27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

June 11,2022

สายไฟลงดินอีก ๑ ถนน ลั่นของเดิมอยากรื้อใจจะขาด

กฟภ.เดินหน้า “๑ จังหวัด ๑ ถนน เฉลิมพระเกียรติ” นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ตั้งแต่บริเวณสี่แยกศาลหลักเมือง ถึงสี่แยกประตูพลล้าน ระยะทาง ๘๐๐ เมตร ด้วยงบกว่า ๔๕ ล้านบาท ส่วนโครงการเก่าอยากรื้อเสา ใจจะขาด แต่ผู้ประกอบการสายสื่อสารยังนำลงใต้ดินไม่เรียบร้อย ด้านเทศบาลฯ ประกาศพร้อมทำถนนใหม่แล้ว


ตามที่ กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมขับเคลื่อน “โครงการ ๑ จังหวัด ๑ ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ” เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยขอให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือ กฟภ. ดำเนินการสนับสนุนตามภารกิจของหน่วยงาน โดยจัดระเบียบสายสื่อสาร นำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๑๐ และเพื่อรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วประเทศ รวมถึงปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความปลอดภัยในระดับสูงต่อประชาชน ซึ่งการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินจะทำให้ภูมิทัศน์ของจังหวัดต่างๆ มีทิวทัศน์สวยงาม และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศด้วย

ล่าสุด นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ เกี่ยวกับโครงการ ๑ จังหวัด ๑ ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ว่า “จังหวัดนครราชสีมาและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา มีแผนจัดทำโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๕ บนถนนจอมพล ตั้งแต่บริเวณสี่แยกศาลหลักเมือง ถึงสี่แยกตัดประตูพลล้าน ระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร งบประมาณ ๔๕,๖๑๘,๐๐๐ บาท ซึ่งขณะนี้ กฟภ.ได้ผู้รับเหมาผ่านระบบ E-Bidding (วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์) เรียบร้อยแล้ว คือ บริษัท สินแก้วคงมาลัย จำกัด โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงระบบในการเพิ่มปริมาณการจ่ายไฟฟ้าตามความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเมือง ทำให้ภูมิทัศน์ของเมืองมีความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย และเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนที่สัญจรไปมา โดยนำสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และสายต่างๆ ที่พาดผ่านเสาไฟฟ้าจนดูยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบลงไปไว้ใต้ดิน หรือที่เรียกว่าระบบเคเบิลใต้ดิน ซึ่งจะลดปัญหาไฟฟ้าดับหรือกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยจะเริ่มส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาในเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๕ โดยสัญญามีระยะเวลา ๓๖๐ วัน”

ประสบการณ์ความผิดพลาด

“จากวิกฤตที่ กฟภ.เคยถูกร้องเรียนเรื่องต่างๆ ในโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) โดยดำเนินการบนถนน ๒๑ สาย ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น ๒,๔๓๓ ล้านบาท ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา แม้จะก่อสร้างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ระบาด ทำให้ก่อสร้างง่ายกว่าปกติ แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อประชาชน เช่น การจราจร กฟภ.จึงจะนำวิกฤตครั้งนั้นมาเป็นบทเรียนในการดำเนินโครงการ ๑ จังหวัด ๑ ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ระยะทาง ๘๐๐ เมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ กฟภ.ทำประชาพิจารณ์ผ่านแล้ว โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รองนายกเทศมนตรีนครฯ มาร่วมรับฟังด้วย ส่วนใหญ่ประชาชนถามถึงมาตรการลดผลกระทบต่างๆ กฟภ.ชี้แจงว่า โครงการนี้ก่อสร้างในระยะทางสั้นกว่า การปิดเส้นทางจราจรน้อยลง โครงการใหม่นี้จะไม่มีการเปิดหน้าดิน เพื่อลดผลกระทบเรื่องผิวถนนต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับโครงการ คพญ. ซึ่ง กฟภ.จะพยายามนำปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน เพื่อแก้ไขและไม่ให้เกิดขึ้นกับโครงการนี้”

