20thApril

20thApril

20thApril

 

July 30,2022

หอการค้าหนี้ ๗ แสนไม่จบ กก.‘เชียร’สอบอ้างภายใน กลุ่มพิทักษ์หอฯ รับไม่ได้

ผ่านไป ๓ เดือนกว่า ตรวจสอบเพิ่งเสร็จ หลังกลุ่มพิทักษ์หอการค้าโคราชให้ “วิเชียร” ในฐานะนายทะเบียนช่วยคลี่คลาย กรณีอดีตประธานยกหนี้ ๗ แสน และการบริหารด้านการเงิน ผลระบุเป็นเรื่องภายในให้จัดการกันเอง ส่วนเงิน ๗ แสนระบุไม่มีผลผูกพัน “กลุ่มพิทักษ์หอฯ” เตรียมยื่นอุทธรณ์ถึงหอการค้าไทยและทั่วประเทศ เพื่อเป็นบรรทัดฐานด้านธรรมาภิบาล
 

จากกรณีที่มีผู้อ้างชื่อว่าเป็นสมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาส่งจดหมายสนเท่ห์ เมื่อช่วงเดือนมีนาคม  ๒๕๖๕ เรื่องการยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรที่ยังคงค้างชําระอยู่ จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ได้แก่ ๑.ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๒.โรงแรมวีวันโคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๓.สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และ ๔.บริษัท รุ่งเรือง ธ.วัฒนา จำกัด ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมสอบถามว่า การยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรหอการค้าปี ๒๕๖๓ ทั้ง ๔ ราย การพิจารณาเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ และหลักธรรมาภิบาลของหอการค้าฯ หรือไม่, ใครคือผู้ที่มีอํานาจ หน้าที่ และรับผิดชอบในการพิจารณาเรื่องการยกหนี้ครั้งนี้, เมื่อยกหนี้ดังกล่าวแล้ว ได้แจ้งให้ลูกหนี้ทุกรายทราบหรือไม่ และการดําเนินการนี้ได้แจ้งข้อมูลให้ผู้ตรวจสอบบัญชีหอการค้าฯ รับทราบหรือไม่ โดยเรื่องนี้นายศักดิ์ชัย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าฯ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่าไม่ใช่การยกหนี้ เพราะเป็นเงินบริจาคในสมัยของนายชัชวาล วงศ์จร เป็นประธานหอการค้าฯ และในช่วงนั้นมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจและไม่สามารถจ่ายเป็นเงินสด ต่อมา มีแถลงการณ์ร่วมระหว่างหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าฯ กับนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายในหอการค้าฯ ยังยืนยันว่า เป็นเงินบริจาคจึงไม่ใช่การยกหนี้ ส่วนการให้ที่ผู้บริหารหอการค้าฯ นำเงินเข้าบัญชีส่วนตัวถือเป็นความสะดวกในดำเนินการในเรื่องค่าใช้จ่าย

ยื่นให้ผวจ.ตรวจสอบ

โดยเรื่องดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและทำลายความเชื่อมั่นของหอการค้าฯ ที่มีมาอย่างยาวนานส่งผลให้ “กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้า” ประกอบด้วย สมาชิกหอการค้าฯ อดีตผู้บริหารฯ อดีตสมาชิกฯ และผู้ประกอบการที่เคยร่วมกิจกรรมกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา มีความห่วงใยในปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ เพราะหอการค้าถือเป็นเสาหลักของภาคเอกชน ในการส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยมีนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น และยึดถือเป็นเรื่องสําคัญอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ในอดีตที่ผ่านมามีอดีตประธานหอการค้าได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนหลักสูตร วปอ.หลายคน นับเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งองค์กรเป็นอย่างยิ่ง จากข้อปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหากปล่อยให้เหตุการณ์ดําเนินต่อไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในองค์กร และโครงการที่จะมีร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชนในอนาคต จึงทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะนายทะเบียนหอการค้าฯ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ให้คลายปัญหาทั้ง ๔ ข้อ ได้แก่ ๑.กรณีการจัดทําโครงการพันธมิตร ในประเด็นเงินจํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ๒.กรณีการบริหารองค์กรด้านการใช้อํานาจและการจัดประชุม ๓.กรณีการเงินการบัญชีและทรัพย์เงินขององค์กร ๔.การจัดทําโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร” โดยต่อมานายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และคณะกรรมการตรวจสอบฯ ขึ้น รวมทั้งเชิญกลุ่มพิทักษ์หอการค้าฯ และคณะกรรมการหอการค้าฯ เข้าพบเพื่อสอบถามพร้อมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่ง “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง และมีผู้สนใจข่าวนี้จำนวนมาก

