28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

April 25,2022

ผู้รับเหมาทิ้งงาน ๖ ปี อบจ.ของบสะสมกว่า ๕๐ ล. สร้างอาคารโรงเรียน ๘ แห่ง

อบจ.สานต่อการก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารอเนกประสงค์ให้โรงเรียนในสังกัด ๘ แห่ง หลังผู้รับเหมาทิ้งไว้นานกว่า ๖ ปี รองนายก อบจ.ชี้โรงเรียนจำเป็นต้องใช้อาคาร ด้าน ส.จ.แนะอย่าสร้างเพื่ออวดความใหญ่โต แต่ควรเล็กแล้วมีประสิทธิภาพ ย้ำฝ่ายบริหารเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่โรงแรมแคนทารี โคราช องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ สมัยที่ ๑ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ โดยมีผู้เข้าร่วมฝ่ายสภาฯ ประกอบด้วย นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ. พร้อมรองประธานสภาฯ เลขานุการสภาฯ สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา ในส่วนของฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย นางยลดา หวังศภุกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อม รองนายก อบจ. ๔ คน ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล, นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม, นายกมลศักดิ์ เกษเมธีการุณ และนายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมภายใต้มาตรการการตรวจคัดกรองของสาธารณสุขเคร่งครัด

นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล รองนายก อบจ.นครราชสีมา เสนอญัตติ เรื่องขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมีรายละเอียดว่า ด้วยการก่อสร้างอาคารเรียนหรืออาคารประกอบการเรียน ในโรงเรียนสังกัด อบจ. จำนวน ๘ โครงการที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และได้ขอกันเงินไว้แล้ว แต่ครบกำหนด ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ ต้องถูกพับโดยผลของกฎหมาย โดยมีรายละเอียด คือ ๑.โรงเรียนกุดจิกวิทยา โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ขนาดเล็กมีชั้นลอย (ตอกเสาเข็ม) จำนวน ๔,๗๖๐,๐๐๐ บาท จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวดที่ ๑-๓ ไปแล้ว ทิ้งงานงวดที่ ๔-๖ เพื่อให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อมีอาคารสำหรับการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างต่อไป ๒.โรงเรียนเฉลียงวิทยาคม โครงการก่อสร้างโรงเรียน คสล. ๓ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน จำนวน ๔,๘๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งดำเนินการเบิกจ่ายงวดที่ ๑-๓ ไปแล้ว และทิ้งงานงวดที่ ๔-๖ เพื่อให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา มีอาคารสำหรับการเรียนการสอน จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้าง ๓.โรงเรียนดอนไพลวิทยาคม โครงการก่อสร้าง ก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ขนาดเล็กมีชั้นลอย (ตอกเสาเข็ม) จำนวน ๔,๖๕๐,๐๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวดที่ ๑-๓ ไปแล้ว ทิ้งงานงวดที่ ๔-๖ จำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้าง ๔.โรงเรียนพระทองคำวิทยา โครงการก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน (แบบมีเสาเข็ม) จำนวน ๓,๕๙๐,๐๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งดำเนินการเบิกจ่ายงวดที่ ๑-๕ ไปแล้ว และทิ้งงานงวดที่ ๖ จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างต่อไป

นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล รองนายก อบจ.นครราชสีมา

๕.โรงเรียนสองครวิทยาคม โครงการก่อสร้งอาคารเรียน ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน (ใต้ถุนโล่งแบบตอกเสาเข็ม) จำนวน ๙,๙๒๓,๐๐๐ บาท และครุภัณฑ์ ๗๒๗,๒๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๑๐,๖๕๐,๒๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีการเบิกจ่าย จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างต่อไป ๖.โรงเรียนปรางค์ทองวิทยา โครงการก่อสร้างอาคารเรียน ๓ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน จำนวน ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งยังไม่มีการเบิกจ่ายเงิน จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างต่อไป ๗.โรงเรียนเมืองยางศึกษา โครงการก่อสร้างอาคารเรียน ๓ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน จำนวน ๘,๐๘๒,๔๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวดที่ ๑ ไปแล้ว ทิ้งงานงวดที่ ๒-๖ จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างต่อไป และ ๘.โรงเรียนหนองหว้าพิทยาสรรค์ โครงการก่อสร้างอาคารเรียน ๓ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน จำนวน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงวดที่ ๑ ไปแล้ว ทิ้งงานงวดที่ ๒-๖ จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้รับจ้างต่อไป

