28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

April 02,2022

อสังหา‘โคราช-ขอนแก่น’น่าจับตา ‘จอหอ-หัวทะเล’ทำเลขายดี อย่ารีบสร้างบ้านใหม่เข้าตลาด

 

 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์สำรวจตลาดที่อยู่อาศัยภาคอีสาน ๕ จังหวัด ครึ่งปีหลัง ๒๕๖๔  มีทั้งสิ้น ๒๘๕ โครงการ ๒,๒๗๑ หน่วย มูลค่า ๔๒,๕๖๕ ล้านบาท ส่วน ๙ โซนโคราช บ้านที่ขายดีสุดอยู่ในโซนจอหอและหัวทะเล ราคาประมาณ ๒ ล้านบาท และคนนิยมบ้านแฝด ส่วนคอนโดส่วนใหญ่ขายดีในเมือง ปี ๒๕๖๕ จับตา “โคราช-ขอนแก่น” แต่เตือนผู้ประกอบการอย่ารีบเติมสินค้าใหม่เข้าตลาด หวั่นหน่วยเหลือขายล้น


เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๕ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ ๕ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม ซึ่งเป็นข้อมูลที่จากผลการสำรวจภาคสนาม ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วย

๕ จว.เหลือขาย ๑๒,๒๗๑ หน่วย

จากการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ณ สิ้นปี ๒๕๖๔ มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างเสนอขายจำนวนทั้งสิ้น ๒๘๕ โครงการ จำนวน ๑๒,๒๗๑ หน่วย คิดเป็นมูลค่า ๔๒,๕๖๕ ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงจากช่วงเดียวกันของปี ๒๕๖๓ ร้อยละ -๙.๑ มูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -๑๐.๕  มีโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังเพียง ๘๖๗ หน่วย มูลค่า ๒,๘๙๗ ล้าน ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๑๐,๔๓๙ หน่วย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -๑๕.๖ มีมูลค่าหน่วยเหลือขายรวม ๓๖,๐๙๕ ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ -๑๗.๙

สำหรับการเคลื่อนไหวด้านการขาย พบว่ามีหน่วยที่ขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ จำนวน ๑,๘๓๒ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๑.๔ มูลค่าขายได้ใหม่จำนวน ๖,๔๗๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘๐.๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งผลให้ภาพรวมมีอัตราดูดซับดีขึ้นเล็กน้อย โดยปรับขึ้นจากร้อยละ ๑.๔ ในช่วงปลายปี ๒๕๖๓ เพิ่มเป็นร้อยละ ๒.๕ ในช่วงปลายปี ๒๕๖๔

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ กล่าวว่า ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมาภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในด้านอุปสงค์ และอุปทาน เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี ๒๕๖๔ สถานการณ์โดยรวมเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว เมื่อผู้ประกอบการลดการเติมอุปทานใหม่เข้ามาในตลาด ส่งผลให้อัตราดูดซับเริ่มดีขึ้น โครงการเหลือขายลดจำนวนลง

บ้านจัดสรรขายดีสุด

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครึ่งหลังปี ๒๕๖๔  ในส่วนของหน่วยเสนอขายทั้งหมด ๑๒,๒๗๑ หน่วย คิดเป็นมูลค่า ๔๒,๕๖๕ ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร ๑๐,๑๑๓ หน่วย มูลค่า ๓๗,๒๗๒ ล้านบาท และโครงการอาคารชุด ๒,๑๕๘ หน่วย มูลค่า ๕,๒๙๔ ล้านบาทมีโครงการที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังเพียง ๘๖๗ หน่วย มูลค่า ๒,๘๙๗ ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร ๗๙๔ หน่วย มูลค่า ๒,๗๒๑ ล้านบาท อาคารชุด ๗๓ หน่วย มูลค่า ๑๗๕ ล้านบาท  

สำหรับโครงการขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ มีจำนวน ๑,๘๓๒ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๑.๔ มูลค่าขายได้ใหม่จำนวน ๖,๔๗๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘๐.๕ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในส่วนของโครงการบ้านจัดสรรมีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ประมาณ ๑,๕๒๔ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๑.๖ มูลค่า ๕,๕๔๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗๒.๖ ในขณะที่โครงการอาคารชุดขายได้ใหม่จำนวน ๓๐๘ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๐.๔ มูลค่า ๙๒๓ ล้านบาท

ขอนแก่นปรับตัวดีขึ้น

โดยจังหวัดขอนแก่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยรอการขาย ณ ปี ๒๕๖๔ มีจำนวนทั้งสิ้น ๓,๗๐๖ หน่วย ลดลงถึงร้อยละ -๖.๗ คิดเป็นมูลค่า ๑๑,๔๑๕ ล้านบาท ลดลงร้อยละ -๗.๗ เมื่อเทียบกับช่องเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดลดลงโดยมีจำนวน ๒๙๕ หน่วย ลดลงถึงร้อยละ -๒๘.๒ มูลค่า ๙๔๑ ล้านบาท ลดลง -๒๐.๕ โดยมีหน่วยขายได้ใหม่เพียง ๕๙๙ หน่วย อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗๓.๑ มูลค่าการขายได้ใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๘.๔ คิดเป็นมูลค่า ๑,๙๑๑ ล้านบาท แต่ด้วยเหตุผลที่สินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดน้อยลงอย่างมาก ส่งผลให้อัตราดูดซับขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ ๒.๗

โคราชอัตราดูดซับดี

ในขณะที่จังหวัดนครราชสีมามีอัตราการเพิ่มขึ้นของโครงการขายได้ใหม่ในประเภทโครงการอาคารชุดสูงถึงร้อยละ ๑๓๘.๑ หน่วยเหลือขายลดลงร้อยละ -๓๐.๒ ขณะที่โครงการเปิดขายใหม่ลดลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่มีจำนวนหน่วยต่ำ ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีอัตราดูดซับดีขึ้นอย่างชัดเจนโดยปรับเพิ่มจากร้อยละ ๑.๓ ในครึ่งหลังปี ๒๕๖๓ เพิ่มเป็นร้อยละ ๒.๒ ในครึ่งหลังปี ๒๕๖๔

ดร.วิชัย กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา ในครึ่งปีหลังของปี ๒๕๖๔ ว่า โครงสร้างตลาดของโคราช ที่มีสินค้า offer ขายอยู่มากกว่า ๕๐๐ หน่วย จะเป็นคอนโด ๑,๓๐๐ หน่วย บ้านแนวราบ ๔,๓๐๐ หน่วย ซึ่งบ้านแนวราบที่ offer ขายกันอยู่นี้เป็นบ้านเดี่ยว ๕๓% คอนโด ๒๓% นอกจากนั้นเป็นทาวน์เฮ้าส์และบ้านแฝด อย่างละ ๑๐% ทั้งนี้ เมื่อแยกประเภทของหน่วยขายเข้าใหม่ แยกเป็น คอนโด ๓๖๐ หน่วย มูลค่า ๑๗๕ ล้านบ้าน บ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยว/ทาวน์เฮ้าส์) ๒๘๗ หน่วย มูลค่าประมาณพันล้านบาท ซึ่งก่อนเกิดโควิดมีการเปิดตัว ๑,๐๐๐ กว่าหน่วย สะท้อนว่าในช่วงโควิดการเปิดตัวในโคราชลดลงจริงๆ สำหรับยอดขายจากที่สำรวจพบว่า ในครึ่งหลังปี ๒๕๖๔ มี ๗๔๑ หน่วย ก่อนโควิดขายได้ ๑,๐๐๐ หน่วยเศษ จึงถือว่าเป็นการลดลงเล็กน้อย ยังถือว่าดีกว่าบางช่วงกอนที่จะเกิดโควิดด้วยซ้ำ

