบุคลากร เจ้าหน้าที่ ครู และนักเรียน พบผู้ป่วยเพิ่ม ๑๘ ราย รวมทั้งหมด ๔๖ ราย ซึ่งวันนี้กำลังมีการตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง ทราบว่า พบติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย แต่ยังตรวจไม่ครบทุกคน ทั้งนี้ เทศบาลนครฯ จะขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ เพื่อขอขยายเวลาปิดสถานที่ สนามกีฬาโรงเรียนเทศบาลนครฯ ตั้งแต่วันที่ ๙-๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕ เพราะยังพบการติดเชื้อเพิ่มเรื่อยๆ อีกทั้ง มีการ Seal บุคลากร และสถานที่เพื่อจัดทำ School Isolation อยู่”

นายวีรชัย ปัญญาธนวัฒน์ ผู้ช่วย สสอ.ปากช่อง กล่าวว่า “วันนี้อำเภอปากช่องพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๔๔ ราย พบจากการค้นหาเชิงรุก ๒๐ ราย เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง ๑๗ ราย และเป็นผู้มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่อื่น ๗ ราย โดยผู้ป่วยทั้ง ๔๔ ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลปากช่องนานา ๗ ราย โรงพยาบาลสนาม ๗ ราย และอยู่ที่ CI หรือ HI ๓๐ ราย”

นายชัย บุญมา เจ้าหน้าที่ สสอ.ครบุรี กล่าวว่า “อำเภอครบุรีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ๓๗ ราย แยกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในการกักตัว ๓๐ ราย พบจากการค้นหาเชิงรุก ๓ ราย และมาจากพื้นที่อื่น ๔ ราย”

แนวทางรักษาตัวที่บ้าน

จากนั้น ดร.ศิวะยุทธ สิงห์ปรุ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีแผนจะประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น จึงให้เริ่มรักษาผู้ป่วยแบบ Self Isolation ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคมที่ผ่านมานั้น สำหรับผู้ที่จะได้รับการรักษาตัวที่บ้านแบบ Self Isolation คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุน้อยกว่า ๖๐ ปี ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า ๓๐ และได้รับวัคซีนครบหรือกระตุ้นไม่เกิน ๓ เดือน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการไอ เป็นไข้ และเจ็บคอ ต้องตรวจหาเชื้อด้วย ATK หากพบผลบวกหรือขึ้น ๒ ขีด ให้แยกตัวเองหรือกักตัว และแจ้งให้ทุกคนที่ใกล้ชิดตลอดระยะเวลา ๓ วันที่ผ่านมาทราบ เพื่อตรวจหาเชื้อด้วย ATK หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ แต่มีความเสี่ยง ให้แยกกักตัวสังเกตอาการ ๓ วัน ตรวจ ATK ในวันที่ ๗ และกักตัวจนครบ ๑๐ วัน”

ติดเชื้อวันละ ๕ หมื่นราย

“สำหรับการพยากรณ์สถานการณ์โควิด-๑๙ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจากการเฝ้าระวังในระดับประเทศตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๕ พบว่า การระบาดเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา ๑๔ วัน รวมประมาณ ๒๐,๐๐๐ ราย แม้ความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอนจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่า จึงทำให้พบผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน และทำให้จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีอาการปอดอักเสบมากขึ้นด้วย โดยแนวโน้มการระบาดในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม มีการพยากรณ์ว่า จะติดเชื้อสูงสุดกลางเดือนเมษายน ในช่วงหลังสงกรานต์ ประมาณวันที่ ๑๙ เมษายน แต่หากไม่สามารถคงมาตรการที่เข้มงวดได้ อาจมีโอกาสจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า ๕๐,๐๐๐ รายต่อวัน โดยจุดสูงสุดของการระบาดและพบผู้ป่วยอาการหนักสูงสุดจะอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สำหรับระลอกนี้จะติดเชื้อสูงสุดในวัยทำงานและเด็ก แต่ความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงจะพบในผู้สูงอายุ ดังนั้น ขอแนะนำให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเทศกาลสงกรานต์”

ห่วงผู้สูงอายุ

ดร.ศิวะยุทธ กล่าวอีกว่า “การติดเชื้อในเด็กจะสูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับระลอกที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกช่วงวัย เช่น วัย ๐-๒ ปี ติดเชื้อร้อยละ ๒.๔ วัย ๓-๔ ปี ติดเชื้อร้อยละ ๑.๘ วัย ๕-๑๑ ปี ติดเชื้อร้อยละ ๗.๖ และวัย ๑๒-๑๗ ปี ติดเชื้อร้อยละ ๖.๖ ซึ่งสูงกว่าระลอกที่ผ่านมา โดยวัย ๕-๑๑ ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและลดการแพร่เชื้อในครอบครัว กลุ่มที่มาแรง คือ เด็กวัยเรียน อายุ ๑๐-๑๙ ปี และ ๐-๙ ปี จะพบการติดเชื้อมากขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลให้ป่วยหนักและเสียชีวิต แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อ อาจจะทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นตามมา จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ในช่วงวันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสตายสูงกว่า โดยกลุ่มอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๓ และอายุ ๖๐-๖๙ ปี มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๐.๖๒ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป เสียชีวิตแล้ว ๙๒๘ ราย ในจำนวนนี้ไม่มีประวัติการรับวัคซีน ๕๕๗ ราย รับเพียงเข็มที่ ๑ จำนวน ๗๗ ราย เข็มที่ ๒ จำนวน ๒๗๑ ราย และเข็มที่ ๓ จำนวน ๒๓ ราย ส่วนผู้มีอายุ ๕๐-๕๙ ปี มีโอกาสเสียชีวิตร้อยละ ๐.๒๑ หากมีโรคประจำตัว ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีลูกหลานกลับบ้านไปเยี่ยมผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงต้องทำความเข้าใจก่อน และให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุมารับวัคซีนก่อนสงกรานต์ ซึ่งลูกหลานต้องรับวัคซีนเช่นกัน ที่สำคัญก่อนจะเข้าพบผู้สูงอายุ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อก่อนว่า ไม่พบเชื้อหรือไม่มีอาการ”

“จังหวัดนครราชสีมาเตรียมใช้มาตรการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ ๑.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ VUCA และ DMHTTA ๒.ประชาสัมพันธ์ให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และก่อนการเดินทาง ๓.ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ เน้นหลักปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ๔.เร่งฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด และ ๕.เตรียมสถานที่รักษาพยาบาลเพื่อรองรับการระบาด” ดร.ศิวะยุทธ กล่าวท้ายสุด


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๕๑๘ ประจำวันที่ ๙-๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕


104 1,636