April 11,2022
จม.ถึง‘วิเชียร’ฐานะนายทะเบียน ช่วยยุติขัดแย้งหอการค้า แถลงยัน’ทุกอย่างเที่ยงธรรม’
กลุ่มพิทักษ์หอการค้าฯ บุกยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ในฐานะนายทะเบียน กรณีเกิดความขัดแย้ง ๔ เรื่อง ทั้งกรณีเงิน ๗ แสน ด้านการใช้อำนาจและจัดประชุม การเงินการบัญชีและทรัพย์สิน รวมทั้งการจัดทำโครงการ หวังให้ช่วยยุติปัญหา ยืนยันเจตนาดี ด้านกรรมการประชุม พร้อมออกแถลงการณ์ ยืนยันดำเนินการทุกอย่างเที่ยงธรรม ไม่ใช่ยกหนี้แต่เป็นเงินบริจาค ส่วนการให้เจ้าหน้าที่ถือเงินสดอ้างเป็นธรรมเนียมที่ทำตามๆ กันมา
ตามที่กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ แต่เนื่องจากผู้ว่าฯ ไปปฏิบัติราชการนอกศาลาลกลางจังหวัดฯ จึงเป็นเพียงการยื่นตามระบบราชการ โดยหนังสือดังกล่าวอ้างถึง พ.ร.บ.หอการค้า พ.ศ.๒๕๐๙ มาตรา ๗ และมาตรา ๓๑ พร้อมทั้งแนบหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสานฉบับที่ ๒๗๑๗ ระหว่างวันที่ ๒-๘ มีนาคม ๒๕๖๕, หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๑๘ ระหว่างวันที่ ๙-๑๕ มีนาคม ๒๕๖๕, หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๒๐ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๙ มีนาคม ๒๕๖๕ และหนังสือพิมพ์เอ็กเซ็คคิวทีฟ ฉบับที่ ๓๙๓ ระหว่างวันที่ ๒๐ มีนาคม - ๒๐ เมษายน ๒๕๖๕
ถึงผู้ว่าฯ ควรพิจารณา
หนังสือดังกล่าวระบุว่า “กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้า อันประกอบด้วย สมาชิกหอการค้าฯ อดีตผู้บริหารฯ อดีตสมาชิกฯ และผู้ประกอบการที่เคยร่วมกิจกรรมกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความห่วงใยในปัญหา และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ เพราะหอการค้าถือเป็นเสาหลักของภาคเอกชน ในการส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และยึดถือเป็นเรื่องสําคัญอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ในอดีตที่ผ่านมามีอดีตประธานหอการค้าได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนหลักสูตร วปอ.หลายท่าน นับเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งองค์กรเป็นอย่างยิ่ง จากข้อปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหากปล่อยให้เหตุการณ์ดําเนินต่อไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในองค์กร และโครงการที่จะมีร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชนในอนาคต
“ในฐานะที่ท่านเป็นนายทะเบียนหอการค้าประจําจังหวัดนครราชสีมา ตาม พ.ร.บ.หอการค้า พ.ศ.๒๕๐๙ จึงขอความกรุณาจากท่านให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกเพื่อ มาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ช่วยไขข้อสงสัยที่ทําให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งนี้ให้กระจ่างเป็นที่ยอมรับ โดยขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอันประกอบไปด้วยตัวแทนด้านยุติธรรม ตัวแทนวิชาชีพ ผู้ตรวจสอบบัญชี ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษา ตัวแทนด้านการบริหารองค์กร ตัวแทนธรรมาภิบาล จังหวัด ตัวแทนด้านการต่อต้านทุจริต คอร์รัปชัน และอื่นๆ ตามที่ท่านเห็นสมควร
“เรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและขอให้พิจารณาตรวจสอบ มีดังนี้ ๑.กรณีการจัดทําโครงการพันธมิตร ในประเด็นเงินจํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ๒.กรณีการบริหารองค์กรด้านการใช้อํานาจและการจัดประชุม ๓.กรณีการเงินการบัญชีและทรัพย์เงินขององค์กร ๔.การจัดทําโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร หากท่านต้องการข้อมูลใดเพิ่มเติม ทางคณะฯ ยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อพิทักษ์องค์กรหอการค้า จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นองค์กรของสมาชิกและผู้ประกอบการในจังหวัดนครรราชสีมาต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และให้ความอนุเคราะห์ดําเนินการต่อไปอย่างเร่งด่วน จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูง”
