29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 11,2022

เร่งปรับแบบ‘รถไฟทางคู่-เร็วสูง’ ต้องยกระดับเข้าเมืองเท่านั้น ระวัง!ยับเยินแบบมอเตอร์เวย์

ประชาชน ๓ ตำบล ลุกฮือหยุดขบวนรถไฟ เรียกร้องให้ยกระดับทางรถไฟเป็นแบบตอม่อ ยืนยันไม่เอาคันดิน หวั่นสร้างปัญหาเป็นตราบาปถึงลูกหลาน ด้าน ‘สส.โต’ เผย ยื่นหนังสือถึงการรถไฟฯ และรัฐบาล ไม่มีความคืบหน้า ย้ำแม้ก่อสร้างล่าช้า และต้องเพิ่มงบประมาณ ก็คุ้มค่าที่จะแก้ไข ระวังยับเยินเหมือนมอเตอร์เวย์


เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๐ น. ที่จุดตัดทางข้ามรถไฟบ้านเดื่อ หมู่ ๘ ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสมบัติ กาญจนวัฒนา อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๔ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ นำประชาชนตำบลโคกกรวด ตำบลบ้านใหม่ และตำบลในเมือง จำนวนกว่า ๓๐๐ คน ชุมนุมประท้วงข้างทางรถไฟและบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยถือป้ายระบุข้อความถึงรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาปรับรูปแบบการก่อสร้างจากคันดินเป็นการยกระดับแบบตอม่อ และชี้แจงความเดือดร้อน จากนั้น ผู้ชุมนุมได้ผัดเปลี่ยนกันปราศรัยผ่านรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง เพื่อปลุกให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งมี พ.ต.อ.นาวิน ธีระวิทย์ ผกก.สภ.โพธิ์กลาง อ.เมือง พร้อมเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย

เวลาประมาณ ๐๘.๓๕ น. มีขบวนรถไฟธรรมดา ๒๓๔ สุรินทร์-กรุงเทพมหานคร กำลังแล่นมุ่งหน้ามายังสถานีโคกกรวด ผ่านช่วงหลักเสาโทรเลขรถไฟที่ ๒๔๐+๙๗๘ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ชาวบ้านกำลังทำกิจกรรมและมีส่วนหนึ่งยืนอยู่บนรางรถไฟ ขบวนรถต้องหยุดรอประมาณ ๕ นาที และบริเวณข้างทางรถไฟ มีพระสงฆ์ ๖ รูป ทำพิธีสวดหน้าไฟและจุดไฟเผาโลงศพที่เขียนข้อความ “งานฌาปนกิจศพไอ้คันดิน ๕ มิ.ย.๒๕๖๕” จากนั้น ได้แยกย้ายเดินทางไปที่จุดตัดทางข้ามรถไฟบริเวณหน้าหมู่บ้านบุรีสีมา ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง

นายประพจน์ ธรรมประทีป เปิดเผยว่า “จุดยืนของประชาชน ๓ ตำบล ต้องการยกระดับเป็นตอม่อไม่ใช่คันดิน ก่อนหน้านี้ได้นำรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบและปัญหาความเดือดร้อนไปยื่นทั้งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฯลฯ ขอให้พิจารณาทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้าง แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อ้างอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการ”

นายพัชกฤต ศุภลักษณ์ เลขาธิการในฐานะรักษาการประธานกลุ่มพัฒนาชุมชนตำบลบ้านใหม่ เปิดเผยว่า “ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่มี ๑๒ หมู่บ้าน ประชากรกว่า ๓ หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน ๑๕ แห่ง สถานศึกษา ๙ แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการ รูปแบบเดิมช่วงเส้นทางผ่าน ต.บ้านใหม่ เป็นคันทางระดับดิน ๗.๘๕ กม. ก่อนจะยกระดับเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งคันดินสูงประมาณ ๒ เมตร เปรียบเสมือนกำแพงกั้นไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย เสมือนแบ่งแยกชาวบ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟออกจากกันส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ปัญหาของคันดิน