รอทำถนนใหม่

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า “สำหรับโครงการ คพญ. ๑ ขณะนี้ กฟภ.ส่งมอบพื้นที่คืนให้กับเทศบาลนครฯ ทั้งหมดแล้ว แต่ยังมีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่องว่า หากจุดใดที่มีปัญหาด้านไฟฟ้า กฟภ.ก็พร้อมที่จะเข้าไปแก้ไขและรับผิดชอบจุดนั้น ส่วนปัญหาผิวถนน เป็นการซ่อมผิวถนนแบบชั่วคราวก่อน ซึ่งขณะนี้งานของ กฟภ.เสร็จทั้งหมดแล้ว และส่งมอบพื้นที่คืนเทศบาลนครฯ ไปแล้ว การซ่อมผิวถนนให้สมบูรณ์จึงเป็นงานของเทศบาลนครฯ บางเส้นทางก็ปรับปรุงไปแล้ว เพราะงบประมาณจะได้มาตามลำดับ โดยขณะนี้ปรับปรุงไปแล้วในถนนราชดำเนิน โพธิ์กลาง สุรนารี และจอมสุรางค์ยาตร์ ส่วนถนนเส้นอื่นหลังย่าโมทั้งหมด เทศบาลนครฯ จะปรับปรุงในเร็วๆ นี้”

ดับฝันโครงการใหญ่

“ในส่วนของการขยายโครงการ คพญ. เป็นเฟสต่อไปนั้น ยังดำเนินการต่อไม่ได้ เนื่องจากโครงการ คพญ.๑ ทำในพื้นที่ ๔ เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เมืองพัทยา เทศบาลนครหาดใหญ่ และเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งมีเพียงโคราชที่เดียวที่ดำเนินการเสร็จแล้ว เมื่อพื้นที่อื่นไม่เสร็จ ก็ดำเนินการต่อในเฟส ๒ ไม่ได้ แต่ถ้าทำเสร็จทุกเมืองก็จะต้องมาประเมินผลอีกว่า ควรจะทำเฟสที่ ๒ หรือไม่ ดังนั้นหลายฝ่ายจึงมองว่า โครงการใหญ่เช่นนี้ทำยาก หันมาทำโครงการ ๑ จังหวัด ๑ ถนนฯ ดีกว่า เพราะดำเนินการง่ายกว่า และทำเฉพาะถนนที่สำคัญก่อน ซึ่งถนนในเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รองรับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เมื่อ กฟภ.ดำเนินการโครงการ คพญ. จึงทำให้เห็นปัญหามากมาย โดยเฉพาะถนนชำรุดทำให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อโครงการ คพญ.๑ พบปัญหามากมาย ก็ทำให้โครงการ คพญ.๒ เกิดขึ้นได้ยาก จึงต้องมีโครงการทดแทน คือ โครงการ ๑ จังหวัด ๑ ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เป็นโครงการที่ดำเนินการไม่เกิน ๑ กิโลเมตร ใช้งบประมาณไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต ๓ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดนครราชสีมา

อยากรื้อเสาใจจะขาด

“ความคืบหน้าการล้มเสาของโครงการ คพญ.๑ ใจจริงผมต้องการล้มให้เสร็จภายในปีนี้ แต่ติดอยู่ ๒ ปัญหา คือ ๑.การจัดการสายสื่อสารของผู้ประกอบการยังไม่แล้วเสร็จ ในเมื่อเขายังทำไม่เสร็จ ผมจะไปล้มเสาก็ไม่ได้ เพราะสายสื่อสารก็จะไม่มีเสาไว้พาดผ่าน และก็จะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ดังนั้น กฟภ.จะต้องเร่งผู้ประกอบการดำเนินการให้เสร็จ ซึ่งเราก็ไปบังคับเขาไม่ได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ แต่ถ้าเขาทำเสร็จเมื่อไหร่ การรื้อเสาออกก็จะทำได้ทันที ๒.ไฟส่องสว่างของเทศบาลนครฯ ซึ่งติดตั้งไว้บนเสาไฟต่างๆ ซึ่งขณะนี้เทศบาล นครฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการแล้ว เพื่อจะติดตั้งเสาไฟส่องสว่างของตัวเอง ทั้ง ๒ กรณี กฟภ.ก็ต้องรอ โดยเฉพาะผู้ประกอบการสายสื่อสาร จะต้องทำระบบใต้ดินให้แล้วเสร็จก่อน กฟภ.ถึงจะดำเนินการล้มเสาต่อได้ โดยเสาที่เห็นอยู่นั้น มีเพียงสายสื่อสารกับไฟส่องสว่างที่ยังคงอยู่ ส่วนสายไฟฟ้านำลงใต้ดินทั้งหมดแล้ว”

