11thOctober

11thOctober

11thOctober

 

December 22,2022

‘วาวา แพค’ กับการลดของเสียในโรงงาน สู่กระเป๋าใบเก๋แกร่ง ทนทาน ‘VAVA Z’

สบโอกาส เมื่อได้ไปชมงาน Agro Fex 2022 วันที่ ๑-๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ณ เซ็นทรัลโคราช จัดโดย ‘สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา’ ภายใต้การนำของ ‘คุณดา’ ธิดารัตน์ รอดอนันต์ ประธานสภาฯ และหมวกอีกใบหนึ่งคือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด งานนี้เน้นหนักไปในเรื่องการส่งเสริม BCG จึงมีหลายบริษัทนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาร่วมแสดงและจำหน่าย รวมทั้ง “วาวา แพค” หรือ บริษัท วาวา แพค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงกระสอบจัมโบ้ (FIBC: Flexible Intermediately Bulk Container) และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รายหลักของไทย ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและทีมงานมากประสบการณ์กว่า ๒๐ ปี สามารถผลิตตามความต้องการของลูกค้า โดยสามารถผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ครอบคลุม ตั้งแต่ต่ำกว่า ๑ กิโลกรัม ไปถึง ๒๕,๐๐๐ กิโลกรัม

ที่ว่า “สบโอกาส” ก็เพราะเล็งมานานแล้ว เมื่อมาเจอบูธในงานนี้ จึงรี่เข้าไปหาแบบไม่รีรอ กลัวพลาดโอกาสไปอีก เจอกับ “กัญกร ปิยพิทยากร” เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของวาวา แพค ที่กำลังให้ข้อมูลกับผู้ที่แวะเวียนมาชมผลิตภัณฑ์ บางคนถูกใจก็ซื้อไปครอบครอง เพราะหลายชิ้นเก๋ไก๋มาก และยังดูทนทานต่อการใช้งานอีกด้วย มีทั้งกระเป๋าเดินทาง เป้สะพายหลัง กระเป๋าสะพายข้าง ถุงช้อปปิ้ง นอกจากนี้ยังมีถุงกระสอบที่ผลิตให้กับหลายบริษัทดังๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงปุ๋ย ถุงปูน ถุงน้ำตาล และถุงบรรจุข้าวสาร 

“กัญกร ปิยพิทยากร” บอกคร่าวๆ ว่า “วาวา แพค เป็นบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ของไทยประเภทจัมโบแบ็ครับผลิตบรรจุภัณฑ์ขนาดตั้งแต่ ๕๐๐-๒๕,๐๐๐ กิโลกรัม มีบรรจุภัณฑ์ประเภทกระสอบเล็กขนาด ๕-๕๐ กิโลกรัม สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น ข้าว แป้ง น้ำตาล และปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทแพสซิเบิล แพคเกจจิ้ง หรือผลิตภัณฑ์ชนิดอ่อนที่ใช้บรรจุข้าวสารสำหรับขึ้นห้าง

“การทำกิจกรรมในโรงงาน จะมีการลดพลังงานและของเสียภายในองค์กร ส่วนโปรเจ็กต์ดีดีคือนำของเสียของทางบริษัทมาสร้างรายได้สู่ชุมชน ตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋ารูปแบบต่างๆ โดยแนวคิดคือ ตั้งใจจะลดของเสียในกรณีที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เปลี่ยนเป็นกระบวนการอัปไซเคิล หรือเพิ่ม มูลค่า มูลค่าในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะตัวสินค้า แต่เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วย โดยกระเป๋าหนึ่งใบ จะทำมาจากของเสียที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ นำมาออกแบบแล้วส่งให้กับชุมชนในพื้นที่อำเภอสีคิ้วเป็นผู้ตัดเย็บเป็นกระเป๋าขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า VAVA Zero waste (VAVA Z) เป็นโปรเจ็กต์ที่ตั้งใจทำให้ขยะภายในโรงงานกลายเป็นศูนย์” 

