May 06,2022
‘คลาสคาเฟ่’พร้อมลุยต่างแดน ๓ มหาวิทยาลัยดังอเมริกา ยังไม่สนใจการเมือง
‘มารุต ชุ่มขุนทด’ เดินหน้าพัฒนา Vela Verse สร้างโลกเสมือนรับการพัฒนาเมือง พร้อมตั้งเป้าบุกตลาดต่างแดน เล็งเปิดคลาสคาเฟ่สาขาใหม่ใน ๓ มหาวิทยาลัยดังระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา เผยในประเทศไทยมีคิวเปิดสาขาใหม่อีกเพียบ ยืนยันยังไม่สนใจเล่นการเมือง ขอทำธุรกิจและสร้างสรรค์เมืองก่อน
สืบเนื่องจาก ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายมารุต ชุ่มขนทด CEO Class café เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา และได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ทริปนี้ทำให้เราได้เป้าหมายใหม่ของ CLASS Cafe คือการมาเปิดสาขา Harvard University (มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) สาขา MIT (Massachusetts Institute of Technology) และสาขามหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) หลังจากออกสำรวจหลายวันและเดินเท้ารอบเมือง และแน่นอน CLASS Coin และ VELA มาด้วย CLASS Cafe สาขา Harvard University เท่ฉิบ ตามคำชักชวนของญาติพี่น้องที่นี่ที่ทำร้านอาหารไทยอยู่แล้ว เอาหละถ้าตามนี้ก็เริ่มหยอดกระปุก เป้าหมายมีไว้พุ่งชน ใครอาสามาดูสาขานี้”
ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นายมารุต (กอล์ฟ) ชุ่มขุนทด CEO Class café เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “เนื่องจากเดินทางไปติดตามงานกับทีมที่ MIT ซึ่งปกติจะมีการติดตามงานกันปีละครั้ง แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้ต้องหยุดไปช่วงหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจึงได้เดินทางไป เช่น โครงการ Hack Vax ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่คิดโดยนักวิจัยจาก MIT ร่วมกับทีมโคราช ช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจะฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และล่าสุดมีโครงการที่ทำร่วมกับ MIT คือ โครงการ Meta Verse ชื่อว่า Vela Verse (แพลตฟอร์มโลกเสมือนจริง) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบัน Vela Verse ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีกิจกรรมเกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น กิจกรรม Hackathon ที่โคราช เป็นการเริ่มต้นในบ้านของเรา โดยมีทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากนั้นได้ทำร่วมกับบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด จัดกิจกรรม Hackathon ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย โดยมีแบรนด์ Aurora แบรนด์จำหน่ายทองคำ มาร่วมสนับสนุนรางวัลให้กับผู้เข้าแข่งขัน เมื่อเราทำแบบนี้ ก็ทำให้เกิดแรงงานใหม่ในโลก Meta Verse ของจังหวัดขอนแก่น”
นายมารุต (กอล์ฟ) ชุ่มขุนทด CEO Class café
“จากนั้นเราก็ยังไม่หยุด ไปจัดกิจกรรม Hackathon ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยงานนี้จะมีค่ายเพลงเซิ้ง ที่ทำภาพยนตร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ เข้ามาร่วมตั้งโจทย์ ซึ่งผู้ชนะก็จะได้ร่วมงานกับค่ายเพลง และยังมีเอกชนหลายบริษัทจองตัวผู้แข่งขันคนอื่นๆ ด้วย กิจกรรมเหล่านี้ ทำให้นักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบหรือที่สนใจ ได้แสดงศักยภาพออกมา คนที่ได้รับรางวัลที่ ๑, ๒ และ ๓ ก็มีเอกชนจากหลายบริษัทสนใจที่จะรับเข้าทำงานทันที เมื่อน้องๆ มีงานทำด้วยค่าตัวสูงๆ ก็ทำให้ตระหนักได้ว่า เทคโนโลยีที่เรากำลังทำอยู่ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในจุดที่เป็นจุดอ่อนของสังคมในขณะนี้ คือ ภาวะว่างงาน สามารถช่วยภาคแรงงาน การทำ Vela Verse ทำให้โคราชก้าวข้ามความทันสมัย ก้าวข้ามคำว่า Smart City เราสร้างภาคแรงงานให้เกิดขึ้นได้ไปพร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่แค่การเปิดเว็บไซต์หรือสร้างเทคโนโลยีขนาดเล็กให้เกิดขึ้น แต่เรานำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาของเมืองอย่างจริงจัง”
