20thApril

20thApril

20thApril

 

September 11,2022

ที่พักสงฆ์รุก‘ปราสาทพันปี’ ยังไม่ถอยอ้างเข้าพรรษา

 

องค์การสืบสวนทุจริตช่วยชาวหลุ่งตะเคียน กรณีที่พักสงฆ์บุกรุกพื้นที่โบราณสถาน จี้ส่วนราชการเร่งดำเนินการตามคำสั่ง หากละเลยจะเอาผิด ม.๑๕๗ ศูนย์ดำรงธรรมโคราชชี้ ขณะนี้อยู่ในช่วงเข้าพรรษา ทำให้รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างไม่ได้

ตามที่ ชาวบ้านหลุ่งตะเคียน ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณีที่พักสงฆ์บุกรุกเขตพื้นที่โบราณสถานบ้านหลุ่งตะเคียน และพบสิ่งปลูกสร้างกว่า ๑๐๐ จุด  โดยกรมศิลปากรมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ และดำเนินการเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น

ยังไม่ยอมรื้อถอน

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา องค์การสืบสวนการทุจริต นำโดย พ.ท.พิษณุ ประจิตร ประธานองค์การสืบสวนการทุจริต ภาค ๓ พร้อมด้วยคณะ และตัวแทนชาวบ้านหลุ่งตะเคียน เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายอาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับเรื่อง

พ.ท.พิษณุ ประจิตร ประธานองค์การสืบสวนการทุจริต ภาค ๓ กล่าวว่า “ตามที่ชาวบ้านหลุ่งตะเคียนได้ร้องเรียนมาที่องค์การสืบสวนทุจริตแล้ว เมื่อทราบข้อมูลแล้วได้มีการทำหนังสือไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อให้รับทราบและดำเนินการสั่งการมายังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบและแก้ไขต่อไป สิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำเขตพื้นที่โบราณสถานยังไม่มีการรื้อถอนออกไป ยังก่อสร้างที่พักเพิ่มอีก พร้อมทั้งมีการเคลื่อนย้ายสิ่งที่เป็นวัตถุโบราณทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พบวัตถุโบราณบางส่วนสูญหายไปด้วย วันนี้จึงมาเพื่อยื่นหนังสื่อร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม และขอให้หน่วยงานราชการช่วยดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด”

ตัวแทนชาวหลุ่งตะเคียน กล่าวว่า “ต้องการความชัดเจนเรื่องจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สิ่งปลูกสร้างยังไม่มีการรื้อถอน ซ้ำยังก่อสร้างเพิ่มเติมอีก โดยมีการนำสิ่งของมาขวางกั้นเส้นทางเพื่อไม่ให้เข้าไปตรวจสอบ พร้อมทั้งมีการข่มขู่ชาวบ้านอีกด้วย

ผู้ว่าฯ สั่งแต่ก็ยังไม่รื้อ

นายอาทิตย์ ชามขุนทด ชี้แจงว่า “เรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว และสั่งให้สำนักสงฆ์ดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไป แต่ทางสำนักสงฆ์ดังกล่าว ขอว่ายังอยู่ในช่วงเข้าพรรษาจึงไม่สะดวกที่จะรื้อถอนในขณะนี้ และขอเลื่อนกำหนดการออกไปก่อน ในส่วนของกำหนดวันรื้อถอนนั้นทางจังหวัดจะปรึกษาและหากำหนดการรื้อถอนต่อไป”

