19thApril

19thApril

19thApril

 

July 30,2022

ไม่ช้า‘ท่าเรือบกโคราช’ ‘หนองไข่น้ำ’ทำเลเหมาะ ลงทุนไม่เกิน ๙ พันล้าน

 

ผู้บริหารการท่าเรือฯ ลงพื้นที่รับฟังศักยภาพ ๓ พื้นที่เพื่อพิจารณาจัดตั้ง “ท่าเรือบกโคราช” ทั้ง กุดจิก หนองไข่น้ำ และทับม้า แต่ส่วนใหญ่เห็นว่า “หนองไข่น้ำ” เหมาะสม ยืนยันโคราชมีท่าเรือบกแน่ คาดงบลงทุนประมาณ ๙ พันล้านบาท หากไม่มีอุปสรรคคาดก่อสร้างเสร็จปี ๒๕๖๙-๒๕๗๐ อนาคตโคราชศูนย์กลางโลจิสติกส์ภาคอีสาน

ตามที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยผลการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมจะพัฒนาท่าเรือบกมี ๔ จังหวัด ได้แก่ ๑.อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง ๗๐ กิโลเมตร ๒.ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๓๒๐ กิโลเมตร ๓.อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๕๕๐ กิโลเมตร และ ๔.อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ๓๗๐ กิโลเมตร ทั้งนี้ การลงทุนจะเป็นในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP- Public Private Partnerships) โดยรัฐจะจัดหาที่ดิน ซึ่งต้องดูความเหมาะสม เพราะใช้พื้นที่จำนวนมาก อาจเป็นพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว หรือต้องเวนคืนเพิ่มเติม ส่วนเอกชนทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น หลังจากมีการศึกษาความเหมาะสมในพื้นที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนินแล้ว แต่ต่อมาเนื่องจากสถานการณ์และบริบทหลายอย่างเปลี่ยนไป จังหวัดนครราชสีมาจึงนำเสนอพื้นที่ที่มีความเหมาะสมอีก ๒ แห่ง ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา และบ้านทับม้า ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว

กทท.ลงพื้นที่โคราช

ล่าสุดวันที่ ๒๑-๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำโดยนายวรพจน์ เอี่ยมรักษา กรรมการ กทท. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยประชุมร่วมกับทางจังหวัดฯ ในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน ซึ่งมีนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบแนวทางและนโยบายความร่วมมือระหว่างการท่าเรือฯ กับคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) อย่างเป็นทางการร่วมกัน พร้อมสำรวจพื้นที่ในการพัฒนาท่าเรือบกโคราชทั้ง ๓ แห่ง โดยจะนำข้อมูลมาประกอบการดำเนินการจัดทำขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา (TOR) ให้เป็นไปตามกรอบการปฏิบัติงานและขอบเขตของงานที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๖๒ และเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ (IO) ในจังหวัดนครราชสีมา

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ กล่าวว่า “การประชุมจัดสร้างและพัฒนาท่าเรือบกที่โคราช จะทำให้การท่าเรือฯ ได้รับฟังข้อมูลที่ครบถ้วนต่อการจัดตั้งท่าเรือบก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านการขนส่งของกระทรวงคมนาคม โดยมีการขนส่งที่เชื่อมกับถนน ระบบราง และท่าเรือ ทำให้การขนส่งมีต้นทุนในภาพรวมต่ำลง และมีความสะดวกมากขึ้น โดยพื้นที่ท่าเรือบกโคราชจะเป็นศูนย์การในการกระจายสินค้าสู่อีสานตอนบน ตอนล่าง และเชื่อมโยงไปยังเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เมื่อหน้านี้นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี และ มทร.อีสาน ได้ไปให้ข้อมูลการพัฒนาท่าเรือบกแล้วครั้งหนึ่งที่การท่าเรือฯ ดังนั้นวันนี้การท่าเรือฯ จึงมาลงพื้นที่โคราช เพื่อรับข้อมูลในเชิงปฏิบัติ และภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นทุกภาคส่วนในโคราชร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และการศึกษา เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนท่าเรือบกให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”

