20thOctober

20thOctober

20thOctober

 

August 22,2022

“Hello Art by Kru Paan” ห้องเรียนศิลปะสำหรับทุกวัย

“ศิลปะ” ไม่ใช่เพียงผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาเพื่อให้ใครต่อใครได้ชื่นชมแล้วจบไป แต่ “ศิลปะแฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความคิด” หลายคนจึงเลือกใช้ศิลปะสื่อสารกับผู้อื่น หรือใช้เพื่อแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของผู้สร้างสรรค์ผลงาน

หลายคนอาจจะคิดว่า ศิลปะเข้าถึงยาก สร้างสรรค์ยาก ซึ่งแท้จริงแล้ว “ศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน” เช่น การแต่งหน้า การแต่งตัวการทำอาหาร เพราะ “ศิลปะ คือ ทุกสิ่ง” ดังนั้น ทุกคนต้องค้นหาตัวเองให้เจอว่า เหมาะกับศิลปะประเภทใด และเมื่อค้นพบแล้ว จงเดินหน้าไปให้ถึงที่สุด ส่วนวันนี้ผมจะพาไปรู้จักกับการค้นหาตัวเองผ่านศิลปะสีน้ำและการวาดภาพ

 

“ครูปาณ” หรือ “วิญญู สถิตวิทยานันท์” เจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะ “Hello Art” ผู้เป็นครูของเด็กนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ แพทย์ พยาบาล ตำรวจ ทหาร และประชาชนทั่วไป ทุกอาชีพล้วนให้เขาช่วยสอนศิลปะ เพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง ฝึกสมาธิ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถ และเพื่อเป็นงานอดิเรก

ครูปาณ หรือ วิญญู สถิตวิทยานันท์ เจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะ “Hello Art”

ก่อนที่จะกลายมาเป็น “ครูสอนศิลปะ” เคยศึกษาสาขาวิชาทัศนศิลป์ (Visual Arts) มหาวิทยาลัยศิลปากร จากนั้นได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไปศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์ ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเมื่อกลับมาประเทศไทย ทำงานเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และที่สยามกลการ ประมาณ ๒๐ ปี ก่อนจะเปิดโรงเรียนศิลปะ “Hello Art” เป็นของตัวเอง

จุดเริ่มต้นของ “Hello Art” เกิดจากความตั้งใจของ “ครูปาณ” ที่ต้องการเปิดแกลเลอรี่โชว์ผลงานศิลปะขนาดเล็ก แต่เมื่อคิดไปคิดมาก็ต้องการเปิดสอนศิลปะให้เด็กๆ ด้วย ช่วงแรกมีนักเรียนเพียง ๑ คน จากนั้นเริ่มมีคนสนใจมากขึ้น กระทั่งเปิดสอนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์และพยาบาล

“ครูปาณ” เล่าว่า หลักสูตรที่ใช้สอนเริ่มแรกมี ๕ หลักสูตร เพื่อใช้สอนเด็กเล็ก สอนให้รู้จักการวาดเส้น ใช้สี และฝึกสมาธิ ศิลปะไม่มีถูกผิด จากนั้นก็จะปล่อยให้สร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการ “เด็กจบจากที่นี่ไป ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ” หรือมีสไตล์เป็นของตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบคนอื่น เพื่อจะได้มีผลงานเป็นของตัวเอง สำหรับเด็กโตและบุคคลทั่วไป ครูปาณจะให้เรียนครั้งละ ๒ ชั่วโมง สอนตั้งแต่เริ่มต้น สอนขีดเส้น ลากเส้น

การสอนศิลปะของครูปาณ ทำให้เด็กหลายคนค้นพบตัวเอง บางคนหลังจากวาดภาพ เปลี่ยนโน้นเปลี่ยนนี้ วาดภาพอย่างเป็นธรรมชาติ มีความสุขในการวาดภาพ ก็ค้นพบว่า เหมาะกับการเป็นสถาปนิก แต่ในขณะเดียวกัน บางคนเก่งการวาดลายเส้น การออกแบบดีไซน์ เมื่อให้ลองทำงานซ้ำๆ ทำให้ค้นพบว่า ควรไปเป็นคาแรกเตอร์ดีไซน์ “บางคนอยากวาดแมว...ผมก็ให้วาดแมว”

 

การเรียนที่ “Hello Art” ไม่ใช่รับเด็กเข้ามา ๕-๖ แล้วทุกคนจะต้องเรียนหรือวาดภาพเรื่องเดียวกัน แต่การสอนของ “ครูปาณ” จะไม่สอนเหมือนกัน ทำงานคนละแนว บางคนวาดเส้น บางคนเน้นการใช้สี เพราะการสอนของที่นี่ใช้ระบบ “Child Center เด็กคือศูนย์กลาง” ก่อนแต่ละคนจะเริ่มเรียนต้องถามก่อนว่า สนใจเรื่องใด “ผมสอนนักเรียน ๖ คนในเวลาเดียวกัน แต่ผมต้องวิ่งสอนตัวต่อตัว เพราะทุกคนเรียนไม่เหมือนกัน”