นายสม พงษ์ใหม่ ประชาชน ต.โคกกรวด กล่าวว่า “เราได้เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาปรับรูปแบบจากคันดินโดยยกระดับเป็นตอม่อ เริ่มตั้งแต่ตำบลโคกกรวดผ่านตำบลบ้านใหม่สิ้นสุดที่สถานีรถไฟนครราชสีมา ไม่เช่นนั้นหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะเป็นอุปสรรคของรถดับเพลิงการไประงับเหตุ และเป็นการแบ่งแยกชุมชน วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระสงฆ์ สามเณรต้องเดินข้ามสะพานต่างระดับสูง ๑๐ เมตร ระยะทาง ๑ กิโลเมตร ไปรับบิณฑบาต ชาวบ้านก็ไปมาหาสู่ลำบากมากขึ้น”

ไม่ได้ก่อกวน

นางสาวกาญจนา กาญจนวัฒนา กำนันตำบลโคกกรวด กล่าวว่า “ชาวบ้าน ๓ ตำบล ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐบาล พวกเราจึงรวมตัวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้ต้องการขัดขวางหรือก่อกวนให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม เพียงขอให้ยกระดับทางรถไฟช่วงผ่านเขตอำเภอเมือง ซึ่งมีจุดตัดทางข้ามรถไฟรวม ๖ จุด หากไม่ดำเนินการในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในอนาคต ขอบคุณรัฐบาลที่นำความเจริญมาให้แต่อย่าสร้างความเดือดร้อนมาให้พวกเรา”

นายประพจน์ ธรรมประทีป ส.อบจ.อำเภอเมือง เขต ๔

“ก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาโครงการไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในระหว่างประชาพิจารณ์โครงการมีส่วนร่วมทั้งหมด เมื่อทราบรูปแบบที่ชัดเจนเป็นคันดินปิดเมือง เสมือนถูกปิดกั้นความเจริญ กลายเป็นอ่างกระทะขนาดใหญ่รองรับมวลน้ำที่เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาพวกเราตระเวนยื่นหนังสือร้องเรียนทุกหน่วยงาน รอเพียงผู้ใหญ่เหลียวแลพิจารณาช่วยเหลือเป็นรูปธรรม” นางสาวกาญจนา กล่าว

นายวินัด ปลั่งกลาง อายุ ๖๔ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองหว้า หมู่ ๑ ต.โคกกรวด กล่าวว่า “อนาคต ๓ ตำบล ต้องถูกปิดกั้นเมือง แบ่งแยกและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิม ขอให้เป็นทางรถไฟยกระดับผ่านเมืองตลอดเส้นทาง”

ต้องยกระดับตอม่อ

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๓๐ น. นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ และเลขาธิการพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์ “โคราชคนอีสาน” ว่า “กระทรวงคมนาคมมีโครงการใหญ่ตั้งแต่ยุค คสช. คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ จากกรุงเทพฯ มาถึงโคราช ซึ่งโครงการเหล่านี้ดีมาก เพราะสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน และเชื่อมต่อไปถึงประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้การเดินทางของภาคอีสานสะดวกมากขึ้น รวมทั้งการค้าขายกับเพื่อนบ้านอย่างลาว กับประเทศจีน ก็จะง่ายขึ้นด้วย ซึ่งโครงการออกแบบเสร็จในยุค คสช. ก็ไม่ทราบว่า การทำ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ได้มาพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ ประชาชนมารู้ภายหลังว่า แบบที่ออกมาของรถไฟทางคู่ จะอยู่ระดับพื้นดินตลอดช่วงที่ผ่านตัวเมืองโคราช จากนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุม ครม.สัญจรที่โคราช ท่านก็รับปากว่าจะปรับแบบให้ จึงมีการปรับแบบให้รถไฟทางคู่ช่วงผ่านเมืองจากระดับดินเป็นยกระดับตอม่อ ตั้งแต่สามแยกปักธงชัย ถึงชุมทางถนนจิระ ก็เป็นเรื่องใหญ่โตอยู่พักหนึ่ง แต่มีอยู่ประมาณ ๗,๘๕๐ เมตร ช่วงตำบลโคกกรวดมาถึงตำบลบ้านใหม่ ยังเป็นรูปแบบระดับดินอยู่ โดยจะทำเป็นคันดินขวางกั้น ๒ ฝั่ง ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จึงกลัวว่าจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้ จึงเกิดการเรียกร้องขึ้น”