ศักยภาพท่าเรือบกโคราช

ดร.จารุพงษ์ บรรเทา อาจารย์ประจำหลักสูตรการขนส่งและโลจิสติกส์ มทร.อีสาน นำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับโครงการท่าเรือบกนครราชสีมา โดยมีรายละเอียดดังนี้ “จังหวัดนครราชสีมามีความเชื่อมโยงกับ NeEC เป็นหลัก จึงต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต้องใช้ประโยชน์จากเมกะโปรเจ็กต์ อุตสาหกรรมสำคัญในเขต NeEC และอีสานตอนล่าง คือ มันสำปะหลังหรือแป้ง อีกประเด็นหนึ่ง คือ รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง จะเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนโครงการท่าเรือบกอย่างดี โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ สำหรับข้อมูลการเชื่อมโยงกับพื้นที่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว ซึ่งกำลังก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๕ และ ๖ หากมองในแง่ของการเชื่อมโยงการขนส่ง ทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออก พบว่าโคราชเป็นประตูศูนย์กลางการเชื่อมโยง ทั้งเวียดนาม และมาเลเซีย และทิศเหนือเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงของลาวและจีน”

“ความสำคัญของการจัดตั้งท่าเรือบก คือ การขนส่งหลังวิกฤตโควิด-๑๙ เรื่องการขนส่งที่หลากหลายเป็นเรื่องจำเป็น รถบรรทุกต่างๆ จะกลายเป็นการขนส่งรองที่คอยเชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางราง จากการศึกษาของ สนข. ท่าเรือบกโคราชอาจจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๘ โดยกำหนดพื้นที่ศึกษาไว้ทั้งหมด ๓ แห่ง คือ ที่สถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมือง ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน และตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว (บ้านทับม้า) ซึ่งเกณฑ์การจัดตั้งนั้น พื้นที่จะต้องมีขนาดใหญ่พอสมควร ประมาณ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ไร่ แต่ทั้ง ๓ แห่งมีความเหมาะสม โดยที่บ้านทับม้า จะมีจุดเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์ ที่สถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ เป็นจุดขนส่งสินค้าเดิม ปัจจุบันมีการขนส่งเกลือโดยเอกชนอยู่แล้ว ส่วนที่ตำบลกุดจิกอาจจะมีความกังวลเรื่องน้ำท่วม”

ดร.จารุพงษ์ นำเสนออีกว่า “สำหรับข้อมูลที่ได้จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ ทราบว่า จะมีพื้นที่สีชมพูหรือชุมชน คือ พื้นที่ตำบลกุดจิก ส่วนที่บ้านกระโดนเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งจังหวัดยังคาดหวังว่า NEEC จะเข้ามาช่วยเรื่องผังเมืองในอนาคต ส่วนระยะห่างจากนิคมอุตสาหกรรมในแต่ละที่นั้นไม่ห่างกันมาก วัดจากระยะเดียว คือ ที่นวนคร เมื่อวัดจากนวนคร ตำบลกุดจิกก็จะมีความโดดเด่นมากที่สุด แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้งานท่าเรือบกไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นจุดเดียว เมื่อดูข้อมูลโรงงานที่สนใจใช่งานท่าเรือบก ๔๐ แห่ง พบว่า หากท่าเรือบกอยู่ที่ทับม้า จะมีระยะทางเฉลี่ย ๑๐๐ กิโลเมตร ถ้าอยู่ที่ตำบลกุดจิก ห่าง ๑๕๐ กิโลเมตร และที่ตำบลหนองไข่น้ำ ห่าง ๑๕๐ กิโลเมตร ดังนั้นทั้ง ๓ พื้นที่มีความเหมาะสมอย่างมาก มูลค่าการลงทุนนั้นเป็นการคาดคะเน ความเป็นจริงจะต้องดูในสถานที่จริงอีกครั้งหนึ่ง รูปแบบการลงทุนนั้นรัฐบาลให้ลงทุนแบบ PPP”

นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

ลดต้นทุนการขนส่ง

นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทสงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นการทดลองการขนส่งสินค้าทางรางและปริมาณสินค้าส่งออก ว่า “โคราชมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ ๑,๗๐๐ โรงงาน เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ๒๖๗ ราย และโคราชมีมูลค่า GDP ๒๙๕,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นของภาคอุตสาหกรรม ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในส่วนของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในจังหวัดนครราชสีมา มีการกระจายตัวหลายอำเภอ ดังนั้นการวัดระยะทางหรือความสะดวกในการเดินทาง มีความใกล้เคียงกันทั้ง ๓ แห่ง อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของท่าเรือบกไปยังแหลมฉบัง ซึ่งในปีนี้มีการเติบโตในการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง เติบโตมากกว่าครึ่งปีหลัง ๒๕๖๔ แต่ปีนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มมีภาวะไม่เติบโตเท่าปีที่แล้ว และในปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น หากจะให้ใช้ต้นทุนการขนส่งที่ลดลงมา จะต้องมีการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่ความต้องการใช้ CY ทุกจังหวัดในอีสานจะมาที่ท่าเรือบกโคราชก่อนไปแหลมฉบัง คิดว่าจะมีประโยชน์กับทุกคน ผู้ส่งออกรายใหญ่หลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และคาดหวังโอกาสในการใช้บริการ ส่วนตัวที่ได้ทดลงใช้ เห็นถึงการประหยัดจากการลากตู้เข้าที่โรงงาน เมื่อเปรียบเทียบแล้วประหยัดไป ๒๐–๒๕% ขึ้นอยู่ที่ความห่างไกลของโรงงานกับสถานีรถไฟ การลดต้นทุนการขนส่งนั้นมีความสำคัญการอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างมาก นอกจากนั้น ถ้าเชื่อมโยงระบบรางกับเพื่อนบ้าน การค้าตรงนี้จะมีการเติบโตและแข่งขันกับเวียดนามได้ เพราะว่าเขาได้สิทธิในการขนส่งได้ดีกว่าเรา หากปลดล็อกอุปสรรคตรงนี้ได้ รวบรวมวัตถุดิบได้มากขึ้น ไทยก็จะมีความสามารถในการแข่งขันวิ่งไปสู่แหลมฉบังได้มากขึ้นกว่าเดิม”

ลงทุนอีสานเพิ่มขึ้น

ทางด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่า “ภาคอีสานมีโรงงานทั้งหมด ๗,๙๙๗ โรงงาน อยู่ที่โคราช ๑,๗๐๕ อีสานใต้ ๔,๑๖๒ หมายความว่าโรงงานอุตสาหกรรมใน ๒๐ จังหวัดของภาคอีสาน อยู่ในอีสานใต้ ๕๒% แยกเป็นโคราช ๒๑% หากเจาะลึกลงไปอีก โคราชมี ๓๒ อำเภอ แต่โรงงานไม่ได้กระจายตัวทั่วถึง ซึ่งวงแหวนอุตสหกรรมจังหวัดนครราชสีมาอยู่บนถนนเลี่ยงเมือง ประกอบด้วย ๕ อำเภอ ได้แก่ ๑.อำเภอเมือง ๔๙๑ โรงงาน ๒.อำเภอสูงเนิน ๑๑๓ โรงงาน ๓.อำเภอโชคชัย ๑๐๔ โรงงาน ๔.อำเภอปักธงชัย ๙๑ โรงงาน และ ๕.อำเภอขามทะเลสอ ๕๖ โรงงาน ถ้าเทียบกับขอนแก่นทั้งจังหวัดมีทั้งหมด ๗๘๘ โรงงาน จึงเป็นที่มาว่าทำไม ๕ อำเภอนี้ถึงมีความสำคัญอย่างมาก โรงงานใหญ่ที่สุดในภาคอีสานอยู่ที่อำเภอสูงเนิน ในภาคอีสานจะมีโรงงานการปรับปรุงคุณภาพข้าวอยู่จำนวนหนึ่ง แต่โดยส่วนใหญ่จะถูกส่งไปที่ภาคกลางเพื่อบรรจุ ดังนั้นในอนาคตโรงงานต่างๆ จะเริ่มตั้งโรงงานการปรับปรุงคุณภาพข้าวในภาคอีสาน เพื่อบรรจุข้าวให้เสร็จและทำการส่งออก จะทำให้มีการคุ้มค่าในการขนส่ง อนาคตเชื่อว่าการลงทุนในภาคอีสานใต้มีเพิ่มขึ้น”