โดยผู้ลงนามในหนังสือ ประกอบด้วย นางสาวณัฐฐนันท์ กุมารสิงห์ สมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายวัชร กลินทะ อดีตผู้อํานวยการบริหารหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายธฤษณุ ขจรโกวิทย์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ ๒ SMEs หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายณัฐวุฒิ เตชะวณิช อดีตอนุกรรมการฝ่ายเศษฐกิจ ๒ SMEs หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายสังคม สายทอง เป็นผู้ประสานงานกลุ่ม
พิทักษ์รักองค์กร
ทั้งนี้ อุดมการณ์ของกลุ่มพิทักษ์หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.มุ่งพิทักษ์ รักษาองค์กรฯ มากกว่าตัวบุคคล ๒.ยึดหลักว่า “องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา คือศาลากลางภาคประชาชน ๓.ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล จริยธรรม ข้อมูลบนข้อเท็จจริง และกฎหมาย องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สร้างขึ้น ตั้งมา ดำรงอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์ในการผลักดัน พัฒนา ภาคสังคมเศรษฐกิจ ปากท้องของผู้ประกอบการทุกระดับในจังหวัดนครราชสีมา
ไม่ต้องการทำลายใคร
ภายหลังการยื่นหนังสือตัวแทน (ขอสงวนนาม) กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ต้องการไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ แบบเงียบๆ ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้เป็นข่าว และไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายใคร เพียงแค่ได้ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีการตั้งคำถามทำนองว่า หอการค้าจะปล่อยให้เรื่องเงียบไปเฉยๆ หรืออย่างไร จึงเป็นการจุดประกายให้พวกเรา ๔ คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหอฯ ทั้งเป็นสมาชิก อดีตผู้บริหาร และอนุกรรมการหอการค้าฯ เป็นห่วงองค์กร ทำไปเพื่อองค์กร ต้องการให้องค์กรอยู่คู่บ้านคู่เมือง นี่คือเจตนารมณ์ของกลุ่มพิทักษ์องค์กรฯ ในการดำเนินการเรื่องนี้ จึงขอให้เป็นอำนาจของนายทะเบียนหอการค้าจังหวัดฯ (ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ) โดยหวังว่านายทะเบียนจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เรื่องยุติ หากสองฝ่ายออกมาพูดว่าต่างฝ่ายต่างว่าตัวเองถูก เรื่องคงไม่จบ แต่ถ้านายทะเบียนออกมาพูดเรื่องก็จะจบ ซึ่งกลุ่มพิทักษ์องค์กรฯ ก็ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับกรรมการหอการค้าฯ”
คตส.ประชุมร่วมกรรมการ
ในขณะที่เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๕ มีข่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบภายใน (คตส.) หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การนำของนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานกรรมการ คตส. นายคำรณ ครบนพรัตน์ นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ นายโกศล สมจินดา ประชุมร่วมกับกรรมการหอการค้าฯ นำโดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าฯ นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง รองประธานฝ่ายกฏหมายและธรรมาภิบาล นายฉัตรชัย อินทนากรวิวัฒน์ กรรมการเหรัญญิก และเจ้าหน้าที่หอการค้าฯ
ต่อมาวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๕ “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธาน คตส.หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า การประชุมเมื่อวานนี้ผู้เข้าประชุมเป็น คตส. ๔ คน และหอการค้าฯ ๔ คน ซึ่งมีการตรวจเอกสาร ดูความเป็นมา ซักถามกรรมการ และอดีตประธานบางคนว่าเมื่อก่อนปฏิบัติอย่างไร โดยพบว่ามีรูปแบบการปฏิบัติที่คล้ายๆ กัน ส่วนประเด็นที่พูดๆ กันนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งประเทศไทยเป็นสังคมที่รับฟังเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว จากนั้นก็นำไปขยายผล แต่เรื่องมันยาว แถลงการณ์ที่จะออกมาความยาวหน้ากว่าๆ