“เมื่อผมไปตรวจสอบตามที่ประชาชนเรียกร้อง ก็พบว่าเป็นจริงตามที่พูด ซึ่งผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหาร รฟท. ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม หรือแม้กระทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ก็ทราบถึงความเดือดร้อนของประชาชน ผมจึงเป็นคนกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน การรถไฟฯ ลงพื้นที่มาดู ๒-๓ ครั้ง พบว่า ทางลอดใต้คันดินมีขนาดเล็กเกินไป รถดับเพลิงหรือรถฉุกเฉินไม่สามารถลอดผ่านได้ หากเกิดเหตุไฟไหม้หรือมีเหตุเร่งด่วนก็จะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน เมื่อฝนตกหนักก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะในขณะเดียวกันที่ตำบลบ้านใหม่ก็มีถนนมอเตอร์เวย์ขนาบข้างด้วย เมื่อมีคันดินของทางรถไฟก็ทำให้เป็นการกั้นชุมชนเหมือนเป็นแอ่งน้ำ การรถไฟจึงปรับแบบเพิ่มความสูงของคันดิน ทำให้อุโมงค์กว้างขึ้น แต่ยิ่งสูงก็ยิ่งกลายเป็นกำแพงขนาดใหญ่”

นายวัชรพล กล่าวอีกว่า “ผมคิดว่าการออกแบบเช่นนี้ไม่น่าจะใช่สิ่งถูกต้อง จึงได้พูดคุยกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ บอกเล่าถึงความเดือดร้อนของประชาชน เกิดเป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อช่วงปลายปี ๒๕๖๔ ที่โรงเรียนบ้านภูเขาลาด นายวิเชียรฯ จึงสรุปเหมือนกับประชาชนว่า ไม่เห็นด้วยกับแบบรถไฟทางคู่ที่จะก่อสร้างเป็นคันดิน แต่ควรจะยกระดับเป็นตอม่อ จากนั้น นายวิเชียรฯ กับผม และคณะ ได้นำชาวบ้านไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงต้นปี ๒๕๖๕ ต่อมา ผมก็ได้ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการคมนาคม และยื่นกระทู้สดด้วยวาจา”

ที่อื่นยังยกระดับได้

“หลังจากที่ผู้ว่าการรถไฟฯ รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ก็รับปากว่าจะนำไปหาแนวทางแก้ไขให้ และจะลงพื้นที่มาพูดคุยกับประชาชน รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาตอบกระทู้สดผม ก็รับปากว่า จะให้ผู้ว่าการรถไฟฯ ลงพื้นที่ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีใครลงพื้นที่สักคน ประชาชนก็วิตกว่า รถไฟทางคู่จะไม่มีการปรับแบบ แต่ก็ทราบข่าวมาว่า การรถไฟฯ คิดทางออกไว้ ๒ เรื่อง เช่น ๑.ทำตามที่ประชาชนเรียกร้องให้ยกระดับ ๒.ทำเส้นทางใหม่ แต่ที่ผมคาใจมากที่สุด คือ เส้นทางจากอำเภอสีคิ้วมาอำเภอสูงเนิน ทำไมยกระดับเป็นตอม่อได้ ซึ่งบางช่วงเป็นทุ่งนา เป็นป่า และการก่อสร้างก็ใกล้เสร็จแล้ว แต่ในเขตชุมชนตำบลโคกกรวดถึงตำบลบ้านใหม่ กลับไม่ยกระดับ ไม่มีที่ไหนในโลกเขาทำเป็นคันดินในช่วงผ่านเมือง หากยกระดับตอม่อก็จะมีข้อดี เช่น ข้างล่างสามารถทำเป็นถนนท้องถิ่น เพิ่มเส้นทางการจราจร แต่ถ้าทำเป็นคันดินถนนจะถูกปิดตายตลอดระยะทาง ๗,๘๕๐ เมตร และปัญหาใหญ่ คือ น้ำท่วม หากการยกระดับต้องเพิ่มงบประมาณหลายพันล้าน ก็ไม่ต่างกับการแก้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ การสัญจรไปมาของประชาชนก็จะลำบากมากขึ้น ต้องไปกลับรถที่สะพานเกือกม้าที่อยู่ห่างไกลหลายกิโลเมตร” นายวัชรพล กล่าว

