29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 20,2022

‘มทร.’หารือสภาอุตฯ-โรงแป้ง ดึงบัณฑิตทำงานในพื้นที่

มทร.อีสาน หารือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดฯ ภาคอีสาน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิจัยและบริการวิชาการ สร้างบัณฑิตตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม หาแนวทางให้แรงงานทำงานในพื้นที่


วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่ห้องประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ชั้น ๓ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้แก่ รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ ธรรมโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์, ดร.โสภิดา สัมปัตติกร, ผศ. ดร.พลานุช คงคา, อาจารย์ สุบรรณ์ ทุมมา ผู้ช่วยอธิการบดี, รศ.ดร.นิคมบุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์, ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้อำนวยการสถาบันชุณหะวัณฯ พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการสถาบันฯ, นางสาวจุฬาลักษณ์ พลเสนา ผู้อํานวยการสถาบันบริการวิชาการ, ดร.จิณณพัต โรจนวงศ์ผู้อํานวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน, ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ จิตต์น้อม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานทั่วไป สถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้แทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา นางสาวภควรรณ วรรณวัติ หัวหน้างานวิจัยและพัฒนา เข้าพบนางธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายธีระ เอื้ออภิธร นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและบริการวิชาการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยการประชุมหารือในครั้งนี้ มทร.อีสาน ได้นำเสนอศักยภาพด้านการพัฒนากำลังคนผ่านหลักสูตรที่ได้มีการจัดการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยและวิทยาเขตที่สามารถรองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในการร่วมหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้งสองหน่วยงาน ได้สานความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันจะนำมาซึ่งการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนในอนาคต นอกจากนี้ รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ ได้กล่าวถึงความร่วมมือของการพัฒนาผังเมืองนครราชสีมา เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมถึงเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการเติบโตของเมือง เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและชุมชนมากที่สุด

สำหรับในเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ผศ.ดร.บุญญาพร ดวงสา ผู้อำนวยการสถาบันชุณหะวัณฯ กล่าวถึงการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ของสถาบันชุณหะวัณฯ ผ่านโครงการ ITAP และ Talent ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านการบูรณาการการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยใช้โจทย์จากภาคอุตสาหกรรมจับคู่ความต้องการและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านการผลิต อีกทั้งยังมีส่วนส่งเสริมให้นักศึกษาได้ลงปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการจริงเพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะให้ตอบสนองและตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ นางสุจิตรา บรรณจิตร รองผู้จัดการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “เป็นการพูดคุยกันว่า มทร.อีสาน กับสภาอุตสาหกรรม จะทำอะไรร่วมกัน แต่ยังไม่มีการลงนามความร่วมมือใดๆ โดย มทร.อีสาน ต้องการทราบว่า การผลิตบัณฑิตนั้นตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการหรือไม่ และสอบถามว่า ผู้ประกอบการต้องการแบบใด ซึ่งนักศึกษา มทร.อีสาน ก็มีคุณภาพอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบต้องการ คือ ด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพราะภาคอุตสาหกรรมในโคราช ต้องการให้นักศึกษาจาก มทร.อีสาน ทำงานในพื้นที่ ไม่ใช่เรียนจบไปแล้วออกนอกพื้นที่ ซึ่ง มทร.อีสานมีหลักสูตรต่างๆ มีวิทยาเขตต่างๆ ที่ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรม และในอนาคตอาจจะมีการฝึกนักศึกษาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในโคราช เช่น การนำนักศึกษาไปฝึกงานที่โรงงาน จัดหลักสูตรร่วมกัน และอบรมเพื่อ Up skill re-skill นักศึกษา ให้สอดคล้องกับการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม”

“ผู้บริหารจากโรงงานศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เล่าว่า เคยมีการลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อนำนักศึกษามาฝึกงานในโรงงาน และจบไปได้รับวุฒิปริญญาตรี ก็มีการสอบถามกันว่า หากจะร่วมกับ มทร.อีสาน จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จากของจริง ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา จึงตอบรับว่า จะสอบถามโรงงาน หรือสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมมันสำปะหลัง ว่า มีความต้องการนักศึกษาหรือแรงงานที่จบการศึกษาด้านใดบ้าง ซึ่งจะมีการนัดพูดคุยหารืออีกครั้งหนึ่งกับ มทร.อีสาน” นางสุจิตรา กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๐ ประจำวันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่  ๒๓  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


994 1592