June 11,2022
รพ.แถลงยอมรับรักษาล่าช้า ดช. ๑๒ ปีไส้ติ่งแตกตาย แต่ยืนยันไม่มีคนไข้วีไอพี
กรณีเด็กชายรอรักษาแต่ไส้ติ่งแตกเสียชีวิต ญาติระบุว่าแพทย์อ้างมีคนไข้พิเศษลัดคิว รพ.ยอมรับล่าช้าจริงแต่ไม่มีคนไข้วีไอพี ออกแถลงการณ์ จะทบทวน และพิจารณาระบบการบริหารจัดการ การรักษา และการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้ง ตั้งกรรมการสอบ ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง นํามาพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล
ตามที่นายสมบูรณ์ กรมไธสง อายุ ๔๒ ปี ชาว ต.พุทไธสง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ออกมาร้องขอความเป็นธรรม หลังจาก ด.ช.กิตติศักดิ์ กรมไธสง หรือน้องต้นน้ำ อายุ ๑๒ ปี ลูกชาย ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ชั้น ม.๑ เสียชีวิตจากอาการไส้ติ่งแตกและติดเชื้อ ขณะถูกส่งตัวไปผ่าตัดเพื่อรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์
โดยนายสมบูรณ์ เล่าว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ ๒๙ พฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกชายมีอาการปวดท้อง จึงพาไปที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เมื่อหมอตรวจดูอาการก็วินิจฉัยว่าเป็นไส้ติ่ง หมอจึงได้ส่งตัวลูกชายไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด กระทั่งเวลาประมาณเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่เวรเปลได้เข็นลูกชายเข้าไปในห้องผ่าตัด โดยที่ตัวเองนั่งรออยู่ด้านนอก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่เวรเปลคนดังกล่าวได้เข็นลูกชายออกมา ตัวเองรู้สึกแปลกใจจึงเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่เวรเปลว่า ทำไมเข็นออกมาคืนยังไม่ได้ผ่า ก็ได้รับคำตอบว่า หมอมีคนไข้พิเศษ ๒ คน โดยจะผ่าตัดคนไข้พิเศษก่อน และได้นำลูกชายกลับมารอ ต่อมาคืนวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ลูกชายเสียชีวิต โดยหมอระบุว่าไส้ติ่งแตกและติดเชื้อ ทำให้ตัวเองคาใจว่าลูกชายส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลถึง ๒ วัน หมอ กลับไม่เร่งผ่าตัดให้ ทำให้ลูกชายต้องเสียชีวิต จึงอยากให้โรงพยาบาลออกมาชี้แจงและรับผิดชอบกับกรณีที่เกิดขึ้น
ต่อมาวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ตึกเฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๘ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ นพ.รักเกียรติ ประสงค์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ เป็นตัวแทนแถลงข่าวกรณี ด.ช.กิตติศักดิ์ หรือ น้องต้นน้ำ อายุ ๑๒ ขวบ เสียชีวิตหลังผ่าตัดไส้ติ่ง ทำให้ผู้ปกครองเด็ก ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยระบุว่า หมอปล่อยเวลาล่วงเลยนาน ๒ วันหลังเข้าทำการรักษา แต่หมอไม่ยอมผ่าตัด ทั้งที่โรงพยาบาลต้นทางระบุชัดว่าไส้ติ่งอักเสบ
นพ.รักเกียรติ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า น้องต้นน้ำ มีอาการปวดท้องน้อยขวามาประมาณ ๑ วัน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทไธสง หมอระบุเป็นไส้ติ่งอักเสบ แล้วส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ แพทย์ทำการตรวจประเมินซ้ำวินิจฉัยว่าไส้ติ่งอักเสบ เช่นเดียวกัน โดยได้เซตเวลาผ่าตัดไว้ที่ ๑๗.๐๐ น. วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ต่อมาพบว่าอาการของน้องเปลี่ยนแปลง มีหัวใจเต้นแรงมากขึ้น หมอได้เพิ่มน้ำเกลือ ประกอบผู้ป่วยมีความสูง ๑๖๓ น้ำหนัก ๘๓ กก. อยู่ในสภาวะน้ำหนักมาก ผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด ๒๓.๓๐ น. แต่ในขณะนั้นห้องผ่าตัดซึ่งมี ๓ ห้อง มีคนไข้รอผ่าตัดอยู่ทั้ง ๓ ห้อง ห้องแรกผ่าตัดไส้เลื่อน และมีลำไส้เน่า แพทย์ต้องตัดต่อลำไส้ จากนั้นต้องผ่าตัดคนไข้ที่มารอก่อนหน้านี้ เป็นผู้ป่วยช่องท้องอักเสบอย่างรุนแรง ผู้ป่วยรายที่ ๒ ผ่าตัดเสร็จประมาณ ตี ๒ ของวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ส่วนห้องผ่าตัดอีกห้อง เป็นคนไข้อุบัติเหตุกระดูกโผล่มีแผลเปิด หมอต้องเร่งผ่าตัด มี ๒ ราย อีกรายหนึ่งช่วงใกล้จะถึงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นห้องผ่าตัดอีกห้อง ต้องผ่าตัดเด็กในครรภ์ มีสภาวะหัวใจเต้นเร็ว แต่การประสานงานของหมออาจไม่ตรงกัน ทำให้พนักงานเปล เข็นน้องต้นน้ำเข้าไปห้องผ่าตัด
“จากการประเมินของหมอ ไม่ทราบได้ว่า การผ่าตัดเคสก่อนหน้านี้จะเสร็จสิ้นตอนไหน หรือจะใช้เวลานานแค่ไหน ไม่สามารถกำหนดเวลาได้ ถ้าจะให้เด็กรออยู่ในห้องผ่าตัดอาจจะไม่ปลอดภัย จึงแจ้งไปยังหอผู้ป่วยขอส่งตัวคนไข้คือน้องต้นน้ำกลับไปที่ห้องก่อน”
