5thJanuary

5thJanuary

5thJanuary

 

December 15,2022

ก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่สู่เป้าหมาย SDG6: สร้างโครงการน้ำฝนดื่มได้ระดับชุมชนเสร็จสมบูรณ์ผ่านทางความร่วมมือของโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคารและนักเรียน BiTS

ก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่สู่เป้าหมาย SDG6: สร้างโครงการน้ำฝนดื่มได้ระดับชุมชนเสร็จสมบูรณ์ผ่านทางความร่วมมือของโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคารและนักเรียน BiTS

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ต.จันทึก อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฮัน มูยอง แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการ RFD rain for drinking ของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันแม่โขงและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ส่งมอบโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำฝน ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มของประเทศไทย ให้กับโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร โดยมีนางสาวละมัย พรหมศร ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย นายสมปอง รอดตุ่น นายก อบต.จันทึก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ประธานคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา คณะครู ผู้ปกครอง และนักเรียนโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ร่วมเป็นสักขีพยาน

นางสาวละมัย พรหมศร ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร กล่าวว่า “วันนี้นับเป็นวันดีที่โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ได้รับความเอื้อเฟื้อจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฮัน มูยอง ประธานโครงการฯ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของน้ำดื่มที่ปลอดภัย มีมาตรฐานระดับประเทศ โดยจัดตั้งไว้ที่โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ซึ่งมีนักเรียนที่จะเป็นอนาคตของชาติ ต้องรู้ถึงความสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและน้ำ ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงต้องเกิดการเชื่อมโยงพวกเขาให้เข้ากับกิจกรรมท้องถิ่น และรวมไว้ในหลักสูตรซึ่งจะส่งผลดีต่อพวกเขาและพื้นที่ในอนาคต ในฐานะตัวแทนผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และนักเรียน ขอให้โครงการนี้บรรลุจุดประสงค์ต่อไป”

นายสมปอง รอดตุ่น นายก อบต.จันทึก กล่าวว่า “ผมขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับโครงการนี้ เพราะน้ำดื่มเป็นปัจจัยที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ เป็นโครงการที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถนำน้ำฝนมาผ่านกระบวนการกลั่นกรอง เพื่อใช้เป็นน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัย โดยติดตั้งไว้ที่โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร และเป็นโรงเรียนแรงในประเทศไทย จึงขอให้โครงการนี้สำเร็จและยั่งยืน มีความก้าวหน้าในการขยายผลไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฮัน มูยอง แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าวว่า “ผมเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำฝนของสมาคมน้ำนานาชาติ (International Water Association - IWA) ผมตระหนักถึงโครงการวิจัยน้ำฝนและการนำร่องโครงการที่เกี่ยวกับน้ำฝนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และได้รับมอบหมายให้เผยแพร่ความรู้เหล่านี้ไปทั่วโลก ตั้งแต่สมัยโบราณในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยและเกาหลีใต้ น้ำฝนถือเป็นพรจากฟ้าและเป็นตัวแทนของความเคารพและคารวะ แต่อย่างไรเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป น้ำฝนกลายเป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้กับการใช้ชีวิตประจำวันและมนุษย์ก็ละเลยมันไป ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำฝนจากหลังคา นับเป็นน้ำที่สะอาดที่สุด หากได้รับการบำบัดก็จะได้รับน้ำดื่มที่มีคุณภาพสูงสุด ในหลายประเทศมีการทดสอบและนำมาใช้งานได้จริง”

“ในอนาคตปัญหาจากมลภาวะทางอากาศและมลพิษทางน้ำ จะรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เกิดการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งผมคิดว่า น้ำฝนจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์การบริโภคในอนาคตได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทำให้กิจกรรมในวันนี้มีความสำคัญมาก ดังนี้ 1.โครงการน้ำฝนดื่มได้ หลังจากทำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เกี่ยวกับน้ำฝนมาอย่างยาวนาน ก็สำเร็จในการสร้างเทคโนโลยีที่จะผลิตน้ำดื่มจากน้ำฝน โดยใช้วัสดุและกำลังคนจากท้องถิ่น ดังที่ทุกคนได้ชมของจริงไปที่โรงเรียนฯ คือ แทงก์น้ำฝน ที่สามารถจุได้มากถึง 2,000 ลิตร โดยน้ำฝนที่ตกบนหลังคาของโรงเรียนจะถูกรวบรวมและบำบัดตามธรรมชาติในกระบวนการผ่านถังเก็บน้ำสแตนเลสขนาด 5 ตัน 4 ใบ และตอนสุดท้ายน้ำจะผ่านกรองจากฟิลเตอร์และ UV เพื่อกรองเป็นน้ำดื่มได้ ซึ่งคุณภาพน้ำที่ได้จากเทคโนโลยีนี้จะเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มของประเทศไทย”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฮัน มูยอง กล่าวอีกว่า “2.กิจกรรม Rain School คือ การสร้างกิจกรรมและอำนวยความสะดวกด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของ ด้วยการนำโดยนักเรียนจากโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ประชาชนและส่วนราชการในท้องถิ่น สร้างและจัดทำเป็นคณะกรรมการองค์กร Skywater เพื่อจัดการและพัฒนาให้กลายเป็นโรงเรียนน้ำฝน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์มากในอนาคต เมื่อเกิดเป็นโรงเรียนน้ำฝนแล้ว ก็จะมีการคัดเลือกนักเรียน BiTs (Bi=rain teacher S:student) คำว่า บี ในภาษาเกาหลีแปลว่า ฝน โดยนักเรียนกลุ่มนี้จะจัดทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและกระจายความรู้แก่คนในชุมชน และจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อหาแนวทางในการรับมือวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ การขาดแคลนน้ำ”

“ด้วยการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และสถาบันแม่โขงและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เรากำลังดำเนินโครงการสร้างโรงเรียนน้ำฝนใน 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีนักเรียนเป็นตัวแทนอนาคตของคนรุ่นต่อไป และโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร เป็นโรงเรียนแห่งที่ 3 ที่ได้จัดตั้งโรงเรียนน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำโขง ก็ขอให้กลุ่มนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นนักเรียน BiTs ทำกิจกรรมและสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อรับมือวิกฤตน้ำดื่มในอนาคต โดยหลังจากนี้เราจะนำนวัตกรรมนี้ไปบอกต่อให้กับภาคเหนือ ในกลุ่มชนเผ่าต่างๆ และภาคอีสาน เพื่อให้นวัตกรรมนี้เป็นอนาคตของประเทศไทยต่อไป”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฮัน มูยอง กล่าวท้ายสุดว่า “ทั้งนี้ แม้ว่าสถานที่นี้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีความหมายที่เสนอเป็นแบบจำลองของ Micro-Local ODA ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการขนาดท้องถิ่น ที่สามารถกระจายแนวทางสำหรับท้องถิ่นในการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคด้วยตนเองเป็นหน่วยชุมชน หากแต่ละประเทศสร้างระบบเพื่อเผยแพร่โมเดลนี้ ก็จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายด้านน้ำและสุขอนามัยที่ 6 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป”

จากนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฮัน มูยอง แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล พร้อมด้วยนายสมปอง รอดตุ่น นายก อบต.จันทึก นางสาวละมัย พรหมศร ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร และตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งองค์กร Skywater committee ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมแทงก์น้ำโครงการฯ และสาธิตการทำงานของระบบ Schematic Diagram of the RFD System โรงเรียนเสนารัฐวิทยาคาร ปากช่อง ประเทศไทย

 


831 1,843