27thApril

27thApril

27thApril

 

September 30,2022

ทุนใหญ่ทุ่มอีก ๑,๖๐๐ ล้าน คาดปักหลัก‘นวนครโคราช’ ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์

 

“โคราช” ยังเนื้อหอม เป้าหมายสำคัญนักลงทุน หลังบีโอไอสรุปภาพรวมการลงทุนครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๕ พบกระจุกตัวเมืองย่าโม ๑๖ โครงการ มูลค่า ๒,๒๔๖ ล้านบาท ทุนใหญ่ด้านการผลิตพลังงานทดแทนได้รับการอนุมัติลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท คาดยึดปักเสาเข็มแถวนวนครโคราช

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) หรือบีโอไอโคราช ภายใต้การบริหารของนางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ๘ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี สรุปภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนใน ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๕) โดยภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๗๕๐ โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๖ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๓๗๕,๖๗๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๔๒

 

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรืออีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๒๘ โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๖๕ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๓,๑๘๕ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๑๔๙

ในส่วนของที่ตั้งโครงการลงทุนจะกระจุกตัวในจังหวัดนครราชสีมา โดยใน ๖ เดือนนี้ มีจำนวนโครงการมากที่สุด ๑๖ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๕๗ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๓๓ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด โดยเป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูป กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตเอทานอล กิจการผลิตกากรำและน้ำมันรำข้าวดิบ กิจการผลิตสารออกฤทธิ์ (ACTIVE INGREDIENT) จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เพื่อทำการผลิตพรีไบโอติกส์ กิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง กิจการผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

รองลงมาได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ๕ โครงการ เป็นกิจการผลิตเอทานอล กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, จังหวัดอุบลราชธานี ๔ โครงการ เป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูป กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, จังหวัดบุรีรัมย์ ๒ โครงการ เป็นกิจการเลี้ยงไก่เนื้อ และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และจังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ เป็นกิจการพัฒนา Enterprise Software

 

สำหรับเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีสานตอนล่าง ในเดือนมกราคม - มิถุนายน ๒๕๖๕ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนเงินลงทุนมากที่สุด มูลค่าเงินลงทุน ๒,๒๔๖ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๗๑ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๕๓ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด โดยมีโครงการขนาดใหญ่ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ เงินลงทุนประมาณ ๑,๖๐๐ ล้านบาท และเป็นหุ้นไทยทั้งสิ้น รองลงมา คือ จังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน ๖๒๗ ล้านบาท ตามมาด้วยจังหวัดชัยภูมิ เงินลงทุน ๑๘๑ ล้านบาท ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เงินลงทุน ๑๒๙ ล้านบาท และจังหวัดศรีสะเกษ เงินลงทุน ๒ ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นโครงการใหม่ ๖ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๓ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดละ ๑ โครงการ นอกจากนี้ เป็นการขยายกิจการ ๒๒ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๑๓ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ ๔ โครงการ จังหวัดอุบลราชธานี ๓ โครงการ และจังหวัดบุรีรัมย์ ๒ โครงการ

 

ในขณะที่การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัด เป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น จำนวน ๒๑ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๗๕ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒,๙๙๙ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙๔ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง ส่วนโครงการที่ต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน ๖ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๒๑ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๑๖๕ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๕ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และโครงการที่เป็นการร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ มีจำนวน ๑ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๔ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒๑ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๑ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง

 

สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ แยกเป็น “มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ” มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๒ โครงการ เงินลงทุน ๒๕ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน โดยเป็นโครงการผลิตเครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร กรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยใช้ระบบอัตโนมัติ สาหรับผลิตชิ้นส่วนระบบช่วงล่างยานพาหนะ ส่วน “มาตรการส่งเสริม SMEs” มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๓ โครงการ เงินลงทุน ๒๒๙ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๒ โครงการ เป็นกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ (BIOGAS) กิจการผลิตสารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เพื่อทำการผลิตพรีไบโอติกส์ และอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๑ โครงการ เป็นกิจการเลี้ยงไก่เนื้อ

 

นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ ผู้อำนวยการบีโอไอโคราช

 

ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๑๒ โครงการ เงินลงทุน ๙๓๙ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ๕ โครงการ เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กิจการ ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ และกิจการผลิตแอลกอฮอล์จากผลผลิตทางการเกษตรและเอทานอล อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๔ โครงการ เป็นกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังและกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๒ โครงการ เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ อยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ เป็นกิจการพัฒนา Enterprise Software

 

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในภาคอีสานตอนล่าง ๘ จังหวัด ใน ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๖๕ นั้น แบ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ ๑.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร เป็นกิจการผลิตแป้งมันสำปะหลังและแป้งแปรรูป เช่น แป้งแพนเค้ก แป้งบราวนี่ แป้งคุ้กกี้ และแป้งชุบทอด เป็นต้น จำนวน ๑ โครงการ และกิจการผลิตแป้งแปรรูปที่ละลายได้ในน้ำเย็นเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน ๑ โครงการ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ จำนวน ๑ โครงการ กิจการผลิตกากรำและน้ำมันรำข้าวดิบ จำนวน ๑ โครงการ กิจการผลิตสารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบทางธรรมชาติ เพื่อทาการผลิตพรีไบโอติกส์ จำนวน ๑ โครงการ ๒.กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นกิจการผลิตแอลกอฮอล์จากผลผลิตทางการเกษตรและเอทานอล จำนวน ๑ โครงการ และกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ จำนวน ๑ โครงการ ๓.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สาหรับใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตอาหาร จำนวน ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติมีขั้นตอนออกแบบระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง จำนวน ๑ โครงการ ๔.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบช่วงล่างยานพาหนะ จำนวน ๑ โครงการ ๕.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ทั้งหมด จำนวน ๑๕ โครงการ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำ จำนวน ๒ โครงการ และ ๖.กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นกิจการพัฒนา Enterprise Software จำนวน ๑ โครงการ

 

ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มูลค่าการลงทุน ๑,๖๐๐ ล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น คาดว่าจะมาปักหลักตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมนวนครโคราช ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จ.นครราชสีมา โดยมีกระแสข่าวว่าเป็นของบริษัท โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ โซไซตี้ จำกัด หรือ SES ซึ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ด้วยทุนจดทะเบียนปัจจุบันจำนวน ๗๕๐ ล้านบาท มีกรรมการบริษัทประกอบด้วย นายเจนพล งามอรุณโชติ, นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์, นางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์, นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย และนายพงษ์สกร ดำเนิน โดยบริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อจำหน่ายแก่หน่วยงานของรัฐ โดยบริษัทนี้ถือเป็นบริษัทในเครือของบริษัท กันกุล เอ็นจิเนี่ยริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ Gunkul (กันกุล) ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่ของไทย


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๕ วันพุธที่ ๒๘ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


1022 1432