28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 04,2022

‘ผู้ว่าฯสยาม’ไม่สยอง จุดตะเกียงค่อนดุ งดอีเวนต์-ตัดริบบิ้น

 

เสวนา “คนโคราชต้องการอะไรจากสยาม ศิริมงคล” ผู้ว่าฯ ธงชัย’ให้เวลา ๓ สัปดาห์โชว์ฝีมือ ปธ.เศรษฐกิจย้ำโปร่งใสตรวจสอบได้ แนะเร่งซ่อมถนน ปรับปรุงสวนสาธารณะ ทุกฝ่ายยัน “ผู้ว่าฯ ต้องลดงานอีเวนต์” เน้นพัฒนาเป็นหลัก คนรับหน้าที่ชี้้ คนที่มาอยู่โคราชต้องมีประสบการณ์ ทุกจังหวัดต้องการงานพัฒนา แต่งานสังคมก็สำคัญ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือ

 

เมื่อที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยมีชื่อ “สยาม ศิริมงคล” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา” ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป ดังนั้น เพื่อร่วมกันสะท้อนปัญหาและสิ่งที่คนโคราชต้องการให้เกิดการพัฒนาใน “จังหวัดนครราชสีมา” ให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยตระหนักถึงประโยชน์ของทุกภาคส่วน “ลุงเปี๊ยก โคราชคนอีสาน” จึงจุดตะเกียง ให้เกิดเวทีเสวนา “คนโคราช ต้องการอะไร จาก สยาม ศิริมงคล” อีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ คลาสคาเฟ่ วัดบูรพ์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา “ธงชัย ลืออดุลย์” ที่จะมาเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของการผู้ว่าฯ และแชร์ประสบการณ์ในการบริหารเมืองโคราชแห่งนี้ ตามมาด้วยผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรม “หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นักธุรกิจไฟแรงที่มักจะพูดแทนคนรุ่นใหม่ “มารุต ชุ่มขุนทด” ซีอีโอ คลาสคาเฟ่ และปิดท้ายด้วยอดีตนายอำเภอ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์เมืองโคราช “ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต”

หน้าที่ของผู้ว่าฯ

“ธงชัย ลืออดุลย์” กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ “สยาม ศิริมงคล” ซึ่งต้องมาดูแลและรับผิดชอบในโคราช จังหวัดที่มีประชากรมากถึง ๒.๖ ล้านคน มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ๑๒ ล้านไร่ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๓๓๔ หน่วยงาน และมี ๓๒ อำเภอ “ผู้ที่จะมาเป็นพ่อเมืองโคราชจึงต้องมีความตั้งใจ มีความสามารถ และมีอิทธิบาท ๔” พร้อมทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคเอกชน และฝ่ายการเมือง ผมต้องการให้ทุกคนรู้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ใคร มีหน้าที่อะไร และตัวผู้ว่าฯ ก็ต้องรู้ว่า ต้องเป็นอย่างไร หากผู้ว่าฯ ไม่รู้ตัวเองว่าจะทำอะไร ผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชน เช่น การมอบหมายงานของผู้ว่าฯ ให้รองผู้ว่าฯ

ผมได้รับคำสั่งให้ย้ายมาเป็นผู้ว่าฯ โคราช พศ.๒๕๕๗  มีเวลาเตรียมตัว ๓๐ วัน แต่ผมเอาเวลาไปคิดว่า ถ้าผมย้ายมาผมเหลือเวลากี่วันที่จะทำงานให้โคราช ประมาณ ๔๘๖ วัน หรือ ๑๖ เดือน ผมจึงตั้งใจว่า “ผมจะทำงานให้ได้ เพื่อไม่ให้คนโคราชเสียเปล่า” อย่างน้อยต้องทิ้งร่องรอยการทำงานไว้ ประชาชนก็จะได้รับสิ่งดีๆ ในระยะเวลา ๑๖ เดือนที่ผมเป็นผู้ว่าฯ ผมคิดง่ายๆ คือ ๑.อดีต มีปัญหาอะไรที่ยังค้างคา ทำให้สำเร็จ ๒.ปัจจุบัน ๔๘๖ วัน มีงานอะไรที่ต้องทำ และ ๓.อนาคต ซึ่งผมแทบจะไม่ได้คิดไว้เลย เพราะต้องมีระยะเวลาทำงานที่ยาวนาน เมื่อคนโคราชเข้าใจบทบาทผู้ว่าฯ แล้วช่วยกันทำงานเมื่อผู้ว่าฯ สยาม มา น่าจะได้รับสิ่งดีๆ ให้โคราช

“ธงชัย ลืออดุลย์” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

“อดีตผู้ว่าฯ ธงชัย” เล่าอีกว่า การเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด มีบทบาท ๓ ข้อ คือ ๑.การบังคับบัญชา ให้คุณให้โทษได้โดยตรงกับข้าราชการส่วนภูมิภาค คือ เกษตรจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด พาณิชย์จังหวัด อะไรที่ลงท้ายว่าจังหวัด จะอยู่ภายใต้การทำงานของผู้ว่าฯ โดยตรง โยกย้ายแต่งตั้งได้ ๒.กำกับดูแลหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. เทศบาล อบต. และรัฐวิสาหกิจ ๓.ประสานเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดหรือแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เช่น ศาล ตำรวจ อัยการ ทหาร มหาวิทยาลัย และข้าราชการครู