นายมารุต กล่าวอีกว่า “หลังจากที่ทำคู่กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจ คือ นอกจาก Vela Verse เข้าไปช่วยพัฒนาเมือง ยังมี Class coin เข้าไปเป็นระบบสกุลเงินออนไลน์ที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยพร้อมจะใช้งาน และมี Class Application ที่สามารถสั่งสินค้าออนไลน์จากร้าน Class café ดังนั้นจะเห็นว่า ทุกแพลตฟอร์มสามารถไปด้วยกันได้ หลายมหาวิทยาลัยจึงสนใจที่จะเชิญคลาสไปเปิดสาขาใหม่ ถือเป็นรูปแบบธุรกิจอย่างหนึ่งที่เริ่มสมบูรณ์ในการไปเปิดสาขาในเมืองหรือมหาวิทยาลัยใดก็ตาม”
คลาสไปได้ทั่วโลก
“โดยช่วงที่ผ่านมาผมเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้พบปะกับกลุ่มคนไทยที่อยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกัน เขาบอกว่า ติดตามเรื่องคลาสมานานแล้ว และถามว่า ทำไมไม่คิดจะมาเปิดที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่เคยคิด ผมจึงเดินสำรวจมหาวิทยาลัย พื้นที่ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กับที่มหาวิทยาลัยจุฬาฯ แต่การจะไปเปิดสาขาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จะต้องนำข้อดีหรือประโยชน์ต่างๆ ไปสร้างให้กับนักศึกษาของเขาด้วย ซึ่งเราสามารถทำแบบเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้ และกลุ่มธุรกิจที่นั่นมีความแข็งแรงในการทำธุรกิจร้านอาหารไทย เพราะอาหารไทยเป็นอาหารที่มีความโดดเด่น วันนี้ผมจึงคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่คลาสจะไปทั้งแพลตฟอร์ม คือ ไปทั้ง ร้าน Class café, Vela Verse, Class Coin และ Class Application ความน่าสนใจ คือ ถ้าคลาสสามารถเข้าไปในพื้นที่มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกได้ ก็แปลว่า คลาสสามารถไปได้ทั่วโลก และช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าสนใจที่สุดในการลงทุนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นช่วงกำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ เมื่อมองในแง่การบริหารจัดการและทีมงาน การเปิดสาขาใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีความเป็นไปได้”
“ส่วนความคืบหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาขั้นตอนทางกฎหมาย และได้มีการพูดคุยกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบางส่วนแล้ว ซึ่งขั้นตอนทางกฎหมายนั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากกว่าการเปิดสาขาในมหาวิทยาลัยไทย ต้องทำแบบเดียวกัน ทำอย่างไรจะจ้างนักศึกษาได้ และทำอย่างไรจะสร้างประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยได้ ซึ่งโปรเจ็กต์นี้จะเป็นรูปเป็นร่างหลังขั้นตอนการระดมทุน แต่ขณะนี้คลาสมีคิวที่จะเปิดสาขาใหม่รออยู่หลายแห่ง วันนี้เพิ่งประกาศว่าจะเปิดสาขาบุ่งตาหลั่ว และยังมีสาขาที่ค้างอยู่ คือ สาขามหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สาขาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” นายมารุต กล่าว
การปรับตัวยุคโควิด