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โคราชเมืองหลวงขนส่ง

“โคราชเหมาะสมที่สุดในการเป็นศูนย์กลางและเมืองหลวงของอีสานในด้านโลจิสติกส์ ความพร้อม ศักยภาพ และการลงทุนนั้น มีความคุ้มค่าอย่างมาก ซึ่งหลังจากได้ลงพื้นที่หนองไข่น้ำ สถานีรถไฟบ้านกระโดนติดถนน ๒๐๙ น้ำไม่ท่วม และสามารถเชื่อมต่อทุกทิศทางโดยไม่ผ่านตัวเมือง การติดต่อจากกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศมีความสะดวก จึงขอฝากการท่าเรือฯ พิจารณาในการตัดสินใจในแต่ละพื้นที่ โดยอ้างอิงจากความเป็นจริง” นายหัสดิน กล่าว

ทั้ง ๓ แห่งเป็นพื้นที่รับน้ำ

สำหรับความกังวลในเรื่องน้ำนั้น ผู้แทนสํานักงานทรัพยากรน้ำภาค ๕ นำเสนอข้อมูลว่า “จาก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำปี ๒๕๖๑ กำหนดให้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำผังน้ำ เพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการพัฒนาจากพระราชกิจจาฯ คาดว่า จะประกาศในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อประกาศแล้วกำหนดให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ จะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนทางน้ำ หรือกระแสน้ำ กีดขวางทางน้ำไหลของระบบทางน้ำอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติป้องกันแก้ไขน้ำแล้ง และภาวะน้ำท่วม ซึ่งข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลสนับสนุนให้กรรมการลุ่มน้ำกำหนดเป็นแผนป้องกันแก้ไข้น้ำแล้งและภาวะน้ำท่วม ในลุ่มน้ำมูลเราดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการประกาศในผังน้ำกำหนดพื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก ๓ พื้นที่ที่ได้ทำการศึกษา เป็นพื้นที่ทางน้ำหลากเพื่อระบายน้ำ โดยอำเภอเมืองมีพื้นที่บลหนองไข่น้ำเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก รวมทั้งตำบลสีคิ้ว และตำบลกุดจิกด้วย จากข้อมูลที่ศึกษาไว้ จึงขอให้คณะกรรมการได้นำข้อมูลนี้ไปประกอบในการพิจารณาเพื่อป้องกันและแก้ไข ภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมด้วย”

สนับสนุน ‘หนองไข่น้ำ’