นายประสิทธิ์ กล่าวท้ายสุดว่า “ผมต้องการบอกประชาชนว่า กฟภ.ต้องการจะรื้อเสาใจจะขาดแล้ว เพราะใช้งบประมาณลงทุนมาตั้ง ๒,๔๓๓ ล้าน แต่ติดขัดปัญหาต่างๆ ตามที่กล่าวไป จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการสายสื่อสารให้เร่งดำเนินการ ส่วนโครงการใหม่แม้จะเป็นโครงการเล็กๆ แต่ กฟภ.ยังเป็นห่วงเรื่องการจราจรเหมือนเดิม จึงต้องขออภัยในความไม่สะดวกสำหรับคนในพื้นที่และคนที่จะสัญจรไปมา ซึ่งในการออกแบบและการก่อสร้าง กฟภ.จะนำประสบการณ์จากโครงการ คพญ.๑ มาใช้ให้มากที่สุด ให้เกิดผลกระทบและความเดือดร้อนต่อประชาชนให้น้อยที่สุด”

เทศบาลพร้อมคืนผิวถนน

ทั้งนี้ เทศบาลนครนครราชสีมา ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการปรับปรุงถนนภายในเขตเทศบาลฯ ที่ชำรุดเสียหายจากการก่อสร้างสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน ถนนที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน ๑๙ เส้น ซึ่งเทศบาลฯ ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการปรับปรุงผิวจราจรแล้วทั้ง ๑๙ เส้น ปัจจุบันมีความคืบหน้า ดังนี้ ๑.เทศบาลนครนครราชสีมา ได้ดำเนินการปรับปรุงผิวถนนแล้ว จำนวน ๔ เส้น ประกอบด้วย ถนนราชดำเนิน-ชุมพล ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ถนนโพธิ์กลาง และถนนสุรนารี ๒.อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธี e-bidding จำนวน ๙ เส้น ประกอบด้วย ถนนพลแสน ถนนจอมพล ถนนมหาดไทย ถนนสรรพสิทธิ์ ถนนบัวรอง ถนนโยธา ถนนบุรินทร์ ถนนเทศบาล และถนนข้างร้านโอซาก้า โดยทั้ง ๙ เส้นทางเริ่มดำเนินการก่อสร้างเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ และดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ๒๕๖๕

๓.โครงการที่ต้องบูรณาการโดยมีเนื้องานวางท่อประปาพร้อมกับการปรับปรุงผิวถนนอีก ๖ เส้น ซึ่งจะดำเนินการจัดจ้างโดยวิธี e-bidding ประกอบด้วย ถนนยมราช ช่วงเวลาก่อสร้างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม ๒๕๖๕ ระยะเวลารวม ๗ เดือน, ถนนอัษฎางค์ ช่วงเวลาก่อสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๖๕-มกราคม ๒๕๖๖ ระยะเวลารวม ๘ เดือน, ถนนกำแหงสงคราม ช่วงเวลาก่อสร้าง เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ระยะเวลารวม ๖ เดือน, ถนนจักรี-วัชรสฤษดิ์ ช่วงเวลาก่อสร้าง เดือนมิถุนายน-ธันวาคม ๒๕๖๕ ระยะเวลารวม ๗ เดือน, ถนนมนัส ช่วงเวลาก่อสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๖๕-กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ระยะเวลารวม ๙ เดือน และถนนประจักษ์-ไชยณรงค์ ช่วงเวลาก่อสร้าง เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ระยะเวลารวม ๖ เดือน และ ๔.การปรับปรุงผิวจราจรใช้วิธีการปรับ สกัดผิวและเทผิวจราจรให้ได้มาตรฐานโดยจะปรับถนนให้มีระดับต่ำกว่าทางเท้า ๑๕ ซม.


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๐ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


119 1,741