จากนั้น พ.ท.พิษณุ ประจิตร ประธานองค์การสืบสวนการทุจริต ภาค ๓ พร้อมด้วยคณะยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับนายอาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการกลุมศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยเป็นหนังสือฉบับเดียวกันที่ยื่นต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเพื่อให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบ ซึ่งมีรายละเอียดว่า ด้วยองค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ได้รับการร้องทุกข์จากกลุ่มชาวบ้านตําบลหลุ่งตะเคียน อําเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้พยายามทวงคืนสมบัติชาติ คือ โบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียนจากกลุ่มพระสงฆ์และบุคคลผู้บุกรุกมาเป็นเวลานานหลายสิบปี และกลุ่มคนเหล่านั้นได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชน โดยการอวดอ้างอุตริของพระสงฆ์และแม่ชีผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ และร่วมบริจาคเงินทําบุญ ชาวบ้านได้ร้องเรียนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สําเร็จเนื่องจากกลุ่มผู้บุกรุกมีอิทธิพล มีผลประโยชน์ร่วมกับข้าราชการในพื้นที่หลายคน พฤติกรรมของกลุ่มผู้บุกรุกอาจเข้าข่ายความผิดฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามความผิดมูลฐาน ๓ ฉ้อโกงประชาชน และความผิดมูลฐาน ๕ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ

เข้าข่ายผิดกม.หลายมาตรา

องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) รวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พบว่ากลุ่มผู้บุกรุก ข้าราชการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันกระทําการเข้าข่ายความผิดกฎหมาย หลายบท หลายมาตรา เช่น ๑.พระสงฆ์และกลุ่มผู้บุคคลร่วมกันกระทําความผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ตามมาตรา ๗ ทวิ (บุกรุกโบราณสถาน) มาตรา ๑๐ (แก้ไขเปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทําลาย เคลื่อนย้ายส่วนต่างๆ ของโบราณสถาน) ประกอบมาตรา ๓๒, ๓๓ และมาตรา ๓๕

๒.พระสงฆ์และกลุ่มผู้บุกรุกร่วมกันหลอกลวงประชาชน ปิดบังข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่วัด หลอกลวงประชาชนว่าเป็นวัดชื่อ วัดโคกปราสาท และอวดอ้างอุตริด้วยการนําข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความศรัทธาและหลงเหลือ ทําให้ได้มาซึ่งทรัพย์ของประชาชนผู้หลงเชื่อ โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลหลุ่งตะเคียน ๓.ปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลหลุ่งตะเคียน ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ตามคําสั่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ ๑๕๗/๒๕๔๗ แต่เข้าไปเป็นส่วน หนึ่งในขบวนการกระทําความผิดในครั้งนี้

๔.กรมศิลปากร และสํานักงานศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ทราบข้อมูลว่า มีการบุกรุกโบราณสถานปราสาทหลุ่งตะเคียน และมีการก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถาน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๐ จํานวน ๔๔ จุด แต่ก็เพิกเฉยไม่มีการดําเนินการสั่งให้มีการรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา ๗ ทวิ และดําเนินคดีกับผู้บุกรุก ตามมาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๓๒, ๓๓ และ ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ จึงเข้าข่ายการกระทําความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

ช่วงวันที่ ๖-๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ ได้ปรากฏข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลายช่อง แจ้งว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลได้ทําการบุกรุกโบราณสถานปราสาทหลุ่งตะเคียน สํานักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา จึงได้ทําหนังสือ ที่ วธ ๐๔๒๐/๒๒๓๔ ลงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เรื่อง ขอให้ระงับการก่อสร้างอาคารสิ่ง ปลูกสร้างต่างๆ ลงในเขตพื้นที่โบราณสถานปราสาทหลุ่งตะเคียน ตําบลหลุ่งตะเคียน อําเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า นมัสการเจ้าสํานักสงฆ์โคกปราสาทว่า ได้ตรวจสอบพบว่า มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีก ๖๓ หลัง รวมของเดิมมีสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่บุกรุกโบราณสถาน จํานวน ๑๐๗ หลัง