คนที่มาเรียนศิลปะที่ “Hello Art” มีอยู่ ๒ ประเภท คือ คนที่สนใจมาเรียนเอง เพราะต้องการวาดภาพให้เป็น หรือต้องการทำงานบางอย่างให้สำเร็จ เช่น การศึกษาต่อ ฝึกสมาธิ และหางานอดิเรก บางคนจะไปเรียนต่อสาขาทันตแพทย์ ซึ่งหมอก็ต้องใช้ศิลปะในการเย็บแผล การออกแบบลักษณะฟัน และที่สำคัญคือสมาธิ แพทย์ทุกคนมือต้องนิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียนรู้ได้จากงานศิลปะ และอีกประเภทหนึ่ง คือ คนที่พ่อแม่ต้องการให้เรียนศิลปะ เพราะบางคนไม่มีสมาธิในการทำงาน ซึ่งก่อนจะเรียน “ครูปาณ” จะต้องคุยกับพ่อแม่ก่อนว่า ต้องการให้เด็กมีสมาธิแบบใด เพื่อจะได้รู้ว่าจะสอนอย่างไร หรือนักเรียนบางคนมีภาวะซึมเศร้า จึงมาเรียนศิลปะเพื่อผ่อนคลาย และปลดปล่อยตัวเองผ่านผลงานต่างๆ 

“ครูปาน” พูดถึงเป้าหมายที่แท้จริงในการเปิดโรงเรียนศิลปะ ว่า ไม่ต้องการให้คนมาเรียนเล่นๆ แต่ต้องการให้เด็กมีความสงบในการเรียนศิลปะ กลับบ้านไปสามารถสร้างผลงานต่อได้ ไม่ให้ศิลปะเป็นสิ่งตายตัว มีความเป็นอิสระ และคอยสอดแทรกองค์ความรู้สู่การสร้างอาชีพ ทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ เป็นนักออกแบบได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน “เด็กทุกคนมาที่นี่ต้องมีความสุข”

เด็กที่มาเรียนกับ “ครูปาณ” แทบจะไม่ต้องฝึกอะไรมาก เพราะครูปานจะพูดคุยกับนักเรียน คอยพูดชื่นชมให้กำลังใจ บอกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นดีแล้ว ให้ทำไปเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่า มีคนสนใจผลงานของเขา ไม่ใช่จะไปบอกว่า ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ครูปาณจะปล่อยให้เด็กทำเอง เพื่อค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วเด็กจะมีความสุข

การเป็นครูผู้มีความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง ย่อมมีมุมมองต่อด้านนั้นๆ อย่างชัดเจน ซึ่ง “ครูปาน” พูดถึงมุมมองที่มีต่อศิลปะในสังคมไทยปัจจุบัน ว่า ศิลปะในสังคมไทยยังเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เพราะคนทุกวันนี้ยังปลูกฝังให้ลูกไปเป็นหมอ วิศวกร และข้าราชการ แต่เวลาไปเที่ยว ทุกคนไปเที่ยวชมอะไรถ้าไม่ใช่ธรรมชาติ วัด การออกแบบผังเมือง การแกะสลัก ไม่มีใครไปดูโรงเรียนสอนภาษา หรือโรงเรียนสอนวิทยาศาสตร์ เพราะทุกคนแสวงหาศิลปะ “ทุกอย่างเป็นศิลปะ”

“ศิลปินสมัยก่อนใช้ศิลปะรับใช้ศาสนาและสังคม” เรื่องเหล่านี้เป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนๆ และก่อนที่จะมีเทคโนโลยี ภาษา และศาสนา มนุษย์มีศิลปะมาก่อนสิ่งเหล่านี้ เพราะมนุษย์ใช้ศิลปะในการสื่อสาร บอกความรู้สึก อารมณ์ ความคิด และเล่าเรื่องราว “ศาสนาเกิดมาเพราะความกลัว แต่ศิลปะเกิดมาเพราะการใช้ชีวิต”    

วงการศิลปะทุกวันนี้ ทั้งสาขาสถาปัตยกรรม จิตรกรรม การออกแบบ การแสดง และอื่นๆ ยังเป็น กลุ่มเล็ก ทุกคนรู้จักกัน แม้ศิลปะคือทุกอย่าง แต่ครูปานก็ไม่เข้าใจว่า “ทำไมคนถึงมองไม่เห็น ศิลปะอยู่ในจิตใจมนุษย์อยู่แล้ว แต่มนุษย์ลืมมันไป” ปัจจุบันทุกคนสนใจเพียงเรื่องการทำมาหากิน และมองภาพลักษณ์ของงานศิลป์ว่า “ทำมาหากินลำบาก เลี้ยงใครไม่ได้ ทำไปก็จน เป็นหมอรวยกว่า”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ความรู้ไม่สำคัญเท่าจินตนาการ” ทุกอาชีพต้องใช้จินตนาการเสมอ ไม่ว่าจะเป็นหมอ นายกรัฐมนตรี นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งศิลปะจะเป็นตัวบอกว่า แต่ละคนเป็นอย่างไร เช่น บางคนใช้สีหมอง บางคนใช้สีสดใส หรือบางคนแค่วาดเส้นยังไม่กล้า แต่เมื่อมาเรียนศิลปะกับครูปาณแล้ว ทุกคนล้วนหาตัวเองเจอ เช่น บางคนที่มีภาวะซึมเศร้า ก็สามารถหายเป็นปกติ เพราะ “ศิลปะทำให้มีความสุข”

หลังจากรู้จัก “ครูปาณ” ผ่านมุมมองต่างๆ และแนวทางการสอนแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงอยากจะมาเรียนศิลปะกับเขาแน่ๆ (คนเขียนก็ยังอยากเรียน) ซึ่งสามารถติดต่อดูรายละเอียดได้ที่ แฟนเพจ “Hello Art by Kru Paan” หรือโทร ๐๘๕ ๓๕๔ ๔๖๙๙ มีคอร์สการเรียนที่น่าสนใจมากถึง ๕ คอร์ส สามารถเรียนได้ตั้งแต่อายุ ๕ ปี เป็นต้นไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๐ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่ ๑๖ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


816 1,542