บ้านขายดีที่จอหอ-หัวทะเล

“สำหรับยอดขายของบ้านแนวราบ (บ้านเดี่ยว) มีจำนวน ๕๔๑ หน่วย ๗๓% มูลค่า ๒ พันล้าน ส่วนคอนโดมียอดขาย ๒๐๐ หน่วย มูลค่า ๗๐๐ ล้าน ซึ่งในส่วนของคอนโดที่ขายได้ ๒๐๐ หน่วยในครึ่งปีหลัง ๒๕๖๔ ถือว่าขายได้ลดลง และมีการเติมเข้ามาของหน่วยใหม่น้อยลงด้วย ในขณะที่ทำเลชของบ้านเดี่ยวที่ขายดีในระดับ ๑๐๐ หน่วยขึ้นไปจะอยู่ในบริเวณจอหอและหัวทะเล ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี รองลงมาขายได้ประมาณ ๖๐ หน่วย เป็นแถวบ้านใหม่และโคกกรวด ซึ่งบ้านเดี่ยวที่ขายได้นี้จะอยู่ราคา ๓-๕ ล้านบาท ส่วนคอนโด ขายอยู่ในเมือง ซึ่งตัวเลขจะไม่หนีจากโซนเขาใหญ่มากนัก ระดับราคาประมาณ ๒-๓ ล้านบาท” ดร.วิชัย กล่าว

ดร.วิชัย นำเสนออีกว่า สำหรับหน่วยเหลือขายของที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา ณ สิ้นปี ๒๕๖๔ ทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดมีจำนวน ๔,๘๗๐ หน่วย ซึ่ง ๑ ใน ๓ เป็นหน่วยที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ได้ คือประมาณ ๑,๙๐๐ หน่วย ซึ่งในจำนวน ๑,๙๐๐ หน่วยนี้เป็นอาคารชุด ๙๙๐-๑,๐๐๐ หน่วย รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยวที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่ได้ประมาณ ๖๕๐ หน่วย

๙ โซนอสังหาฯ หนาแน่น

ทางด้านนายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา นำเสนอข้อมูลอสังหาฯ ในจังหวัดนครราชสีมา ว่า โคราชมีทำเล ๙ โซน ที่มีการทำที่อยู่อาศัยหนาแน่น อันดับหนึ่งคือจอหอ ในเมือง หัวทะเล สุรนารี บ้านใหม่ โคกกรวด สูงเนิน โชคชัย และมีการขยับขยายไปแถวขามทะเลสอ ซึ่งมีการทำบ้านเดี่ยวบ้างแล้ว ส่วนโคกกรวดส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว ซึ่งมีหน่วยเหลือขาย ๒๐๐ กว่าหน่วย ส่วนโซนจอหอกจะเป็นบ้านเดี่ยวเป็นหลัก แต่ก็เริ่มเห็นทั้งทาวน์เฮ้าส์และบ้านแฝดมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินสูงมากขึ้นด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้บ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มมากขึ้น มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ที่เห็นชัดๆ คือโซนในเมืองซึ่งมีบ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยสัดส่วนของบ้านเดี่ยวที่อยู่่ในเมืองลดน้อยลง แต่จะมีในโซนบ้านใหม่ที่มีบ้านเดี่ยว ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเจ้าใหญ่ในตลาดเข้ามาในจังหวัดนครราชสีมามากขึ้น ซึ่งบริษัทมหาชนจะทำบ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์เป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นบ้านแฝดในสองชั้น ราคาประมาณ ๒ ล้านบาท

