March 13,2022
อุดรฯผ่านฉลุยพืชสวนโลก’๖๙ เตรียมลุ้น‘นครราชสีมา’ปี’๗๒
สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ในปี ๒๕๖๙ ที่จังหวัดอุดรธานี ภายใต้แนวคิดวิถีชีวิตสายน้ำและพืชพรรณ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ เปิดประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โชว์ศักยภาพพืชสวนไทยสู่สายตาโลก คาดมีผู้เข้าชม ๓.๖ ล้านคน
เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๗.๔๐ น. หรือเวลา ๑๔.๔๐ น. ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ณ Crowne Plaza Dubai Marina เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เข้าร่วมการประชุมสมาคมพืชสวนโลก (2022 AIPH Spring Meeting) ตามคำเชิญของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers : AIPH) และนำเสนอการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมพืชสวนโลก ๒๕๖๙ ที่จังหวัดอุดรธานี
จากนั้น เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ Crowne Plaza Dubai Marina เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ประกาศการคัดเลือกเป็นทางการ ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ (ระดับ B) ภายใต้แนวคิด Diversity of Life: Connecting people, water and plants for sustainable living วิถีชีวิตสายน้ำและพืชพรรณ สะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่ ความเชื่อมโยงของสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้คนในท้องถิ่น ผนวกแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) และนโยบายการเกษตรและอาหาร “3S” สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ระยะเวลาจัดงานระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๙ ถึงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๗๐ (๑๓๔ วัน) บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนเนื้อที่ ๑,๐๓๐ ไร่ แบ่งเป็น พื้นน้ำ ๔๐๐ ไร่ และพื้นดิน ๖๓๐ ไร่ คาดว่าจะทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมงานถึง ๓.๖ ล้านคน เป็นชาวไทยร้อยละ ๗๐ และชาวต่างชาติร้อยละ ๓๐ มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า ๒๐ ประเทศ/องค์กร/สมาคม
ในพิธีส่งมอบการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวแสดงความขอบคุณในนามของรัฐบาลไทยต่อสมาชิก AIPH สำหรับความไว้วางใจและการสนับสนุนที่มอบให้แก่ประเทศไทย โดยความสำเร็จครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำโดยทีเส็บ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงทางอาหารโลกตาม นโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ที่เน้นด้านความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศการเกษตร (Sustainability) โดยเป็นการดำเนินที่สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) และยึดมั่นต่อเจตนารมณ์ด้านสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกด้วย ซึ่งความมุ่งมั่นในเรื่องนี้สามารถผนวกใช้เป็นพื้นฐานของแนวคิดและการนำเสนอสาระของงาน และหวังว่า จะช่วยขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนได้ชัดเจนขึ้น กระทั่งเป็นแรงผลักดันให้มีการขับเคลื่อนมาตรการแนวปฏิบัติ ที่ทำได้จริงในระดับสากล เพื่อความยั่งยืนที่ลดทอนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้กล่าวาถึงความพร้อมของทางจังหวัดฯ ในการสร้างความมั่นใจต่อความสำเร็จของการจัดงานที่จะเกิดขึ้น โดยงานพืชสวนโลกที่อุดรธานีจะเป็นงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งแรกที่จัดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ด้วยสถานะความเป็นประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงศูนย์กลางด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคฯ ของทางจังหวัดอุดรธานีทำให้มั่นใจได้ว่าการจัดงานครั้งนี้ จะสะท้อนภาพแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงพันธุ์ไม้นานาชนิดซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของการจัดงานอีกด้วย
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ทีเส็บ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยในการยื่นประมูลสิทธิ์ครั้งนี้ ได้กล่าวแสดงความมั่นใจต่อความสำเร็จของการจัดงานที่ถือเป็นงานแลนด์มาร์คระดับโลก ซึ่งประเทศไทยเคย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกมาแล้วถึง ๒ ครั้ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ และยังได้เน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล และวาระแห่งชาติในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษา สิ่งแวดล้อมโดยมุ่งลดและพลิกฟื้นผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดงานที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๖๙
นายทิม ไบรเออร์คลิฟฟ์ (Mr.Tim Briercliffe) เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ กล่าวปิดท้ายในนามของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ว่า “AIPH มีความมุ่งหวังจะเห็นการจัดงานที่สามารถตอบโจทย์วาระการพัฒนาโลกในด้านต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม”
ทั้งนี้ มหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การจัดงาน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรเข้าเป็นสมาชิก AIPH ในนามประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ และไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกมาแล้วจำนวน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙ และ ครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยยื่นประมูลสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมพืชสวนโลกในปี พ.ศ.๒๕๖๙ ที่จังหวัดอุดรธานี และในปี พ.ศ.๒๕๗๒ ที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกระดับ B ที่จังหวัดอุดรธานี พ.ศ.๒๕๖๙ วงเงิน ๒,๕๐๐ ล้านบาท และระดับ A ที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๗๒ วงเงิน ๔,๒๘๑ ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น ๖,๗๘๑ ล้านบาท
สำหรับการจัดงานอุดรธานีเอ็กซ์โปในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน ๒,๕๐๐ ล้านบาท และสามารถดึงดูดผู้เข้าชมงาน จำนวน ๓.๖ ล้านคน ตลอดการจัดงานทั้ง ๑๓๔ วัน
อนึ่ง สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) แบ่งหมวดหมู่การจัดงานพืชสวนโลกไว้ ๔ ระดับ ดังนี้ ระดับ A นิทรรศการพืชสวนโลกขนาดใหญ่ มีรอบการจัด ๑๐ ปีขึ้นไป ใช้ระยะเวลาการจัดงาน ๓-๖ เดือน มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขั้นต่ำ ๕๐ เฮกตาร์ มีพื้นที่สิ่งก่อสร้างไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของพื้นที่จัดแสดง โดยสงวนพื้นที่ร้อยละ ๕ ไว้สำหรับผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ซึ่งต้องมีอย่างน้อย ๑๐ ประเทศเข้าร่วมจัดแสดง ส่วนระดับ B นิทรรศการพืชสวนนานาชาติ มีพื้นที่จัดแสดงขนาดเล็กกว่า A1 ใช้เวลาจัดงาน ๓-๖ เดือน มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขั้นต่ำ ๒๕ เฮกตาร์ ซึ่งแบ่ง ๓% สงวนไว้สำหรับนานาชาติหรือผู้เข้าร่วมจัดแสดง และมีประเทศที่เข้าร่วมจัดแสดงงานอย่างน้อย ๑๐ ประเทศ ระดับ C นิทรรศการจัดแสดงพืชสวนนานาชาติ มีระยะเวลาการแสดง ๔-๒๐ วัน มีพื้นที่การจัดงานอย่างน้อย ๖,๐๐๐ ตารางเมตร โดยสงวนร้อยละ ๑๐ ไว้สำหรับผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีอย่างน้อย ๖ ประเทศเข้าร่วมจัดแสดง และระดับ D นิทรรศการค้าพืชสวนนานาชาติ ไม่กำหนดระยะเวลาการจัดงาน โดยนิทรรศกาลจะมุ่งเป้าไปที่ผู้เยี่ยมชม การค้าขาย และส่งเสริมธุรกิจการค้า โดยผู้เข้าร่วมจัดแสดงร้อยละ ๖๐ จะต้องมีส่วนร่วมในด้านพืชสวน และนิทรรศกาลสามารถมีกิจกรรมประชุมหรือสัมมนาได้
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๕๑๘ ประจำวันที่ ๙-๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕
102 1,731