“กัญกร” บอกอีกว่า หากกระสอบมีตำหนิจุดเล็กๆ เราจะไม่สามารถส่งขายให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากคุณภาพไม่ผ่าน เราก็จะถือว่าเป็นของเสีย แต่ของเสียเหล่านี้ยังไม่ผ่านการใช้งาน จึงคิดกันว่า ทำอย่างไรจะนำไปเพิ่มมูลค่าได้ แล้วนำของเสียในกลุ่มที่ไม่ผ่านการใช้งานไปออกแบบผลิตเป็นกระเป๋า ก็จะมีทั้งลูกค้าสนใจให้นำโลโก้มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ มีการขออนุญาตก่อนจะทำเป็นกระเป๋า ส่วนอีกแบบคือ ตัวเนื้อผ้าที่ยังไม่ได้พิมพ์ลาย หากไม่มีโลโก้ก็จะผลิตเป็นกระเป๋าแบรนด์ VAVA Z แต่ถ้าลูกค้าสนใจก็สามารถส่งของเสีย ที่มีโลโก้มาให้เราตัดเย็บได้ เพื่อร่วมส่งเสริมชุมชนกับเรา แล้วนำไปขายเอง
สำหรับที่มาของการสร้างสรรค์กระเป๋าผ่านการตัดเย็บโดยชุมชนนั้น “กัญกร” บอกว่า การส่งเสริมชุมชนนี้ ทำตั้งแต่ช่วง ก่อนโควิดคือประมาณ ๓ ปีก่อนหน้านี้ โดยเริ่มจากชาวบ้านในโรงงานที่เกษียณอายุ แล้วกลับไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งด้วยอายุแล้ว ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ แต่ยังมีความสามารถและศักยภาพ เราจึงส่งงานชิ้นเล็กๆ ไปให้ตัดเย็บที่บ้าน แต่ช่วงโควิดมีการขยายตัวของลูกค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีการติดต่อมามากขึ้น จึงขยาย กลายเป็นกลุ่มชุมชน จากอำเภอสีคิ้วก่อนจากนั้นก็ไปที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยชาวบ้านเป็นคนรวมกลุ่มกันเอง แต่ขอให้วาวาแพคช่วยสนับสนุน อยากมีรายได้เข้าสู่ชุมชนจึงติดต่อเข้ามา

“ผลตอบรับค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นตัวกระเป๋าที่ออกแบบเอง และบางส่วนก็รับผลิตให้กับลูกค้าด้วย (OEM) แต่ลูกค้าบางรายก็ให้เราออกแบบให้ แต่โดยพื้นฐานจะต้องทำมาจากของเสีย และต้องให้ชุมชนตัดเย็บ ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สำหรับลูกค้าจะมีอยู่ทั่วประเทศ มีต่างชาติติดต่อเข้ามาบ้าง แต่จะส่งขายเป็นผลิตภัณฑ์ VAVA Z แต่ยังไม่มีสั่งผลิต ส่วนกระสอบที่ผลิตจะมีการส่งออกอยู่แล้ว” 

“กัญกร” บอกว่า ลูกค้าของวาวา แพคในไทยมีประมาณพันราย ตั้งแต่อุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ จะส่งออก ๑๘% จากยอดการซื้อขาย ส่วนใหญ่จะส่งออกในแถบอาเซียน และยุโรป

สำหรับราคากระเป๋าหลากหลายแบบของ VAVA Z ถ้าเป็นแบบมาตรฐานจะอยู่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐-๑,๐๐๐ บาท หากทำมาจากผ้าใบรถขนส่ง จะเย็บยากหน่อย ต่อวันจะได้ปริมาณน้อย ราคาใบละประมาณ ๒-๕ พันบาท ถ้าพูดถึงคุณภาพเทียบกับกระเป๋าทั่วไป ถือว่าน้ำหนักเบากว่า และคุณภาพที่ทำมาจากเนื้อกระสอบที่รับน้ำหนักได้มากถึง ๕๐ กิโลกรัม

“วาวา แพค” ถือว่าเป็นบริษัทของคนไทยที่เติบโตขึ้นทุกปี จากที่เมื่อแรกเริ่มจัดตั้งมีทุนเพียง ๒๕ ล้านบาท และเพิ่มทุนขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ ๔๐๐ ล้านบาท บริษัทตั้งอยู่เลขที่ ๕๒ หมู่ที่ ๓ ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรรมการบริษัท ๓ คน ได้แก่ ทิฆัมพร  ชัยเอี่ยม, วรัญพร โลห์ศิริ และทิชากร ชัยเอี่ยม โดยมีวีระชาติ โลห์ศิริ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ  ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง FB : VAVA PACK โรงงานผลิตกระสอบพลาสติกสาน, FB : VAVA Zero Waste กระเป๋ากระสอบอัพไซเคิล หรือ www.vavapack.com


 

ทีมข่าวโคราชคนอีสาน : เรื่อง/ภาพ

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๘ วันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม ๒๕๖๕ - วันที่ ๑๔ เดือนมกราคม ๒๕๖๖


88 1,767