โดยทั้ง ๓ ข้อจะอยู่ภายใต้การบริหารแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีสั่งการ และเป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัด ถ้าถามว่า ไม่ทำตามได้หรือไม่ เหมือนที่หลายคนสงสัยว่า “ผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งต้องทำตามรัฐบาลทั้งหมด...ไม่ใช่” แต่อยู่ที่ตัวผู้ว่าฯ บางเรื่องไม่ทำตามก็ได้ แต่ต้องมีเหตุผล ในขณะที่ผมดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ และเหลือเวลาอีก ๖ วันผมจะเกษียณ ผมได้ทำรายงานถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขปัญหาผู้ทำกินในพื้นที่อุทยานทับลาน บริเวณอำเภอวังน้ำเขียวและเสิงสาง ซึ่งผมมีวิธีแก้ไขว่า ควรจะทำอย่างไร ไม่ใช่จะต้องทำตามทั้งหมด นายกรัฐมนตรีก็ส่งหนังสือมาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำความเห็นของผมไปพิจารณาและปฏิบัติ ดังนั้น ไม่ใช่อย่างที่คิดเสมอว่า การแต่งตั้งจะต้องทำตามรัฐบาลเสมอไป ถ้าเรื่องนั้นเป็นผลร้ายและไม่สนองต่อประชาชน และแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

“หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และที่ปรึกษานายก อบจ.นครราชสีมา

ศูนย์กลางอุตสาหกรรม

“หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” แสดงทัศนะว่า โรงงานที่มีขนาด ๕๐ แรงม้าขึ้นไปทุกแห่ง จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งในภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด มีโรงงานทั้งหมด ๗,๙๙๗ โรง โดยตั้งอยู่ที่โคราช ๑,๗๐๐ โรง มากที่สุดในภาคอีสาน ส่วนอันดับ ๒ อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ๗๘๘ โรง รองมาอีกก็เป็นจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี ทั้งนี้ กลุ่มนครชัยบุรินทร์มีโรงงานอุตสาหกรรมเกินครึ่งหนึ่งของภาคอีสาน สำหรับโคราช ๑,๗๐๐ โรง ไม่ได้กระจายอยู่ใน ๓๒ อำเภอเท่าๆ กัน แต่จะกระจุกตัวที่วงเวียนอุตสาหกรรม คือ บริเวณถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช โดยเฉพาะ ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง สูงเนิน ปักธงชัย และโชคชัย มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า ๘๐๐ โรง มากกว่าขอนแก่นทั้งจังหวัด และบริเวณ ๔ อำเภอนี้ เป็นจุดที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในภาคอีสาน มากสุดที่อำเภอสูงเนิน คือ โรงงานซีเกท มีพนักงานประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน โรงงานเดียว จ่ายค่าไฟฟ้าปีละ ๒,๐๐๐ ล้านบาท และในบริเวณนั้นไฟฟ้าจะกะพริบไม่ได้ เพราะหากไฟตกเกิดการกะพริบการไฟฟ้าจะถูกปรับ เช่น โรงงานซีเกท มิลลิวินาทีละ ๙ ล้านบาท โรงงานแคนนอน  ๖ ล้านบาท ทั้งนี้ ฮาร์ดดิสก์ที่ถูกใช้งานบนโลกนี้ มีการผลิตที่อำเภอสูงเนิน คือ โรงงานซีเกท ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า ๑ ใน ๓ ที่ใช้งานอยู่ทั่วโลก ดังนั้น การย้ายถิ่นฐานอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

ในอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมจะย้ายถิ่นฐานออกจากโคราชหรือไม่นั้น อยู่ที่คนโคราชทุกคน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมกรรมจังหวัด ที่พยายามผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่ง ครม.อนุมัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสานแล้ว แต่โอกาสย้ายถิ่นฐานยังมีอยู่ เพราะขึ้นกับว่า “คนโคราชจะออกแบบเมืองอย่างไร” ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน คล้ายกับ EEC แต่ขึ้นอยู่กับการดึงดูดการลงทุนว่า ภาคอีสานจะทำมากเพียงใด เช่น โคราชตั้งเป้าว่า จะต้องมีโรงงานเข้ามาลงทุนภายในจังหวัด และให้คนที่ลงทุนอยู่แล้วลงทุนอย่างต่อเนื่อง วันนี้รัฐบาลนำหลายอย่างมาให้ภาคอีสาน โดยเฉพาะโคราช เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ท่าเรือบก ทุกอย่างนี้จะรวมเข้ากับระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้คนโคราชก็ต้องออกแบบเมืองว่า “ทำอย่างไรเพื่อดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น และมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น”

“ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต”

