15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

August 20,2022

‘ระเบียงเศรษฐกิจ’ต้องช่วยกัน ดันโคราชศูนย์กลางการลงทุน

โคราชเปิดวงเสวนา เตรียมพร้อมสู่การเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ กระจายความเจริญสู่ส่วนภูมิภาค ทุกฝ่ายเห็นพ้อง “ต้องช่วยกัน” บูรณาการการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน ‘หัสดิน’ แนะสร้างสิทธิประโยชน์ดึงดูดนักลงทุน


วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่โรงแรมแคนทารี โคราช นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ. ร่วมเปิดเวทีเสวนาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันจังหวัดนครราชสีมาสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่ปรึกษานายก อบจ., ผศ.ดร.สุธนา บุญเหลือ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นวิทยากร ดำเนินการเสวนาโดย ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ภายในงานมีกิจกรรมเวิร์คช็อป เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น อาทิ กลุ่มเกษตรและอาหารคุณภาพสูง กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ทางเลือก กลุ่มการท่องเที่ยวสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ กลุ่มการศึกษาและการพัฒนากำลังคน และกลุ่มโครงการพิเศษและเมกะโปรเจ็กต์ ภายหลังการเข้าสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC) อย่างเต็มรูปแบบ

 

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “ภาพของ NeEC มีที่มาจากมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เป็นการเชื่อมโยงจากใต้ขึ้นเหนือ เชื่อมไปยัง สปป.ลาว และประเทศจีน ในช่วงแรกโคราชเคยจัดเวทีลักษณะนี้ แต่ขณะนั้นเป็นภาพของการจัดเวทีกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ซึ่งการมาของ NeEC ทำให้นครชัยบุรินทร์ต้องปรับตัว และได้ประโยชน์ร่วมกัน มีหลายเรื่องเชื่อมโยงต่อกัน สร้างแรงสนับสนุนครั้งใหญ่ หากไม่ปรับตัว อาจจะได้ประโยชน์จากการเป็น NeEC น้อยที่สุดก็ได้ จังหวัดนครราชสีมาพร้อมหรือยัง ไม่มีใครตอบได้ ผมเชื่อว่าโคราชมีหลายเรื่องที่ไม่พร้อม แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องปรับปรุงบ้านให้พร้อม แล้วไปรออนาคต โคราชเป็นเมืองสำคัญ ต้องถามตัวเองว่าเตรียมตัวอย่างไร ตอบโจทย์ในเรื่องของ NeEC เพื่อขับเคลื่อนการเตรียมตัวในเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

สิ่งสำคัญในการเป็น NeEC

“วิธีคิดของส่วนราชการ หากยังยึดติดกับวิธีคิดเดิมๆ ปฐมภูมิเดิมๆ ที่ต้องปรับคือ ปรับวิธีคิด ปรับองค์ประกอบ ปรับกระบวนการที่จะทำให้เกิดกระบวนการการผลิต อย่างที่ ๒ คือ ความเข้าใจ นอกจากที่จะพูดเรื่องของกระบวนการคิดแล้ว ความเข้าใจ เมื่อเข้าใจตรงกันก็ขับเคลื่อนทำแผนที่สอดรับกัน ที่สำคัญต้องนำเรื่ององค์ความรู้ขั้นสูงมาใช้ ไม่อย่างนั้นโคราชจะย่ำอยู่กับที่ ผมว่าต้องทำ ๒ เรื่องนี้ก่อน” นายชรินทร์ กล่าว

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า “เรื่องแรกโคราชต้องสนับสนุนและบริการพี่น้องประชาชน คือ สร้างคน สร้างเมือง สร้างเศรษฐกิจ สร้างเมืองโคราช ต้องยกระดับให้คนโคราชมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทุกหน่วยงาน ทราบ จังหวัดนครราชสีมามีทรัพยากรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเกษตร แหล่งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้ได้ยกระดับในเรื่องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้”