ยังมีโอกาสแก้ไข

นายวัชรพล กล่าวต่อไปว่า “โครงการรถไฟทางคู่ สัญญาที่ ๒ คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอแก้ไขผล EIA และยังไม่ได้ผู้รับเหมา รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้ทั้ง ๒ โครงการยังมีโอกาสที่จะแก้ไข เพราะยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ยังไม่มีการทำผนังกั้นดิน และคันดินก็ยังไม่มี ซึ่งการทำคันดินจะใช้ดินประมาณ ๕ ล้านคิว ดินจำนวนมหาศาลขนาดนี้เหมือนเป็นการทำลายธรรมชาติ แต่ทำไมไม่ก่อสร้างยกระดับ ไม่เปลืองเงินสร้างสะพานเกือกม้า ๔ แห่ง ปัญหาเหล่านี้จะเป็นตราบาปตกทอดไปถึงลูกหลาน ลูกหลานก็จะถามว่า สมัยเราอยู่ทำไมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คิดจะแก้ไข”

ล่าช้าแต่ก็คุ้มค่า

“ถ้าพูดถึงความล่าช้าเมื่อมีการปรับแบบ ให้นึกถึงมอเตอร์เวย์ ขณะนี้ยังไม่เสร็จและเลื่อนไปอีกหลายปี เพราะไม่มีงบประมาณอีก ๖-๗ พันล้านบาท ที่เกิดความล่าช้าเพราะโครงการเร่งให้เกิดขึ้นเร็วเกินไป ไม่มีการพิจารณาแบบและพิจารณาผล EIA ที่ชัดเจน เริ่มแรกจะทำอะไรก็มาทำ EIA แต่ประชาชนไม่รับทราบ ไม่รู้ พอออกแบบเสร็จก็มาถามชาวบ้าน หากรถไฟทางคู่จะต้องเพิ่มงบประมาณ ๒-๓ พันล้านบาท แต่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า ก็ถือว่าคุ้มที่ทำแล้วส่งผลกระทบด้านดีตามมา ไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการจราจรในภายหลัง ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณมากกว่าเดิมด้วย”

ไม่ทำเพื่อความสะใจ

“สำหรับการเรียกร้องเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายนที่ผ่านมา หลายคนก็บอกว่า ไม่ได้คัดค้านโครงการ เพราะโครงการนี้ดี มีประโยชน์ต่อประชาชน ที่ประชาชนเขียนว่า ‘ฌาปนกิจไอ้คันดิน’ เพียงต้องการสื่อให้ถึงรัฐบาล และต้องการให้ลงมาแก้ไข ผมก็ถือว่า การเรียกร้องครั้งนี้เป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ให้กับลูกหลาน ผมไม่ต้องการเจาะลึกและพูดถึงเรื่องเก่าๆ แต่ในการทำ EIA โครงการนี้ ต้องบอกว่า ประชาชนตำบลบ้านใหม่กับตำบลโคกกรวด ไม่เคยได้เข้าร่วมรับฟัง ทุกคนไม่ต้องการให้โครงการหยุดชะงัก หากพูดเรื่องนี้ก็จะรวมไปถึงเรื่องเก่า เพียงว่า ขณะนี้ประชาชนต้องการให้รัฐบาลทบทวนแบบรถไฟทั้ง ๒ โครงการ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขเพื่อความสะใจของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของอนาคต หรือปัญหาที่ทำทิ้งไว้ จากนั้นก็จะกลายเป็นปัญหาเมือง เป็นตราบาปที่จะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ อนาคตต้องหางบประมาณลงมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการจราจรทุกๆ ปี และที่สำคัญในพื้นที่ชุมชนเมือง ไม่มีที่ใดในโลกเขาทำกันแบบนี้” นายวัชรพล กล่าว