อย่าลืมรากเหง้าโคราช

“ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต” เล่าถึงความต้องการด้านประวัติศาสตร์ ว่า หลายคนต้องการเห็นโคราชเจริญไปข้างหน้า แต่อย่างไรก็ “อย่าลืมความเป็นรากเหง้าของโคราช อย่าลืมความเป็นคนโคราช” ซึ่งทุกวันนี้วัฒนธรรมของโคราชเริ่มจะเสื่อมคลายลงไปทุกวัน จึงต้องการเสนอถึงผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ ว่า มักมีคำถามว่า “โคราชสร้างมากี่ปีแล้ว โคราชมีอายุเท่าไร” เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบได้ไม่แน่ชัด ซึ่งถ้าจะมีเฉลิมฉลองการสถาปนาเมืองโคราชแล้ว เราจะบอกว่าฉลองครบกี่ปี ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ มีการสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมา รุ่นฉลองเมืองโคราชมีอายุครบรอบ ๓๔๕ ปี โดยถือเอาปีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงให้ย้ายเมืองเสมาและเมืองโคราช จากอำเภอสูงเนิน มาตั้งบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๗ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดเสวนาอายุเมืองโคราช ได้ข้อสรุปว่าเมืองโคราชมีอายุ ๕๕๑ ปี โดยยึดหลักฐานที่ว่า เมืองนครราชสีมาเป็น ๑ ใน ๘ เมืองพระยามหานครของกรุงศรีอยุธยา ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราไว้กฎมณเฑียรบาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประกาศเมื่อ ปี พ.ศ.๒๐๑๑ เป็นปีสถาปนาเมืองโคราช จากความเห็นเรื่องอายุเมืองโคราชไม่ตรงกัน ผมจึงสนใจและได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ พบว่า ในพระนิพนธ์ เรื่อง “เที่ยวตามทางรถไฟ” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่าในท้องที่อำเภอสูงเนิน มีเมืองเสมาร้างและเมืองโคราช (เมืองเก่า) ซึ่งเมืองนครราชสีมามีอยู่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยขอมแล้ว ในปี พ.ศ.๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองได้ทำการสู้รบกับพวกขอม และได้ครอบครองมณฑลนครราชสีมาแทนขอม ดังนั้นหากจะนับอายุเมืองนครราชสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๙๓ ถึงปัจจุบัน เมืองโคราชจะมีอายุประมาณ ๖๗๒ ปี นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานจาก “ศิลาจารึกที่ ๑๑๘ บ่ออีกา” ซึ่งจารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๔๑๑ ได้กล่าวถึงแคว้น “ศรีจนาศะ” ว่าตั้งอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน สันนิษฐานว่าศรีจนาศะก็คือเมืองเสมาและเมืองโคราช ซึ่งต่อมาคือเมืองนครราชสีมา ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๔๑๑ เมื่อนับถึงปัจจุบัน เมืองโคราชก็จะมีอายุถึง ๑,๑๕๔ ปี

อีกเรื่องที่ผมต้องการเสนอผู้ว่าฯ คือ “วันรำลึกหรือวันทำศึกของท้าวสุรนารี” เรื่องนี้ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนเห็นไม่ตรงกัน จากการค้นคว้าในหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.๒๕๒๖ ระบุว่า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ เป็นวันที่คุณหญิงโมนำชาวโคราชต่อสู้ทหารลาวที่ทุ่งสัมฤทธิ์ และสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนได้ แต่เมื่อค้นจากใบคัดบอก สมัย ร.๓ ในจดหมายเหตุนครราชสีมา บันทึกว่า ชาวเมืองที่ถูกกวาดต้อนออกจากโคราช เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ เดินทางถึงบ้านปราสาท เขตอำเภอโนนสูง ในวันที่ ๑๖ มีนาคม จากนั้นวันที่ ๑๙ มีนาคม ชาวโคราชถึงทุ่งสัมฤทธิ์ ต่อมาวันที่ ๒๐ มีนาคม เจ้าอนุวงศ์ส่งกองทัพมาตีชาวโคราช แต่ถูกชาวโคราชตีพ่าย และวันที่ ๒๒-๒๓ มีนาคม เจ้าอนุวงศ์ยกทัพกลับ เพราะได้ข่าวว่ากองทัพหลวงกำลังยกมา ดังนั้น วันทำศึกหรือวันวีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ จึงไม่ใช่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ อย่างแน่นอน ประเด็นก็คือ ถ้าเป็นวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ ที่กองทัพลาวพ่ายแพ้แก่ชาวโคราช ตามหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา และทัพเจ้าโป้ราชบุตรถูกตีแตกพ่าย รวมแล้วกองทัพลาวแพ้อย่างยับเยินถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา แล้วเจ้าอนุวงศ์จะอยู่ทำไมจนถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙ เป็นเวลาถึง ๒๐ วัน ค่อยถอยทัพ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ ซ้ำยังขัดแย้งกับพระราชพงศาวดาร ร.๓ ที่บันทึกว่า เจ้าอนุวงศ์ได้เร่งรีบถอยทัพจนทิ้งข้าวของ เสบียง ช้าง ม้า ไว้เป็นจำนวนมากเพราะเกรงว่ากองทัพหลวงจะยกมาทัน มีบางคนถือโอกาสเอาวันที่ ๔ มีนาคม เป็นวันสาวนางสาวบุญเหลือ ผมเห็นว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลมาจากที่เราปล่อยปละละเลยไม่มีการชำระให้ถูกต้อง ประวัติศาสตร์เมืองโคราชจึงเกิดความสับสนดังกล่าว