นพ.รักเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองน้องติดใจว่า “มีเคสพิเศษ” แทรกคิวของน้องหรือไม่ จากการสอบสวนแล้วไม่มีเคสพิเศษใดๆ ในโรงพยาบาล ทุกเคสสามารถที่จะมีหลักฐานประกอบและเป็นเคสที่มีความเร่งด่วน และมารับบริการก่อนหน้านี้ ต่อมาแพทย์พบว่าน้องมีอาการหายใจเร็วขึ้น และตรวจพบว่ามีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผลจากการผ่าตัด พบว่าพบไส้ติ่งแตก มีหนองอยู่โดยรอบ ประมาณ ๑๐๐ ซีซี การผ่าตัดเสร็จเวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. ใช้เวลาในการผ่าตัด ๔๕ นาที เนื่องจากสภาพก่อนผ่าตัดมีภาวะแย่ลง และมีการติดเชื้อในกระแสเลือดจึงส่งเข้ารักษาที่ห้องไอซียู และหัวใจน้องหยุดเต้นเมื่อเวลา ๐๒.๒๕ น. ของวันที่ ๓๑ พฤษภาคม
“ทั้งนี้ โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องก่อนเป็นอันดับแรก และโรงพยาบาลยอมรับว่า เราที่รักษาล่าช้า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ทางคณะทีมรักษารวมถึงคณะการเยียวยา และการให้ข้อมูล การเยี่ยมบ้านคนไข้ ถือว่าล่าช้าไปมาก หลังจากนี้จะต้องไปขอขมาผู้ปกครองเด็กในเร็วๆ นี้ ส่วนการเยียวยาจะต้องเข้าไปสอบสวนในเชิงลึก ว่าจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหาย จากการรับบริการทางสาธารณสุขได้มากน้อยแค่ไหน” นพ.รักเกียรติ กล่าว
ต่อมาวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ นพ.ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ สั่งการให้โรงพยาบาลจัดทีมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับครอบครัวของน้องต้นน้ำที่เสียชีวิต ที่บ้าน พร้อมทั้งให้อำนวยความสะดวกเรื่องเอกสารที่จะขอรับการเยียวยาตามสิทธิ์ ซึ่งยอมรับว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความบกพร่องของระบบการรักษาของโรงพยาบาลเอง ทำให้เด็กได้รับการผ่าตัดล่าช้า จนมีอาการหนักและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งโรงพยาบาลก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถือเป็นบทเรียนที่ทางโรงพยาบาลจะต้องนำมาปรับปรุงแก้ไขระบบการให้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องผิดพลาดขึ้นซ้ำอีก โดยจะมีการเรียกประชุมหารือกับทั้งคณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และทีมผ่าตัด เพื่อปรับระบบการให้บริการโดยเฉพาะเคสผ่าตัดที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันทีมผ่าตัดมีเพียงพอแต่อาจจะบกพร่องในเรื่องของการจัดระบบมากกว่า และยืนยันว่าผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการบริการที่เท่าเทียมไม่มีคนไข้วีไอพี. อย่างแน่นอน
ด้านนายพิสิทธิ์ ตุนพอน ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบก ต.พุทไธสง เปิดเผยว่า ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับน้องต้นน้ำ เพราะแค่ปวดท้องไส้ติ่งก็ไม่น่าจะถึงขั้นเสียชีวิตอีกทั้งน้องอายุยังน้อย และครอบครัวนี้ก็น่าสงสารอยู่แล้ว เพราะมีกันอยู่แค่ ๓ คน คือ ย่าที่อายุมากกว่า ๘๐ ปี ลูกชายที่เป็นพ่อของน้อง และน้องต้นน้ำที่เสียชีวิต ซึ่งเวลาที่พ่อออกไปทำงาน น้องต้นน้ำก็จะเป็นคนคอยดูแลหาข้าว หาน้ำให้ยายกิน น้องเป็นเด็กนิสัยดีมาก หากเป็นไปได้ก็อยากให้ทางภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือด้วย
ล่าสุดวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ได้ออกแถลงการณ์ กรณีการเสียชีวิตของเด็กชายอายุ ๑๒ ขวบโดยระบุว่า “ตามที่ เด็กชายอายุ ๑๒ ขวบ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ด้วยอาการไส้ติ่งอักเสบ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ต่อมาได้เสียชีวิตลง ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ นั้น โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งแก่ครอบครัวของน้องเป็นอย่างยิ่ง และกราบขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลได้ดําเนินการทบทวน และพิจารณาระบบการบริหารจัดการ การรักษา และการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้ง ได้ตั้งกรรมการสอบผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อนํามาพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลต่อไป”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๐ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
79 1,703