นายวัชรพล กล่าวท้ายสุดว่า “ผมจะทำหน้าที่ตัวเองในสภาฯ ให้ดีที่สุด จะพยายามหาทุกช่องทางในการนำเสนอให้รัฐบาลรับรู้ ผมกับประชาชนในพื้นที่ยืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านโครงการ เพียงต้องการให้การรถไฟฯ หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงมาดูความเป็นจริง มาสำรวจความคิดเห็น หากรีบแก้ไขวันนี้ก็จะทำให้ไม่ล่าช้าเหมือนมอเตอร์เวย์ และที่สำคัญอาจจะประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาที่จะตามมาได้ด้วย”

นางสาวกาญจนา กาญจนวัฒนา กำนันตำบลโคกกรวด

แก้ไขไม่ตรงจุด

จากนั้น วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๓๐ น. นางสาวกาญจนา กาญจนวัฒนา กำนันตำบลโคกกรวด เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ลักษณะพื้นที่ของตำบลโคกกรวด เป็นพื้นที่ลาดชัน มีจุดสูงสุดอยู่บริเวณติดกับตำบลสุรนารี หรืออ่างห้วยยาง ทำให้น้ำฝนไหลลงมาตามเส้นทาง ถึงบริเวณถนนมิตรภาพ และข้ามไปยังลำตะคอง ประชาชนจึงกลัวว่า เมื่อก่อสร้างเป็นคันดินแล้วมีน้ำเอ่อล้นมาจากลำตะคอง หรือมีฝนตกหนักในพื้นที่ การระบายน้ำก็จะไม่ค่อยดี เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งรูระบายน้ำของทางรถไฟก็เล็ก อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด และการทำรูระบายน้ำก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากรูระบายน้ำอยู่ไม่ตรงจุดก็ต้องมาตามแก้ใขภายหลังอีก ประชาชนตำบลโคกกรวดและบ้านใหม่ จึงเสนอว่า ทำไม รฟท.ไม่ยกระดับทางรถไฟเป็นแบตอม่อ ส่วนด้านล่างก็ทำเป็นทางระบายน้ำ ให้น้ำไหลสะดวก

“ปัญหาอีกอย่างของคันดิน คือ เป็นการกั้นสองฝั่งของชุมชนออกจากกัน เช่น บริเวณบ้านเดื่อ เป็นหมู่บ้านที่มีทางรถไฟผ่านกลางชุมชน หากทำเป็นคันดินจะแบ่งแยกชุมชนออกจากกันอย่างชัดเจน การสัญจรไปมาของประชาชนก็จะลำบากขึ้น ต้องไปกลับรถด้วยสะพานเกือกม้า ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนไกลมาก เบื้องต้นการรถไฟฯ จะแก้ปัญหาคันดินด้วยการทำสะพานเกือกม้าไว้กลับรถ และทำสะพานบก ซึ่งเดิมทีไม่มีสะพานบก แต่เป็นทางลอดที่รถดับเพลิงหรือรถฉุกเฉินต่างๆ ไม่สามารถลอดได้ เพราะความสูงของทางลอดไม่เพียงพอกับขนาดรถ เมื่อประชาชนต่อสู้เรียกร้องให้แก้ไข การรถไฟฯ จึงออกแบบใหม่เป็นสะพานบก เป็นทางลอดที่สูงกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้อยู่บริเวณทางสัญจรไปมาของประชาชน หากจะใช้งานก็ต้องเดินทางไปไกลจากเดิม”