ทางด้าน นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล กล่าวว่า “การพัฒนาเชิงพื้นที่ประเทศไทย ยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก กทม.และปริมณฑล มีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคนั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาความเจริญสู่ภูมิภาค เพื่อพัฒนาฐานเศรษฐกิจใหม่ให้มีความพร้อม สามารถดึงดูดการลงทุนการพัฒนาในหลายๆ มิติให้มีการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในส่วนกลาง หรือระดับนโยบายได้ออกแบบการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนไว้ มีกฎหมายรองรับ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษปี ๒๕๖๔ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ตั้งอนุกรรมการ ๓ ชุด ประกอบด้วย ๑.อนุสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ มีความสำคัญและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ขอบเขตพื้นที่ของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ NeEC จะครอบคลุมทั้งจังหวัดนครราชสีมา และ ๓ จังหวัด ต้องคอยติดตามมติ ครม. ประกาศพื้นที่ออกมา เพราะเมื่อมีความชัดเจนขึ้น จะมีแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุน กพศ. จะขับเคลื่อนอีก ๔ เรื่อง ๒.โครงสร้างพื้นฐานจะมีตัวช่วยกลไกอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เพียงแต่การขนส่งเท่านั้น คลอบคลุมถึงทุกอย่าง เรียกว่าแผนงานโครงการที่จะสนับสนุนตัวระเบียงเศรษฐกิจ มีการถ่ายถอดข้อมูลและเปลี่ยนระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ ทั้งเรื่องการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและการบริการ และเรื่องของการพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมผู้ประกอบการ และ ๓.การวิจัยพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ๓ ส่วนหลังนี้จะมีบทบาทสำคญที่เอกชนในพื้นที่จะร่วมกับจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง”

แนวทางของระเบียงเศรษฐกิจ

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวอีกว่า “ทางจังหวัดมีเครื่องมือคือ แผน ซึ่งต้องสอดคล้องกับเครื่องมือของ NeEC ตอนนี้ยังเห็นภาพ NeEC ไม่ชัด ใน ๔ จังหวัดต้องมีเครื่องมือที่สอดรับกัน เครื่องมือของตนเองไปสอดรับกับเครื่องมือของระเบียงเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายจึงได้ประโยชน์”

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า “อบจ.ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทำความเข้าใจ ศึกษา จับมือร่วมกัน ไม่ไปคนละทาง งานจะได้ไม่ซ้ำซ้อน มีการบูรณาการร่วมกัน หาก NeEC เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ก็จะเกิดประโยชน์ให้กับประชาชน ต้องคิดนอกกรอบแต่ถูกระเบียบ ประชาชนก็จะได้ประโยชน์ จงทำการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ต้องไม่ไปคนเดียวเด็ดขาด การบูรณาการจังหวัดนครราชสีมาเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด พุ่งเป้านำผู้ประกอบการใหม่ๆ เข้ามา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าผู้ประกอบการ ให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น”

พัฒนาเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

นายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล กล่าวว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ทุกคนเคยได้ยินมี ๑๐ แห่ง จังหวัดหนองคายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษด้วย ทาง กพศ.เน้นย้ำว่า พื้นที่ใกล้เคียงต้องได้รับประโยชน์ การพัฒนาเชื่อมโยงตามองค์ประกอบที่ว่าจะมีอนุกรรมการที่รับผิดชอบโดยตรง และต้องช่วยในเรื่องของการมองภาพที่เป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นของโครงสร้างพื้นฐาน หรืออนุสิทธิประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจชายแดน เริ่มมีตอนปี ๒๕๕๙ แต่เรื่องระเบียงเศรษฐกิจเป็นช่วงเริ่มแรกของการขับเคลื่อน อย่าเพิ่งไปถอดบทเรียน มาช่วยกันให้มันเกิดขึ้น แต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันตามศักยภาพและโอกาส เพราะฉะนั้นเราอยู่ในระเบียงของ NeEC ก็พยายามใช้ศักยภาพ และโอกาสของพื้นที่มาสร้างหรือต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากที่สุด เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะเชื่อมโยงเข้ามาในระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ทุกอย่างมีการเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยพัฒนา หากไม่มีการพัฒนาพื้นที่ฐานเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็ยากที่จะดึงดูดการลงทุนก็จะมีการกระจุกเหมือนเดิม”

เตรียมพร้อมสู่ NeEC

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวย้ำอีกว่า “วันนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น ยังไม่ได้ขับเคลื่อน ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า NeEC มีรูปร่างอย่างไร และจะได้ประโยชน์อะไร วันนี้ต้องทำความเข้าใจก่อน และเตรียมตัว ทัศนคติ การเกษตร ต้องทำเรื่องการเพิ่มมูลค่า ไม่ใช่ขับเคลื่อนแต่เรื่องการเกษตรโบราณ เกษตรพื้นฐาน