รายใหญ่นิยมสร้างบ้านแฝด

“สำหรับบ้านเดี่ยวในโซนจอหอที่ถือเป็นอันดับ ๑ มีการขยายไปแถวบึงทับช้างค่อนข้างมาก ส่วนทาวน์เฮ้าส์เป็นโซนในเมืองและหัวทะเล ส่วนหนึ่งเป็นของผู้ประกอบการอสังหารายใหญ่่ และเริ่มเห็นบ้านแฝดมากขึ้น เพราะเห็นว่าขนาดบ้าน ๕๖ วา อาจจะราคาสูงมากไป จึงลดเหลือเพียง ๔๐ วาหรือ ๓๕ วา ส่วนอาคารชุด (คอนโด) ในเมืองก็เริ่มมีมากขึ้น ในขณะที่อาคารพาณิชย์ที่ซัพพลายไว้เยอะน่าจะค้างอยู่ในตลาดจำนวนมาก เพราะอาคารพาณิชย์การทำธุรกิจค่อนข้างมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ขายได้ค่อนข้างช้า สำหรับผู้ประกอบการอสังหารายใหญ่จากส่วนกลางที่ไปได้ดีมีอยู่ประมาณ ๓ ราย ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำเป็นบ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์ ราคาประมาณ ๒ ล้านกว่าถึง ๓ ล้านต้นๆ ทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ต้องการที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวด้วยเปิดรับสินค้าใหม่มากขึ้น ในขณะที่คอนโดจะเกิดขึ้นในพื้นที่ถนนมิตรภาพช่วงระหว่างเดอะมอลล์ถึงเทอร์มินอล แม้จะมีการไปทำหลายโซนหลายพื้นที่แต่ยังขายได้ค่อนข้างช้ากว่าโซนในเมือง” นายนราทร กล่าว

ไม่นิยมซื้อเก็งกำไร

นายนราทร กล่าวว่า สำหรับการแข่งขันนั้น การซื้อเพื่อการเก็งกำไรค่อนข้างลำบาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรียลดีมานต์ ส่วนลูกค้าที่ซื้อบ้านก็อยู่ในภาคส่วนของการทำงานในภาคอุตสาหกรรม แต่ในช่วงที่เกิดโควิด ส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานลดลง โอทีลดลง ทำให้กำลังซื้อลดลง จะเห็นว่า กลุ่มที่เคยซื้อบ้านในราคาประมาณ ๒ ล้านต้นๆ จะกู้ค่อนข้างยากมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา ยังได้สรุปจำนวนหน่วยเหลือขายในครึ่งปีหลังของปี ๒๕๖๔ เป็นบ้านจัดสรร จำนวน ๔,๔๒๓ หน่วย มูลค่า ๑๖,๓๔๖ ล้านบาท อาคารชุด (คอนโด) ๑,๕๓๗ หน่วย มูลค่า ๔,๖๓๒ ล้านบาท สำหรับทำเลในเมือง แยกเป็นบ้านเดี่ยวทั้งหมด ๑,๓๐๒ หน่วย ขายแล้ว ๗๐๘ หน่วย เหลือขาย ๕๙๔ หน่วย, ทาวน์เฮ้าส์ทั้งหมด ๔๔๖ หน่วย ขายแล้ว ๒๑๐ หน่วย คงเหลือ ๒๓๖ หน่วย, บ้านแฝด ๓๒๒ หน่วย ขาบแล้ว ๑๕๖ หน่วย เหลือขาย ๑๖๖ หน่วย, คอนโด ๑,๘๒๕ หน่วย ขายได้ ๑,๓๖๓ หน่วย เหลือขาย ๔๖๒ หน่วย และอาคารพาณิชย์ ๕๘ หน่วย ขายแล้ว ๑๙ หน่วย เหลือขาย ๓๙ หน่วย

ในขณะที่โซนหัวทะเล มีบ้านเดี่ยวทั้งหมด ๑,๔๐๗ หน่วย ขายแล้ว ๙๑๕ หน่วย เหลือขาย ๔๙๒ หน่วย, ทาวน์เฮ้าส์ ๗๓๒ หน่วย ขายแล้ว ๓๕๖ หน่วย เหลือขาย ๓๗๖ หน่วย, บ้านแฝด ๒๘๔ หน่วย ขายแล้ว ๑๑๑ หน่วย เหลือขาย ๑๗๓ หน่วย และอาคารพาณิชย์ ๑๐๖ หน่วย ขายแล้ว ๗๙ หน่วย เหลือขาย ๒๗ หน่วย

