15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

August 12,2022

เปิด“กัญนคร@ราชมงคลอีสาน” สร้างธุรกิจพืชสมุนไพรครบวงจร

 

มทร.อีสาน ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs เปิดโครงการ “กัญนคร@ราชมงคลอีสาน” ขับเคลื่อนกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และการวิจัยพัฒนา เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์


เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดีฯ ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะผู้บริหาร และคณาจารย์ มทร.อีสาน ร่วมเปิดโครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสาน ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ต.หนองระเวียง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา พร้อมร่วมกิจกรรมปลูกกัญชาสายพันธุ์หางกระรอก

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า “โครงการนี้เกิดจากการดำเนินงานตามนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพ ที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยฯ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นนายกสภา มทร.อีสาน ในขณะนั้น สอดรับกับการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ซึ่ง มทร.อีสาน มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง และสมุนไพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ภายใต้การกำกับดูแลของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เพื่อศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรกระทั่งเกิดความสำเร็จของการปลูกและการวิจัยกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดเป็นโครงการ “กัญนคร@ราชมงคลอีสาน” ซึ่งจะเป็นมิติของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โครงการนี้ มทร.อีสาน จะร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน จำนวน ๑๐ กลุ่ม ต่อ ๑ แปลง เพื่อร่วมกันปลูกกัญชา จำนวน ๑,๐๐๐ ต้น ต่อ ๑ รอบการปลูก โดยจะมุ่งสร้างผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs ทั้งนี้ โครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสาน มีเป้าหมายจะการขยายพื้นที่โครงการให้ครอบคลุมทุกวิทยาเขตของ มทร.อีสาน (ศูนย์กลางนครราชสีมา วิทยาเขตสกลนคร วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาเขตขอนแก่น และวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้) เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการปลูกและดูแลพืชกัญชาในแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมวิสาหกิจชุมชนในแต่ละจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปลูกพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย และการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป”

สร้างรายได้ให้เกษตรกร

ผศ.ดร.เอนก เจริญภักดี กล่าวว่า “โครงการศึกษาวิจัยการปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ในพื้นที่ของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการปลูกและดูแลพืชกัญชาที่ได้รับการยอมรับและเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญที่ให้บริการกับหน่วยงานและผู้ที่สนใจจากทั่วประเทศ ภายใต้กรอบพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนและให้บริการทางวิชาการตลอดจนทักษะวิชาชีพต่างๆ ให้กับนักศึกษารวมถึงองค์กร ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไปที่ต้องการความรู้ ทักษะ และนวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับองค์กร หน่วยงาน ชุมชน และครอบครัว โดยเฉพาะการนาองค์ความรู้ทางด้านเกษตรและเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะกัญชา ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะสามารถสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และประเทศ อีกทั้งยังเป็นพันธกิจตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยฯ ที่มีเป้าหมายให้ทุกพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการศึกษาวิจัยการและการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานได้รับความรู้ความเข้าใจและสร้างทักษะในการปลูกและการดูแลรักษาพืชกัญชา และการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์และการรักษา รวมถึงเพื่อดูแลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อย่างเต็มตามประสิทธิภาพและคุณประโยชน์ของพืชกัญชา และรองรับการเป็นแหล่งผลิตพืชกัญชาคุณภาพของภาคอีสาน อันจะนำมาซึ่งรายได้และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

“แม้ในปัจจุบัน พืชกัญชาจะได้ปลดล็อกให้ทุกส่วนของพืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษประเภท ๕ ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกินกว่า ๐.๒% ซึ่งจะเป็นเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชามากขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบของการรักษาด้วยตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสม ๑๖ ตำรับที่ได้รับอนุญาตและตำรับยาแผนไทยที่ปรุงเฉพาะราย รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในกลุ่มยาสมุนไพร เวชสำอาง อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลายชนิด เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในสัตว์ ทำให้ความต้องการใช้พืชกัญชาในรูปแบบวัตถุดิบสด แห้ง แปรรูปและสารสกัดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก”