จากนั้นนายภูมิสิทธิ์ วังคีรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เสนอให้นายประพิศ นวมโคกสูง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตผู้สมัครส.ส.นครราชสีมา เขต ๒ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองไข่น้ำ เสนอความคิดเห็นว่า “โคราชมีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งและเป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน จากการลงพื้นที่ตำบลหนองไข่น้ำ ผมคิดว่ามีความเหมาะสมที่สุด เพราะสถานีรถไฟบ้านกระโดน อยู่ติดกับถนนหมายเลข ๒๐๙ และน้ำไม่ท่วม ซึ่งตำบลหนองไข่น้ำเดิมทีคือตำบลโคกสูงเก่า นามสกุลผมนวมโคกสูง แสดงว่าอยู่บนโคกแน่นอน ดังนั้นเรื่องน้ำท่วมไม่เคยมี เมื่อเปรียบเทียมกับจุดอื่นๆ แล้ว ขอให้การท่าเรือฯ ลองพิจารณาดู นอกจากนี้ ถนนเลี่ยงเมืองมีความสะดวกสบายทุกทิศทาง เพราะเชื่อมกับถนนสาย อื่นๆ ทุกทิศทาง เพราะถนนเส้นนี้เป็นวงแหวนรอบเมือง จะไปแหลมฉบัง ไปทิศไหนก็ต้องผ่านถนนเส้นนี้ และที่สำคัญไม่ต้องวิ่งผ่านเมืองให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้ตำบลหนองไข่น้ำมีความสะดวกสบายที่สุดจากทั้ง ๓ แห่ง นอกจากการขนส่งทางรางหรือรถยนต์แล้ว ตำบลหนองไข่น้ำยังอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานนครราชสีมา การติดต่อค้าขายกับกรุงเทพฯ หรือต่างประเทศก็จะสะดวกมากขึ้น”

พิจารณาข้อมูลปัจจุบัน

“เมื่อดูจากการประเมินของ สนข.ในหัวข้อต่างๆ เช่น หัวข้อการเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบราง ที่ตำบลหนองไข่น้ำ สถานีรถไฟบ้านกระโดน อยู่ติดกับทางรถไฟ แต่ปรากฏว่า สนข.ประเมินให้ ๘ คะแนน เท่ากับที่ตำบลกุดจิกและสีคิ้ว หัวข้อการเชื่อมต่อทางหลวงสายเอเชีย ตำบลกุดจิกมี ๔ เส้นทาง สีคิ้ว ๔ เส้นทาง และหนองไข่น้ำ ๓ เส้นทาง แต่ถ้าไปลงพื้นที่จริงๆ จะพบว่า ที่หนองไข่น้ำมีทางเชื่อม ๕-๖ เส้นทาง ซึ่ง สนข.ให้คะแนนหัวข้อนี้ที่ตำบลกุด ๑๐ คะแนน แต่หนองไข่น้ำได้เพียง ๔ คะแนน ผมไม่ได้โทษ สนข. แต่ต้องดูข้อมูลปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร หัวข้อการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสินค้าภายใน ๑๐ กิโลเมตร ที่ตำบลกุดจิกได้ ๑ คะแนน เท่ากันกับที่ตำบลหนองไข่น้ำ ทั้งที่บ้านกระโดนอยู่ในพื้นที่ขนส่งสินค้า แต่คะแนนกลับได้เท่ากัน หัวข้อการเชื่อมต่อกับระบบสาธารณูปโภค ที่ตำบลกุดจิกได้ ๕ คะแนน ที่หนองไข่น้ำได้ ๐ คะแนน แต่ที่หนองไข่น้ำอยู่ติดกับการประปาส่วนภูมิภาค หัวข้อระยะห่างจากเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ตำบลกุดจิกได้ ๕ คะแนน ที่หนองไข่น้ำได้ ๐ คะแนน แต่จากหนองไข่น้ำไปเขตอุตสาหกรรมสุรนารีใกล้นิดเดียว และหัวข้อสุดท้าย พื้นที่น้ำหลาก ที่ตำบลกุดจิกได้ ๓ คะแนน ที่หนองไข่น้ำได้ ๕ คะแนน ไม่ทราบว่าเกณฑ์การประเมินของ สนข.เป็นอย่างไร แต่ฝากการท่าเรือไปศึกษาข้อมูลดีๆ ต้องดูข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ผมไม่ได้ว่าพื้นที่อื่นๆ ต้องการให้เกิดท่าเรือบกที่โคราชแน่นอน แต่เพียงนำเสนอให้เห็นว่า จุดใดเหมาะสมที่สุด ผมนามสกุลนวมโคกสูง อยู่บนโคก ไม่ใช่ว่าจะเข้าข้างกัน แต่ผมพูดถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ทำเพื่อโคราชจริงๆ ต้องการให้โคราชเจริญและมีเศรษฐกิจดีขึ้นต่อไป” นายประพิศ กล่าว