แต่ปรากฏว่า กรมศิลปากรและสํานักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ยังไม่มีคําสั่งให้รื้อถอนอาคาร ทั้งหมดที่บุกรุกโบราณสถานตามกฎหมาย มีเพียงขอความร่วมมือจากสํานักสงฆ์โคกปราสาท (ความจริงมิใช่ สํานักสงฆ์เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสํานักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถานะเป็นเพียงที่พักสงฆ์ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ) พิจารณารื้อถอนอาคารในตําแหน่งที่ก่อสร้างซ้อนทับตัวอาคารโบราณสถานออกไปเท่านั้น การดําเนินการของกรมศิลปากรและสํานักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ยังคงมีเจตนาพิเศษให้ผู้บุกรุกอาศัยอยู่ที่เดิม จึงเข้าข่ายกระทําความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อีกครั้ง

ด้วยที่ผ่านมากลุ่มผู้บุกรุกและข้าราชการในพื้นที่ ได้ใช้ข้ออ้างเรื่อง สิทธิครอบครอง สค.๑ ของ กลุ่มผู้บุกรุกในการครอบครองเขตโบราณสถานปราสาทหลุ่งตะเคียน จากข้อมูลและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) มีข้อโต้แย้งในประเด็นข้อกฎหมายที่ผู้บุกรุกและข้าราชการบางส่วนใช้แอบอ้าง เพื่อให้กลุ่มผู้บุกรุกยังคงอาศัยอยู่ในเขตโบราณสถานปราสาทหลุ่งตะเคียน ได้ต่อไป คือ ๑.ผู้บุกรุกอ้างสิทธิครอบครอง ส.ค.๑ แต่สิทธิของ ส.ค.๑ ที่อ้างนั้นได้ขาดไป ดังนี้ ๑.๑ การแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ตามนัยคําพิพากษาศาลฎีกา ที่เกี่ยวข้องดังนี้ ฎีกาที่ ๑๒๑๘/๒๕๐๔ การแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) ไม่เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้แจ้งการครอบครองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น สิทธิครอบครองจะเป็นของผู้ครอบครองจริง ฎีกาที่ ๖๗๖/๒๕๐๙ แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.๑) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่า ในขณะยื่น ส.ค.๑ นั้น ผู้แจ้งอ้างว่าเป็นที่ดินของผู้แจ้งเท่านั้น

ฎีกาที่ ๔๗๒/๒๕๑๓ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่า ส.ค.๑ นั้น เป็นหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ ที่ดินหรือถือว่าเป็นเหมือนโฉนดที่ดิน การแจ้งเป็นเพียงการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งว่า ผู้แจ้งยังไม่สละสิทธิ ครอบครองที่ดินที่แจ้งนั้น การแจ้งก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่หรือกรรมสิทธิ์นอกเหนือไปจากสิทธิที่ผู้ครอบครองมีอยู่แต่เดิม ฎีกาที่ ๘๙๐/๒๕๐๘ การแจ้งการครอบครอง (ส.ค.) เป็นเอกสารที่ผู้ครอบครองที่ดินยื่นต่อ เจ้าพนักงานเพื่อแสดงว่ามีที่ดินอยู่ในความครอบครองของตนก่อนวันใช้บังคับประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ใช่เอกสารที่เจ้าหน้าที่ทําขึ้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ สิทธิครอบครอง ถ้ามีผู้แย่งครอบครอง ผู้ครอบครองต้องฟ้องเอาที่ดินคืนภายในเวลา ๑ ปี นับตั้งแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ตามข้อกฎหมายข้างต้น พอสรุปได้ว่า การแจ้งสิทธิครอบครอง (ส.ค.๑) ของกลุ่มผู้บุกรุก ได้ขาดไปตั้งแต่กรมศิลปากรได้แย้งสิทธิครอบครองไป ตั้งแต่วันประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ และผู้แจ้งสิทธิครอบครอง (ส.ค.๑) ไม่ฟ้องเอาที่ดินคืนภายในเวลา