กัญชายังเป็นพืชควบคุม

“อย่างไรก็ตาม พืชกัญชายังถือเป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.๒๕๖๕ ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๕ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสําคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔ มาตรา ๔๔ มาตรา ๔๕ (๓) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม ข้อ ๒ อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จําหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ ๑ ได้ ยกเว้นการกระทํา ดังต่อไปนี้ (๑) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (๒) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (๓) การจําหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร ข้อ ๓ อนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากสมุนไพรควบคุม ตามข้อ ๑ ให้กับผู้ป่วยของตน และข้อ ๔ อนุญาตให้ผู้ป่วยตามข้อ ๓ สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ ในปริมาณที่จ่ายให้สําหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลาสามสิบวัน” ผศ.ดร.เอนก กล่าว

ดันกัญชาถูกกฎหมาย

จากนั้น เวลา ๑๐.๓๐ น. ที่ห้องประชุมหนองระเวียง ๑ ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน บรรยายพิเศษเรื่องทิศทางการขับเคลื่อนพืชกัญชาสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในห้องประชุม และผ่านระบบออนไลน์ Facebook live : มทร.อีสาน-RMUTI และ Zoom Meeting

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน บรรยายว่า “ไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนในประเทศไทย ทำเรื่องกัญชาเท่า มทร.อีสาน โดยเมื่อ ๔ ปีที่แล้วการขอปลูกกัญชายากมาก ไม่เหมือนกับวันนี้เข้าไปขอปลูกในแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัน” แค่ปลายนิ้วที่จะขออนุญาต แต่ถ้าจะขายช่อหรือดอกจะทำได้ยาก เพราะต้องขออนุญาตจำหน่ายพืชควบคุมตามพระราชบัญญัติ ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ทุกคนยังเบลอๆ เรื่องกัญชา ไม่รู้จะทำอย่างไรกับพืชชนิดนี้ วันหนึ่งผมขึ้นไปพูดบนเวที พูดถึงแนวทางการพัฒนาพืชกัญชา จากวันนั้นมาเรื่องเหล่านี้ก้าวหน้าขึ้นมาก โดยเฉพาะ มทร.อีสาน ที่ร่วมสนองนโยบายขับเคลื่อนกัญชาสู่พืชเศรษฐกิจ หลายคนคงเคยเห็นป้ายหาเสียง ที่ระบุว่า กัญชาไทยปลูกได้เสรี แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดกัญชาเพื่อการแพทย์ พืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย เรื่องนี้ทำมาโดยตลอด มีการแก้กฎหมาย ๔ รอบ กระทั่งวันนี้ยังไม่ได้กฎหมายใหม่ แต่คาดว่า อีกประมาณ ๒ เดือนน่าจะชัดเจน ซึ่งเดิมทีผมคอยสนับสนุนกัญชาเพื่อการแพทย์ ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อให้จบที่รุ่นเรา สุดท้ายก็ทำสำเร็จ ส่วนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการหรือสนุก ผมไม่สนับสนุน ซึ่งต่อไปก็จะศึกษาและวิจัยต่อไป ซึ่งในปีที่ ๓ ของการผลักดันกัญชาถูกกฎหมาย ผมใช้ประเด็นปลูกกัญชาเพื่อปลดหนี้เป็นหลัก เราจะปลดหนี้ได้อย่างไรหากต้นทุนสูง หรือเกษตรกรปลูกไม่ได้ แล้วใครที่ลบคำถามเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่ มทร.อีสาน ดังนั้น ผมจึงรู้สึกยินดีอย่างมากที่อธิการบดีเชิญมาเป็นที่ปรึกษามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องกัญชง กัญชา กระท่อม และพืชสมุนไพร”

“เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ผมเสนอมาตรการและแนวทางใช้สารสกัดจากกัญชาในทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ๗ มาตรการ คือ มาตรการที่ ๑ พิจารณาการนำกัญชาที่เป็นของกลาง มาใช้ประโยชน์ทันที ผมเสนอว่าเราต้องนำของกลางมาทำยา ไม่รอปลูก แต่ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ด้านคุณภาพ ความปลอดภัยต่างๆ วันนี้เรามีศูนย์ตรวจเพียงพอสำหรับการทำธุรกิจในบ้านเราแล้ว มาตรการที่ ๒ ปลดล็อกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจเสรี ทั้งยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ การปลดล็อกครั้งที่ ๑ คือการปลดล็อกกัญชง มาตรการที่ ๓ การจัดตั้งองค์กรกลางในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์กัญชา สถาบันกัญชาแห่งการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข นโยบายต่างๆ รวมถึงยา เข้าบัญชีหลักแล้ว กองทุนต่างๆ และการวิจัยของประเทศ มาตรการที่ ๔ ปรับการเข้าถึงกัญชาระดับชุมชนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน มาตรการที่ ๕ พัฒนาการระบบจัดการห่วงโซ่อุปทาน วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กัญชาสำเร็จรูปในเชิงพาณิชย์ รวมถึง สมุนไพรที่อยู่ในตำรายาแผนไทย ซึ่งมาตรการยังทำไม่ค่อยสำเร็จนัก มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ยังกลัวอยู่ ไม่เหมือน มทร.แต่มีบางอย่างที่เกินขอบเขตของมทร.เหมือนกัน มาตรการที่ ๖ แก้กฎหมาย พ.ร.บ.พืชยากัญชา และกระท่อม และสุดท้าย มาตรการที่ ๗ พัฒนาระบบการจัดการเชิงนโยบานยและประเมินผลกระทบ ไม่รู้ว่าทุกคนเห็นด้วยไหม แต่วันนี้เดินมาถึงจุดนี้ เป็นเวลา ๔ ปีแล้ว”

รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน

ต้องให้ความรู้

ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวอีกว่า “วันนี้สังคมมองกัญชาเป็นพืชเสพติด หรือพืชเศรษฐกิจ กัญชาเป็นยาเสพติด ยังติดอยู่ในหัวทุกคนหรือไม่ เมื่อ ๔ ปีที่แล้วอาจจะใช่ แต่หลังจากที่ปลดล็อกมาทีละขั้นตอน วันนี้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจแล้ว ถ้าประเมินจริงๆ มีเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดบ้านเราไม่ว่าจะบนดินหรือใต้ดินก็ตาม มีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ในอนาคตกัญชาจะเดินไปสู่การสันทนาการหรือไม่ อาจจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ รัฐบาลชุดนี้คงไม่กล้าฟันธงว่า จะเปิดให้ใช้สันทนาการ ต้องมาคอยดูว่าจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้สังคมยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ เช่น ขับรถ ไปสูบโชว์ ยังเสพผิดจนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะความรู้เรื่องกัญชายังไม่เข้มแข็งพอ เหมือนกับที่เราเล่าเรื่องกัญชาให้คนอื่นฟัง แล้วต้องการให้เขาเปลี่ยนความคิด ซึ่งทำได้ยาก แต่ที่ผ่านมาประเทศไทย ถ้าไม่ให้ความรู้ก็จับขังคุกแทน หากคิดแบบนี้ไม่เป็นศิวิไลซ์ ต้องแยกแยะ ระหว่างการใช้เพื่อทางการแพทย์ จัดระบบห่วงโซ่ให้ดี มีการเข้าถึงแบบเป็นระบบ วันนี้เราต้องให้ความรู้ด้านความปลอดภัยสาธารณะ เช่น สูบแล้วอย่าไปขับรถ”

“วันนี้ประเทศไทยแบ่งกลุ่มการใช้กัญชาเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ กลุ่มได้ประโยชน์ และกลุ่มอาจจะได้ประโยชน์ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้สึก คือ หากความรู้ไม่เพียงพอก็อย่าใช้เลย ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เช่น ใครที่เข้าตามข้อบ่งใช้ของกัญชา ให้หาวิธีทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงกัญชาให้ได้ แทนที่จะคิดว่า ทำไม่ได้ ไปใช้ยาอื่นๆ ดีกว่า ส่วนกลุ่มที่น่าจะหรืออาจจะได้ประโยชน์ เช่น ผู้เป็นโรคสมองเสื่อม ปัจจุบันไม่มียารักษาได้ แต่บางคนใช้กัญชาถูกหลัก ก็กลับมาพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบสนอง เพราะคนเรามีความหลากหลาย ดังนั้น หาจุดที่บางคนจะได้รับประโยชน์ดีกว่า หาคนที่จะใช้กัญชาแล้วได้ประโยชน์ที่สุด ผมขอให้แนวคิดไว้ว่า เราอุตส่าห์พัฒนายาขึ้นมา นำเข้าบัญชียาหลัก สามารถเบิกจ่ายได้ และรู้ว่าจะใช้กัญชาอย่างไร วันนี้เฉพาะทางการแพทย์ ส่วนสันทนาการ เดี๋ยววันหนึ่งทุกคนก็ทราบว่าจะไปจบที่ตรงไหน”