ยืนยันเป็นเงินบริจาค
“กรณีของคุณชัชวาลที่ได้รับเลือกเป็นประธานหอการค้าฯ และรับมอบเงินจากคณะกรรมการหอฯ ชุดเก่าหลักแสน แต่โดยลักษณะแล้วเป็นคนก้าวหน้า จึงคิดวิธีหาเงินจากพันธมิตรทั้งผู้ที่เคยร่วมทำธุรกิจและจากครอบครัว ซึ่งการบริจาคก็ราบรื่น ได้ปีละล้านกว่าบาท กระทั่งเกิดโควิด ครอบครัวก็จ่ายไม่ได้ รวมทั้งบริษัทเซ็นทรัล ซึ่งเป็นมหาชน ทั้งหมดมูลค่า ๗ แสนบาท ซึ่งกำลังจะหมดวาระการบริหารด้วย จึงเท่ากับจบโครงการ และข้ามมาถึงคณะกรรมการชุดต่อมา บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นหนี้สิน ซึ่งจริงๆ แล้วหัวใจของการบริจาคคือ เขาได้รับเงินแล้วจึงจะเอาเงินไปเข้าหอฯ จากนั้นหอฯ จึงจะรับเป็นเงินรายได้ ซึ่งเมื่อครบวาระการบริหารก็มีเงินส่งมอบให้กรรมการชุดใหม่กว่า ๓ ล้านบาท เพราะฉะนั้น คนที่เข้าใจว่าเป็นการยกหนี้ให้ เป็นการเข้าใจผิด ซึ่งเขาอาจจะตั้งใจจะบริจาคแต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไม่บริจาคก็ได้ แล้วก็ขอให้เป็นการให้ในลักษณะอื่น ซึ่งก็สามารถทำได้ รวมทั้งในปีนั้นก็มีโควิดทำให้ไม่มีรายได้ และก็เป็นโครงการของการบริหารในคณะกรรมการหอการค้าฯ ชุดนั้น” นายสมชัย กล่าว
“โคราชคนอีสาน” ถามว่า โครงการพันธมิตรหอการค้าฯ มีขึ้นเฉพาะในสมัยของนายชัชวาล วงศ์จร ใช่หรือไม่? นายสมชัย ตอบว่า “ใช่ เขาเป็นคนคิดขึ้นมา คุณชัชวาลทำโครงการอะไรก็สำเร็จราบรื่น แต่ก็อาจจะมีคนมากล่าวหาว่า อ้าว...แล้วทำไมให้ผู้อำนวยการหอการค้าฯ ถือเงินสด จากการสอบถามบรรดาประธานและกรรมการหอฯ ก็บอกว่าคงไม่มีเวลามาดำเนินการเอง ซึ่งเวลาที่มีการจัดงานและมีการรับเงินจ่ายเงินก็ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ เมื่อเสร็จงานก็มาสรุปบัญชีเข้าที่ประชุม แล้วนำเงินเข้าหอฯ ถ้ามองในด้านดีโลกก็สวยดี แต่ถ้ามองว่าทำแบบนั้นผิดธรรมาภิบาล ผมฟังแล้วก็งง โดยเรื่องนี้คือการบริจาค เมื่อเกิดโควิดแล้วเขาไม่สะดวกที่จะจ่าย ก็ไปว่าเขาไม่ได้”
ออกแถลงการณ์
นายสมชัย กล่าวอีกว่า “ดังนั้น เมื่อ คตส.ประชุมร่วมกับหอการค้าฯ เสร็จ ก็มีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน จุดประสงค์คือส่งให้ผู้สื่อข่าว รวมทั้งเรื่องที่มีการนำข้อความไปเผยแพร่ทางออนไลน์แล้วมีการไปแจ้งความดำเนินคดีด้วย ซึ่งประเด็นนี้ถ้าจะให้เราช่วยไกล่เกลี่ยก็ทำได้หมด แต่กรณีนี้คือเป็นเงินบริจาค ไม่ใช่การยกหนี้ และโครงการนี้ก็มีแค่กรรมการชุดนี้ที่ทำได้ เป็นเรื่องของกรรมการแต่ละชุด ถ้าเข้าใจตรงนี้ได้ก็จะกระจ่าง ส่วนที่เกิดประเด็นนั้น เขาได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และสงสัยว่าเคยช่วยมาตั้ง ๓ ปีแล้วทำไมไม่ช่วยปีสุดท้าย ถ้าคิดให้ดีก็ดี แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีใครผิด เพียงแค่เข้าใจคลาดเคลื่อน”
โดยนายสมชัยระบุว่า จะส่งแถลงการณ์ให้หลังจากให้สัมภาษณ์เสร็จ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ เพราะยังต้องมีการแก้ไขอีก
นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายใน หอการค้าฯ
เผยแพร่แถลงการณ์
ต่อมาในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๕ จึงมีการเผยแพร่แถลงการณ์ไปยังสื่อมวลชน ซึ่งมีชื่อนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ลงนามร่วมกับนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายใน หอการค้าฯ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๕ โดยมีเนื้อหาว่า
“สืบเนื่องจากการที่มีข่าวสารข้อมูลปรากฎทางสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เกี่ยวกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ในทางที่อาจจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนั้นยังมีกลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาด้วย
“คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาชุดบริหารปัจจุบัน และคณะกรรมการตรวจสอบภายใน หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดให้มีการประชุมตรวจสอบข้อมูล และเอกสารความเป็นมาในประเด็นที่ ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าวอย่างละเอียด เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ ณ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา การประชุมครั้งนี้ได้มีการประสานเรียนเชิญผู้ร้องเรียน กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อมาให้ข้อมูล และชี้แจงรายละเอียดที่เกิดขึ้น แต่กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ แจ้งกลับมาทาง LINE ว่าขอยกเลิกการนัดหมาย เนื่องจากผู้ลงชื่อทั้ง ๔ คนได้ประชุมลงมติว่าไม่ขอร่วมประชุม
“การประชุมร่วมกันของคณะกรรมการหอการค้าฯ ชุดปัจจุบัน และคณะกรรมการตรวจสอบภายในฯ ที่ประชุมมีมติว่า ๑.จากการตรวจสอบเอกสาร ตลอดจนประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาแล้วหลายสมัยพบว่า เป็นการบริหารหอการค้าฯ ตามปกติของคณะกรรมการที่ผ่านมาหลายสมัย ๒.ในกรณีโครงการพันธมิตรบริจาคเงินเพื่อช่วยการบริหาร เป็นโครงการใหม่ที่คณะกรรมการชุดก่อนได้ดําเนินการ ส่วนของเงินบริจาคที่ได้ยกมาเป็นประเด็นข้อสงสัยว่า คณะกรรมการชุดที่ผ่านมาไม่ได้เรียกเก็บเงินบริจาคที่คงค้าง โดยปราศจากเหตุผล และบางท่านคิดเลยไปถึงว่าอาจทําผิดข้อบังคับของหอการค้า ซึ่งความเป็นจริง คือ โครงการพันธมิตรที่นายชัชวาล วงศ์จร ได้คิดโครงการขึ้น โดยขอความสนับสนุนจากบริษัทห้าง ร้านต่างๆ ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดี และได้ขอบริจาคมาเป็นเวลา ๔ ปี ซึ่งได้มีการบริจาคต่อเนื่องกันมา จนเข้าปีที่ ๔ ได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ผู้บริจาคบางรายไม่สามารถบริจาคเป็นเงินสดต่อได้ แต่ขอบริจาคเป็นการใช้บริการห้องประชุมแทน และทางหอการค้าได้ใช้บริการดังกล่าว คณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมพบว่า ผู้บริจาคได้บริจาคเงินตลอดมาเป็นเวลา ๓ ปี เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในปีที่ ๔ จึงมีการเปลี่ยนแปลงการบริจาคไปบ้าง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
“๓.ผู้เข้าร่วมประชุมใคร่ครวญไตร่ตรอง และมีความเห็นพ้องต้องกันว่า เงินที่ยังไม่ได้รับบริจาคจึงยังไม่ใช่เงินของหอการค้า ความจริงก็คือ กรรมการชุดก่อน นายชัชวาลได้รับมอบภารกิจของหอการค้า และเงินจํานวนหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบริหารหอการค้าฯ ตลอดปี จึงได้คิดโครงการพันธมิตรหอการค้า และขอเงินบริจาคเป็นปีๆ จากผู้ที่สนับสนุนเพื่อใช้ในการบริหารภารกิจหลายกรณี โดยบริจาคให้คณะกรรมการในเวลาที่แตกต่างกัน เมื่อได้รับเงินมาครั้งใดจึงจะนําเงินจํานวนนั้นเข้าบัญชีหอการค้า เพื่อลงบัญชีงบการเงินให้ “ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต” ได้รับทราบ และลงบัญชีอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นจึงถือเป็นเงินของหอการค้าไว้ใช้ในการทํากิจกรรมการบริจาคของพันธมิตร ผู้เข้าใจภารกิจของหอการค้าเป็นไปด้วยดีเป็นเวลา ๓ ปี จนกระทั่งปีที่ ๔ เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากภัยโควิด ซึ่งได้รับผลกระทบไปทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริจาคเงินบางรายเป็นจํานวนเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท จากที่เคยได้รับมาประมาณปีละ ๑,๒๐๐,๐๐๐-๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ภายใต้วิกฤตโควิดจึงเป็นโจทย์ให้กรรมการชุดเก่าได้จัดประชุมรับฟังคําร้องของผู้ที่ไม่สะดวกในการบริจาค ที่ประชุมคณะกรรมการชุดเก่ามีความเข้าใจต่อทุกฝ่ายในท่ามกลางภาวะวิกฤต จึงได้นําเรื่องเข้าที่ประชุม ปรึกษาหารือกัน และเข้าใจภาวะของผู้บริจาคในสภาวะปัญหาภัยโควิดดังกล่าว หากไม่สรุปให้ที่ประชุมรับทราบก็จะเกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้บริจาคเป็นหนี้หอการค้าฯ และจะเป็นปัญหาต่อคณะกรรมการชุดใหม่