ดังนั้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ จึงขออนุมัติใข้จ่ายเงินสะสม เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารประกอบ จำนวน ๘ โครงการดังกล่าว งบประมาณรวมทั้งสิ้น ๕๓,๐๓๒,๖๐๐ บาท

นายอดุลย์ อยู่ยืน ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๒

ควรเล็กแต่มีประสิทธิภาพ

จากนั้น นายอดุลย์ อยู่ยืน ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๒ อภิปรายว่า “๘ โครงการที่กล่าวมา ล้วนเป็นโครงการเก่าที่ทำเรื่องเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้รับจ้างทิ้งงาน จึงกลายมาเป็นภาระพวกเราที่จะใช้จ่ายเงินสะสมดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ มีข้อสังเกตว่า ตามที่ฝ่ายบริหารกล่าวว่า เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น แต่ความจริงทุกวันนี้แต่ละโรงเรียนมียอดนักเรียนลดลงด้วยซ้ำ โรงเรียนไหนที่มีอาคารเก่าทรุดโทรมก็เห็นด้วยที่จะก่อสร้างใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะแข่งกันสร้างให้โรงเรียนดูใหญ่โต เพื่อให้คนอื่นชมว่าดูดี ยุคนี้ควรจะเล็กแต่มีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น โครงการก่อสร้างอาคารเรียน ๔ ชั้น ๑๒ ห้องเรียน ถ้าคิดห้องเรียนละ ๓๐ คน ก็มีนักเรียนประมาณ ๓๐๐ คน แต่เท่าที่เสนอมามีทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งขนาดใหญ่นักเรียนอาจจะไม่เพียงพอ แต่ขนาดเล็กของเดิมอาจจะเพียงพออยู่แล้ว แต่ถ้าจะมีเพิ่ม อาจจะทำเป็นห้องเรียนวิชาช่างหรืออาชีพ ให้เด็กเข้าถึงโอกาสมากขึ้น ไม่ใช่มีเพียงอาคาร”

เร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

นายซ้าย ผลกระโทก ส.อบจ.อำเภอโชคชัย อภิปรายว่า “โครงการเหล่านี้มีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เช่น โรงเรียนดอนไพลพิทยาคม เมื่อได้รับงบประมาณหลายคนก็ดีใจ เพราะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ กระทั่งปัจจุบันสร้างยังไม่เสร็จ มีแต่โครงสร้างอาคาร หลังคาไม่มี พื้นยังไม่เท ใช้งานไม่ได้ แต่ถ้าก่อสร้างเสร็จ นักเรียนจะได้ใช้งานทำกิจกรรมต่างๆ และชุมชนก็สามารถมาใช้งานได้เช่นกัน เพราะโรงเรียนถือเป็นศูนย์รวมของชุมชน ดังนั้น อยากจะให้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และอยากจะให้หาวิธีกำชับผู้รับจ้างทำงานให้แล้วเสร็จ ซึ่ง ๘ โครงการนี้ เดิมทีใช้เงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ ประมาณ ๘๐ ล้านบาท แต่เมื่อก่อสร้างไม่เสร็จ อบจ.ก็ต้องมาเสียเงินสะสมอีก ๕๐ ล้านบาท ถ้าวันนี้ได้รับอนุมัติจากสภาฯ ก็ต้องการให้ฝ่ายบริหารกำชับการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ”

นายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.อำเภอบ้านเหลื่อม

ล่าช้าเกินไป

นายโกวิทย์ เลาวัณย์ศิริ ส.อบจ.อำเภอบ้านเหลื่อม อภิปรายว่า “ในฐานะที่ผมเป็น ส.อบจ.คนเก่า หลายๆ เรื่องถ้าไม่ปะติปะต่อกัน สมาชิกรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่สามารถทักท้วงได้หมด เพราะไม่ทราบเรื่องมาก่อน ที่สำคัญที่จะฝากประธานสภาฯ ไว้ว่า ถ้าองค์กรของเรามีคนประเภท ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน ถูกต้องแล้วนายอยู่เรื่อยๆ จะทำให้องค์กรเสียหาย ผมเป็นสมาชิกสภาฯ แห่งนี้มากว่า ๓๐ ปี ถ้านิสัยส่วนตัวไม่เหมาะสม เชื่อว่าผมจะไม่สามารถเข้ามาอยู่ในสภาฯ ได้ ดังนั้น ขอฝากประธานสภาฯ ไว้ว่า ต้องแข็ง ถ้าท่านใช้คนเหล่านี้ จะทำให้องค์กรเสียหาย”

“ในส่วนของญัตติขอใช้จ่ายเงินสะสม จริงๆ ก็เห็นด้วย แต่ขอถ้วงติงว่า อาคารทั้ง ๘ โครงการที่ทุกคนเห็นในภาพ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเกือบ ๑๐ ปี แล้วเมื่อปี ๒๕๖๐ สภาฯ จ่ายขาดเงินสะสมไปประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท แต่ไม่มีเรื่องเหล่านี้รวมอยู่ด้วย ผมเห็นด้วย แต่มันช้าเกินไป และที่สำคัญ เสาเหล่านี้ตากลมตากฝนมาหลายปี วิศวกรคนไหนตรวจสอบโครงสร้าง เขาคงจะไม่ให้ต่อเติม ต้องทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่” นายโกวิทย์ กล่าว

โรงเรียนยังจำเป็น

นายนรเสฏฐ์ ศิริโรจนกุล กล่าวชี้แจงว่า “ตามที่ผมนำเสนอทั้ง ๘ โครงการ ทุกโรงเรียนมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาคารอย่างยิ่ง และตามที่มีการก่อสร้าง และใช้จ่ายเงินถึง ๓ งวด หรือ ๕ งวด จะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างมากหากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในส่วนของความล่าช้า เนื่องจากจังหวัดเคยสอบถามว่า อบจ.ยังต้องการก่อสร้างโครงการเหล่านี้อยู่หรือไม่ ซึ่งเราตอบไปว่า ต้องการ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้การสนับสนุน จึงต้องมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ”

นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา

นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวชี้แจงว่า “ในเรื่องการขออนุมัติใช้งบสะสมนั้น โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๘-๒๕๕๙ เป็นเงินสนับสนุนพร้อมกับแบบก่อสร้างจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อมีผู้รับจ้างก็จะต้องแก้ไขแบบ เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมกับแบบที่ได้รับมา เมื่อ อบจ.แก้ไขแบบก็ทำให้ล่าช้า เนื่องจากต้องรอให้กรมฯ อนุมัติ ต่อเนื่องมาถึงงบประมาณปี ๒๕๖๒ ที่มีสถานการณ์โควิด-๑๙ เข้ามา งานก่อสร้างก็ล่าช้า และในปี ๒๕๖๓ งานก่อสร้างทั้งหมดถูกพับไป อบจ.จึงขอแจ้งเลิกสัญญากับผู้รับจ้างที่ดำเนินการก่อสร้างไป และได้ร้องขอไปยังกรมฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอรับเงินอุดหนุนครั้งที่ ๒ เมื่อมีความชัดเจนว่า ไม่ได้ วันนี้จึงนำเข้ามาขออนุมัติจากสภาฯ ในการใช้เงินสะสม เพื่อดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดให้แล้วเสร็จ ซึ่งอาคารที่ก่อสร้างไว้สามารถดำเนินการต่อได้ เมื่อได้รับอนุมัติใช้เงินสะสมแล้ว จะทำให้รวดเร็วไม่ล่าช้า เพราะจะใช้งบประมาณของเราเอง และแบบที่ปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่”