“มารุต ชุ่มขุนทด”

เมืองที่ขาด Branding

“มารุต ชุ่มขุนทด” เริ่มเล่าว่า “คนโคราชต้องถามตัวเองว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปร่วมบรรยายที่กรมสรรพากร เจ้าหน้าที่บอกว่า ขณะนี้แนวโน้มการจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นมากจนน่าตกใจ สวนทางกับกระแสที่บอกว่า เศรษฐกิจไม่ดี เพราะในช่วงคลายล็อกมาตรการต่างๆ หลังจากอัดอั้นมานาน หลายธุรกิจเริ่มเดินหน้าต่อ มีกิจกรรมถูกจัดขึ้นมากมาย แต่โคราชจะได้อะไรจากเรื่องนี้ สมมุติว่า บุรีรัมย์จัดโมโตจีพี คนกรุงเทพฯ ที่เดินทางมาจะผ่านเมืองโคราชหรือไม่ คำตอบคือไม่ ทุกคนจะเลี้ยวบริเวณสีคิ้ว เพราะวันนี้ถนนในเขตเมืองโคราชแย่มาก ที่เชียงใหม่นักท่องเที่ยวสนใจไปจำนวนมาก แต่ที่โคราช คนโคราชยังปลอบตัวเองว่า เศรษฐกิจโอเค “ในขณะที่ทั่วประเทศธุรกิจกำลังดีขึ้น แต่โคราชทำได้เพียงโอเค”

โคราชต้องการยาแรงเข้ามาช่วยกระตุ้น เพราะทุกวันนี้โคราชอยู่เฉยๆ ในสัปดาห์หน้าจังหวัดขอนแก่นเขาเชิญผู้อำนวยการแบงค์ชาติมาคุย นักธุรกิจขอนแก่นเขารวมตัวกัน แต่โคราชวันนี้นั่งทำอะไรอยู่ มัวแต่รอผู้ว่าฯ คนใหม่ แต่ทุกคนยังไม่รู้เลยว่าตัวเองกำลังจะตาย วันนี้ผู้นำในแต่ละกลุ่มต้องสะดุ้งและตื่นตัวได้แล้ว ต้องรู้สึกว่าไม่โอเคกับที่เป็นอยู่ ต้องมองหาทางรอด และวันนี้ชาวโคราชยังพึ่งบุญเก่า เช่น โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างที่คุณหัสดินกล่าว แต่ในอนาคตโคราชจะเป็นอย่างไร ต้องคิดนอกกรอบ โคราชเป็นเมืองอุตสาหกรรมหรือเมืองเกษตร แต่ไม่มีงานสร้างสรรค์หรืองานออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า แทบจะไม่เกิดขึ้นในโคราช “โคราชเป็นเมืองที่ขาด Branding” เป็นได้เพียงฐานการผลิตให้กับคนอื่น แล้วทำไมไม่สร้าง Branding ของตัวเอง

“มารุต ชุ่มขุนทด” เล่าอีกว่า สมมุติว่า ในหนึ่งปี โคราชมีนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ๑,๐๐๐ คน แต่คนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับออกไปทำงานที่อื่น เราต้องมานั่งคิดแล้วว่า เมืองโคราชผิดพลาดตรงไหน ทำไมเกิดภาวะสมองไหล ผมเคยถามเด็กเหล่านี้ว่า ทำไมจบมาแล้วไม่อยู่โคราช เขาบอกว่า โคราชไม่มีงานให้ทำ เช่น งานแฟชั่นดีไซน์ อย่างที่บอกว่า โคราชอาศัยแต่บุญเก่า คือ โรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากโคราชอยู่ได้เพราะภาคอุตสาหกรรม จึงทำให้ลืมคิดถึงคนรุ่นใหม่ เช่น มทส.ผลิตวิศวกรจำนวนมากต่อปี แต่โคราชมีอุตสาหกรรมอนาคตรองรับเขาหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังจากผู้นำคนใหม่ที่จะเข้ามา คือ “ต้องคิดนอกกรอบ” และเลิกกินบุญเก่า แต่สามารถสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ขึ้นมาได้ ให้เมืองน่าอยู่ ให้เด็กที่จบมาสามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยการเป็น Start Up “เศรษฐกิจยุคใหม่ คือ สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา และเลิกกินบุญเก่าเสียที”

