27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

October 12,2022

“บิ๊กป้อม” สั่งโยธาธิการฯ ทำพนังกั้นน้ำมูลที่เหลือ แก้ปัญหาน้ำท่วมอุบลฯ

บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สั่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ทำแผนสร้างพนังกั้นแม่น้ำมูลส่วนที่เป็นฟันหลอ 3 ชุมชนฝั่งเทศบาลเมืองวารินชำราบ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้เสร็จภายใน 2567


วันที่ 12 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มาติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเข้ารับฟังการบริหารจัดการน้ำและการเกิดอุทกภัยที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าพื้นที่อุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี


โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอภาพรวมสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ร่วมกับกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 22 นำเสนอสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี


และได้ลงติดตามสถานการณ์แม่น้ำมูลที่ไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ท่าน้ำวัดหลวง เทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานมาคอยอธิบายปัญหาของพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งมีระดับต่ำกว่าฝั่งอำเภอเมือง 1 เมตร จะถูกน้ำท่วมสูงกว่าอำเภอเมือง 1 เมตร โดยวันนี้ มีน้ำท่วมสูง 4.51 เมตร


ส่วนวิธีการแก้ปัญหาต้องมีการสร้างพนังกั้นน้ำในส่วนที่เหลือบริเวณชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนหาดสวนยา และชุมชนช่างหม้อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงสั่งการให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง วางแผนดำเนินการก่อสร้างในแต่ละปี ที่ไหนต่ำที่สุดสร้างก่อนไปตามลำดับ เพื่อน้ำจะได้ไม่ท่วมอีก เพราะรัฐบาลมีแผน 20 ปีให้ดำเนินการทำได้เลย


เจ้าหน้าที่ยืนยันจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และยังมีการเสนอแผนการทำเส้นทางผันน้ำจากลำน้ำชี ไปลำเซบาย เซบก ไปลงหลังแก่งสะพือประมาณ 800 คิว(ลูกบาศก์เมตร) จุดที่สองจะผันน้ำ แม่น้ำมูลเหนือเขื่อนหัวนาออกไปอีก 1,200 คิว จะสามารถตัดน้ำออกจากลำน้ำทั้งสองแห่งได้ 2,000 คิว ถ้าน้ำไหลมา 4,000 คิว ก็ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งให้รีบดำเนินการออกแบบเรื่องทำผนังกั้นน้ำไว้ก่อน รอเพียงงบประมาณมา ก็ให้ดำเนินการก่อสร้างในทันที ก่อนจะเดินทางต่อไปดูสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดศรีสะเกษ


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 19 อำเภอ ทำให้ประชาชนกว่า 25,380 คน ต้องอพยพหนีน้ำ โดยอำเภอวารินชำราบ มีประชาชนอพยพมากที่สุดกว่า 10,700 คน รองลงมาเป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเมืองอุบลราชธานี พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายกว่า 317,000 ไร่ ถนนถูกน้ำท่วม 86 สาย สะพาน 8 แห่ง วัด 65 แห่ง โรงเรียน 52 โรง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9 แห่ง ปศุสัตว์ทั้งโค กระบือ และสัตว์ปีก 566,000 ตัว


73 1,628