ไร้ความคืบหน้าจากผู้เกี่ยวข้อง

“สำหรับการชุมนุมเรียกร้องเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายนที่ผ่านมา เพราะประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเหล่านี้มาเป็นเวลา ๒ ปีแล้ว มีทั้งการยื่นหนังสือให้ศูนย์ดำรงธรรม ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กระทรวงคมนาคม และเรียกร้องถึงทุกหน่วยงานที่จะทำได้ แต่ปัจจุบันก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีคำตอบกลับมา กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปว่า หนังสือที่ประชาชนยื่นถึงการรถไฟฯ ทำไมยังไม่มีการตอบกลับสักที จึงกลายเป็นว่า ประชาชนต้องมาชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะการก่อสร้างก็ใกล้เข้ามาแล้ว หากไม่ทำอะไรก็จะสายเกินไป ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนต้องการความเจริญ ต้องการให้โครงการสำเร็จ แต่ขออีกเล็กน้อยว่า ให้ยกระดับเป็นตอม่อเข้าไปยังตัวเมืองแล้วทุกอย่างจะจบ เพราะรถไฟความเร็วสูงยกระดับมาตั้งแต่อำเภอสีคิ้วถึงตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนินแล้ว ขอให้ยกระดับที่ตำบลโคกกรวดกับบ้านใหม่อีกนิดเดียว” นางสาวกาญจนา กล่าว

ช่วยพิจารณาแก้ไข

เมื่อ ‘โคราชคนอีสาน’ ถามว่า ‘โครงการรถไฟทางคู่สัญญาที่ ๒ ผ่านการทำ EIA แล้ว แต่ทำไมเพิ่งมาเรียกร้อง’ นางสาวกาญจนา ตอบว่า “ประชาชนในพื้นที่อาจจะเข้าใจว่า การทำ EIA เป็นเหมือนการสอบถามว่า อยากได้รถไฟหรือไม่ โครงการดีหรือไม่ และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง ซึ่งประชาชนต้องการจึงยกมือ แต่ทุกคนไม่ทราบว่า รายละเอียดการก่อสร้างในแต่ละจุดเป็นอย่างไร จุดใดจะยกระดับหรือเป็นคันดิน การรถไฟฯ ควรจะมากางแบบให้ผู้นำชุมชนรับทราบ และทำประชาคมในหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจริง แต่การทำ EIA ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ต้องการหรือไม่ แน่นอนว่าทุกคนต้องการ แต่ขณะนั้นยังไม่มีรายละเอียดการออกแบบที่ชัดเจน ไม่มีใครทราบ กระทั่งเริ่มก่อสร้างในปัจจุบัน”

นางสาวกาญจนา กล่าวอีกว่า “ประชาชนทุกคนเข้าใจถึงความยากลำบากของขั้นตอนการแก้ไขรายละเอียดโครงการ อาจจะต้องนำเข้า ครม.ใหม่อีกครั้ง เพราะการยกระดับจะมีงบประมาณที่เกินมาจากเดิม แต่เราก็ต้องการให้ช่วยพิจารณาให้ อาจจะยาก แต่ขอให้พิจารณาสักนิด”

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๑๓๔ กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น ๔ สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง ๕๘ กิโลเมตร ก่อสร้างโดยบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), สัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร วงเงิน ๙,๓๙๙ ล้านบาท ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า ITD-RT, สัญญาที่ ๔ งานจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า ITD-LSS ส่วนสัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๖๙ กิโลเมตร อยู่ระหว่างการเสนอขอแก้ไขผล EIA ใหม่ เนื่องจากมีการปรับแบบก่อสร้างบริเวณผ่านเมืองโคราช ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการทุบสะพานบริเวณโรงแรมสีมาธานี

โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง ๑๗๒ กิโลเมตร แบ่งสัญญาโครงการออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ฝ่ายไทย (สัญญาที่ ๑) รับผิดชอบจัดการประกวดราคา หาผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาตามระเบียบ โดยมีมูลค่ากรอบวงเงินประมาณ ๑๓๒,๒๓๓.๕๐ ล้านบาท แบ่งเป็นงานรื้อย้าย/เวนคืน ๑๓,๐๖๙.๖๐ ล้านบาท และก่อสร้างงานโยธา ๑๑๙,๑๖๓.๘๘ ล้านบาท มีทั้งหมด ๑๔ สัญญาย่อย และฝ่ายจีน (สัญญาที่ ๒) รับผิดชอบงานออกแบบรายละเอียดงานโยธา เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และงานระบบทาง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร มีทั้งหมด ๓ สัญญาย่อย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๐ วันพุธที่ ๘ - วันอังคารที่ ๑๔ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


998 1648