6thDecember

6thDecember

6thDecember

 

June 25,2022

คัดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น หวังกระตุ้นชุมชนให้เข้มแข็ง

คัดสรรหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็น เป็นสุข, ผู้นำ, กลุ่มองค์กร ชุมชน แกนหลัก พัฒนาหมู่บ้านและตำบลเข้มแข็ง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เฟ้นหมู่บ้านชนะเลิศระดับจังหวัด มุ่งกระตุ้นชุมชนเข้มแข็ง เป็นต้นแบบหมู่บ้าน ตำบลอื่น  

 

เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มอบหมายให้นายเดโช วันทนาพิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานฯ นำคณะกรรมการคัดสรรกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งอำเภอสตึก ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับกลุ่มอำเภอที่ ๒ ทุกกิจกรรม ที่ศาลาวัดบ้านโนนมะงา หมู่ที่ ๒ ต.สะแก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ โดยมีนายกันวลินทร์ เมืองแก้ว นายอำเภอสตึก, นายทวี ศรีชาติ พัฒนาการอำเภอสตึก, นางบรรจง อินทะหอม นายกเทศมนตรีตำบลสะแก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ให้การต้อนรับ และรับการคัดสรรกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัดบุรีรัมย์

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ กำหนดจัดการคัดสรรกิจกรรมพัฒนาชุมชนดีเด่น ระดับจังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปี ๒๕๖๕ ใน ๔ ประเภท เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่น/ผู้นำอาสาพัฒนาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ชาย, หญิง ดีเด่น/ กลุ่ม, องค์กรชุมชนแกนหลักสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ดีเด่น และตำบลเข้มแข็งตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดีเลิศระดับจังหวัด เพื่อเป็นการสรรหาและคัดเลือกกิจกรรมการพัฒนาชุมชนดีเด่นระดับจังหวัด ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนา หมู่บ้าน/ตำบล ให้มีความเข้มแข็งและมีผลงานโดดเด่น ให้เป็นที่รับทราบอย่างแพร่หลายและรับโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ     

         

นายเดโช วันทนาพิทักษ์ พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเพื่อเชิดชูเกียรติยกย่องคนทำความดี คนที่ทำงานแล้วมีผลงานเพื่อเสนอไปยังส่วนกลางได้พิจารณาคัดเลือกให้เหลือจังหวัดละ ๑ แห่งเท่านั้น โดยหมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกให้ชนะเลิศ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่น “ตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น” จะได้รับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผู้นำอาสาพัฒนาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ชาย, หญิง ดีเด่น/กลุ่ม, องค์กรชุมชนแกนหลักสำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ดีเด่น จะได้รับโล่รางวัลสิงห์ทองและเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเป้าหมายของการจัดโครงการดังกล่าวก็เพื่อให้หมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกได้เป็นต้นแบบแก่หมู่บ้าน ตำบลอื่น ในการทำความดีและตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคนในหมู่บ้าน ชุมชนของตนเองให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป  

ด้านนางบรรจง อินทะหอม นายกเทศมนตรีตำบลสะแก กล่าวว่า ทุกหมู่บ้านในตำบลเข้มแข็ง แต่จุดเด่นอยู่ที่บ้านโนนมะงา คนในชุมชน ครอบครัวเข้มแข็ง ผู้สูงอายุมีงานทำ มีผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายมากมาย เช่น การแปรรูปผักตบชวา เป็นรองเท้ากระเป๋า ของประดับตกแต่ง สร้างมูลค่านับล้านบาทต่อปี กลุ่มทอสื่อกก แกะสลักไม้ กลุ่มแปรรูปปลา เช่น ส้ม ปลาร้า น้ำพริก เนื้อโควากิว เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว ชุมชนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาพื้นบ้าน ศูนย์สมุนไพร ตรวจรักษาโรคพื้นบ้าน บุคคลในชุมชน ตำบล และต่างถิ่นมาใช้ผลิตภัณฑ์ และมีศูนย์นวดแผนโบราณ

ขณะที่นายกันวลินทร์ เมืองแก้ว นายอำเภอสตึก กล่าวว่า ตำบลสะแกแห่งนี้ ถือว่าเป็นตำบลต้นแบบ หมู่บ้านตัวอย่างในการบรูณาการช่วยกันขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ภาคีเครือข่าย โดยการนำปัญหาของพี่น้องประชาชนมาต่อยอดพัฒนาเพื่อให้ตรงตามความต้องการ ซึ่งในส่วนนี้ บ้านโนนมะงา เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ได้เน้นถึงความมั่นคงทางอาหาร มั่นคงทางความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่น รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และหวังว่าจะได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ ในส่วนของหมู่บ้านโนนมะงา มีการส่งเสริมการทำอาชีพ และส่งเสริมการทำเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชน จุดแข็งสำคัญคือความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะต่อยอดให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่ประมาณ ๗๒ ตารางกิโลเมตรหรือจำนวน ๔,๕๐๐ ไร่ มีจำนวน ๑๓ หมู่บ้าน ๒,๐๐๐ ๔๘ ครัวเรือน มีประชากร ๗,๓๗๓ คนส่วนใหญ่อาชีพทำนาและเกษตรกรรม มีลำน้ำมูลพาดผ่านเป็นเขตแดน มีกลุ่มสมาชิกครัวเรือนต้นแบบโคกหนองนาโมเดลจำนวน ๑๑ ครัวเรือนมีกลุ่มอาชีพจำนวน ๘ กลุ่ม ผู้สูงอายุในพื้นที่มีงานทำ มีผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายมากมาย เช่น การแปรรูปผักตบชวาเป็นรองเท้า กระเป๋า ของประดับตกแต่ง สร้างมูลค่านับล้านบาทต่อปี กลุ่มทอสื่อกก แกะสลักไม้ กลุ่มแปรรูปปลา เช่น ปลาส้ม ปลาร้า น้ำพริก เนื้อโควากิว มีภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านสมุนไพร รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรจากโคกหนองนาด้วย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๒ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


88 1,735