“๔.ในเวลาต่อมา มีผู้ไม่เข้าใจโครงการพันธมิตรเพื่อช่วยเหลือการบริหารหอการค้าฯ ให้ลุล่วงสําเร็จไปด้วยดีตามวัตถุประสงค์จากการบริจาค และจากโครงการพันธมิตรที่นายชัชวาลเป็นผู้ริเริ่ม ทําให้มีเงินเหลือจากการบริหารอีก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท มอบให้คณะกรรมการชุดที่มารับภารกิจต่อ อันเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย
๕.ส่วนเรื่องการร้องเรียนอื่นๆ เช่น การให้เจ้าหน้าที่หอการค้าตําแหน่งสูงถือเงินสดไว้ก็เป็นเหตุการณ์ที่ปฏิบัติตามกันมา ยกเว้นการจัดงานที่มีออกาไนเซอร์รับงานไปก็อาจไม่มีความจําเป็น ซึ่งเคยเกิดขึ้นในการ บริหารของประธานหอการค้าบางท่านในอดีต ที่ประชุมสรุปว่า หากยังไม่มีความเข้าใจ หรือเข้าใจที่คลาดเคลื่อนก็สามารถสอบถามประธานหอการค้าคนปัจจุบัน และประธานคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ตรวจสอบ และหาข้อมูลตามข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติใดๆ
๖.จึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณท่านที่เป็นห่วง ตลอดจนท่านที่มีกรณีสงสัยต่างๆ คณะกรรมการขอยืนยัน ว่า ทุกอย่างเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม เป็นความสัมพันธ์อันดี อันเป็นต้นแบบของการบริหารหอการค้า ใช้ แนวทางการบริหารสโมสรกีฬา ส่วนบางท่านที่อาจจะทําผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คณะกรรมการชุดนี้ก็พร้อมที่ จะไกล่เกลี่ยผู้เกี่ยวข้องให้เลิกแล้วต่อกัน มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เป็นไปตามวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย ให้ร่วมกันอยู่เป็น และเป็นสุข ไม่ขัดแย้งเหมือนสังคมไทย และสังคมโลกที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ขอขอบพระคุณท่านที่มีความปรารถนาดี และห่วงใยต่อหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาตลอดมา”
นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากที่มีผู้อ้างตัวว่าเป็นสมาชิกหอการค้าฯ ส่งจดหมายสนเท่ห์ถึงประธาน คตส.หอการค้าฯ สอบถามถึงประเด็นการยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรที่ยังคงค้างชําระอยู่จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ได้แก่ ๑. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๒.โรงแรมวีวันโคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๓.สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และ ๔.บริษัท รุ่งเรือง ธ.วัฒนา จำกัด ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่ง “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าฯ และนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง รองประธานฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาล หอการค้าฯ ยืนยันว่า ไม่ใช่การยกหนี้ แต่เป็นเงินบริจาค เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-๑๙ จึงไม่สามารถบริจาคเป็นเงินได้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด จากการติดตามข่าวพบว่า มีการเจรจาโต้แย้งเป็นการภายในของอดีตผู้อำนวยการหอการค้าฯ กับผู้อำนวยการคนปัจจุบันอีกฝ่ายหนึ่งว่า ปฏิบัติงานไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ อีกฝ่ายอ้างว่า ไม่ได้เรียนจบกฎหมาย อีกฝ่ายแย้งว่า เมื่อมารับตำแหน่งนี้ต้องใช้กฎหมายเป็นหลักการ จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา มีข่าวว่า หลังจากที่กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ ไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะนายทะเบียนฯ แล้ว ได้ส่งต่อเรื่องให้กับพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๒ ประจำวันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๕
102 1,675