29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 09,2022

ชื่นชมเด็ก‘ป.๑’๒๔๐ รร. อ่านออกเขียนได้ ๑๐๐%

 

สพป.เขต ๓ สุรินทร์ จัดมหกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติความสามารถด้านการอ่าน ชั้นป.๑ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ ด้านภาษาไทย ปลื้มอ่านออกเขียนได้ ๑๐๐% ทั้ง ๒๔๐ แห่ง แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙


เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ที่หอประชุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต ๓ (สพป.เขต ๓ สุรินทร์) อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ นางภานิชา อินทร์ช้าง ผู้อำนวยการ สพป.เขต ๓ สุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติความสามารถด้านการอ่าน (Reading -Test : RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านภาษาไทย ปีการศึกษา ๒๕๖๔ สพป.สุรินทร์ เขต ๓ ก้าวไกลสู่สากล” จัดขึ้นโดย สพป.เขต ๓ สุรินทร์ หลังจากดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษา ตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” ซึ่งกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จไว้ที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๓ อ่านออกเขียนได้ทุกคน, นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ อ่านคล่อง เขียนคล่อง และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ มีสมรรถนะการอ่านขั้นสูง เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นไปอย่างเข้มแข็ง และเป็นรูปธรรม ตามกรอบนโยบายที่กำหนดไว้ จึงจัดกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติ ความสามารถขึ้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และยกย่องเชิดชูเกียรติครู นักเรียน สถานศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพการศึกษา ประสบผลสำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งการสังเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนา โดยการเสวนาถอดบทเรียนการพัฒนาความสามารถด้านการอ่าน การเขียนตามกิจกรรมรวมทั้งแนวทางการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ดังกล่าว

สำหรับกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่มีความสามารถด้านการอ่าน (Reading -Test : RT) ได้คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน จากการประเมินความสามารถด้านการอ่าน ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่สอนนักเรียนได้คะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน จากการประเมินความสามารถด้านการอ่าน และโรงเรียนที่มีผลการประเมินความสามารถด้านการอ่าน (Reading-Test : RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๕ ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ

โดยมีผู้ทรงวุฒิจากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งบุคลากรในสถานศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ และผู้ทรงวุฒิจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และคณะกรรมการบริหารชมรมครูภาษาไทย สพป.สุรินทร์ เขต ๓ รวมทั้ง คณะกรรมการชมรมครูภาษาไทย ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ในสังกัดทุกโรงเรียนและโรงเรียนในสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ในเขตจังหวัดสุรินทร์ สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต ๓ มีโรงเรียนอยู่ในความรับผิดชอบดูแลทั้งสิ้นจำนวน ๒๓๓ แห่ง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอีก ๗ แห่ง รวมทั้งหมด ๒๔๐ แห่ง ซึ่งพบว่าเด็กชั้น ป.๑ สามารถอ่านออกเขียนได้ถึง ๑๐๐%

นางภานิชา อินทร์ช้าง ผู้อำนวยการ สพป.เขต ๓ สุรินทร์ กล่าวว่า จากการกล่าวรายงานของคณะกรรมการดำเนินงาน ทำให้ทราบว่า ได้ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามนโยบาย “เด็กไทยวิถีใหม่ อ่านออกเขียนได้ทุกคน” โดยกำหนดเป้าหมาย ความสำเร็จไว้ที่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่๑-๓ อ่านออก เขียนได้ทุกคน, นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ อ่านคล่อง เขียนคล่อง และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ มีสมรรถนะการอ่านขั้นสูงนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นไปอย่างเข้มแข็ง และเป็นรูปธรรมตามกรอบนโยบายที่กำหนด

“ผลกระทบการเรียนการสอนในช่วงโควิด-๑๙ สองปีที่ผ่านมากระทบทั้งชั้นอนุบาล ป.๑-ป.๓ ที่จะต้องมีความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้อ่านคล่องเขียนคล่อง การจัดการเรียนการสอนช่วงที่ผ่านมา เราใช้การสอนออนแฮนด์เป็นส่วนใหญ่ และก็ออนไลน์บ้างสำหรับเด็กโต ป.๔, ๕, ๖ และ ม.๑-๓ วิธีการจัดเตรียมงาน ก็คือให้คุณครูจัดเตรียมในเรื่องของใบงานแบบฝึกต่างๆ ไปมอบให้เด็กนักเรียน สำหรับชั้นเด็กเล็ก อนุบาล หรือ ป.๑ ครูก็จะสามารถไปให้ความรู้ถึงบ้าน เป็นรายบุคคลเพื่อแก้ปัญหาในการที่ลูกไม่สามรถออนไซต์ได้ ขณะเดียวกันผลการสอบ RT ป.๑ ก็ถือว่าใช้ได้ สูงกว่าขั้นเฉลี่ยในระดับประเทศขึ้นมาสูงกว่าปีที่แล้ว และอีกประการที่น่าประทับใจในเรื่องการจัดการเรียการสอนของเด็กชั้น ป.๑ เมื่อเปิดเทอมมา ในช่วงปีการศึกษา ๒๕๖๕ ตั้งแต่เดือนแรกพฤษภาคม, มิถุนายน มาถึงกรกฎาคม ครู ป.๑-ป.๓ จะต้องทบทวนเนื้อหาบทเรียนการเขียนอ่านคล่องเขียนคล่องให้ได้ก่อน เพราะว่าหากเด็กมีปัญหาในการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เมื่อขึ้นไปชั้น ป.๒-ป.๓ ก็จะมีปัญหามาก เขตจะต้องทบทวนระยะเวลาประมาณ ๒ เดือนเพราะว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราสอนออนแฮนด์และออนไลน์ จึงต้องใช้ระยะเวลาเดือนแรกทบทวน เนื้อหาสาระให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และอีกประการหนึ่งก็เป็นนโยบายของดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ในช่วงการจัดการเรียนการสอนในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และการเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียนด้วย” ผู้อำนวยการ สพป.เขต ๓ สุรินทร์ กล่าวท้ายสุด


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๔ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


966 1605