แนวทางฟื้นฟูเมือง

“หัสดิน” กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมเคยคุยกับผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง สนใจที่จะมาลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับการดัดแปลงพันธุกรรมพืช ช่วงแรกเขาสนใจไปที่เมืองจีน แต่ติดปัญหาบางอย่าง จึงสนใจมาโคราช ซึ่งในการเลือกพื้นที่จะดูว่ามีความเหมาะสมอย่างไรบ้างในการสร้างบริษัท แต่ในที่สุด เลือกทำที่เชียงใหม่ เพราะมีอุทยานวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น โคราชต้องอาศัยอะไรอีกเยอะ เช่น รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ โดยสิ่งที่จะขอผู้ว่าฯ คนใหม่ คือ ทำอย่างไรให้โครงการต่างๆ เป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโคราช เช่น รถไฟความเร็วสูงมาโคราช ต่อไปคนกรุงเทพฯ จะมาพักที่โคราช เดินทางไปทำงานเช้าเย็นกลับ แต่เมื่อมาอยู่โคราชแล้วจะมีอะไรให้พวกเขา เหมือนที่สถานีนครราชสีมาหรือหัวรถไฟ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถนนที่เชื่อมมายังสถานีจะเป็นแบบไหน ดังนั้น ต้องเตรียมและวางแผนไว้ เมื่อสร้างระบบสาธารณูปโภคแล้ว ต้องใช้งานให้คุ้ม “การมีแผนที่ชัดเจน คือ การลงทุนที่ตามมา” การลงทุนระเบียงเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องมองถึงภาคการท่องเที่ยว การศึกษาด้วย เช่น ในอนาคตจะมีธุรกิจอะไรมารองรับภาคการศึกษา ต้องมีตลาดงานมารองรับ อาจจะต้องปรับหลักสูตรในภาคการศึกษาให้มีความเหมาะสม

ทะลวงไปด้วยท่าใหม่

“มารุต ชุ่มขุนทด” เพิ่มเติมว่า ผมเคยเห็นข่าวว่า ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ให้ร้านค้าทุกร้านในช่วงโควิด-๑๙ ออกมาขายตามริมถนน เพื่อประชาชนจะได้ซื้อสินค้าง่ายขึ้น ไม่ต้องไปนั่งในร้านเสี่ยงติดต่อโรค ซึ่งผลปรากฏว่า ทุกร้านขายดี แต่ที่โคราชไม่เคยมีใครคิดทำแบบนี้ โดยเฉพาะในช่วงทำถนนนานกว่า ๒ ปีมานี้ น่าจะให้พ่อค้าแม่ค้าย้ายร้านไปพื้นที่ที่เตรียมไว้ เป็นพื้นที่รองรับการค้าขาย ถ้าช่วงไหนมีการปรับปรุงผิวถนนหรือซ่อมอะไร แล้วคาดว่าจะใช้เวลา ๓ เดือน ๖ เดือน น่าจะให้พ่อค้าแม่ค้าเขาย้ายไปขายที่อื่นก่อนก็ได้ “อย่ายึดกับกรอบเดิม แต่ให้ทะลวงไปด้วยท่าใหม่”

“ธงชัย ลืออดุลย์” เล่าอีกว่า สมัยก่อนนายกเทศมนตรีเมืองปากช่อง เลือกตั้งมากี่ครั้งชาวบ้านก็วางใจเหมือนเดิม เพราะเขาคิดนอกกรอบ ต้องยอมรับว่าใครไปเที่ยวปากช่องก็ไปแต่บริเวณเขาใหญ่ ทำให้เขตเทศบาลเมืองปากช่องซบเซา แต่ด้วยการคิดนอกกรอบของนายกเทศมนตรีฯ จึงจัดกิจกรรมคาวบอยไนท์ขึ้นทุกวันศุกร์ นำข้าราชการมาขี่ม้าชมงาน ปรากฏว่า นักท่องเที่ยวจากเขาใหญ่ให้ความสนใจ ลงมาเที่ยวที่เทศบาลเมืองปากช่องมากขึ้น ทำให้ตลาดในพื้นที่ขายของได้ เมื่อมีการเลือกตั้ง ชาวบ้านก็ไว้ใจเลือกคนเก่า เพราะรู้จักคิด นำเม็ดเงินจากเขาใหญ่มาให้คนปากช่อง

สอดแทรกวัฒนธรรม

“ดร.เมตต์ เมตต์การุณ์จิต” กล่าวว่า ศิลปวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้น การจะจัดงานหรือเทศกาลอะไรก็ตาม ผมต้องการให้มีการแทรกความรู้เข้าไป เช่น เทศกาลแห่เทียนพรรษา เทศกาลเที่ยวพิมาย และงานย่าโม ในช่วงหลังมานี้งานย่าโมมีแต่การค้าขายสินค้าและกาละมัง ในงานไม่มีการให้ความรู้ ไม่มีการจัดนิทรรศการ เพลงโคราชก็เล่นกันมั่วๆ อยากให้มีเนื้อหาของงานใส่เข้าไปบ้าง และสุดท้ายผมต้องการให้เราอนุรักษ์และรักษาภาษาโคราช เพราะเป็นภาษาประจำจังหวัด เรามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มีที่เดียวในโลก ส่วนสามล้อ ควรจะอนุรักษ์ไว้ ถ้าขับช้าก็ลองให้นักศึกษาเข้ามาทำวิจัย พัฒนาเป็นสามล้อไฟฟ้า ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น จะได้ต่อยอดและอนุรักษ์ไว้ให้อยู่ไปนานๆ

นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล

อยากให้เลิกออกงานอีเวนต์

นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล ผู้เข้าร่วมรับฟัง แสดงความเห็นว่า ต้องย้อนกลับไปว่า โคราชมีผู้ว่า ๓ ท่าน แต่ละท่านมีความเก่งคนละแบบ คนที่ ๑ จัดงานให้กับนักโทษหนีคดี โดยจัดที่หอประชุมเปรมฯ ไม่เกรงกลัวหรือเห็นหัวประชาชน ท่านที่ ๒ ผู้นี้มีความเก่งมาก ท่านทิ้งร่องรอยไว้ให้คนโคราช คือ “ธงชัย ลืออดุลย์” ผลงานดีเด่น ทำให้คนโคราชไม่ต้องทานน้ำที่ปนเปื้อน แต่ต้องถูกดำเนินคดี ท่านที่ ๓ คือ ๔+๒ อยู่ถึงปัจจุบัน ผู้ว่าฯ คนอื่นย้ายมาจากภาคใต้ ภาคเหนือ จะไม่มีการตำหนิ แต่คนนี้เลือดโคราชแท้ๆ พี่น้องประชาชนเห็นหรือไม่ว่า ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน “ท่านนี้ความสามารถมีเหมือนกัน คือ ออกงานอีเวนต์ ตัดริบบิ้น” ผมอยากให้เดือนกันยายนหมดไปในวันนี้ เพราะเบื่อมาก ไม่ทำอะไรให้เป็นหน้าเป็นตาแก่คนโคราชเลย ดังนั้น ฝากถึง “ผู้ว่าสยาม” ๓ ข้อ คือ ๑.ไฟฟ้าถนน ต้องสว่าง ๒.ปรับภูมิทัศน์สวนรัก ไม่มีอนุสาวรีย์ที่ไหน มีกลิ่นธูปควันเทียนตลอด ๒๔ ชั่วโมง ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ทุกคนไม่เคยทำ ทั้งที่ได้เสนอไปแล้ว งานย่าโมเหมือนกันไม่เคยเปลี่ยนแปลง สมัยปี ๒๕๔๕–๒๕๔๖ มีการจัดเวทีมวย ลิเก โขน ตอนนี้มีแต่การขายเสื้อผ้า ขายหม้อ เวทีดนตรีนิดหน่อย ผู้ที่ประมูลได้ ปีหนึ่งไม่ใช่น้อยๆ จังหวัดยากจนขนาดนั้นเลย ต้องอยากได้เงินจากผู้ประมูล ทั้งที่บางเรื่องผิดกฎหมาย ถนนเป็นที่สาธารณะ ประมูลให้ผู้รับเหมาหาผลประโยชน์ เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง

นายวัชร กลินทะ อดีต ผอ.หอการค้าจังหวัดฯ ขอให้แก้ไข ๕ เรื่อง คือ .เร่งรัดซ่อมถนน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครฯ ความเป็นจริงแล้วควรจะทั้งจังหวัด .แก้ปัญหารถติด เรื่องที่ ๓ และ ๔ เกี่ยวเนื่องกัน คือ .ทำให้โคราชเป็นเมืองไมซ์ที่แท้จริง .ทำให้โคราชเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ ทำให้เป็นรูปธรรม จ่ายค่าที่ปรึกษาไปเท่าไหร่ไม่รู้ ก็ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง และ .ลดการออกงานอีเวนต์

นายนะโม สุขปราณี

ปรับปรุงเมืองให้น่าอยู่

นายนะโม สุขปราณี ฝากถึงผู้ว่าฯ คนใหม่ ว่า ๑.ทำอย่างไรให้โคราชเป็นเมืองที่ไม่หลับ กระตุ้นเศรษฐกิจบันเทิงให้กลับมาฟื้นตัว ทุกอย่างก็ตื่นตัว แต่ให้อยู่ในกรอบ และควบคุม ขณะนี้โคราชในช่วงกลางคืนมีแค่ ๒ จุด ที่คึกคัก จุดอื่นๆ เงียบเหงา เด็กรุ่นใหม่ที่ไปสถานบันเทิงส่วนใหญ่เป็นเด็กในระดับมหาวิทยาลัย วัยทำงาน เที่ยวกันแบบมีมารยาท ไม่มีการทะเลาะวิวาทเหมือนสมัยก่อน ๒.สวนรักษ์ แสงสว่างไม่เพียงพอ ที่สำคัญฉากหลังเวทีโค้งข้างย่าโม เป็นฉากหลังในทุกๆ งาน ด้านหน้าสวยมาก แต่เมื่อเดินไปดูด้านหลัง เราจะเจองูกี่ตัว กลิ่นปัสสาวะทั้งนั้น และ ๓.คูคลองทั้งเมือง พูดมาหลาย ๑๐ ปี ระดับความสูงจากกองบิน ๑ ถึงอนุสาวรีย์ย่าโม แนวดิ่ง ๓๐ เมตร มีการพูดในหลายเวที ทำไมไม่วางอุโมงค์น้ำทั้งเมือง ไม่บูรณาการร่วมกัน จากกฎหมายการไฟฟ้า ทางหลวง ผู้ว่าฯ มีอำนาจอยู่แล้ว ทำการเชื่อมโยง เพื่อให้น้ำคูคลองเมืองเก่าเหมือนกับนนทบุรี เรื่องสุดท้าย จังหวัดนครราชสีมา มี ๓๒ อำเภอ ใน ๑ เดือน เที่ยวยังไม่ครบเลย อยากจะฝากโปรเจ็กต์ เราควรที่จะมีรถไฟรางเบาระหว่างทุกอำเภอ เชื่อมสนามบิน