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน

พ.ร.บ.ควบคุมกัญชา

ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่า “ผมไม่เชื่อว่า กฎหมายใช้ควบคุมเรื่องการเสพติดได้ แต่ป้องกันและบำบัดได้ วันนี้ประเทศไทยมีประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เน้นเรื่องการบำบัดและฟื้นฟูมากขึ้น ลดการลงโทษเรื่องการเสพลงมา แต่การขายยังมีโทษหนัก เพราะถือเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการบ่อนทำลายประชาชนและเยาวชนที่ไม่มีความรอบรู้เรื่องยาเสพติด ซึ่งการปรับกฎหมายเรื่องกัญชา เราใช้วิชาการเข้าไปแก้ไขกฎหมาย ให้ทันการณ์ ทัยสมัย และทันยุค ในปี ๒๕๖๕ เป็นการปลดล็อกกัญชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จึงทำให้มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แต่ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะออกมา ผมคาดว่า จะมีการควบคุมสารสกัด หาก THC มากกว่า ๐.๒ ถือเป็นยาเสพติด แต่ช่อดอกไม่ใช่ ทั้งที่ช่อดอกมีสารเมาเกิน ๐.๒ แน่นอน แต่กฎหมายสนใจเพียงว่า จะสกัดอย่างไร นำไปใช้อะไร แบบไหน สกัดจากวิธีที่ดีอย่างไร หากมีค่า THC มากกว่า ๐.๒ ถือเป็นยาเสพติดทันที แต่ถ้าขออนุญาต สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ส่วนการปลูกเสรีเพื่อใช้รักษาเอง ไม่ควรเกิน ๑๐ ต้น”

“เรื่องกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชา มทร.อีสาน ต้องผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนให้ได้ เพราะการขึ้นทะเบียนเป็นประตูสู่เศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะขายที่ใดก็ต้องมีการขึ้นทะเบียน ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ตามข่าวที่บอกว่า ถ้าปลดล็อกกัญชาแล้วนักท่องเที่ยวจะไม่มี ไม่จริง ไปดูข้อมูลใหม่ได้ว่า นักท่องเที่ยวสนใจมาก โดยเฉพาะถนนข้าวสาร หากพูดถึงตลาดกัญชาด้านการแพทย์ ขณะนี้ยังไม่สูงเท่าด้านสันทนาการ ก็ต้องรอดูว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด แต่เชื่อว่าเดินเรื่องสันทนาการแน่ๆ แต่ไม่ใช่ในยุคนี้”

มหาวิทยาลัยที่พึ่งประชาชน

ดร.ภก.อนันต์ชัย กล่าวท้ายสุดว่า “๔ ปีที่แล้วผมพัฒนาเชิงนโยบาย เรื่องกัญชาทางการแพทย์ และวันนี้ผมทำสำเร็จแล้ว ส่วนการสันทนาการผมไม่เกี่ยว ผมไม่อิงการเมือง เพราะผมเป็นนักวิชาการ โดยหลังจากนี้จะเน้นเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมเป็นหลัก ผมเชื่อว่า มทร.อีสาน ก็ไม่อิงการเมือง เป็นความตั้งใจของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เราใช้ความรู้จากนักวิจัย จากอาจารย์ทุกคน และการบริหารของเอกชน เพราะผมไม่เชื่อว่าอาจารย์จะเป็นนักธุรกิจที่ดี และไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนความเป็นอาจารย์ไปเป็นนักธุรกิจได้ ดังนั้น จึงต้องใช้คนที่อยู่ในภาคธุรกิจมาดำเนินการให้ จากนี้ไปมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่สอนหนังสือแล้วเรียนจบแค่ปริญญาตรี แต่ต้องสอนตลอดชีวิต เป็นที่พึ่งให้ประชาชนตลอดชีวิต หากมีใครมาถามความรู้ใหม่ๆ ในแง่ธุรกิจ มหาวิทยาลัยต้องตอบให้ได้ นี่คือมหาวิทยาลัยในอนาคต ต้องสร้างหลักสูตรที่ยืดหยุ่นกับความเป็นจริง”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่  ๑๖  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


79 1,685