ผลตรวจสอบเพิ่งเสร็จ

เวลาผ่านไป กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ มีหนังสือของจังหวัดนครราชสีมา ส่งจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดฯ ถึงกลุ่มพิทักษ์หอการค้าฯ แจ้งสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทํางานไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

๑.กรณีการร้องเรียนเรื่อง การจัดทําโครงการพันธมิตรในประเด็นจํานวนเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท จากการพิจารณาเรื่องดังกล่าว พบว่า กฎหมายว่าด้วยหอการค้าและข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้กําหนดเรื่องดังกล่าวไว้ จึงเป็นการบริหารงานภายในองค์กรของหอการค้าเอง โดยเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของโครงการพันธมิตรฯ ข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ปรากฏดังต่อไปนี้

เงิน ๗ แสนไม่มีผลผูกพัน

๑) โครงการพันธมิตรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ตามข้อ ๑ ของข้อบังคับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ๒) เงินตามโครงการพันธมิตร ปี ๒๕๑๓ จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าว ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนที่มีผลผูกพันหรือก่อให้เกิดสิทธิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องปฏิบัติตามสัญญา เนื่องจากเป็นการเชิญชวนและไม่มีการทําสัญญาต่อกัน ๓) เมื่อพิจารณาจากเอกสารงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้ตรวจสอบงบการเงินและแสดงความเห็นต่องบการเงินไว้แล้วว่า เงินจํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาทที่ปรากฏในงบการเงินรอบปีบัญชี ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นรายได้จากการจัดกิจกรรมประจําปี ๒๕๖๒ ในส่วนของโครงการพันธมิตร ที่ระบุว่า เป็นเงินรายได้จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าว ถือว่าเป็นเงินที่หอการค้าได้รับมาแล้ว เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีรายได้ค้างรับหรือมีลูกหนี้ของเงินจํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ปรากฏไว้ในงบการเงินดังกล่าว

ดังนั้น เงินตามโครงการพันธมิตรฯ จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาทดังกล่าว จึงไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทน ที่มีผลผูกพันหรือก่อให้เกิดสิทธิให้คู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม และเมื่อพิจารณาจากเอกสารงบการเงินในรายได้ กิจกรรมปี ๒๕๖๒ แสดงว่า ไม่ได้มีการค้างจ่ายเงินให้แก่หอการค้าแต่อย่างใด และเนื่องจากกรณีเงินโครงการพันธมิตรดังกล่าว กฎหมายว่าด้วยหอการค้าและข้อบังคับของหอการค้าไม่ได้กําหนดเรื่องดังกล่าวไว้ การบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินโครงการพันธมิตร จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายในองค์กรของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

เป็นเรื่องภายใน

๒.กรณีการบริหารองค์กรด้านการใช้อํานาจและการจัดประชุม มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ และการประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ ในประเด็นเกี่ยวกับการยกหนี้ ตัดหนี้สูญ ของเงินจํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ของพันธมิตรจํานวน ๔ ราย ที่ไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรดังกล่าว
 
จากการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว ประกอบกับหอการค้าได้ชี้แจงว่า ได้ดําเนินการจัดประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาและได้ลงมติที่ประชุมเป็นไปตามข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนับตั้งแต่มีการประชุมมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการร้องขอต่อศาลหรือมีคําสั่งศาลให้การประชุมไม่ถูกต้องแต่อย่างใด และไม่มีการทักท้วงจากสมาชิกหอการค้าดังกล่าว และเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กฎหมายว่าด้วยหอการค้าไม่ได้กําหนดเรื่องดังกล่าวไว้ มีเพียงเรื่องของการประชุมใหญ่สมาชิกหอการค้าเท่านั้น ที่กฎหมายกําหนดให้สมาชิกหอการค้าสามารถร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ไม่ชอบได้ ตามมาตรา ๔๒ แห่งพ.ร.บ.หอการค้า ๒๕๐๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น กรณีการประชุมคณะกรรมการหอการค้าและการลงมติที่ประชุมคณะกรรมการหอการค้าดังกล่าว จึงเป็นเรื่องของการบริหารงานภายในกิจการของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสมาชิกหอการค้าสามารถสอบถามและตรวจสอบข้อมูลตามขั้นตอนของหอการค้ากําหนดได้อยู่แล้ว

เงินเข้าบัญชีส่วนตัว-ใช้รถยนต์หอ

๓.กรณีการเงินการบัญชีและทรัพย์สินขององค์กร มีการกล่าวอ้างว่า มีการจ่ายเช็คโดยไม่ระบุชื่อผู้รับ และมีการนํารถยนต์ของหอการค้าไปใช้ในกิจการส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับงานของหอการค้า เมื่อพิจารณาจากกฎหมายว่าด้วยหอการค้า ซึ่งไม่ได้กําหนดเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินการบัญชีไว้ มีเพียงกําหนดให้หอการค้าจัดทํารายงานประจําปีแสดงผลการดําเนินกิจกรรมของหอการค้าเสนอต่อที่ประชุมใหญ่และให้ส่งสําเนารายงานกับงบดุลไปยังนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่ ตามมาตรา ๓๕ แห่งพ.ร.บ.หอการค้า พ.ศ.๒๕๐๙ และจากข้อมูลการตรวจสอบเรื่องการเงินการบัญชีนั้น หอการค้าชี้แจงว่า ได้ดําเนินการไปตามข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยปรากฏว่ามีการจัดส่งรายงานงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สําหรับกรณีเรื่องการใช้รถยนต์ของหอการค้า ในข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาและกฎหมายว่าด้วยหอการค้าก็ไม่ได้กําหนดเรื่องดังกล่าวไว้ จึงเป็นเรื่องของการบริหารงานภายในองค์กรของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

อ้างไม่ต้องทำเหมือนราชการ

๔.กรณีการจัดทําโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรฯ มีการกล่าวอ้างว่า การจัดทําโครงการและกิจกรรมภายในของหอการค้ามีการโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัวของผู้อํานวยการบริหารหอการค้า และการจัดทํากิจกรรมต่างๆ มีการประกวดราคาตามมาตรฐานหรือไม่ เมื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยหอการค้ากําหนดให้หอการค้ามีอํานาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๘ และกําหนดข้อห้ามมิให้หอการค้ากระทําการใดๆ ตามมาตรา ๒๙ แห่งพ.ร.บ.หอการค้า พ.ศ.๒๕๐๙ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กําหนดวัตถุประสงค์ของหอการค้าไว้ในข้อบังคับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาข้อ ๔ และกําหนดอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการหอการค้าไว้ในข้อบังคับหอการค้า ข้อ ๒๗ จากการพิจารณาเรื่องดังกล่าว เห็นว่า ข้อบังคับของหอการค้าและกฎหมายว่าด้วยหอการค้าไม่ได้กําหนดเรื่องดังกล่าวไว้ ประกอบกับหอการค้าเป็นองค์กรเอกชน จึงไม่จําเป็นต้องนําหลักการจัดซื้อจัดจ้างแบบทางราชการมาบังคับใช้ก็ได้ การดําเนินโครงการกิจกรรมต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับการบริหารงานภายในองค์กรของหอการค้าเอง การดําเนินงานโครงการของหอการค้าดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของหอการค้าหรือกระทําการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหอการค้าแต่อย่างใด