นายอิทธิพล คัมภิรานนท์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องแลนมาร์ค ว่า การสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ ตอนนี้ผมทำโครงการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของเมือง มีเรื่องที่สะกิดใจนิดหน่อย เด็กรุ่นใหม่ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเจ้าเมืองนครราชสีมา จนไปถึงเรื่องผู้ที่สร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ยังมีการถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ชัดเจน เรื่องใกล้ตัวยังไม่ชัดเจน จึงสร้างพิพิธภัณฑ์เจ้าเมือง อย่างน้อยๆ ตรงนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้นอกตำรา ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในเรื่องประวัติศาสตร์ มีการติดต่อ มทร.อีสาน เกี่ยวกับการทำโปรเจ็กต์นี้ให้สมบูรณ์ เรื่องการทำงานดีไซน์ ให้นักศึกษารุ่นใหม่ เข้ามาช่วยประมาณ ๓๐ ชีวิต ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่ ๑๐-๒๐ ปี ผมจะได้ใช้มากน้อยแค่ไหนไม่รู้ แต่เด็กรุ่นใหม่ในอีก ๑๐-๒๐ ปี พวกเขาต้องได้ใช้ จะใส่นวัตกรรม เทคโนโลยีอะไรก็ตามแต่คนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องการออกแบบ “คุณเป็นคนดีไซน์ เราเป็นเพียงแค่คนนำร่อง”

นายอิทธิพล คัมภิรานนท์

ให้เวลาโชว์ฝีมือ

ในช่วงท้าย ผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๔ คน สรุปถึงความต้องการที่มีต่อ “สยาม ศิริมงคล” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนใหม่ โดยเริ่มจาก “ธงชัย ลืออดุลย์” กล่าวว่า เรื่องไฟส่องสว่างบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ไม่ค่อยสว่าง ช่วงที่นั่งเก้าอี้ผู้ว่าอยากให้ผู้ที่เข้ามาในเมืองนั้นเห็นเมืองสว่างไสว ปัญหาน้ำท่วม ถ้ามีงบประมานในพิ้นที่จะมีแก้มลิงไว้เก็บน้ำ ทำประปา ปัญหาอื่นๆ ทุกปัญหายังขาดการรับฟังจากคนรุ่นใหม่ ในเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน คนรุ่นใหม่จะมีความคิดของเขา ผมอยากให้เวลาผู้ว่าคนใหม่ ๑-๓ สัปดาห์ หาเวทีคุยกับผู้ว่าฯ คนโคราชยังมีความหวังกับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น อุตสหกรรม โครงสร้างพื้นฐานที่เข้ามาซัพพอร์ตโคราชบ้านเรา รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ทำให้เกิดการอพยพท้องถิ่น คนกทม.ย้านมาอยู่โคราชปากช่อง สีคิ้ว ทุกเรื่องเชื่อมโยงกัน ต้องร้อยเรียงสิ่งเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกัน เราทุกคน ข้าราชการที่รับผิดชอบ ช่วยกันทำ ใครก็ตามที่เข้ามา อยากให้มีคุณธรรม เปิดเผยได้ ไม่ใช่ปิดเป็นความลับ

“ดร.เมตต์ เมตต์การุณจิต” กล่าวว่า ในเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีความเป็นโคราช เป็นเรื่องที่หลายคนไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ชำระเรื่องราวต่างๆ ที่มีข้อถกเถียงกัน สร้างเอกลักษณ์ สัญลักษณ์ ของคนโคราชขึ้นมาให้โดดเด่น เอกลักษณ์ของโคราช คือ ภาษาโคราชและเพลงโคราช ทำอย่างไรจังหวัดนครราชสีมา จะพูดภาษาโคราชเป็นจังหวัดเดียว

ต้องโปร่งในตรวจสอบได้

“หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” กล่าวว่า ฝากเรื่องความโปรงใส่ ในเรื่องของระบบที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น การทำงานของเทศบาลเชียงใหม่ ได้รับรางวัลเรื่องการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา ให้ประชาชนมีสวนร่วมในการรับรู้ แก้ปัญหา ตั้งแต่เสาไฟฟ้า หมายเลขต้นที่เท่าไหร่เสียหรือดับ ในขณะเดียวกันชาวบ้านสามารถแจ้งได้ว่ามาแก้ไขด้วย และให้ดาวเทศบาลในการแก้ไขปัญหา เรื่องถนนใครเป็นผู้สร้าง งบเท่าไหร่ ประกันถึงวันไหน ชาวบ้านเป็นผู้ตรวจสอบ การจัดซื้อจัดจ้าง สามารถตรวจสอบได้ว่าซื้อจากแห่งไหน การตรวจสอบเป็นเรื่องสำคัญ หากทุกคนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโปร่งใส ส่วนใหญ่การประมูลซื้อขายจะไม่มีการเปิดเผยราคา สิ่งเหล่านี้มีการเข้าไปดูหรือไม่ ยิ่งในเว็บไซต์จังหวัดนครราชสีมา ไม่มีเลย มีแต่การประชาสัมพันธ์ว่า ผู้ว่าฯ ตัดริบบิ้นที่ไหน ทั้งที่ควรจะบอกว่า จังหวัดทำอะไรไป นโยบายของผู้ว่าฯ ทำสำเร็จหรือไม่ ตรวจสอบว่า ทำไปแล้วดีขึ้นอย่างไร