๑.๒ ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มีใจความว่า “เมื่ออธิบดีประกาศขึ้นทะเบียน โบราณสถานและกําหนดเขตที่ดินของโบราณสถาน ถ้าโบราณสถานนั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจ ก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาลภายในกําหนดสามสิบวัน เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกําหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถานแล้วแต่กรณี โดยอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ แต่ผู้ครอบครองที่ดินตาม ส.ค.๑ มิได้ร้องศาลให้มีคําสั่งระงับการขึ้นทะเบียน และที่ดินแปลง ดังกล่าวจึงเป็นของรัฐตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากข้อกฎหมายข้างต้นเป็นการยืนยันว่า การแจ้งสิทธิครอบครอง สค.๑ ที่กลุ่มผู้บุกรุก นํามาอ้างนั้น สิทธิครอบครองดังกล่าวได้ขาดไปตั้งแต่ ผู้แจ้งสิทธิครอบครอง ส.ค. มิได้ร้องต่อศาลให้ ระงับภายในกําหนดสามสิบวัน

๒.ด้วยคดีนี้เป็นคดีที่สร้างความเสียหายต่อโบราณสถานและโบราณวัตถุเก่าแก่ ไม่สามารถตีมูลค่าความเสียหายได้ มีจํานวนผู้กระทําความผิดเป็นขบวนการ มีข้าราชการในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และอาจเข้าข่ายความผิดฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ความผิดมูลฐาน ๓ เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนและความผิดมูลฐาน ๕ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ เจ้าหน้าที่ตํารวจในพื้นที่อาจจะลําบากใจในการดําเนินคดี จึงขอให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ ช่วยมีคําสั่งในการกํากับดูแลการดําเนินคดีให้รวดเร็วและเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้ผู้เสียหายได้มีการแจ้ง ความดําเนินคดีไว้ที่ สภ.เมืองพลับพลา ดังนี้ ๒.๑ กรมศิลปากร ได้แจ้งความร้องทุกข์หัวหน้าสงฆ์หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกันกระทําความผิดแห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ตาม มาตรา ๗ ทวิ แต่กลุ่มผู้บุกรุกอาจเข้าข่ายความผิด มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๓๒, ๓๓, ๓๕ และ ๓๖ ด้วยจึงขอให้เจ้าหน้าที่ตํารวจขยายผลเพิ่มเติม

๒.๒ ประชาชนในพื้นที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ กลุ่มผู้บุกรุกในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ประชาชน ด้วยการปิดบังข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และนําข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ด้วย เนื้อหาหลอกลวงสรุปได้ว่า ๒.๒.๑ หลอกลวงประชาชนว่าเป็นวัดโคกปราสาท ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ก่อตั้งเป็นวัดตามกฎหมาย (ตามเอกสารส่งมาด้วย ๓) ๒.๒.๒ อวดอ้างอุตริว่า หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร มีโลหิตเป็นธาตุ เกสาเป็นธาตุ บรรลุโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ พระอริยเจ้า (ตามเอกสารส่งมาด้วย ๑๐)

๓.ขอให้จังหวัดนครราชสีมา ดําเนินการเอาผิดและสั่งย้ายปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลหลุ่งตะเคียน (นางสาวบุญเหลือ ผาสุกสม) เนื่องจากได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่โดยตําแหน่ง ในการดูแลโบราณสถานบ้านหลุ่งตะเคียน ตามคําสั่งกระทรวงวัฒนธรรม ที่ ๑๕๗/๒๕๔๗ แต่มีพฤติกรรมร่วมกับผู้บุกรุกโดยทําหน้าที่ให้เงินของกลุ่มผู้บุกรุกโดนเข้าบัญชีตนเอง (ตามเอกสารส่งมาด้วย

๔.ขอให้กรมศิลปากร ดําเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดังนี้ ๔.๑ ให้ดําเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้นําสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้องจนกว่าคดีถึงที่สุด ในฐานความผิดแห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ตาม มาตรา ๗ ทวิ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๓๒, ๓๓, ๓๕ และมาตรา ๓๖ ๔.๒ มีคําสั่งให้กลุ่มผู้บุกรุกออกนอกเขตโบราณสถานทันที และดําเนินการรื้อถอนอาคาร สิ่งก่อสร้างตามกฎหมาย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๓ วันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๑๓ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


997 1401