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันบูรณาการ ช่วยประชาสัมพันธ์ ให้ทราบว่าโคราช คือ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายหลักคือสร้างคน สร้างเศรษฐกิจ สร้างเมืองโคราช ยกระดับคน สิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์การเป็น NeEC เมื่อสร้างคนได้แล้ว เศรษฐกิจก็จะตามมา จังหวัดนครราชสีมาก็จะมีความเจริญ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ยกระดับรายได้

จากนั้นเป็นการเสวนาหัวข้อ “โอกาสในการยกระดับรายได้ของประชาชนเมื่อเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) จังหวัดนครราชสีมา” โดยมี นายสมเกียรติ ตันดิลกตะกูล รองนายก อบจ.นครราชสีมา นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผศ.ดร.สุธนา บุญเหลือ ตัวแทนโครงการแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และดำเนินรายการโดย ดร.นน อัครประเสริฐกุล

นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล กล่าวว่า “อบจ.โคราชมีความพร้อมในการต่อยอดโครงการหลักต่างๆ ที่กำลังเข้ามา พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐและสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว อบจ.มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับให้มียุทศาสตร์รองรับจากรัฐบาลได้ ซึ่งปัจจุบัน อบจ.ปรับยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายจังหวัด ในอนาคตก็สามารถลงทุนและบริหารเป็นแบบภาครัฐกึ่งเอกชนได้”

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวว่า “ระบบสาธารณูปโภคที่เข้ามาโคราชนั้น เอื้อให้เกิดการค้าการลงทุน หลังจากที่รัฐบาลกำลังสร้างสาธารณูปโภคให้ สามารถหยิบฉวยให้เกิดการค้าการลงทุนที่ต่อยอดมากกว่านี้ได้ขนาดไหน เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันต่อไป”

ผศ.ดร.สุธนา บุญเหลือ กล่าวว่า “แผนพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจุดที่สามารถสร้างความเจริญและกระจายให้กับภูมิภาคและจังหวัดข้างเคียงได้ ยุทธศาสตร์ของภาคอีสานนั้นมี ๔ ด้าน ตามแนวทางหลักเกณฑ์ของสภาพัฒน์ และรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ พัฒนาจากการเกษตรดั้งเดิมให้กลายเป็นชีวภาพ ระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้ และพัฒนาต่อไปยังภาคอุตสาหกรรมให้เป็นทุติยภูมิ ยุทธศาสตร์ที่ ๒ เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ เป็นการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัลต่างๆ ที่จะเข้ามาในส่วนของการพัฒนา ให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทั้งหลาย และยุทธศาสตร์ที่ ๔ การทำการตลาด ส่งเสริมการท่องเที่ยวธุรกิจบริการ แผนแม่บทที่นำเสนอไปเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งหมด ๖๑ โครงการ มาจากการเสนอแนะจากภูมิภาค สิทธิประโยชน์ที่เสนอ สามารถเปรียบเทียบได้กับของ สปป.ลาว และเวียดนาม คาดว่าเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ก่อนที่จะเปิดงบประมาณใหม่”

นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล กล่าวอีกว่า “โครงการสมาร์ทซิตี้ ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WIFI) ในพื้นที่สาธารณะ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กล้องวงจรปิด อบจ.ได้ดำเนินการเพื่อเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้น หากเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจเข้ามา การจัดเส้นทางสู่การลงทุนในเขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่ใดจะใช้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม อบจ.จะร่วมสนับสนุนเพราะ ไม่ใช่ภาครัฐ ๑๐๐% สามารถสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ได้”

สร้างแรงดึงดูดการลงทุน

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวว่า “ยอมรับว่าในอนาคต สังคมดิจิทัลจะเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของเราอย่างแน่นอน ให้คนโคราชมีส่วนร่วม การเป็นเมืองสมาร์ทซิตตี้ เมืองฉลาด ต้องฉลาดจากตัวเอง ภาครัฐต้องมีการเตรียมตัวให้ประชาชน ภาครัฐควรจะทำงานนอกกรอบมากขึ้น”

“การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในโคราชนั้น ประเทศ ไทยยังให้สิทธิประโยชน์น้อย และยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากเกินไป จึงต้องถอดบทเรียนจากระเบียงเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ หากจะดึงดูดการลงทุน ต้องทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น เช่น การขอใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ สามารถขอได้ที่สำนักงาน NeEC โคราช หากจะขอหนังสือราชการ ส่วนราชการต้องอำนวยความสะดวก” นายหัสดิน กล่าว

 
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๐ ประจำวันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่  ๒๓  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


127 1,839