เตรียมอุทธรณ์

ภายหลังจากได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทางกลุ่มพิทักษ์หอการค้าฯ ได้เรียกประชุมกลุ่ม และขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ๔ ฝ่าย เพื่อสรุปว่า คณะกรรมการของจังหวัดตอบไม่ตรงประเด็นที่กลุ่มส่งหนังสือไป พร้อมตั้งข้อสังเกต ดังนี้ ๑.ด้านกฎหมาย ท่านได้พิจารณาถึงเจตนาเป็นสำคัญ และหนังสือเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการพันธมิตร มีองค์ประกอบครบ คือการเชิญให้เป็นสปอนเซอร์ มีข้อเสนอที่ชัดเจน เป็นคำมั่นสัญญา จึงถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทน ๒.เรื่องการประชุมผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าผู้มีส่วนได้เสียอยู่ในที่ประชุมเป็นเรื่องต้องห้าม ๓.ด้านการเงินการบัญชี การจ่ายเช็คให้กรรมการที่ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของหอฯ ถือเป็นความผิดที่สำเร็จแล้ว และ ๔.ด้านการบริหารองค์กรที่ไม่ค้ากำไร ถือเป็นองค์กรอาสาสมัครเพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องมีความเข้มงวด ในการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายและข้อบังคับ หากสังคมขาดความเชื่อถือ สมาชิกจะไม่ต่อสมาชิกภาพ องค์กรดำเนินต่อไปไม่ได้ การควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ (ลูกจ้าง) ต้องยึดหลักการ เรื่องการใช้อำนาจเท่าที่มอบให้เท่านั้น ถ้าใช้อำนาจเกินโดยเฉพาะเรื่องเงิน ต้องถือว่ามีความผิดร้ายแรง ทั้งนี้ ทางกลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ จะดำเนินการอุทธรณ์เพื่อความยุติธรรมต่อไป เพราะสมาชิกเริ่มสอบถามความจริงเข้ามามาก รวมทั้งหอการค้าในต่างจังหวัดที่ทราบข่าวและให้ความสนใจตลอดมา โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งจะมีการอุทธรณ์ไปยังหอการค้าไทย คณะกรรมการธรรมาภิบาลหอการค้าไทย หอการค้าทุกจังหวัด และสมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสื่อมวลชน เพราะเรื่องนี้เป็นหลักธรรมาภิบาลที่สำคัญ   

หอแถลงมุ่งประโยชน์เพื่อโคราช

ล่าสุดวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา (คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังได้รับหนังสือแจ้งผลสอบของทางจังหวัดฯ โดยข้อความในแถลงการณ์ระบุว่า

“ตามที่มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนหอการค้าฯ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ให้ทําการตรวจสอบการทํางานของคณะกรรมการหอการค้าฯ จํานวน ๔ ประเด็น และทางจังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงใน ประเด็นต่างๆ ตามที่ได้มีการยื่นหนังสือแล้วนั้น บัดนี้ คณะกรรมการที่จังหวัดนครราชสีมาแต่งตั้ง ได้สรุปผลการตรวจสอบ ดังรายละเอียดตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้

“หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ขอเรียนให้สมาชิกทุกท่านทราบว่า หอการค้าเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้น ตาม พ.ร.บ.หอการค้า ๒๕๐๙ และแก้ไขเพิ่มเติม และตามมาตรา ๒๗ ระบุว่า สมาชิกของหอการค้ามีสิทธิขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของหอการค้าได้ โดยยื่นคําขอเป็นหนังสือต่อหอการค้า หากสมาชิกหรือบุคคลทั่วไปมีข้อซักถาม หรือต้องการข้อมูลต่างๆ สามารถติดต่อมาที่สํานักงานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้ทุกโอกาส โดยผ่านตามช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และหอการค้าฯ ยังมีกลไกการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ซึ่งสมาชิกสามารถยื่นเรื่องหรือสอบถามข้อมูลได้อีกหนึ่งช่องทาง โดยไม่จําเป็นต้องรบกวนเวลาการทํางานของจังหวัด หรือหน่วยงานราชการที่ต้องใช้เวลาทํางานเพื่อประชาชนในจังหวัดเป็นสําคัญ

หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ขอยืนยันว่าการทํางานของคณะกรรมการหอการค้าในทุกยุคทุกสมัย มุ่งหวังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมาเป็นที่ตั้ง ยังคงมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงพัฒนาการทํางานให้มีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาลตามระเบียบข้อบังคับของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๗ วันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


997 1397