“สยาม ศิริมงคล”

คนมาโคราชต้องมีประสบการณ์

การเสวนาครั้งนี้จะจบอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ หากขาดความคิดเห็นในส่วนของ “สยาม ศิริมงคล” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ที่กำลังจะย้ายมาเป็น “ผู้ว่าฯ โคราช” ซึ่งเปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงความพร้อมในการย้ายมาสู่จังหวัดนครราชสีมาว่า ในฐานะที่โคราช คือ จังหวัดหนึ่ง ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ในส่วนของฟังก์ชั่นการทำงานในกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้รู้สึกว่างานจะเปลี่ยนไป เพราะทุกจังหวัดมีงานคล้ายๆ กัน เช่น ช่วงที่ผมไปอยู่จังหวัดนครพนม อาจจะมีเรื่องงานชายแดนเพิ่มเข้ามา แต่เมื่อมาโคราช จะไม่มีงานชายแดน แต่ขนาดงานจะใหญ่กว่าที่อื่น เพราะมีจำนวนประชากร ขนาดพื้นที่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ รวมถึงความเจริญของเมือง และการเป็นเมืองท่องเที่ยว ดังนั้น “กระทรวงมหาดไทยจะไม่เตรียมคนที่ไม่มีประสบการณ์มาโคราช” แต่ต้องผ่านจังหวัดเล็ก จังหวัดกลาง มาตามลำดับ แต่การทำงานที่โคราชผมยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าถามว่าไปถึงจะทำอะไร ต้องไปฟังว่าคนโคราชต้องการอะไรเหมือนกับในงานเสวนา ซึ่งในสังคมเมืองโคราชอาจจะมีคนหลายกลุ่ม เพราะโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ มีผู้คนหลากหลาย หากมีส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นไว้ก็ดี เพราะผมจะได้รับฟังทุกความคิดเห็น หรือรับฟังปัญหาของคนโคราช รวมถึงโอกาสในการพัฒนาเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องรับไว้เป็นภาระ

ในส่วนของความกังวลใจที่จะย้ายมาอยู่โคราช “สยาม ศิริมงคล” เผยว่า ผมไม่ได้หวั่นใจ อย่างที่บอกแต่แรกว่า กระทรวงมหาดไทยจะไม่เลือกคนที่ไม่มีประสบการณ์มาโคราช ฟังก์ชั่น งานอาจจะเหมือนกันทุกจังหวัด แต่ขนาดการทำงานจะเล็กหรือใหญ่อาจจะต่างกัน ถ้าถามว่า กังวลหรือไม่ก็มีบ้าง แม้ผมจะอยู่ภาคอีสานมาหลายจังหวัด แต่ก็ยังไม่เคยไปอยู่โคราช ต้องมีวิธีการในการทำความรู้จักประชาชน สถานที่ และภูมิประเทศ

ต้องอาศัยความร่วมมือ

ในประเด็นที่ว่า คนโคราชต้องการผู้ว่าฯ ที่ออกงานอีเวนต์น้อย “สยาม ศิริมงคล” แสดงความเห็นว่า “ทุกจังหวัดต้องการงานพัฒนา ส่วนการตัดริบบิ้นเปิดงานก็เป็นปกติของงานสังคม ถ้าถามว่าจำเป็นหรือไม่ ก็จำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นจะรู้จักผู้คนได้อย่างไร และทำให้เข้าอกเข้าใจผู้คน เพราะงานฝ่ายปกครองต้องการความร่วมมือ ถ้าเราไม่เคยร่วมมือกับใคร แล้วใครจะร่วมมือกับเรา ไม่ว่าจะงานประชุม สั่งการ งานพื้นที่ ทุกอย่างต้องทำไปพร้อมๆ กัน งานมีหลายฟังก์ชั่น จะทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”

 

ปิดท้ายด้วยคำถามว่า “มีชาวอุดรฯ บางส่วนดีใจที่ผู้ว่าฯ ย้ายไปจังหวัดอื่น” ซึ่ง “สยาม ศิริมงคล” ชี้แจงว่า “ก็อาจจะมีบ้าง ผมก็อยู่มาหลายจังหวัด ต้องไปไล่ดู อาจจะมีหลายแง่มุม เพราะงานราชการ ไม่ใช่งานที่จะเอาใจคนทุกคน แต่เป็นงานที่ยึดกฎระเบียบ อาจจะไม่ถูกใจคนทุกคน ถ้าประเมินการทำงานก็ให้ประชาชนตัดสินใจ เพื่อนข้าราชการ หรือผู้บังคับบัญชา ประเมินเราว่า ผลการทำงานเป็นอย่างไร แต่การทุ่มเทหรืออุทิศเวลาให้กับการทำงาน ผมไม่เคยไปไหน ผมจะอยู๋ในพื้นที่ตลอด มีเวลาให้กับการทำงาน ส่วนการประเมินก็ว่ากันไป”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๒ วันพุธที่ ๓๑ สิงหาคม - วันอังคารที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

 

 

 

 


1009 1637