19thApril

19thApril

19thApril

 

July 15,2022

สผ.ตรวจเหมืองด่านขุนทด ‘ไทยคาลิ’เล็งขุดอุโมงค์ ๓ จุด

 

ลงพื้นที่ตรวจสอบเหมืองโปแตชด่านขุนทด เตรียมขุดเจาะอุโมงค์ใหม่ ๓ แห่ง ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ตั้งคำถามเหมืองทำตามมาตรการ EIA จริงหรือไม่ หลังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ พบไม่มีการขุดคูน้ำจืดรอบพื้นที่ตามมาตรการแต่อย่างใด


จากกรณีที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เรื่อง ขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินกิจการเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด

โดยจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด มีรายละเอียดดังนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ดำเนินโครงการในพื้นที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่มีการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๘ ตลอดระเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ตำบลหนองไทร อำเภอด่านขุนทด ได้รับผลกระทบมาตลอดนับแต่มีการทำเหมืองแร่ โดยมีการปล่อยน้ำลงสู่ที่ดินทำกิน ปล่อยน้ำเค็มลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และมีการตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการปล่อยให้น้ำเค็มรั่วไหลออกจากเขตประทานบัตร จากการตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ นครราชสีมา

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด พบว่า มีการปกปิดข้อมูลเรื่องมีน้ำรั่วไหลลงอุโมงค์ขุดเจาะ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๓ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทฯ ไม่เคยแจ้งข้อมูลให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบแต่อย่างใด และไม่มีข้อมูลว่ามีการทำตามมาตรการป้องกันผลกระทบในกรณีน้ำรั่วลงอุโมงค์แต่อย่างใด และในขณะที่ไม่มีการรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบผลกระทบหรือมีการชดเชยเยียวยาแต่อย่างใด กลับมีข่าวว่าจะมีการย้ายอุโมงค์ขุดเจาะ มีการเปลี่ยนผังโครงการทำเหมือง ทั้งที่การทำเหมืองในปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแลแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดจึงขอให้มีการชี้แจงข้อมูลดังนี้ ๑.กรณีมีการรั่วไหลของน้ำลงอุโมงค์ขุดเจาะสำรวจ มีมาตรการป้องกันผลกระทบในส่วนนี้หรือไม่อย่างไร และสิ่งที่เกิดขึ้นจะรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร ๒.จากแผนผังโครงสร้างการทำเหมืองในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่า มีการทำเหมืองในพื้นที่เกินขอบเขตแผนผังโครงการ ซึ่งถือเป็นความผิดอย่างร้ายแรง ขอให้มีการตรวจสอบโดยเร็วที่สุด ๓.การทำเหมืองของบริษัทฯพิพาท มีการใช้บ่อน้ำสาธารณะ และมีการต่อท่อออกมานอกเขตแผนผังโครงการทำเหมือง เป็นที่สงสัยว่า จะเป็นการทำการโดยไม่ได้รับอนุญาต

“ดังนั้น จึงขอให้ท่านได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยเร็ว และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงการทำเหมือง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงในการละเมิดมาตรการ EIA และทางกลุ่มจะเดินทางไปยื่นหนังสือด้วยตนเองที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป”

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๖๕ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ (นครราชสีมา)” โพสต์ข้อความว่า วันที่ ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๖๕ นายมนต์สังข์ ภู่ศิริวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิจารณาตรวจสอบพื้นที่กรณีโครงการเหมืองแร่โพแทช ร่วมกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่โพแทช  ตำบลหนองไทร อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายบัญชา ขุนสูงเนิน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนางสาวอัจฉรา อิ่มมณี นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ (นครราชสีมา) ร่วมสังเกตการณ์ในพื้นที่

ผลการตรวจสอบสรุปได้ดังนี้ ๑.ผู้แทนโครงการเหมืองแร่โพแทช ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการที่ขอเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย ขอขุดอุโมงค์แนวดิ่ง จำนวน ๓ แห่ง ในพื้นที่กรรมสิทธิ์ การขอใช้วัตถุระเบิดในการขุดอุโมงค์ และขอก่อสร้างบ่อเก็บน้ำ จำนวน ๕ บ่อ ๒.วิศวกรเหมืองแร่ของโครงการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบจากการดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณา ๓.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ (นครราชสีมา) เสนอผลการตรวจสอบค่าความเค็มของแหล่งน้ำบริเวณรอบพื้นที่โครงการ และจุดที่ตรวจพบน้ำรั่วซึมบริเวณวัดหนองไทรติดกับคันดินพื้นที่โครงการ และแจ้งว่าจากการเข้าตรวจสอบบริเวณบ่อดักตะกอนของโครงการซึ่งอยู่ติดกับวัดหนองไทร ไม่พบว่ามีคูน้ำจืดโดยรอบบริเวณนั้นแต่อย่างใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรการที่กำหนดในรายงาน EIA โดยผู้แทนโครงการชี้แจงว่าได้ใช้บ่อดักตะกอนดังกล่าวให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนคูน้ำจืด ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แจ้งให้ทางโครงการทำรายละเอียดเสนอไปพร้อมกับรายการที่ขอเปลี่ยนแปลงและให้นำประเด็นข้อร้องเรียนของประชาชนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในวันที่ ๒๐ กรกฏาคม ๒๕๖๕

ขณะเดียวกันกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้มีการตรวจสอบและชี้แจงกรณีมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการทำเหมืองที่ไม่เป็นไปตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีรั่วไหลของน้ำภายในอุโมงค์ขุดเจาะเหมืองแร่โปแตช แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ไม่มีหน่วยงานใดออกมาแจ้งข้อมูลเรื่องการรั่วไหลของน้ำภายในอุโมงค์ขุดเจาะ และไม่มีมาตรการปกป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนสุดท้ายผลกระทบก็เกิดขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

การลงพื้นที่ของ สผ. และ คชก.เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชของไทยคาลินั้น ทำตามมาตรการที่เขียนไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือไม่ แต่เป็นการลงพื้นที่เนื่องจากบริษัทฯ พิพาท ต้องการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ หลังอุโมงค์เดิมเจาะไปพบชั้นหินแตกจนอุดน้ำไม่อยู่ น้ำใต้ดินซึมเข้ามาภายในอุโมงค์อย่างรวดเร็วจนไม่อาจเจาะไปถึงชั้นแร่ได้ จึงขอเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการด้วยการทำอุโมงค์เจาะแนวดิ่ง ๓ อุโมงค์ ขอใช้วัตถุระเบิด และขุดบ่อพักน้ำเพิ่มอีก ๕ บ่อ

ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ ๑๑ (นครราชสีมา) เสนอผลการตรวจสอบค่าความเค็มของแหล่งน้ำบริเวณรอบพื้นที่โครงการ และจุดที่ตรวจพบน้ำรั่วซึมบริเวณวัดหนองไทรติดกับคันดินพื้นที่โครงการ และแจ้งว่าจากการเข้าตรวจสอบบริเวณบ่อดักตะกอนของโครงการซึ่งอยู่ติดกับวัดหนองไทร ไม่พบว่ามีคูน้ำจืดโดยรอบบริเวณนั้นแต่อย่างใด ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรการที่กำหนดในรายงาน EIA โดยผู้แทนโครงการชี้แจงว่าได้ใช้บ่อดักตะกอนดังกล่าวให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนคูน้ำจืด ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แจ้งให้ทางโครงการทำรายละเอียดเสนอไปพร้อมกับรายการที่ขอเปลี่ยนแปลงและให้นำประเด็นข้อร้องเรียนของประชาชนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๕

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการรอบนี้ ชาวบ้านในพื้นที่กำลังตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นย้อมแมวให้เหมืองแร่ เพราะหลังจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้มีการตรวจสอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเหมืองแร่โปแตชไทยคาลิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ พบจุดที่น่าสงสัยว่าจะมีการก่อสร้างอาคารโรงงาน ที่คาดว่าจะเป็นส่วนของพื้นที่แต่งแร่ การใช้แหล่งน้ำสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และการขุดบ่อพักน้ำต่างๆ เกินไปกว่าแผนผังโครงการทำเหมือง และพื้นที่ที่เกินออกมานี้เองอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ เพราะพื้นที่ส่วนนี้ไม่อยู่ในรายงาน EIA จึงไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบใดๆ

 

หากเป็นไปตามการตั้งข้อสังเกตของสิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ย่อมเท่ากับว่าโครงการเหมืองโปแตชนี้ ไม่มีการทำตามมาตรการ EIA เรื่องนี้ถือเป็นความผิดร้ายแรงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสมควรเร่งดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว และหากพบว่ามีการทำผิดจริงต้องดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ระบุท้ายสุดว่า หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว และไม่เปิดโอกาสเพื่อช่วยเหลือให้เหมืองทำการชุบตัวใหม่ โดยการขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการทั้งที่มีการทำเกินไปกว่าแผนผังโครงการ กลับดำเป็นขาว กลับผิดเป็นถูก เพราะการยืดระยะเวลาในการตรวจสอบ การเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้าน ย่อมเป็นการซ้ำเติมผลกระทบให้กับคนในพื้นที่


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๕ ประจำวันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


1070 1394