เมื่อถามว่า “ในช่วงโควิด-๑๙ ระบาดหนัก ซึ่ง Class Café ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ทำไมวันนี้กลับฟื้นตัวได้รวดเร็ว” นายมารุต เล่าว่า “ในช่วงที่มีโควิด-๑๙ ระบาดครั้งแรก คลาสเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก จึงต้องปรับตัวด้วยการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือสิ่งที่จะทำให้ขาดทุนออก สาขาที่ขาดทุนก็ตัดออก เหลือเพียงสาขาที่ทำกำไร จึงทำให้ช่วง ๒ ปีนี้มีกำไรมากขึ้น และผมพบรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จากโควิด-๑๙ เช่น สาขาบุ่งตาหลั่วที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือนนี้ คนอาจจะมองว่าเป็นการเปิดสาขาคาเฟ่ตามปกติ แต่สาขานี้เป็นรูปแบบธุรกิจของโลกหลังยุคโควิดที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยคลาสจะหันมาทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้เป็นพระเอกแทนที่กาแฟ เพราะกาแฟคนดื่มช่วงเช้า แต่น้ำผลไม้สามารถดื่มได้ทั้งวัน ซึ่งรูปแบบธุรกิจนี้ จะเริ่มเกิดขึ้นทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ”
ธุรกิจเติบโตพร้อมสังคม
‘โคราชคนอีสาน’ ถามอีกว่า “หลายคนอาจมองว่า สิ่งที่ Class café กำลังทำทั้งหมด ทำเพื่อความก้าวหน้าทางธุรกิจ แล้วในส่วนที่ทำเพื่อสังคมมีอะไรบ้าง” นายมารุต ตอบว่า “ความเติบโตของธุรกิจและสังคมต้องเดินไปพร้อมกัน จึงอยากจะชวนให้คนในภาคธุรกิจคิดแบบที่คลาสทำ คือ ถ้าเมืองอยู่ไม่ได้ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ถ้ามีวิกฤตเกิดขึ้น ธุรกิจก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ถ้าทำธุรกิจพร้อมกับช่วยเมืองไปด้วย เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชน เมื่อประชาชนให้การสนับสนุนธุรกิจก็อยู่ได้ อยากให้เปลี่ยนมุมมองว่า ธุรกิจต้องทำกำไร ธุรกิจต้องเติบโต แต่ถ้ากลับกัน เราต้องสร้างสรรค์ธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน คืนทุนให้สังคมตั้งแต่วันแรกที่ธุรกิจเกิดขึ้นมา การคืนทุนให้สังคมไม่ต้องรอให้ธุรกิจร่ำรวย ไม่ต้องรอรวยล้นฟ้าถึงจะช่วยคน แต่ถ้าเติบโตตั้งแต่ก้าวแรกไปพร้อมกัน อยู่คู่กับเมืองตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ ก็จะทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน”
ไม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
เมื่อถามว่า “กรณีที่ Class café จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไร” นายมารุต กล่าวว่า “ขณะนี้ผมมี Class coin ซึ่งนับเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการถือเหรียญ Class coin ไม่ต่างจากการเป็นมหาชนแล้ว เพราะคำว่า มหาชนคือการเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของ ดังนั้น เมื่อมีคนมาซื้อเหรียญ Class coin ที่ตลาด BitMart ก็ทำให้คลาสมีสภาพคล้ายมหาชน แม้วันนี้จะยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม”
ยังไม่สนใจเล่นการเมือง
ต่อข้อถามว่า “ขณะนี้มีพรรคการเมืองให้ความสนใจหรือมีความสนใจทางการเมืองหรือไม่” นายมารุต ตอบว่า “วันนี้การเมืองเข้ามาหาเราเอง เพราะคลาสอยู่คู่กับการพัฒนาเมือง บางครั้งการทำงานก็ต้องทำร่วมกับนักการเมือง เช่น โครงการ Hack Vac ที่ทำให้โคราช เมื่อกระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เชิญผมไปทำให้กับกรุงเทพฯ คือ ที่สถานีกลางบางซื่อ ก็เป็นเรื่องที่ไม่คิดว่าจะได้รับการขยายผลได้เร็ว ทำให้เห็นมุมมองที่ว่า การทำงานให้กับสังคมบ้านเราเอง คือ โคราช สามารถนำไปช่วยที่อื่นได้ด้วย โดยผ่านภาคการเมืองและนักการเมือง แต่ในแง่ความสนใจที่จะลงเล่นการเมือง ยังชัดเจนว่า ผมยังให้ความสำคัญกับธุรกิจและการสร้างสรรค์เมือง