ปี ๖๕ อยู่ในช่วงฟื้นตัว

ท้ายสุด ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดการณ์ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในภาคอีสานปี ๒๕๖๕ ว่า จะเป็นช่วงของการฟื้นตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปทานคาดการณ์ว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๐.๓ เพิ่มจาก ๒,๔๕๐ หน่วย ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๓,๙๒๘ หน่วยในปี ๒๕๖๕ ขณะที่จำนวนหน่วยเหลือขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒.๖ โดยหน่วยเหลือขายจะเพิ่มขึ้นจาก ๑๐,๔๓๙ หน่วย ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๑๒,๗๙๕ หน่วย ในปี ๒๕๖๕ มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐.๕ โดยเพิ่มขึ้นจาก ๓๖,๐๙๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๔๓,๕๐๕ ล้านบาท ในส่วนของอุปสงค์คาดการณ์ว่าภาพรวมหน่วยขายได้ใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๙ โดยเพิ่มจาก ๓,๙๗๓ หน่วย ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๔,๒๐๖ หน่วย ในปี ๒๕๖๕ มูลค่าการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๘ โดยเพิ่มจาก ๑๒,๙๔๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๔ เป็น ๑๓,๕๖๐ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๕ ส่งผลให้อัตราดูดซับโดยภายรวมในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๕ ยังคงทรงตัวอยู่ในอัตราร้อยละ ๒.๔

โคราช-ขอนแก่น’น่าจับตา

อย่างไรก็ดี ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี ๒๕๖๕ จังหวัดหลัก คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น เป็นพื้นที่ที่น่าจับตา โดยจังหวัดนครราชสีมาคาดว่าจะมีหน่วยเปิดขายใหม่จำนวน ๑,๙๑๗ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐๖.๐ คิดเป็นมูลค่า ๕,๖๒๗ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๘๓.๗ โดยคาดการณ์ว่าจะมีหน่วยขายได้ใหม่จำนวน ๑,๘๖๕ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘.๙ คิดเป็นมูลค่า ๖,๐๖๑ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕.๑ ส่วนหน่วยเหลือขายเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลมาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ คาดการณ์ว่าจะมีหน่วยเหลือขาย ๕,๙๖๐ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๒.๔ คิดเป็นมูลค่า ๒๐,๙๗๘ ล้านบาท

ส่วนจังหวัดขอนแก่น ทิศทางการขยายตัวอยู่ในกลุ่มโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก คาดว่าจะมีหน่วยเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน ๑,๑๙๕ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๖.๔ คิดเป็นมูลค่า ๓,๑๕๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๙.๖ มีหน่วยขายได้ใหม่ ๑,๑๕๑ หน่วย ลดลงร้อยละ -๐.๓ คิดเป็นมูลค่า ๓,๖๗๙ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๐ ขณะที่มีหน่วยเหลือขาย ๓,๒๗๔ หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๔ มูลค่า ๑๐,๖๙๓ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๒.๕

เตือนอย่าเพิ่งเติมของใหม่เข้าตลาด

“ความเคลื่อนไหวของตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงต้องให้ความระมัดระวังในด้านการเติมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด เนื่องจากทุกจังหวัดอัตราดูดซับยังอยู่ในระดับทรงตัว หากเติมสินค้าใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้นหน่วยเหลือขายก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และโดยภาพรวมตลาดยังคงเป็นของที่อยู่อาศัยแนวราบในกลุ่มราคาไม่สูง” ดร.วิชัย   วิรัตกพันธ์ กล่าวในตอนท้าย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๐ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่  ๒๙  เดือนมีนาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


986 1589