ต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว

จากนั้น นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือฯ กล่าวสรุปว่า “วันนี้การท่าเรือได้ข้อมูลที่ค่อนข้างอัพเดท สามารถนำไปอธิบายต่อคณะกรรมการการท่าเรือได้ ทั้งหมดนั้นอยู่บนข้อเท็จจริงทั้งด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ คมนาคม เมื่อ ครม.ได้พิจารณาแล้วมีแผนการเป็นอย่างไร การท่าเรือจะเดินหน้าต่อให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เป้าหมายคือ การสร้างคน สร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ โดยสอดคล้องกับการฟื้นฟูประเทศ การพัฒนาท่าเรือบกมีองค์ประกอบหลักง่ายๆ คือ ๑.การมองตู้สินค้าในปัจจุบันและอนาคตเป็นอย่างไร จากข้อมูลโดยทั่วไปจะคุ้มค่าต้องมีอยู่ที่ ๔ แสน TEU แต่ในวันนี้มีเพียง ๓–๖ แสน TEU แน่นอนมีความเป็นไปได้ ๒.ไม่ว่าท่าเรือบกจะอยู่พื้นที่ใด ต้องเชื่อมโยงการคมนาคม ต้องมองความเหมาะสมในการลงทุน การแก้ไขปัญหารถติด การจราจร ความสะดวก ซึ่งต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะโคราชหรือขอนแก่นมีศักยภาพทั้งสิ้น แต่ต้องดูว่ามีการบริหารจัดการอย่างไร มองภาพรวมโลจิสติกส์ของประเทศ ข้อมูลที่ สนข.ศึกษา คือข้อมูลจากส่วนกลาง แต่วันนี้ต้องรับฟังข้อมูลจากพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่นั้นมีจุดแข็งจุดเด่นที่แตกต่างกันไป การเลือกพื้นที่ไม่ได้เลือกจากทางภูมิศาสตร์อย่างเดียว ต้องตัดสินใจร่วมกับองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความคุ้มค่า การท่าเรือไม่ได้ลงทุน ๑๐๐% แต่การท่าเรือคือตัวเชื่อมกับภาคเอกชน เพราะเขาเป็นผู้ลงทุน ภาคเอกชนต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำงาน นี้คือสิ่งสำคัญในการบริหารจัดการ พื้นที่ใดจะได้รับเลือกนั้นต้องดูความเหมาะสมและความรวดเร็ว ทุกคนต้องการให้ท่าเรือบกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากพัฒนาส่วนนี้ช้าอาจจะมีการหักเหทางเส้นทางได้”

เปลี่ยนที่ตั้งท่าเรือบก
    
ภายหลังการประชุม นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กทท. ให้สัมภาษณ์ว่า “ตามที่ ครม.อนุมัติให้มีท่าเรือบกในโคราช ซึ่งเดิมทีศึกษาไว้ที่กุดจิก แต่ปัจจุบันด้วยสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป วันนี้จึงลงพื้นที่อีกครั้ง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของโคราชและความพร้อมเรื่องของบุคลากร นโยบาย โดยทุกหน่วยงานในจังหวัดนครราชสีมาให้การสนับสนุนเต็มที่ ส่วนการท่าเรือนั้นมีแผนว่า จะทำอะไรที่โคราชเป็นลำดับต่อไป หลังจากนี้จะต้องมีการปรึกษากันอีก ถ้ามีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ต้องเสนอเรื่องใหม่ให้ ครม.เห็นชอบ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกุดจิก ไปหนองไข่น้ำ หรือทับม้า ที่ใดที่หนึ่ง ทั้งนี้ ต้องมาดูว่าศักยภาพเป็นไปได้หรือไม่ เรื่องการลงทุนอาจจะสูงในหลายเรื่อง จึงต้องมาปรึกษากันว่าที่ใดเหมาะสมที่สุด”