มากกว่าจะต้องไปเป็นผู้แทนราษฎรหรือนักการเมืองท้องถิ่น แต่ในฐานะประชาชน ผมก็อยากเห็นความแข็งแรงทางการเมืองของโคราช ซึ่งเป็นสนามเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ผมจะเถียงนักการเมืองทุกครั้งที่บอกว่า โคราชกำลังแย่ จะมาทำให้โคราชดีเหมือนที่นั่นที่นี่ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้มาทำงานในพื้นที่ ไม่มีความเข้าใจจริงๆ ว่า โคราชไม่แพ้ใคร มีความแข็งแรงทางเศรษฐกิจ และมีระบบสาธารณูปโภคพื้นที่ที่ครบถ้วน จะช้าหรือเร็วก็ว่ากันไป แต่การเติบโตนั้นเดินมาถูกทางแล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่คนโคราชภาคภูมิใจ”
โคราชเจริญกว่าที่อื่น
“โคราชเป็นเมืองใหญ่ที่มี ส.ส.๑๔ คน มีรัฐมนตรีหลายคน แต่ที่น่าเจ็บใจ คือ ทำไมเมืองยังอยู่แค่นี้ ทั้งที่โคราชมีครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีระดับสูงในภาคเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษา เป็นจังหวัดที่มีรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมเต็มไปหมด แต่การก่อสร้างโครงการรถไฟใช้เวลานานมาก เรื่องเหล่านี้ภาคเอกชนพูดได้และพูดชัดว่า อยากได้อะไร ซึ่งเราอยากได้คนที่สามารถพูดแทนได้ สามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับคนโคราชได้ วันนี้โคราชมีความพร้อมทุกอย่าง ทุกมหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ภาคการเมืองไม่มาเอื้อให้โคราชเติบโตเร็วกว่าที่อื่น เพราะเราขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับนักการเมือง สุดท้ายโคราชก็ได้แต่สร้างคนเก่งเพื่อไปทำงานที่อื่น เพราะโคราชไม่มีภาคธุรกิจที่กล้าจ้างแรงงานที่มีคุณภาพ เรื่องนี้ภาคการเมืองจะต้องเข้ามาช่วย และเราต้องการนักการเมืองที่พูดอย่างภาคภูมิใจในความเป็นโคราช ไม่ใช่มาบอกว่าจะทำโคราชให้เจริญเหมือนที่นั่นที่นี่ แต่โคราชควรจะเป็นโมเดลด้านความเจริญให้กับเมืองอื่นๆ อย่าคิดมาใช้โคราชเป็นฐาน” นายมารุต กล่าวท้ายสุด
ทั้งนี้ นายมารุต (กอล์ฟ) ชุ่มขุนทด CEO Class café เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่กำเนิด จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากนั้น เริ่มทำงานด้านเทคโนโลยีให้กับบริษัทชั้นนำระดับประเทศ เช่น บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด, แบรนด์โทรศัพท์ Hutch, แบรนด์โทรศัพท์ Nokia, เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ CLASS School และเปิดร้านกาแฟภายใต้แบรนด์ Class café ถึงปัจจุบัน
อนึ่ง Class Café ก่อตั้งในปี ๒๕๕๖ และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๐ ทุนจดทะเบียน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท กรรมการบริษัท ๔ คน ได้แก่ นายมารุต ชุ่มขุนทด, นางสาวณัฐหทัย ชัยนันตา, นางสาวพจนา ชุ่มขุนทด และนายนเรศ จันทร์ประเสริฐ ซึ่ง Class Café เปิดบริการสาขาแรกที่จังหวัดนครราชสีมา และปัจจุบันมี ๒๐ สาขา ที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ นครปฐม ปทุมธานี และกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.ขอนแก่น, ม.ศิลปากร, ม.มหิดล และล่าสุดกำลังจะเปิดให้บริการสาขาสวนน้ำบุ่งตาหลั่ว ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดย Class café ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Co-working Space หรือพื้นที่สำหรับการทำงานที่เปิดตลอด ๒๔ ชม.
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๕ ประจำวันพุธที่ ๔ - วันอังคารที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕
142 1,850