วอนช่วยเกษตรกร

ต่อมา นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ ประธานสภา อบจ. ขอมติจากที่ประชุมสภาฯ อนุมัติใช้จ่ายเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๕ ซึ่งขณะนั้นมีองค์ประชุม ๓๗ คน จากทั้งหมด ๔๘ คน โดยมติที่ประชุมยกมือเห็นชอบ ๓๔ คน และงดออกเสียง ๓ คน

ในส่วนของระเบียบวาระอื่นๆ นายอดุลย์ อยู่ยืน ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๒ อภิปรายว่า “พืชผลทางการเกษตรวันนี้ พบปัญหาเดิมๆ เช่น มะม่วงล้นตลาด ต้องนำไปเททิ้ง เมื่อก่อนราคากิโลกรัมละ ๕๐-๗๐ บาท แต่วันนี้นำมาขายก็ไม่คุ้ม ดังนั้น ฝากถึงฝ่ายบริหารว่า อบจ.น่าจะมีโครงการหรือวิธีที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งจังหวัดก็ช่วยเหลือโดยให้มาตั้งขายบริเวณหน้าศาลากลาง แต่อย่าลืมว่า สินค้าเหล่านี้มีอายุจำกัด ๓-๕ วันก็จะกลายเป็นของเสีย เป็นไปได้หรือไม่ที่ อบจ.จะช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจหรือชาวบ้าน ในการหาวิธีแปรรูปหรือทำให้สินค้าอยู่ได้นาน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น”

นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๔
 

โคราชใหญ่ไร้ศูนย์โอทอป

นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๔ อภิปรายว่า “ฝ่ายบริหารควรจะเชิญกลุ่มอาชีพที่เป็นองค์กรหรือสหกรณ์ ถามเขาอยากจะทำหรือไม่ เพราะคนเราจะต้องมีความอยากก่อน ถ้าไม่อยาก ยัดให้เขา เขาก็ไม่ทำ ที่ผ่านมากี่โครงการแล้วที่ทำแล้วไม่ได้ใช้ ดังนั้น เรื่องการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำอย่างไรจะสร้างเครือข่ายขึ้นมาได้ อบจ.นครราชสีมา เป็นหน่วยงานใหญ่ สามารถเชิญ อปท.ต่างๆ มาหารือว่า ในพื้นที่แต่ละตำบลหรืออำเภอใด มีผลผลิตล้นตลาดจะทำอย่าง เช่น นำมาแปรูป ทำเป็นสินค้าโอทอป ซึ่งในบางจังหวัด เขามีศูนย์รวมสินค้าโอทอป นักท่องเที่ยวไปก็ต้องซื้อที่นั่นที่เดียว แต่โคราช จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ไม่มีศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป ซึ่ง อบจ.โคราช เคยคิดจะทำ ดังนั้น ทำอย่างไรประชาชนจะมีอาชีพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการเกษตร”

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา

ไม่นิ่งนอนใจ

นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวชี้แจงว่า “รู้สึกดีใจที่สมาชิกสภาฯ ทุกคนมีความห่วงใยต่อประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการสร้างอาชีพหรือรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งตนได้ประสานกับจังหวัดว่า จะบูรณาการร่วมกัน เพื่อแก้ไขเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ จะหาแนวทางว่า จะพัฒนาไปในทิศทางใด ทราบถึงความลำบากของเกษตรกร จึงจะมีการบูรณาการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน และในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ จะหารือกับนายอดุลย์ อยู่ยืน และนายประพจน์ ธรรมประทีป เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๓ วันพุธที่ ๒๐  - วันอังคารที่  ๒๖  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


993 1607