29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 15,2022

‘เขาใหญ่’ไม่เอาเหมืองหิน หวั่นกระทบท่องเที่ยว วอนรัฐโปร่งใสและเป็นธรรม

ชาวเขาใหญ่ ๔ หมู่บ้าน รวมกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอ่อนขนาดใหญ่กว่า ๒๐๐ ไร่ เจ้าหน้าที่ ย้ำทำตามขั้นตอนกฎหมาย คาดประชามติคงไม่ผ่าน “นายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่” ยืนยันไม่เห็นด้วย หวั่นกระทบธรรมชาติและการท่องเที่ยว แต่กลัวภาครัฐไม่รับฟังเสียงประชาชน วอนดำเนินการโปร่งใสและเป็นธรรม


สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๘.๐๐ น. ที่ห้องประชุมโรงเรียนท่าช้าง หมู่ ๑๖ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรโครงการทำเหมืองแร่หินประดับชนิดหินอ่อนของนายฉัตรเทพ จุโลทัย สำหรับการทำเหมืองประเภทที่ ๒ คำขอประทานบัตรที่ ๔/๒๕๕๖ ทั้งนี้ เป็นไปตามนัยมาตรา ๕๖ สรรคสองแห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.๒๕๖๐ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร พ.ศ.๒๕๖๑ โดยมีประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ๔ หมู่บ้านในตำบลหมูสี ได้แก่ หมู่ที่ ๖ บ้านคลองเดื่อ, หมู่ที่ ๑๑ บ้านโต่งโต้น, หมู่ที่ ๑๒ บ้านท่าช้างไต้ และหมู่ที่ ๑๖ บ้านท่าช้างเหนือ เข้าร่วมนั้น

 

ล่าสุดวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ‘โคราชคนอีสาน’ สอบถามรายละเอียดจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอสัมภาษณ์นายชัยทัต สมิตินนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา แต่มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงในประเด็นนี้ว่า

“กิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในขั้นตอนขออนุญาตทำเหมืองแร่ แต่เบื้องต้นประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งขั้นตอนเป็นเพียงการขอ ยังไม่ได้อนุญาต ซึ่งจะก่อสร้างที่พื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตำบลหมูสี หมู่ ๑๒ บ้านท่าช้างไต้ เนื้อที่ ๒๐๒ ไร่ ๑ งาน ๕๘ ตารางวา ซึ่งเป็นคำขอของนายฉัตรเทพ จุโลทัย โดยภาพรวมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการในรัศมี ๕๐๐ เมตร ประกอบด้วย หมู่ที่ ๖ บ้านคลองเดื่อ หมู่ที่ ๑๑ บ้านโต่งโต้น หมู่ที่ ๑๒ บ้านท่าช้างไต้ และหมู่ที่ ๑๖ บ้านท่าช้างเหนือ ประชาชนจากทั้ง ๔ หมู่บ้านไม่เห็นด้วย โดยประชาชนให้ความเห็นว่า สภาพพื้นที่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ คือ การท่องเที่ยว จึงไม่เห็นด้วยกับเหมืองแร่”

เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เปิดเผยต่อไปว่า “การดำเนินงานขั้นต่อไป สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา จะเร่งจัดทำข้อมูลรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วนำไปปิดประกาศตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่า รายงานที่จัดทำขึ้นถูกต้องตรงตามการประชุมเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคมที่ผ่านมาหรือไม่ จากนั้นจะให้ความเห็นไปยังผู้ที่มีอำนาจอนุญาตให้ประทานบัตร คือ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งความเห็นที่ส่งไป คือ ประชาชนไม่เห็นด้วย บอกตามสภาพความจริง และหลังจากนี้ หากผู้ยื่นขอเดินหน้าดำเนินการต่อ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ เพื่อลงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่ดูจากสถานการณ์แล้ว แม้จะทำประชามติก็คงจะไม่ผ่าน ทั้งนี้ รายชื่อผู้มีส่วนได้เสียจากทั้ง ๔ หมู่บ้าน เบื้องต้นมี ๒,๐๐๐ กว่าคน”

นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ในฐานะที่เป็นนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ และความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง เพราะพื้นที่เขาใหญ่มีความเกี่ยวโยงกับการสร้างรายได้ วิถีชีวิตของประชาชน ภาคธุรกิจ ทุกอย่างเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมในช่วงโควิด-๑๙ มากถึง ๑.๕ ล้านคน แต่ถ้านับผู้ที่มาเที่ยวแต่ไม่ได้ขึ้นไปอุทยานแห่งชาติฯ อาจจะมากถึง ๔.๕ ล้านคน ทุกคนมาเที่ยวเพราะต้องการสูดอากาศบริสุทธิ์ และต้องการพักผ่อนในช่วงโควิดระบาด ซึ่งเขาใหญ่ คือ มรดกโลก การที่จะมีเหมืองมาอยู่ในพื้นที่ ใครได้ยินก็ขนลุก และตามหลักการแล้วไม่ควรจะเกิดเหมืองขึ้น เพราะจะมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างประเมินไม่ได้”

นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่

“ผู้ขอประทานบัตรเหมืองแร่บอกว่า จะมีการดูแลอย่างดีในรัศมี ๕๐๐ เมตร หรือ ๓ กิโลเมตร และจะมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ แต่ประเด็นไม่ใช่เรื่องเหล่านี้ เพราะประชาชนเขากังวลเรื่องฝุ่น ไม่ว่าที่ไหนที่ทำเหมืองแร่ มักมีฝุ่นลอยในอากาศ ไม่มีทางควบคุมได้ เพราะไม่ได้ทำในโรงงานปิด ไหนจะกังวลปัญหาเรื่องน้ำ และถนน แน่นอนว่า เมื่อขึ้นชื่อว่าเหมือง คนที่จะมาท่องเที่ยว มาสูดอากาศ ก็อาจจะถอย ไม่อยากมา ทำให้มีผลกระทบต่อวงจรภาคธุรกิจในพื้นที่ และล่าสุดโคราชเพิ่งประกาศว่า เป็นเมืองสุขภาพ หรือ Wellness City โดยมีปากช่องหรือเขาใหญ่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว Wellness แบบองค์รวม โดยอิงธรรมชาติ อาหาร และออร์แกนิก ซึ่งในอนาคตจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อมาฟื้นฟูสุขภาพ แต่ถ้าเรามีเหมืองในพื้นที่ ก็จะขัดแย้งกับยุทธศาสตร์จังหวัดที่สนับสนุน Wellness การลงทุนต่างๆ ก็ไม่กล้ามาลงทุน ทำให้มีผลกระทบกับทุกด้าน ตนคิดว่า ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่ภาครับหรือผู้ที่มีอำนาจในการอนุญาตอาจจะไม่รับฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง หรือการนับคะแนนเสียงในการทำประชามติจะเป็นอย่างไร สุดท้ายต้องคลายกังวลเรื่องเหล่านี้ด้วยความโปร่งใส และรับฟังอย่างเป็นธรรม” นายกสมาคมฯ กล่าว

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๕ ประจำวันพุธที่ ๑๓ - วันอังคารที่ ๑๙ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕


965 1608