ให้เอกชนร่วมลงทุน

“ท่าเรือบกทำแน่ๆ ให้ความเชื่อมั่นได้เลยว่า ที่โคราชต้องมี ส่วนที่จังหวัดอื่นไม่ได้ทิ้ง ซึ่งในแต่ละพื้นที่สินค้าจะต่างกัน ความสำคัญก็ต่างกันไป แต่ใครจะเป็นศูนย์กลางนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กับเราจะหาผู้ที่มาร่วมลงทุนกับการท่าเรือในระบบ PPP สำหรับงบประมาณในการก่อสร้าง เดิมที สนข.พิจารณาไว้ว่า ประมาณ ๗–๘ พันล้านบาท แต่ถ้าศึกษาใหม่อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะศึกษาไว้ ๓-๔ ปีแล้ว ซึ่งเป็นการประมาณโดยใช้ค่าเงินในตอนนั้น หรืออาจจะลดลง เพราะพื้นที่ที่ สนข.ศึกษาประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ความจริงใช้แค่ ๑,๐๐๐ ไร่ก็เพียงพอ ขึ้นอยู่กับการออกแบบ มีคลังสินค้า มีครบทุกอย่าง เรื่องงบประมาณต้องศึกษาต่อไป และอาจจะมีบุคคลที่ ๓ มาทำการศึกษาให้”

‘หนองไข่น้ำ’เหมาะสม

“ขณะนี้ ครม.อนุมัติที่ตำบลกุดจิก ด้วยข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป โคราชจึงเสนอว่า มีอีก ๒ แห่ง คือ ตำบลหนองไข่น้ำและทับม้า ซึ่งผมลงพื้นที่แล้ว ทุกที่มีความน่าสนใจมาก แต่ถ้าให้ฟันธงวันนี้ อาจจะเอนเอียงไปทางตำบลหนองไข่น้ำ อาจจะเป็นศูนย์กลางในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามยังต้องให้บุคคลที่ ๓ ศึกษาให้ ด้วยเหตุผลต่างๆ ต้องเอามาประกอบด้วย ในพื้นที่ที่คาดว่าเหมาะสมที่สุด อาจจะเหมาะสมเป็นอันดับที่ ๒ หรือ ๓ โดยหลังจากนี้มีจะให้บุคคลที่ ๓ ศึกษาข้อมูลในการทำ PPP เพื่อบอกว่า จะทำในรูปแบบใด งบประมาณเท่าไหร่ รูปแบบเชิงธุรกิจ ปริมานของสินค้าเท่าไหร่ แต่บุคคลที่ ๓ ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจเพียงผู้เดียว จะมีการท่าเรือ องค์กรท้องถิ่น ต้องช่วยกันดู โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ ๖ เดือน ทั้งนี้ สนข.คาดการณ์ไว้ว่า ท่าเรือบกโคราชจะก่อสร้างเสร็จ ในปี ๒๕๖๘ แต่วันนี้อาจจะมีความล่าช้า ทำให้เลื่อนไปปี ๒๕๖๙ หรือ ๒๕๗๐ แต่ถ้ามีความชัดเจนเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง ปี ๒๕๖๙ ก็อาจจะสำเร็จ หากเปลี่ยนพื้นที่จะต้องเริ่มต้นใหม่ อย่างไรไม่คิดว่าจะนาน เพราะเรามีกระบวนการที่แน่นอนแล้ว” นายสมชาย กล่าว

ยืนยันโคราชมีท่าเรือบก

นายสมชาย กล่าวท้ายสุดว่า “ยืนยันว่า ทำแน่นอนที่โคราช เพียงแต่ระยะเวลานั้นอยู่ที่แต่ละหน่วยงานจะผลัดดันมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับจังหวัดนครราชสีมา ว่าจะย่นระยะเวลามากแค่ไหน แต่ไม่ต้องห่วง จัดทำที่โคราชแน่นอน”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๗ วันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


1045 1400